ส่วนที่ ๓ องค์คณะและการพิจารณาคดี (มาตรา ๕๒ - ๗๑)

 

ส่วนที่ ๓
องค์คณะและการพิจารณาคดี

-------------------------

               มาตรา ๕๒  ในการนั่งพิจารณาและทำคำวินิจฉัย ตุลาการซึ่งเป็นองค์คณะทุกคนต้องร่วมพิจารณาคดีและร่วมทำคำวินิจฉัย เว้นแต่มีเหตุถูกคัดค้าน หรือมีเหตุจำเป็นอื่นอันไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ หรือเป็นกรณีตามวรรคสาม
               องค์คณะของศาลในการพิจารณาคดีและในการทำคำวินิจฉัย ต้องประกอบด้วยตุลาการไม่น้อยกว่าเจ็ดคน
               ตุลาการซึ่งมิได้ร่วมในการพิจารณาในประเด็นสำคัญแห่งคดีใด ย่อมไม่มีอำนาจในการทำคำวินิจฉัยคดีนั้น หากมีปัญหาว่าตุลาการคนใดร่วมในการพิจารณาในประเด็นสำคัญแห่งคดีนั้นหรือไม่ ให้ศาลเป็นผู้วินิจฉัยก่อนที่จะดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป ทั้งนี้ เว้นแต่การไม่ร่วมทำคำวินิจฉัยจะทำให้มีองค์คณะเหลือไม่ถึงเจ็ดคน

               มาตรา ๕๓  เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ศาลหรือคณะตุลาการตามมาตรา ๔๙ วรรคหนึ่ง แล้วแต่กรณี อาจมีคำสั่งให้คู่กรณีที่ดำเนินกระบวนพิจารณาไม่ถูกต้อง ให้ทำการแก้ไขให้ถูกต้องภายในระยะเวลาและเงื่อนไขที่เห็นสมควรได้
               หากคู่กรณีไม่ดำเนินกระบวนพิจารณาตามคำสั่งตามวรรคหนึ่งโดยไม่มีเหตุอันสมควร กรณีเป็นผู้ร้อง ศาลอาจพิจารณาสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยหรือจำหน่ายคดีนั้นก็ได้ หากเป็นผู้ถูกร้อง ให้ถือว่าผู้ถูกร้องไม่ติดใจที่จะแก้ไข และให้ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป

               มาตรา ๕๔  เมื่อศาลมีคำสั่งรับคำร้องที่มีคู่กรณีไว้พิจารณาวินิจฉัย ให้ส่งสำเนาคำร้องแก่ผู้ถูกร้อง หรือมีคำสั่งแจ้งให้ผู้ถูกร้องมารับสำเนาคำร้องภายในระยะเวลาที่ศาลกำหนด
               เมื่อผู้ถูกร้องได้รับสำเนาคำร้อง ให้ยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับสำเนาคำร้อง หรือภายในระยะเวลาที่ศาลกำหนด และให้นำความในมาตรา ๔๒ มาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม
               กรณีผู้ถูกร้องไม่ยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาภายในระยะเวลาตามวรรคสองหรือไม่มารับสำเนาคำร้องภายในกำหนดเวลาตามวรรคหนึ่ง ให้ถือว่าผู้ถูกร้องไม่ติดใจที่จะยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา และให้ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป

               มาตรา ๕๕  ผู้ร้องจะแก้ไขเพิ่มเติมคำร้อง หรือผู้ถูกร้องจะแก้ไขเพิ่มเติมคำชี้แจง แก้ข้อกล่าวหาย่อมทำได้ โดยต้องยื่นคำขอเสียก่อนวันที่ศาลกำหนดว่าจะมีคำวินิจฉัยไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน แต่ในกรณีที่มีการยื่นคำขอก่อนวันที่ศาลกำหนดว่าจะมีคำวินิจฉัยน้อยกว่าเจ็ดวันหรือที่การแก้ไขเพิ่มเติมนั้นทำให้ประเด็นแห่งคดีที่จะต้องวินิจฉัยเปลี่ยนแปลงไป ศาลจะไม่รับไว้พิจารณาก็ได้ แต่ในกรณีที่ศาลมีคำสั่งรับไว้พิจารณาศาลต้องส่งสำเนาการแก้ไขเพิ่มเติมนั้นไปให้คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งทราบด้วย

               มาตรา ๕๖  การส่งสำเนาคำร้อง สำเนาคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา หรือเอกสารอื่นใดระหว่างศาลกับคู่กรณี พยาน หรือผู้เกี่ยวข้อง ให้ส่ง ณ ภูมิลำเนา หรือถิ่นที่อยู่ปกติ หรือสถานที่ติดต่อแห่งใดแห่งหนึ่งตามที่คู่กรณี พยาน หรือผู้เกี่ยวข้องได้แจ้งไว้
               วิธีการส่ง และการปิดประกาศแทนการส่งให้เป็นไปตามข้อกำหนดของศาล

               มาตรา ๕๗  เมื่อศาลรับคดีใดไว้พิจารณาแล้ว ให้ศาลกำหนดประเด็นและลำดับประเด็นที่จะพิจารณาวินิจฉัย แต่ไม่ตัดอำนาจศาลที่จะแก้ไขหรือเพิ่มเติมประเด็นหรือลำดับประเด็นที่ได้กำหนดหรือลำดับไว้เดิม
               ตุลาการทุกคน เว้นแต่ตุลาการที่ได้รับอนุญาตให้ถอนตัวหรือต้องถอนตัวเพราะถูกคัดค้าน ต้องทำความเห็นส่วนตนตามประเด็นและตามลำดับประเด็นที่ศาลได้กำหนดหรือลำดับไว้
               เมื่อศาลรับเรื่องใดไว้พิจารณาแล้ว ตุลาการผู้ใดจะปฏิเสธไม่วินิจฉัยโดยอ้างว่าเรื่องนั้นไม่อยู่ในอำนาจของศาลมิได้

               มาตรา ๕๘  หากศาลเห็นว่าคดีใดเป็นปัญหาข้อกฎหมาย หรือมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้ ศาลอาจประชุมปรึกษาเพื่อพิจารณาและวินิจฉัยโดยไม่ทำการไต่สวนหรือยุติการไต่สวนก็ได้
               เมื่อศาลเห็นว่าพยานหลักฐานใดเกิดขึ้น หรือได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่พิจารณาวินิจฉัย หรือไม่มีความจำเป็นแก่การพิจารณาวินิจฉัย หรือจะทำให้คดีล่าช้าโดยไม่สมควร ศาลอาจสั่งงดการสืบหรือไม่รับฟังพยานหลักฐานนั้นก็ได้
               ตุลาการจำนวนไม่น้อยกว่าสองในสามของตุลาการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่อาจมีมติไม่ให้นำเอกสารหรือพยานหลักฐานซึ่งอาจมีผลต่อความมั่นคงของประเทศมาใช้ในคดีได้

               มาตรา ๕๙  การนั่งพิจารณาของศาลให้กระทำโดยเปิดเผย เว้นแต่เมื่อศาลเห็นเป็นการสมควรเพื่อรักษาความเรียบร้อยในบริเวณที่ทำการศาล หรือเพื่อคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ ศาลมีอำนาจกำหนดบุคคลที่จะอยู่ในห้องพิจารณาได้
               เมื่อศาลประกาศกำหนดวันนัดไต่สวนครั้งแรก ให้ส่งสำเนาประกาศให้แก่คู่กรณีไม่น้อยกว่าสิบห้าวันก่อนวันนัด ส่วนกำหนดวันนัดไต่สวนครั้งต่อไป ให้เป็นไปตามที่ศาลกำหนด และให้ปิดประกาศกำหนดนัดดังกล่าวไว้ ณ ที่ทำการศาลด้วย

               มาตรา ๖๐  คู่กรณีจะอ้างตนเอง บุคคล และหลักฐานอื่นเป็นพยานหลักฐานได้ และมีสิทธิตรวจพยานหลักฐานและขอสำเนาพยานหลักฐานของตนเองหรือของคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งในเวลาทำการตามวิธีการและระยะเวลาที่กำหนดในข้อกำหนดของศาลก็ได้
               การอ้างพยานหลักฐานตามวรรคหนึ่ง ให้คู่กรณียื่นบัญชีระบุพยานหลักฐาน และวิธีการที่จะได้มาซึ่งพยานหลักฐานดังกล่าว
               ภายใต้บังคับมาตรา ๕๘ ก่อนศาลมีคำวินิจฉัย คู่กรณีอาจยื่นบัญชีระบุพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้ แต่ต้องยื่นเสียก่อนวันที่ศาลกำหนดว่าจะมีคำวินิจฉัยไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน

               มาตรา ๖๑  เพื่อให้การพิจารณาคดีเป็นไปด้วยความรวดเร็วและเป็นธรรม ศาลอาจกำหนดให้มีการตรวจพยานหลักฐานก่อนก็ได้ แต่ต้องแจ้งคู่กรณีทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสิบห้าวันก่อนวันนัดตรวจพยานหลักฐาน

               มาตรา ๖๒  ในการไต่สวนพยานบุคคล ไม่ว่าจะเป็นพยานที่ฝ่ายใดอ้างหรือที่ศาลเรียกมาเอง ให้ศาลสอบถามพยานบุคคลเอง แล้วให้พยานให้ถ้อยคำในข้อนั้นโดยวิธีแถลงด้วยตนเอง หรือตอบคำถามศาล ศาลอาจถามพยานเกี่ยวกับข้อเท็จจริงใด ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับคดี แม้จะไม่มีฝ่ายใดยกขึ้นอ้างก็ตาม
               เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ศาลอาจอนุญาตให้คู่กรณีซักถามพยานเพิ่มเติมตามประเด็นและข้อเท็จจริงที่ศาลกำหนดไว้ก็ได้ โดยให้ฝ่ายที่อ้างพยานเป็นผู้ซักถามก่อน
               หลังจากคู่กรณีถามพยานตามวรรคสองแล้ว ห้ามมิให้คู่กรณีฝ่ายใดถามพยานอีก เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล

               มาตรา ๖๓  ศาลอาจอนุญาตให้มีการไต่สวนพยานที่อยู่นอกที่ทำการศาลตามที่คู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่ายร้องขอ การไต่สวนพยานเช่นนั้นอาจใช้ระบบการประชุมทางจอภาพตามข้อกำหนดของศาลได้
               การไต่สวนพยานตามวรรคหนึ่ง ให้ถือว่ากระทำในห้องพิจารณาของศาล

               มาตรา ๖๔  ในกรณีที่ศาลเห็นสมควร หรือในกรณีที่คู่กรณีฝ่ายที่อ้างพยานนั้นร้องขอและศาลอนุญาต ศาลอาจกำหนดให้พยานบุคคลหรือพยานผู้เชี่ยวชาญที่ต้องมาให้ถ้อยคำ เสนอบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นล่วงหน้าต่อศาลตามประเด็นที่ศาลกำหนด หรือที่ศาลอนุญาตให้คู่กรณีฝ่ายที่ร้องขอกำหนด โดยให้ส่งต้นฉบับบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นล่วงหน้าต่อศาล และสำเนาแก่คู่กรณีฝ่ายอื่นเพื่อทราบก่อนวันนัดไต่สวนพยานบุคคลหรือพยานผู้เชี่ยวชาญนั้นไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน
               คู่กรณีที่ติดใจคัดค้านข้อเท็จจริงในบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นล่วงหน้าดังกล่าวในประเด็นใด ให้ทำคำคัดค้านเป็นหนังสือยื่นต่อศาลก่อนวันนัดไต่สวนพยานบุคคลหรือพยานผู้เชี่ยวชาญนั้นไม่น้อยกว่าสามวัน มิฉะนั้นให้ถือว่าไม่ติดใจคัดค้าน
               ในวันไต่สวนพยาน ให้พยานรับรองบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นล่วงหน้า แล้วตอบข้อซักถามเพิ่มเติมของศาลและคู่กรณีฝ่ายอื่นตามประเด็นที่เสนอต่อศาลตามวรรคสองและศาลอนุญาต หากพยานไม่มาศาล หรือมาศาลแต่ไม่ยอมตอบข้อซักถาม ให้ศาลปฏิเสธที่จะรับฟังบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นล่วงหน้าของพยานบุคคลหรือพยานผู้เชี่ยวชาญนั้นเป็นพยานหลักฐานในคดี เว้นแต่มีเหตุจำเป็นหรือสมควรเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ศาลจะรับฟังบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นล่วงหน้าของพยานบุคคลหรือพยานผู้เชี่ยวชาญนั้นประกอบพยานหลักฐานอื่นก็ได้
               พยานบุคคลหรือพยานผู้เชี่ยวชาญใดยื่นบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นล่วงหน้าตามวรรคหนึ่งต่อศาลแล้ว จะขอถอนบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นล่วงหน้านั้นมิได้ และเมื่อพยานรับรองบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นล่วงหน้าแล้ว ให้ถือว่าบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นล่วงหน้านั้นเป็นส่วนหนึ่งของการให้ถ้อยคำของพยาน

               มาตรา ๖๕  ความในมาตรา ๖๔ วรรคหนึ่งและวรรคสอง ให้ใช้บังคับแก่กรณีที่ศาลกำหนดให้พยานบุคคลใดหรือพยานผู้เชี่ยวชาญเสนอบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นต่อศาลตามประเด็นที่ศาลกำหนดแทนการมาให้ถ้อยคำโดยพยานไม่ต้องมาศาลด้วยโดยอนุโลม เว้นแต่ระยะเวลาตามมาตรา ๖๔ วรรคหนึ่ง ให้นับแต่วันที่ได้รับคำสั่งศาล

               มาตรา ๖๖  ระหว่างการไต่สวนของศาล ให้ศาลบันทึกรายงานการพิจารณาคดีรวมไว้ในสำนวน และจัดให้คู่กรณีและพยานลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐาน หากคู่กรณีหรือพยานลงลายมือชื่อไม่ได้ หรือไม่ยอมลงลายมือชื่อ ให้ศาลทำรายงานจดแจ้งเหตุที่ไม่มีลายมือชื่อเช่นนั้นไว้แทนการลงลายมือชื่อ
               ให้ศาลบันทึกการให้ถ้อยคำของพยานในการไต่สวนรวมไว้ในสำนวนด้วย โดยใช้อุปกรณ์บันทึกเสียงหรืออุปกรณ์บันทึกภาพและเสียง หรือโดยวิธีการอื่นใดตามข้อกำหนดของศาล

               มาตรา ๖๗  คู่กรณีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดหรือทั้งสองฝ่ายมีสิทธิร้องขอให้มีการแถลงการณ์เปิดคดีหรือปิดคดีของตนได้ตามที่ศาลเห็นสมควร และภายในเวลาที่ศาลกำหนด
               การแถลงการณ์เปิดคดีหรือปิดคดีของคู่กรณีต้องทำเป็นหนังสือ เว้นแต่ศาลเห็นสมควรให้กระทำด้วยวาจา และให้นำความในมาตรา ๖๖ วรรคสอง มาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม
               หลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาในการแถลงการณ์เปิดคดีหรือปิดคดี ให้เป็นไปตามข้อกำหนดของศาล

               มาตรา ๖๘  คู่กรณี พยานในส่วนที่เกี่ยวกับการให้ถ้อยคำของตน หรือบุคคลภายนอกซึ่งมีส่วนได้เสียโดยชอบหรือมีเหตุผลอันสมควร มีสิทธิขอตรวจดู ขอสำเนา หรือขอสำเนาที่มีคำรับรองความถูกต้องของเอกสารในสำนวนได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในข้อกำหนดของศาล ซึ่งจะกำหนดให้ต้องเสียค่าธรรมเนียมด้วยก็ได้

               มาตรา ๖๙  ให้ศาลเป็นผู้บันทึกรายงานการพิจารณาคดี

               มาตรา ๗๐  ให้ตุลาการคนหนึ่งซึ่งได้รับมอบหมายจากศาลเป็นผู้ลงลายมือชื่อในประกาศ คำสั่ง รายงานการพิจารณาคดี หรือหนังสืออื่นใดของศาล

               มาตรา ๗๑  เพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นอย่างร้ายแรงที่ยากแก่การแก้ไขเยียวยาในภายหลัง หรือเพื่อป้องกันความรุนแรงอันใกล้จะถึงและคำร้องของผู้ร้องมีเหตุอันมีน้ำหนักที่ศาลจะวินิจฉัยให้เป็นไปตามคำร้อง เมื่อศาลเห็นสมควรหรือคู่กรณีได้ยื่นคำขอ ให้ศาลมีอำนาจกำหนดมาตรการหรือวิธีการใด ๆ เป็นการชั่วคราวก่อนการวินิจฉัย และออกคำสั่งไปยังหน่วยงานของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องให้ปฏิบัติได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และประเภทคดีที่กำหนดในข้อกำหนดของศาล
               มาตรการหรือวิธีการชั่วคราวก่อนการวินิจฉัยตามวรรคหนึ่ง ให้มีผลใช้บังคับได้ไม่เกินหกสิบวันนับแต่วันที่ศาลกำหนดมาตรการหรือวิธีการชั่วคราวนั้น