หมวด ๓
การดำเนินคดีร้องขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน
-------------------------
มาตรา ๔๕ ในการพิจารณาพิพากษาคดีร้องขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเพราะเหตุร่ำรวยผิดปกติ ให้นำบทบัญญัติในหมวด ๒ การดำเนินคดีอาญา เว้นแต่มาตรา ๒๔ มาตรา ๒๕ มาตรา ๒๖ เฉพาะบทบัญญัติที่กำหนดให้ในวันยื่นฟ้องให้จำเลยมาหรือคุมตัวมาศาล มาตรา ๒๗ มาตรา ๒๘ มาตรา ๒๙ มาตรา ๓๑ มาตรา ๓๒ มาตรา ๓๓ วรรคสาม และวรรคสี่ มาตรา ๔๐ มาตรา ๔๒ และมาตรา ๔๓ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
มาตรา ๔๖ คำร้องขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน นอกจากจะต้องระบุรายละเอียดเกี่ยวกับข้อกล่าวหาและพฤติการณ์ที่แสดงให้เห็นว่าผู้ถูกกล่าวหาร่ำรวยผิดปกติแล้ว จะต้องระบุรายละเอียดเกี่ยวกับทรัพย์สินและสถานที่ตั้งของทรัพย์สินที่ขอให้ตกเป็นของแผ่นดิน ชื่อและที่อยู่ของผู้ครอบครองหรือมีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในขณะยื่นคำร้องด้วย
มาตรา ๔๗ เมื่อได้รับคำร้องขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน ให้ศาลประกาศคำร้องดังกล่าวในที่เปิดเผยตามวิธีการในข้อกำหนดของประธานศาลฎีกา
บุคคลภายนอกอาจร้องคัดค้านเข้ามาในคดีได้ แต่ต้องกระทำก่อนศาลมีคำพิพากษา
มาตรา ๔๘ ผู้ใดกล่าวอ้างโต้แย้งว่าทรัพย์สินที่ร้องขอให้ตกเป็นของแผ่นดินมิได้เกิดจากการร่ำรวยผิดปกติ ผู้นั้นมีภาระการพิสูจน์ต่อศาล
ถ้าผู้มีภาระการพิสูจน์ตามวรรคหนึ่งไม่อาจพิสูจน์ได้ว่าทรัพย์สินที่ร้องขอให้ตกเป็นของแผ่นดินมิได้เกิดจากการร่ำรวยผิดปกติ ให้ศาลสั่งให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นของแผ่นดิน
ในกรณีผู้ที่กล่าวอ้างโต้แย้งเป็นทายาทหรือผู้จัดการมรดก ให้ศาลคำนึงถึงความสามารถในการพิสูจน์ของบุคคลดังกล่าว และพิจารณาพิพากษาตามที่เห็นว่าเป็นธรรม