พระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช ๒๔๘๓
-------------------------
ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล
คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
(ตามประกาศประธานสภาผู้แทนราษฎร
ลงวันที่ ๔ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๘๐)
อาทิตย์ทิพอาภา
พล.อ. พิชเยนทรโยธิน
ตราไว้ ณ วันที่ ๓๐ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๘๓
เป็นปีที่ ๗ ในรัชกาลปัจจุบัน
โดยที่สภาผู้แทนราษฎรลงมติว่า สมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยลักษณะล้มละลายเสียใหม่เพื่อให้เหมาะสมแก่กาลสมัยยิ่งขึ้น
จึงมีพระบรมราชโองการให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภาผู้แทนราษฎร ดังต่อไปนี้
มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้ให้เรียกว่า “พระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช ๒๔๘๓”
มาตรา ๒๑ ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้ตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๘๔ เป็นต้นไป
ให้ใช้บทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้บังคับแก่คดีล้มละลายทั้งปวงที่ได้ยื่นต่อศาลตั้งแต่วันใช้พระราชบัญญัตินี้ ไม่ว่ามูลคดีได้เกิดขึ้นก่อนหรือหลังวันใช้นั้น และแก่คดีล้มละลายทั้งปวงที่ค้างพิจารณาอยู่ในศาลหรือที่เจ้าพนักงานรักษาทรัพย์
มาตรา ๓ ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้ในเขตจังหวัดพระนคร จังหวัดธนบุรี จังหวัดสมุทรปราการ และจังหวัดนนทบุรี และเมื่อเห็นสมควรจะให้ใช้ในเขตจังหวัดอื่นใดเมื่อใด จะได้ประกาศโดยพระราชกฤษฎีกา
มาตรา ๔ ตั้งแต่วันใช้พระราชบัญญัตินี้ ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติล้มละลาย รัตนโกสินทศก ๑๓๐ พระราชบัญญัติลักษณะล้มละลายแก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๐ พระราชบัญญัติลักษณะล้มละลายแก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๔ และบรรดากฎหมาย กฎ และข้อบังคับอื่นในส่วนที่มีบัญญัติไว้แล้วในพระราชบัญญัตินี้ หรือซึ่งแย้งกับบทแห่งพระราชบัญญัตินี้
มาตรา ๕ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทวงยุติธรรมรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจแต่งตั้งและถอดถอนเจ้าพนักงาน ออกกฎกระทรวง และจัดวางระเบียบข้อบังคับทางธุรการเพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้
กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้
มาตรา ๖ ในพระราชบัญญัตินี้ เว้นแต่ข้อความจะแสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่น
“รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
“เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์” หมายความตลอดถึงบุคคลที่ได้รับมอบหมายจากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ให้ปฏิบัติการแทน
“เจ้าพนักงานบังคับคดี” หมายความถึงเจ้าพนักงานบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
“เจ้าหนี้มีประกัน”๒ หมายความว่า เจ้าหนี้ผู้มีสิทธิเหนือทรัพย์สินของลูกหนี้ในทางจำนอง จำนำ หรือสิทธิยึดหน่วง หรือเจ้าหนี้ผู้มีบุริมสิทธิที่บังคับได้ทำนองเดียวกับผู้รับจำนำ รวมถึงเจ้าหนี้ที่กฎหมายอื่นให้ถือว่าเป็นเจ้าหนี้มีประกัน
“กระบวนพิจารณาคดีล้มละลาย” หมายความว่า กระบวนพิจารณาซึ่งบัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้ ไม่ว่าจะกระทำต่อศาลหรือต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตั้งแต่เริ่มคดีจนถึงคดีสิ้นสุด
“พิพากษา” หมายความตลอดถึงการที่ศาลวินิจฉัยชี้ขาดคดีโดยทำเป็นคำสั่ง
“พิทักษ์ทรัพย์” หมายความว่า พิทักษ์ทรัพย์สินไม่ว่าเด็ดขาดหรือชั่วคราว
“มติ” หมายความว่า มติของเจ้าหนี้ฝ่ายที่มีจำนวนหนี้ข้างมาก ซึ่งได้เข้าประชุมด้วยตนเองหรือมอบฉันทะให้ผู้อื่นเข้าประชุมแทนในที่ประชุมเจ้าหนี้และได้ออกเสียงลงคะแนนในมตินั้น
“มติพิเศษ” หมายความว่า มติของเจ้าหนี้ฝ่ายข้างมากและมีจำนวนหนี้เท่ากับสามในสี่แห่งจำนวนหนี้ทั้งหมดของเจ้าหนี้ซึ่งได้เข้าประชุมด้วยตนเองหรือมอบฉันทะให้ผู้อื่นเข้าประชุมแทนในที่ประชุมเจ้าหนี้ และได้ออกเสียงลงคะแนนในมตินั้น
“บุคคลภายในของลูกหนี้”๓ หมายความว่า
(๑) กรรมการ ผู้จัดการ หุ้นส่วนผู้จัดการ หุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิด บุคคลซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินกิจการ หรือผู้สอบบัญชีของลูกหนี้
(๒) ผู้ถือหุ้นที่ถือหุ้นเกินจำนวนร้อยละห้าของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของกิจการของลูกหนี้
(๓)๔ คู่สมรสและบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะของลูกหนี้หรือของบุคคลตาม (๑) หรือ (๒)
(๔) ห้างหุ้นส่วนสามัญที่ลูกหนี้หรือบุคคลตาม (๑) หรือ (๒) หรือ (๓) เป็นหุ้นส่วน
(๕) ห้างหุ้นส่วนจำกัดที่ลูกหนี้หรือบุคคลตาม (๑) หรือ (๒) หรือ (๓) เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิด หรือเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดที่มีหุ้นรวมกันเกินร้อยละสามสิบของหุ้นทั้งหมดของห้างหุ้นส่วนจำกัด
(๖) บริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัดที่ลูกหนี้หรือบุคคลตาม (๑) หรือ (๒) หรือ (๓) หรือห้างหุ้นส่วนตาม (๔) หรือ (๕) ถือหุ้นรวมกันเกินร้อยละสามสิบของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของบริษัทนั้น
(๗) บริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดที่ลูกหนี้หรือบุคคลตาม (๑) ถึง (๖) ถือหุ้นรวมกันเกินร้อยละสามสิบของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของบริษัทนั้น
(๘) กรรมการ ผู้จัดการ หุ้นส่วนผู้จัดการ หุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิด บุคคลซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินกิจการ หรือผู้สอบบัญชีของห้างหุ้นส่วนสามัญ ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัด ตาม (๔) หรือ (๕) หรือ (๖) หรือ (๗) แล้วแต่กรณี หรือคู่สมรสและบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะของบุคคลดังกล่าว
“บุคคลล้มละลายทุจริต”๕ หมายความว่า บุคคลล้มละลายที่ถูกศาลพิพากษาว่ามีความผิดตามมาตรา ๑๖๓ ถึงมาตรา ๑๗๐ แห่งพระราชบัญญัตินี้ หรือเป็นบุคคลล้มละลายอันเนื่องมาจากหรือเกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดฐานยักยอกหรือฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา หรือการกระทำความผิดอันมีลักษณะเป็นการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนตามกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน
๑ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๗/-/หน้า ๙๕๘/๓๐ ธันวาคม ๒๔๘๓
๒ มาตรา ๖ นิยามคำว่า "เจ้าหนี้มีประกัน" แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๕๖๑
๓ มาตรา ๖ นิยามคำว่า "บุคคลภายในของลูกหนี้" เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๔๒
๔ มาตรา ๖ นิยามคำว่า "บุคคลภายในของลูกหนี้" (๓) แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๗) พ.ศ. ๒๕๔๗
๕ มาตรา ๖ นิยามคำว่า "บุคคลล้มละลายทุจริต" แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๗) พ.ศ. ๒๕๔๗