ส่วนที่ ๖
การประนอมหนี้ก่อนล้มละลาย
-------------------------
มาตรา ๔๕๑ เมื่อลูกหนี้ประสงค์จะทำความตกลงในเรื่องหนี้สินโดยวิธีขอชำระหนี้แต่เพียงบางส่วนหรือโดยวิธีอื่น ให้ทำคำขอประนอมหนี้เป็นหนังสือยื่นต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกำหนดเจ็ดวันนับแต่วันยื่นคำชี้แจงเกี่ยวกับกิจการและทรัพย์สินตามมาตรา ๓๐ หรือภายในเวลาตามที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้กำหนดให้
คำขอประนอมหนี้ต้องแสดงข้อความแห่งการประนอมหนี้ หรือวิธีจัดกิจการหรือทรัพย์สินและรายละเอียดแห่งหลักประกัน หรือผู้ค้ำประกัน ถ้ามี และอย่างน้อยต้องมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
(๑) ลำดับการชำระหนี้ตามพระราชบัญญัตินี้
(๒) จำนวนเงินที่ขอประนอมหนี้
(๓) แนวทางและวิธีการในการปฏิบัติตามคำขอประนอมหนี้
(๔) กำหนดเวลาชำระหนี้
(๕) การจัดการกับทรัพย์สินอันเป็นหลักประกัน ถ้ามี
(๖) ผู้ค้ำประกัน ถ้ามี
ถ้าคำขอประนอมหนี้มีรายการไม่ครบถ้วนชัดเจนตามวรรคสอง ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แจ้งให้ลูกหนี้แก้ไขให้ครบถ้วนชัดเจน
ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เรียกประชุมเจ้าหนี้เพื่อปรึกษาลงมติพิเศษว่าจะยอมรับคำขอประนอมหนี้นั้นหรือไม่
มาตรา ๔๖ การยอมรับคำขอประนอมหนี้โดยมติพิเศษของที่ประชุมเจ้าหนี้ยังไม่ผูกมัดเจ้าหนี้ทั้งหลาย จนกว่าศาลจะได้มีคำสั่งเห็นชอบด้วยแล้ว
มาตรา ๔๗ ลูกหนี้อาจขอแก้ไขคำขอประนอมหนี้ในเวลาประชุมเจ้าหนี้หรือในเวลาที่ศาลพิจารณาได้ ถ้าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หรือศาลเห็นว่าการแก้ไขนั้นจะเป็นประโยชน์แก่เจ้าหนี้โดยทั่วไป
มาตรา ๔๘ ในการประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาคำขอประนอมหนี้นั้น เจ้าหนี้ที่ไม่มาประชุมจะออกเสียงโดยทำเป็นหนังสือก็ได้ แต่ต้องให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้รับหนังสือนั้นก่อนวันประชุม ในกรณีเช่นนี้ให้ถือเสมือนหนึ่งว่าเจ้าหนี้นั้นได้มาประชุมและออกเสียงด้วยตนเอง
มาตรา ๔๙ เมื่อเจ้าหนี้ได้ลงมติพิเศษยอมรับคำขอประนอมหนี้ของลูกหนี้แล้ว ลูกหนี้หรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจขอต่อศาลให้สั่งว่าจะเห็นชอบด้วยหรือไม่
การกำหนดวันนั่งพิจารณาคำขอนี้ ต้องให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีเวลาส่งแจ้งความให้ลูกหนี้และเจ้าหนี้ทั้งหลายทราบล่วงหน้า ไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน
มาตรา ๕๐ ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นรายงานเกี่ยวกับการประนอมหนี้ กิจการทรัพย์สินและความประพฤติของลูกหนี้ต่อศาล ไม่น้อยกว่าสามวันก่อนวันที่ศาลนั่งพิจารณา
มาตรา ๕๑ ห้ามมิให้ศาลพิจารณาคำขอประนอมหนี้จนกว่าจะได้ไต่สวนลูกหนี้โดยเปิดเผยแล้ว เว้นแต่กรณีที่ลูกหนี้ร่วมขอประนอมหนี้นั้น แม้ศาลจะยังมิได้ไต่สวนลูกหนี้ทั้งหมดโดยเปิดเผย เพราะเหตุว่าลูกหนี้บางคนไม่สามารถจะมาศาลโดยเจ็บป่วยหรืออยู่นอกราชอาณาจักรก็ตาม ถ้าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รายงานว่าไม่จำเป็นจะต้องไต่สวนลูกหนี้นั้น ๆ ศาลมีอำนาจพิจารณาคำขอประนอมหนี้ได้ แต่ต้องได้มีการไต่สวนลูกหนี้โดยเปิดเผยแล้วอย่างน้อยคนหนึ่ง
มาตรา ๕๒ ในการที่ศาลจะมีคำสั่งเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้หรือไม่นั้น ให้ศาลพิจารณารายงานของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และข้อคัดค้านของเจ้าหนี้ ถ้ามี
เจ้าหนี้ที่ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้แล้วมีอำนาจคัดค้านต่อศาลได้ ถึงแม้จะได้เคยออกเสียงลงมติยอมรับไว้ในที่ประชุมเจ้าหนี้ก็ตาม
มาตรา ๕๓ ห้ามมิให้ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้ในกรณีดังต่อไปนี้
(๑) การประนอมหนี้ไม่มีข้อความให้ใช้หนี้ก่อนและหลังตามลำดับที่กฎหมายบัญญัติไว้ว่าด้วยการแบ่งทรัพย์สินของบุคคลล้มละลาย
(๒) การประนอมหนี้นั้นไม่เป็นประโยชน์แก่เจ้าหนี้ทั่วไป หรือทำให้เจ้าหนี้ได้เปรียบเสียเปรียบแก่กัน หรือปรากฏข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งอย่างใด ซึ่งถ้าหากว่าลูกหนี้ต้องล้มละลายแล้ว ไม่มีเหตุที่จะปลดลูกหนี้จากล้มละลายได้เลย
มาตรา ๕๔ ถ้าปรากฏข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งอย่างใด ซึ่งถ้าหากว่าลูกหนี้ล้มละลายแล้ว จะปลดลูกหนี้จากล้มละลายได้ก็แต่โดยมีเงื่อนไข ศาลจะมีคำสั่งเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้ก็ได้ เมื่อลูกหนี้ให้ประกันสำหรับชำระหนี้ไม่น้อยกว่าหนึ่งในสี่ของจำนวนหนี้ที่ไม่มีประกันซึ่งเจ้าหนี้อาจขอรับชำระได้
ในกรณีอื่น ศาลอาจมีคำสั่งเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบด้วยการประนอมหนี้ก็ได้ตามแต่จะเห็นสมควร
มาตรา ๕๕ เมื่อศาลได้มีคำสั่งเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้แล้ว ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์โฆษณาในราชกิจจานุเบกษาและในหนังสือพิมพ์รายวันไม่น้อยกว่าหนึ่งฉบับภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบ
มาตรา ๕๖ การประนอมหนี้ซึ่งที่ประชุมเจ้าหนี้ได้ยอมรับและศาลเห็นชอบด้วยแล้ว ผูกมัดเจ้าหนี้ทั้งหมดในเรื่องหนี้ซึ่งอาจขอรับชำระได้ แต่ไม่ผูกมัดเจ้าหนี้คนหนึ่งคนใดในเรื่องหนี้ซึ่งตามพระราชบัญญัตินี้ลูกหนี้ไม่อาจหลุดพ้นโดยคำสั่งปลดจากล้มละลายได้ เว้นแต่เจ้าหนี้คนนั้นได้ยินยอมด้วยในการประนอมหนี้
มาตรา ๕๗ เจ้าหนี้คนหนึ่งคนใดหรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ มีอำนาจขอต่อศาลให้บังคับลูกหนี้หรือผู้ค้ำประกันให้ปฏิบัติตามข้อความที่ประนอมหนี้ได้
มาตรา ๕๘ ในการประนอมหนี้ ถ้าได้ตั้งผู้จัดการทรัพย์สินหรือกิจการของลูกหนี้เพื่อจัดการชำระหนี้ ให้นำบทบัญญัติในหมวด ๔ ว่าด้วยวิธีจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้ และหมวด ๕ ว่าด้วยเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
มาตรา ๕๙ การประนอมหนี้ไม่ทำให้บุคคลซึ่งเป็นหุ้นส่วนกับลูกหนี้หรือรับผิดร่วมกับลูกหนี้ หรือค้ำประกันหรืออยู่ในลักษณะอย่างผู้ค้ำประกันของลูกหนี้ หลุดพ้นจากความรับผิดไปด้วย
มาตรา ๖๐ ถ้าลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามที่ได้ตกลงไว้ในการประนอมหนี้ก็ดี หรือปรากฏแก่ศาลโดยมีพยาหลักฐานว่า การประนอมหนี้นั้นไม่อาจดำเนินไปได้โดยปราศจากอยุติธรรมหรือจะเป็นการเนิ่นช้าเกินสมควรก็ดี หรือการที่ศาลได้มีคำสั่งเห็นชอบด้วยนั้นเป็นเพราะถูกหลอกลวงทุจริตก็ดี เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รายงานหรือเจ้าหนี้คนใดมีคำขอโดยทำเป็นคำร้อง ศาลมีอำนาจยกเลิกการประนอมหนี้และพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย แต่ทั้งนี้ไม่กระทบถึงการใดที่ได้กระทำไปแล้วตามข้อประนอมหนี้นั้น
เมื่อศาลได้พิพากษาดังกล่าวในวรรคก่อนแล้ว ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์โฆษณาคำพิพากษาในราชกิจจานุเบกษาและในหนังสือพิมพ์รายวันไม่น้อยกว่าหนึ่งฉบับ ในคำโฆษณาให้ระบุชื่อ ตำบลที่อยู่ อาชีพของลูกหนี้ และวันที่ศาลได้มีคำพิพากษา ทั้งให้แจ้งกำหนดเวลาให้เจ้าหนี้ทั้งหลายเสนอคำขอรับชำระหนี้ที่ลูกหนี้ได้กระทำขึ้นในระหว่างวันที่ศาลได้มีคำสั่งเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้ถึงวันที่ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ด้วย
๑ มาตรา ๔๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๘) พ.ศ. ๒๕๕๘