หมวด ๒ การดำเนินกระบวนพิจารณา (ข้อ ๕ - ๑๓)

 

หมวด ๒
การดำเนินกระบวนพิจารณา

-------------------------

การยื่นคำคู่ความต่อศาลจังหวัด

               ข้อ ๕  ในระหว่างที่ศาลล้มละลายภาคยังมิได้เปิดทำการในท้องที่ใด เมื่อมีผู้ยื่นคำฟ้องหรือคำร้องขอต่อศาลจังหวัดตามมาตรา ๓๐ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ. ๒๕๔๒ ให้ผู้ยื่นคำฟ้องหรือคำร้องขอจัดทำสำเนาคำฟ้องหรือคำร้องขอสำหรับศาลจังหวัดด้วยหนึ่งชุด แล้วให้ศาลจังหวัดส่งต้นฉบับมายังศาลล้มละลายกลางโดยเร็วเพื่อมีคำสั่งและแจ้ง คำสั่งดังกล่าวพร้อมกับส่งหมายเรียกให้แก่บุคคลที่เกี่ยวข้อง ถ้าหากมี ไปยังศาลจังหวัดโดยเร็วเช่นกัน

               ข้อ ๖  ให้ศาลจังหวัดแจ้งคำสั่งที่ได้รับจากศาลล้มละลายกลางให้ผู้ยื่นคำฟ้องหรือคำร้องขอทราบโดยเร็ว และในกรณีที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งรับคำฟ้องหรือคำร้องขอ ให้ผู้ยื่นคำฟ้องหรือคำร้องขอร้องขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของศาลจังหวัดภายในเจ็ดวันนับแต่วันทราบคำสั่ง เพื่อให้ส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องหรือสำเนาคำร้องขอให้แก่บุคคลที่เกี่ยวข้อง เว้นแต่ในคดีฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ ให้ศาลล้มละลายกลางดำเนินการตามมาตรา ๙๐/๙ แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓
              
เมื่อศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งรับคำฟ้องหรือคำร้องขอแล้วให้รีบนำเสนออธิบดีผู้พิพากษาศาลล้มละลายกลางเพื่อกำหนดวัน เวลา และศาลที่จะนั่งพิจารณาพิพากษาคดีตามความเหมาะสม และให้ศาลล้มละลายกลางแจ้งศาลจังหวัดเพื่อให้แจ้งกำหนดวัน เวลา และศาลที่จะนั่งพิจารณาพิพากษาคดีนั้นให้คู่ความทราบโดยเร็ว

การขอสืบพยานหลักฐานไว้ก่อน

               ข้อ ๗  คำร้องขอหรือคำร้องให้ศาลมีคำสั่งให้สืบพยานหลักฐานไว้ก่อนตามมาตรา ๑๖ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ. ๒๕๔๒ ต้องบรรยายข้อเท็จจริงที่แสดงว่ามีความจำเป็นที่จะต้องสืบพยานหลักฐานไว้ก่อน และในกรณีที่ยังมิได้มีคดีล้มละลายเกิดขึ้นต้องบรรยายข้อเท็จจริงที่แสดงว่ามีเหตุที่จะเกิดคดีล้มละลายขึ้น
               ในกรณีที่มีเหตุฉุกเฉินตามมาตรา ๑๗ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว คำร้องต้องบรรยายถึงข้อเท็จจริงที่แสดงว่ามีเหตุฉุกเฉินซึ่งหากแจ้งให้คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งหรือบุคคลภายนอกที่เกี่ยวข้องทราบก่อนแล้ว พยานหลักฐานดังกล่าวจะถูกทำให้เสียหาย สูญหาย หรือมีเหตุอื่นใดที่จะทำให้ยากแก่การนำมาสืบในภายหลังได้

               ข้อ ๘  ในกรณีที่ศาลมีคำสั่งอนุญาตตามคำร้องให้ยึดหรืออายัดเอกสารหรือวัตถุที่จะใช้เป็นพยานหลักฐานในกรณีที่มีเหตุฉุกเฉินตามข้อ ๗ วรรคสอง ศาลอาจสั่งให้ผู้ขอวางหลักประกันตามจำนวน ภายในระยะเวลาและกำหนดเงื่อนไขอย่างใด ตามที่ศาลเห็นสมควรสำหรับความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นก็ได้

               ข้อ ๙  ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยการสืบพยานบุคคลโดยระบบการประชุมทางจอภาพหรือการประชุมทางอินเทอร์เน็ตตามข้อ ๑๙ มาใช้บังคับแก่การพิจารณาตามข้อ ๗ และข้อ ๘ โดยอนุโลม

เอกสารภาษาต่างประเทศ

               ข้อ ๑๐  ถ้าเอกสารที่ส่งต่อศาลได้ทำขึ้นเป็นภาษาต่างประเทศ และคู่ความตกลงกันว่าไม่ต้องทำคำแปลทั้งฉบับหรือแต่บางส่วน และศาลเห็นว่ามิใช่พยานหลักฐานในประเด็นหลักแห่งคดี ศาลจะอนุญาต ให้ส่งเอกสารนั้นเป็นพยานหลักฐานต่อศาลโดยไม่ต้องทำคำแปลก็ได้

การบันทึกคำเบิกความของพยาน

               ข้อ ๑๑  ในการบันทึกคำเบิกความของพยาน ศาลอาจจัดให้มีการบันทึกด้วยวิธีหนึ่งวิธีใดหรือหลายวิธีประกอบกัน ดังต่อไปนี้
               (๑) ให้เจ้าพนักงานศาลเป็นผู้บันทึกและอ่านคำเบิกความนั้นให้พยานฟังแทน
               (๒ ให้เจ้าพนักงานศาลเป็นผู้บันทึกด้วยการจดชวเลข หรือวิธีใด ๆ อันสามารถถอดความเป็นภาษาไทยได้
               (๓) บันทึกโดยใช้เครื่องมือในการบันทึกเสียง
               (๔) บันทึกโดยใช้เครื่องมือในการบันทึกภาพและเสียง
               ถ้าศาลจัดให้มีการบันทึกตาม (๒) ศาลต้องจัดให้มีการบันทึกด้วยวิธีการอื่นประกอบด้วย

               ข้อ ๑๒  เมื่อศาลจัดให้มีการบันทึกคำเบิกความของพยานด้วยวิธีการตามข้อ ๑๑ (๒), (๓) หรือ (๔) ศาลอาจจัดให้มีการลงลายมือชื่อของพยานเพื่อรับรองว่าตนเป็นผู้ให้ถ้อยคำตามที่มีการบันทึกไว้ก็ได้ ในกรณีเช่นว่านี้ศาลไม่จำต้องจัดให้มีการถอดความบันทึกคำเบิกความของพยานเป็นภาษาไทยหรือเป็นหนังสืออีก เว้นแต่เมื่อมีคู่ความฝ่ายใดยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลในประเด็นที่เกี่ยวกับพยานนั้น

การพิจารณาลับและการห้ามโฆษณา

               ข้อ ๑๓  เพื่อความเหมาะสม หรือเพื่อคุ้มครองความลับทางการค้า หรือเพื่อมิให้เสียหายแก่ธุรกิจการค้าที่เข้ามาฟื้นฟูกิจการ คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจมีคำขอหรือถ้าศาลเห็นว่าไม่สมควรที่จะให้มีการเปิดเผยข้อเท็จจริงหรือพฤติการณ์ต่าง ๆ ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนแห่งคดีต่อสาธารณชน ศาลอาจมีคำสั่ง ดังต่อไปนี้ก็ได้
               (๑) ห้ามประชาชนมิให้เข้าฟังการพิจารณาทั้งหมดหรือแต่บางส่วน แล้วดำเนินการพิจารณาไปโดยไม่เปิดเผย
               (๒) ห้ามมิให้โฆษณาข้อเท็จจริงหรือพฤติการณ์ต่าง ๆ เช่นว่านั้น
               ไม่ว่าศาลจะได้มีคำสั่งดังกล่าวหรือไม่ คำสั่งหรือคำพิพากษาชี้ขาดคดีของศาลต้องอ่านในศาล โดยเปิดเผย และไม่ห้ามการโฆษณาทั้งหมดหรือแต่บางส่วนแห่งคำสั่งหรือคำพิพากษาหรือย่อเรื่องแห่งคำสั่งหรือคำพิพากษานั้นโดยเป็นกลางและถูกต้อง