หมวด ๔
การนั่งพิจารณา
-------------------------
มาตรา ๓๕ ถ้าประมวลกฎหมายนี้มิได้บัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น การนั่งพิจารณาคดีที่ยื่นไว้ต่อศาลใดจะต้องกระทำในศาลนั้นในวันที่ศาลเปิดทำการและตามเวลาทำงานที่ศาลได้กำหนดไว้ แต่ในกรณีมีเหตุฉุกเฉินหรือเป็นการจำเป็นศาลจะมีคำสั่งกำหนดการนั่งพิจารณา ณ สถานที่อื่น หรือในวันหยุดงาน หรือในเวลาใด ๆ ก็ได้
ให้ผู้พิพากษาและเจ้าพนักงานศาลซึ่งปฏิบัติงานในวันหยุดงาน หรือในเวลาใด ๆ นอกเวลาทำการปกติได้รับค่าตอบแทนเป็นพิเศษ ตามระเบียบที่กระทรวงยุติธรรมกำหนด โดยได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงการคลัง๑
มาตรา ๓๖ การนั่งพิจารณาคดีจะต้องกระทำในศาลต่อหน้าคู่ความที่มาศาลและโดยเปิดเผย เว้นแต่
(๑) ในคดีเรื่องใดที่มีความจำเป็นเพื่อรักษาความเรียบร้อยในศาล เมื่อศาลได้ขับไล่คู่ความฝ่ายใดออกไปเสียจากบริเวณศาลโดยที่ประพฤติไม่สมควร ศาลจะดำเนินการนั่งพิจารณาคดีต่อไปลับหลังคู่ความฝ่ายนั้นก็ได้
(๒) ในคดีเรื่องใด เพื่อความเหมาะสม หรือเพื่อคุ้มครองสาธารณประโยชน์ ถ้าศาลเห็นสมควรจะห้ามมิให้มีการเปิดเผยซึ่งข้อเท็จจริง หรือพฤติการณ์ต่าง ๆ ทั้งหมด หรือแต่บางส่วนแห่งคดีซึ่งปรากฏจากคำคู่ความหรือคำแถลงการณ์ของคู่ความหรือจากคำพยานหลักฐานที่ได้สืบมาแล้ว ศาลจะมีคำสั่งดังต่อไปนี้ก็ได้
(ก) ห้ามประชาชนมิให้เข้าฟังการพิจารณาทั้งหมดหรือแต่บางส่วน แล้วดำเนินการพิจารณาไปโดยไม่เปิดเผย หรือ
(ข) ห้ามมิให้ออกโฆษณาข้อเท็จจริงหรือพฤติการณ์ต่าง ๆ เช่นว่านั้น
ในบรรดาคดีทั้งปวงที่ฟ้องขอหย่าหรือฟ้องชายชู้หรือฟ้องให้รับรองบุตร ให้ศาลห้ามมิให้มีการเปิดเผยซึ่งข้อเท็จจริงหรือพฤติการณ์ใด ๆ ที่ศาลเห็นเป็นการไม่สมควร หรือพอจะเห็นได้ว่าจะทำให้เกิดการเสียหายอันไม่เป็นธรรมแก่คู่ความหรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง
ไม่ว่าศาลจะได้มีคำสั่งตามอนุมาตรา (๒) นี้หรือไม่ คำสั่งหรือคำพิพากษาชี้ขาดคดีของศาลนั้น ต้องอ่านในศาลโดยเปิดเผย และมิให้ถือว่าการออกโฆษณาทั้งหมดหรือแต่บางส่วนแห่งคำพิพากษานั้นหรือย่อเรื่องแห่งคำพิพากษาโดยเป็นกลางและถูกต้องนั้น เป็นผิดกฎหมาย
มาตรา ๓๗ ให้ศาลดำเนินการนั่งพิจารณาคดีติดต่อกันไปเท่าที่สามารถจะทำได้โดยไม่ต้องเลื่อนจนกว่าจะเสร็จการพิจารณาและพิพากษาคดี
มาตรา ๓๘ ถ้าในวันที่กำหนดนัดนั่งพิจารณาศาลไม่มีเวลาพอที่จะดำเนินการนั่งพิจารณา เนื่องจากกิจธุระของศาล ศาลจะมีคำสั่งให้เลื่อนการนั่งพิจารณาไปในวันอื่นตามที่เห็นสมควรก็ได้
มาตรา ๓๙ ถ้าการที่จะชี้ขาดตัดสินคดีเรื่องใดที่ค้างพิจารณาอยู่ในศาลใดจำต้องอาศัยทั้งหมดหรือแต่บางส่วนซึ่งคำชี้ขาดตัดสินบางข้อที่ศาลนั้นเองหรือศาลอื่นจะต้องกระทำเสียก่อน หรือจำต้องรอให้เจ้าพนักงานฝ่ายธุรการวินิจฉัยชี้ขาดในข้อเช่นนั้นเสียก่อน หรือถ้าปรากฏว่าได้มีการกระทำผิดอาญาเกิดขึ้นซึ่งอาจมีการฟ้องร้องอันอาจกระทำให้การชี้ขาดตัดสินคดีที่พิจารณาอยู่นั้นเปลี่ยนแปลงไป หรือในกรณีอื่นใดซึ่งศาลเห็นว่าถ้าได้เลื่อนการพิจารณาไปจักทำให้ความยุติธรรมดำเนินไปด้วยดี เมื่อศาลเห็นสมควรหรือเมื่อคู่ความที่เกี่ยวข้องร้องขอ ศาลจะมีคำสั่งเลื่อนการนั่งพิจารณาต่อไปจนกว่าจะได้มีการพิพากษาหรือชี้ขาดในข้อนั้น ๆ แล้วหรือภายในระยะเวลาใด ๆ ตามที่ศาลเห็นสมควรก็ได้
ถ้าศาลมีคำสั่งให้เลื่อนการนั่งพิจารณาดังกล่าวแล้วโดยไม่มีกำหนด เมื่อศาลเห็นสมควรหรือคู่ความที่เกี่ยวข้องร้องขอ ศาลจะมีคำสั่งให้เริ่มการนั่งพิจารณาต่อไปในวันใด ๆ ตามที่เห็นสมควรก็ได้
มาตรา ๔๐๒ เมื่อศาลได้กำหนดวันนั่งพิจารณาและแจ้งให้คู่ความทราบแล้ว ถ้าคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะขอเลื่อนการนั่งพิจารณา คู่ความฝ่ายนั้นต้องเสนอคำขอเข้ามาก่อนหรือในวันนัดและแสดงเหตุผลแห่งการขอเลื่อนนั้น ในกรณีเช่นว่านี้ ห้ามมิให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตตามคำขอ เว้นแต่การขอเลื่อนการนั่งพิจารณานั้นมีเหตุจำเป็นอันไม่อาจก้าวล่วงเสียได้ และหากศาลไม่อนุญาตจะทำให้เสียความยุติธรรม
เมื่อศาลจะสั่งให้เลื่อนการนั่งพิจารณา ศาลอาจสั่งให้คู่ความฝ่ายนั้นเสียค่าป่วยการพยานซึ่งมาศาลตามหมายเรียกและเสียค่าใช้จ่ายในการที่คู่ความฝ่ายอื่นมาศาล เช่น ค่าพาหนะเดินทางและค่าเช่าที่พักของตัวความ ทนายความ หรือพยาน เป็นต้น ตามจำนวนที่ศาลเห็นสมควร ถ้าคู่ความฝ่ายที่ขอเลื่อนคดีไม่ชำระค่าป่วยการหรือค่าใช้จ่ายตามที่ศาลกำหนด ให้ศาลยกคำขอเลื่อนคดีนั้นเสีย
ค่าป่วยการหรือค่าใช้จ่ายที่จ่ายตามวรรคสองให้ตกเป็นพับ
คำขอเลื่อนคดีตามวรรคหนึ่ง ถ้าไม่ได้เสนอต่อหน้าศาลด้วยวาจา ก็ให้ทำเป็นคำร้องและจะทำฝ่ายเดียวโดยได้รับอนุญาตจากศาลก็ได้
มาตรา ๔๑๓ ถ้ามีการขอเลื่อนการนั่งพิจารณาโดยอ้างว่าตัวความ ผู้แทน ทนายความ พยาน หรือบุคคลอื่นที่ถูกเรียกให้มาศาลไม่สามารถมาศาลได้เพราะป่วยเจ็บ เมื่อศาลเห็นสมควรหรือเมื่อคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีคำขอฝ่ายเดียว ศาลจะมีคำสั่งตั้งเจ้าพนักงานไปทำการตรวจก็ได้ และถ้าสามารถหาแพทย์ได้ก็ให้ตั้งแพทย์ไปตรวจด้วย ถ้าผู้ที่ศาลตั้งให้ไปตรวจได้รายงานโดยสาบานตนหรือกล่าวคำปฏิญาณแล้ว และศาลเชื่อว่าอาการของผู้ที่อ้างว่าป่วยนั้นไม่ร้ายแรงถึงกับจะมาศาลไม่ได้ ให้ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยการขาดนัดหรือการไม่มาศาลของบุคคลที่อ้างว่าป่วยนั้น แล้วแต่กรณี
ศาลอาจสั่งให้คู่ความฝ่ายที่ขอให้ไปตรวจตามวรรคหนึ่ง หรือคู่ความใดไปกับผู้ที่ศาลตั้งให้ไปตรวจ คู่ความนั้นจะมอบให้ผู้ใดไปแทนตนก็ได้
ค่าพาหนะและค่าป่วยการของเจ้าพนักงานและแพทย์ ให้ถือว่าเป็นค่าฤชาธรรมเนียม และให้นำมาตรา ๑๖๖ มาใช้บังคับ
มาตรา ๔๒ ถ้าคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งในคดีที่ค้างพิจารณาอยู่ในศาลได้มรณะเสียก่อนศาลพิพากษาคดี ให้ศาลเลื่อนการนั่งพิจารณาไปจนกว่าทายาทของผู้มรณะหรือผู้จัดการทรัพย์มรดกของผู้มรณะ หรือบุคคลอื่นใดที่ปกครองทรัพย์มรดกไว้ จะได้เข้ามาเป็นคู่ความแทนที่ผู้มรณะ โดยมีคำขอเข้ามาเอง หรือโดยที่ศาลหมายเรียกให้เข้ามา เนื่องจากคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีคำขอฝ่ายเดียว คำขอเช่นว่านี้จะต้องยื่นภายในกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่คู่ความฝ่ายนั้นมรณะ
ถ้าไม่มีคำขอของบุคคลดังกล่าวมาแล้ว หรือไม่มีคำขอของคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งภายในเวลาที่กำหนดไว้ ให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีเรื่องนั้นเสียจากสารบบความ
มาตรา ๔๓ ถ้าทายาทของผู้มรณะ หรือผู้จัดการทรัพย์มรดกของผู้มรณะ หรือบุคคลอื่นใดที่ปกครองทรัพย์มรดก ประสงค์จะขอเข้ามาเป็นคู่ความแทน ก็ให้ยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องต่อศาลเพื่อการนั้น
ในกรณีเช่นนี้ เมื่อศาลเห็นสมควร หรือเมื่อคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีคำขอ ศาลอาจสั่งให้ผู้ที่จะเข้ามาเป็นคู่ความแทนนั้นแสดงพยานหลักฐานสนับสนุนคำขอเช่นว่านั้นได้ เมื่อได้แสดงพยานหลักฐานดังกล่าวนั้นแล้ว ให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตหรือไม่อนุญาตในการที่จะเข้ามาเป็นคู่ความแทน
มาตรา ๔๔ คำสั่งให้หมายเรียกบุคคลใดเข้ามาแทนผู้มรณะนั้น จะต้องกำหนดระยะเวลาพอสมควรเพื่อให้บุคคลนั้นมีโอกาสคัดค้านในศาลว่าตนมิได้เป็นทายาทของผู้มรณะ หรือมิได้เป็นผู้จัดการทรัพย์มรดกหรือผู้ปกครองทรัพย์มรดกนั้น
ทายาท ผู้จัดการทรัพย์มรดก หรือบุคคลผู้ถูกเรียกไม่จำต้องปฏิบัติตามหมายเช่นว่านั้นก่อนระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้เพื่อการยอมรับฐานะนั้นได้ล่วงพ้นไปแล้ว
ถ้าบุคคลที่ถูกศาลหมายเรียกนั้น ยินยอมรับเข้ามาเป็นคู่ความแทนผู้มรณะ ให้ศาลจดรายงานพิสดารไว้และดำเนินคดีต่อไป
ถ้าบุคคลนั้นไม่ยินยอมหรือไม่มาศาล ให้ศาลทำการไต่สวนตามที่เห็นสมควร ถ้าศาลเห็นว่าหมายเรียกนั้นมีเหตุผลฟังได้ ก็ให้ออกคำสั่งตั้งบุคคลผู้ถูกเรียกเป็นคู่ความแทนผู้มรณะแล้วดำเนินคดีต่อไป ถ้าศาลเห็นว่าข้อคัดค้านของบุคคลผู้ถูกเรียกมีเหตุผลฟังได้ ก็ให้ศาลสั่งเพิกถอนหมายเรียกนั้นเสีย และถ้าคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่สามารถเรียกทายาทอันแท้จริงหรือผู้จัดการทรัพย์มรดกหรือบุคคลที่ปกครองทรัพย์มรดกของผู้มรณะเข้ามาเป็นคู่ความแทนผู้มรณะได้ภายในกำหนดเวลาหนึ่งปี ก็ให้ศาลมีคำสั่งตามที่เห็นสมควรเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม
มาตรา ๔๕ ถ้าปรากฏต่อศาลว่าคู่ความฝ่ายหนึ่งตกเป็นผู้ไร้ความสามารถก็ดี หรือผู้แทนโดยชอบธรรมของคู่ความฝ่ายที่เป็นผู้ไร้ความสามารถได้มรณะหรือหมดอำนาจเป็นผู้แทนก็ดี ให้ศาลเลื่อนการนั่งพิจารณาไปภายในระยะเวลาอันสมควรเพื่อผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้แทนโดยชอบธรรมคนใหม่จะได้แจ้งให้ทราบถึงการได้รับแต่งตั้งของตนโดยยื่นคำขอเป็นคำร้องต่อศาลเพื่อการนั้น ถ้ามิได้ยื่นคำขอดังกล่าวมาแล้วให้นำมาตรา ๕๖ มาใช้บังคับ
ถ้าผู้แทนหรือทนายความของคู่ความได้มรณะ หรือหมดอำนาจเป็นผู้แทน ให้ศาลเลื่อนการนั่งพิจารณาไปจนกว่าตัวความจะได้ยื่นคำร้องต่อศาลแจ้งให้ทราบถึงการที่ได้แต่งตั้งผู้แทนหรือทนายความขึ้นใหม่ หรือคู่ความฝ่ายนั้นมีความประสงค์จะมาว่าคดีด้วยตนเอง แต่ถ้าศาลเห็นสมควร หรือเมื่อคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งมีคำขอฝ่ายเดียว ให้ศาลมีอำนาจสั่งกำหนดระยะเวลาไว้พอสมควร เพื่อให้ตัวความมีโอกาสแจ้งให้ทราบถึงการแต่งตั้งหรือความประสงค์ของตนนั้นก็ได้ ในกรณีเช่นว่านี้ ถ้าตัวความมิได้แจ้งให้ทราบภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ ศาลจะมีคำสั่งให้เริ่มการนั่งพิจารณาต่อไปในวันใด ๆ ตามที่เห็นสมควรก็ได้
บทบัญญัติแห่งวรรคก่อนนั้น ให้นำมาใช้บังคับแก่กรณีที่ผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้ไร้ความสามารถหมดอำนาจลง เพราะเหตุที่บุคคลนั้นได้มีความสามารถขึ้นแล้วด้วยโดยอนุโลม
๑ มาตรา ๓๕ วรรคสอง เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๑๖) พ.ศ. ๒๕๓๙
๒ มาตรา ๔๐ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๒๔) พ.ศ. ๒๕๕๑
๓ มาตรา ๔๑ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๕๒๗