My Template

หมวด ๑ วิธีพิจารณาคดีมโนสาเร่ (มาตรา ๑๘๙ - ๑๙๖)

 

หมวด ๑
วิธีพิจารณาคดีมโนสาเร่

-------------------------

               มาตรา ๑๘๙  คดีมโนสาเร่ คือ
               (๑) คดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ไม่เกินสี่หมื่นบาทหรือไม่เกินจำนวนที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา
               (๒) คดีฟ้องขับไล่บุคคลใด ๆ ออกจากอสังหาริมทรัพย์อันมีค่าเช่าหรืออาจให้เช่าได้ในขณะยื่นคำฟ้องไม่เกินเดือนละสี่พันบาทหรือไม่เกินจำนวนที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา

               มาตรา ๑๙๐  จำนวนทุนทรัพย์หรือราคาอันพิพาทกันในคดีนั้น ให้คำนวณดังนี้
               (๑) จำนวนทุนทรัพย์หรือราคานั้นให้คำนวณตามคำเรียกร้องของโจทก์ ส่วนดอกผลอันมิถึงกำหนดเกิดขึ้นในเวลายื่นคำฟ้องหรือค่าธรรมเนียมศาลซึ่งอาจเป็นอุปกรณ์รวมอยู่ในคำเรียกร้อง ห้ามไม่ให้คำนวณรวมเข้าด้วย
               (๒) ในกรณีมีข้อสงสัยหรือมีข้อโต้แย้ง จำนวนทุนทรัพย์หรือราคานั้น ให้ศาลกะประมาณตามที่เป็นอยู่ในเวลายื่นฟ้องคดี
               (๓) คดีอันเกี่ยวด้วยทรัพย์สินที่มีข้อหาหลายข้อ อันมีจำนวนทุนทรัพย์หรือราคาไม่เกินสี่หมื่นบาทหรือไม่เกินจำนวนที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา ให้รวมจำนวนทุนทรัพย์หรือราคาเหล่านั้นเข้าด้วยกัน แต่ถ้าข้อหาเหล่านั้นจะต้องเรียกร้องเอาแก่จำเลยหลายคน ถึงแม้ว่าถ้ารวมความรับผิดของจำเลยหลายคนนั้นเข้าด้วยกันแล้วจะไม่เป็นคดีมโนสาเร่ก็ตาม ให้ถือเอาจำนวนที่เรียกร้องเอาจากจำเลยคนหนึ่ง ๆ นั้น เป็นประมาณแก่การที่จะถือว่าคดีนั้นเป็นคดีมโนสาเร่หรือไม่

               มาตรา ๑๙๐ ทวิ  ในคดีมโนสาเร่ ให้ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาไปตามบทบัญญัติในหมวดนี้

               มาตรา ๑๙๐ ตรี  ในคดีมโนสาเร่ ให้ศาลมีอำนาจที่จะออกคำสั่งขยายหรือย่นระยะเวลาตามที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายนี้หรือตามที่ศาลได้กำหนดไว้ หรือระยะเวลาที่เกี่ยวด้วยวิธีพิจารณาความแพ่งอันกำหนดไว้ในกฎหมายอื่น เพื่อให้ดำเนินหรือมิให้ดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ ก่อนสิ้นระยะเวลานั้นได้ เมื่อมีความจำเป็นเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม

               มาตรา ๑๙๐ จัตวา  ในคดีมโนสาเร่ ให้โจทก์เสียค่าขึ้นศาลตามตาราง ๑ ท้ายประมวลกฎหมายนี้ แต่ค่าขึ้นศาลรวมกันแล้วไม่เกินหนึ่งพันบาท
               ค่าขึ้นศาลในชั้นอุทธรณ์หรือฎีกานั้น ให้ผู้อุทธรณ์หรือผู้ฎีกาเสียตามจำนวนทุนทรัพย์หรือราคาทรัพย์สินที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์หรือฎีกา แล้วแต่กรณี

               มาตรา ๑๙๑  วิธีฟ้องคดีมโนสาเร่นั้น โจทก์อาจยื่นคำฟ้องเป็นหนังสือหรือมาแถลงข้อหาด้วยวาจาต่อศาลก็ได้
               ในกรณีที่โจทก์ยื่นคำฟ้องเป็นหนังสือ หากศาลเห็นว่าคำฟ้องดังกล่าวไม่ถูกต้อง หรือขาดสาระสำคัญบางเรื่อง ศาลอาจมีคำสั่งให้โจทก์แก้ไขคำฟ้องในส่วนนั้นให้ถูกต้องหรือชัดเจนขึ้นก็ได้
               ถ้าโจทก์มาแถลงข้อหาด้วยวาจาดังกล่าวแล้ว ให้ศาลบันทึกรายการแห่งข้อหาเหล่านั้นไว้อ่านให้โจทก์ฟัง แล้วให้โจทก์ลงลายมือชื่อไว้เป็นสำคัญ

               มาตรา ๑๙๒  เมื่อศาลเห็นว่าคดีที่ฟ้องไม่ใช่คดีมโนสาเร่และศาลนั้นมีเขตอำนาจที่จะพิจารณาคดีนั้นอย่างคดีสามัญได้ ถ้าคดีนั้นได้ฟ้องโดยคำแถลงด้วยวาจา ก็ให้ศาลมีคำสั่งให้โจทก์ยื่นคำฟ้องเป็นหนังสืออย่างคดีสามัญ แต่ถ้าคดีนั้นได้ยื่นคำฟ้องเป็นหนังสืออยู่แล้ว ห้ามมิให้ศาลออกหมายเรียกอย่างอื่นนอกจากที่บัญญัติไว้สำหรับคดีสามัญ
               ถ้าคดีนั้นไม่เป็นคดีมโนสาเร่ต่อไป เนื่องจากได้มีคำฟ้องเพิ่มเติมยื่นเข้ามาภายหลัง และศาลนั้นมีเขตอำนาจที่จะพิจารณาคดีนั้นอย่างคดีสามัญได้ ก็ให้ศาลดำเนินการพิจารณาไปอย่างคดีสามัญ
               ในกรณีใดกรณีหนึ่งดังกล่าวมาแล้ว ถ้าศาลไม่มีเขตอำนาจพิจารณาคดีนั้นอย่างคดีสามัญ ให้ศาลมีคำสั่งคืนคำฟ้องนั้นไปเพื่อยื่นต่อศาลที่มีเขตอำนาจ
               ในกรณีที่จำเลยฟ้องแย้งเข้ามาในคดีมโนสาเร่และฟ้องแย้งนั้นมิใช่คดีมโนสาเร่ หรือในกรณีที่ศาลมีคำสั่งให้พิจารณาคดีสามัญรวมกับคดีมโนสาเร่ ให้ศาลดำเนินการพิจารณาคดีมโนสาเร่ไปอย่างคดีสามัญ แต่เมื่อศาลพิจารณาถึงจำนวนทุนทรัพย์ ลักษณะคดี สถานะของคู่ความ หรือเหตุสมควรประการอื่นแล้วเห็นว่า การนำบทบัญญัติในหมวดนี้ไปใช้บังคับแก่คดีในส่วนของฟ้องแย้งหรือคดีสามัญเช่นว่านั้นจะทำให้การดำเนินคดีเป็นไปด้วยความรวดเร็วและเป็นธรรมแก่คู่ความทุกฝ่าย ก็ให้ศาลมีอำนาจพิจารณาคดีในส่วนของฟ้องแย้งหรือคดีสามัญนั้นอย่างคดีมโนสาเร่ได้๑๐
               คำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งของศาลตามวรรคสี่ ไม่กระทบถึงค่าขึ้นศาลที่คู่ความแต่ละฝ่ายต้องชำระอยู่ก่อนที่ศาลจะมีคำสั่งเช่นว่านั้น๑๑

               มาตรา ๑๙๓๑๒  ในคดีมโนสาเร่ ให้ศาลกำหนดวันนัดพิจารณาโดยเร็วและออกหมายเรียกไปยังจำเลย ในหมายนั้นให้จดแจ้งประเด็นแห่งคดีและจำนวนทุนทรัพย์หรือราคาที่เรียกร้อง และข้อความว่าให้จำเลยมาศาลเพื่อการไกล่เกลี่ย ให้การ และสืบพยานในวันเดียวกัน และให้ศาลสั่งให้โจทก์มาศาลในวันนัดพิจารณานั้นด้วย
               ในวันนัดพิจารณา เมื่อโจทก์และจำเลยมาพร้อมกันแล้ว ให้ศาลไกล่เกลี่ยให้คู่ความได้ตกลงกันหรือประนีประนอมยอมความกันในข้อที่พิพาทนั้นก่อน
               ถ้าคู่ความไม่อาจตกลงกันหรือไม่อาจประนีประนอมยอมความกันได้และจำเลยยังไม่ได้ยื่นคำให้การ ให้ศาลสอบถามคำให้การของจำเลย โดยจำเลยจะยื่นคำให้การเป็นหนังสือ หรือจะให้การด้วยวาจาก็ได้ ในกรณียื่นคำให้การเป็นหนังสือให้นำมาตรา ๑๙๑ วรรคสอง มาใช้บังคับโดยอนุโลม ในกรณีให้การด้วยวาจา ให้ศาลบันทึกคำให้การรวมทั้งเหตุการณ์นั้นไว้ อ่านให้จำเลยฟัง แล้วให้จำเลยลงลายมือชื่อไว้เป็นสำคัญ
               ถ้าจำเลยไม่ให้การตามวรรคสาม ให้ศาลมีอำนาจใช้ดุลพินิจมีคำสั่งไม่ยอมเลื่อนเวลาให้จำเลยยื่นคำให้การ โดยให้ถือว่าจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ และให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดโดยนำมาตรา ๑๙๘ ทวิ มาใช้บังคับโดยอนุโลม แต่ในกรณีที่ศาลมีคำสั่งให้สืบพยาน ก็ให้ศาลดำเนินการต่อไปตามมาตรา ๑๙๓ ตรี มาตรา ๑๙๓ จัตวา และมาตรา ๑๙๓ เบญจ๑๓

               มาตรา ๑๙๓ ทวิ๑๔  ในคดีมโนสาเร่ เมื่อโจทก์ได้ทราบคำสั่งให้มาศาลตามมาตรา ๑๙๓ แล้วไม่มาในวันนัดพิจารณาโดยไม่ได้รับอนุญาตจากศาลให้เลื่อนคดีให้ถือว่าโจทก์ไม่ประสงค์จะดำเนินคดีต่อไป ให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีออกเสียจากสารบบความ
               เมื่อจำเลยได้รับหมายเรียกให้มาศาลตามมาตรา ๑๙๓ แล้วไม่มาในวันนัดพิจารณาโดยไม่ได้รับอนุญาตจากศาลให้เลื่อนคดี ถ้าจำเลยไม่ได้ยื่นคำให้การไว้ให้ถือว่าจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งโดยนำมาตรา ๑๙๘ ทวิ มาใช้บังคับโดยอนุโลม แต่ถ้าจำเลยได้ยื่นคำให้การไว้ก่อนหรือในวันนัดดังกล่าว ให้ถือว่าจำเลยขาดนัดพิจารณา และให้บังคับตามมาตรา ๒๐๔ มาตรา ๒๐๕ มาตรา ๒๐๖ และมาตรา ๒๐๗ และไม่ว่าจะเป็นกรณีใด ถ้าศาลมีคำสั่งให้สืบพยานก็ให้ศาลดำเนินการต่อไปตามมาตรา ๑๙๓ ตรี มาตรา ๑๙๓ จัตวา และมาตรา ๑๙๓ เบญจ

               มาตรา ๑๙๓ ตรี๑๕  เมื่อศาลได้รับคำให้การของจำเลยตามมาตรา ๑๙๓ วรรคสาม หรือศาลมีคำสั่งให้สืบพยานตามมาตรา ๑๙๓ วรรคสี่ หรือมาตรา ๑๙๓ ทวิ วรรคสอง ให้ศาลดำเนินการพิจารณาคดีต่อไปโดยเร็ว และให้ศาลสอบถามคู่ความฝ่ายที่จะต้องนำพยานเข้าสืบว่าประสงค์จะอ้างอิงพยานหลักฐานใดแล้วบันทึกไว้ หรือสั่งให้คู่ความจัดทำบัญชีระบุพยานยื่นต่อศาลภายในระยะเวลาตามที่เห็นสมควร โดยในกรณีที่มิใช่การพิจารณาคดีฝ่ายเดียว ศาลจะกำหนดให้คู่ความฝ่ายใดนำพยานหลักฐานมาสืบก่อนหรือหลังก็ได้

               มาตรา ๑๙๓ จัตวา๑๖  ในคดีมโนสาเร่ เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมให้ศาลมีอำนาจเรียกพยานหลักฐานมาสืบได้เองตามที่เห็นสมควร
               ในการสืบพยานไม่ว่าจะเป็นพยานที่คู่ความฝ่ายใดอ้างหรือที่ศาลเรียกมาเอง ให้ศาลเป็นผู้ซักถามพยานก่อน เสร็จแล้วจึงให้ตัวความหรือทนายความซักถามเพิ่มเติมได้
               ให้ศาลมีอำนาจซักถามพยานเกี่ยวกับข้อเท็จจริงใด ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับคดี แม้จะไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้างก็ตาม
               ในการบันทึกคำเบิกความของพยาน เมื่อศาลเห็นสมควร จะบันทึกข้อความแต่โดยย่อก็ได้ แล้วให้พยานลงลายมือชื่อไว้

               มาตรา ๑๙๓ เบญจ๑๗  ในคดีมโนสาเร่ ให้ศาลนั่งพิจารณาคดีติดต่อกันไปโดยไม่ต้องเลื่อน เว้นแต่มีเหตุจำเป็น ศาลจะมีคำสั่งเลื่อนได้ครั้งละไม่เกินเจ็ดวัน

               มาตรา ๑๙๔  คดีมโนสาเร่นั้น ให้ศาลมีอำนาจออกคำสั่งหรือคำพิพากษาด้วยวาจาดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๔๑

               มาตรา ๑๙๕๑๘  นอกจากที่บัญญัติมาแล้ว ให้นำบทบัญญัติอื่นในประมวลกฎหมายนี้มาใช้บังคับแก่การพิจารณาและการชี้ขาดตัดสินคดีมโนสาเร่ด้วยโดยอนุโลม

               มาตรา ๑๙๖๑๙  ในคดีสามัญซึ่งโจทก์ฟ้องเพียงขอให้ชำระเงินจำนวนแน่นอนตามตั๋วเงินซึ่งการรับรองหรือการชำระเงินตามตั๋วเงินนั้นได้ถูกปฏิเสธ หรือตามสัญญาเป็นหนังสือซึ่งปรากฏในเบื้องต้นว่าเป็นสัญญาอันแท้จริงมีความสมบูรณ์และบังคับได้ตามกฎหมาย โจทก์จะยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องต่อศาลพร้อมกับคำฟ้องขอให้ศาลพิจารณาคดีนั้นโดยรวบรัดก็ได้
               ถ้าศาลเห็นว่าคดีตามวรรคหนึ่งนั้นปรากฏในเบื้องต้นว่าเป็นคดีไม่มีข้อยุ่งยาก ไม่ว่าโจทก์จะได้ยื่นคำขอตามวรรคหนึ่งหรือไม่ ให้ศาลมีคำสั่งให้นำบทบัญญัติในหมวดนี้ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีมโนสาเร่ เว้นแต่มาตรา ๑๙๐ จัตวา มาใช้บังคับแก่คดีเช่นว่านั้นได้
               ถ้าในระหว่างการพิจารณาปรากฏว่าคดีไม่ตกอยู่ภายใต้บังคับแห่งมาตรานี้ ศาลอาจมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งเดิมแล้วดำเนินการพิจารณาต่อไปตามข้อบังคับแห่งคดีสามัญได้


               มาตรา ๑๘๙ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๑๒) พ.ศ. ๒๕๓๔
               พระราชกฤษฎีกากำหนดจำนวนเงินในคดีมโนสาเร่ พ.ศ. ๒๕๔๖ ได้กำหนดขยายเป็น คดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ไม่เกินสามแสนบาท
               พระราชกฤษฎีกากำหนดจำนวนเงินในคดีมโนสาเร่ พ.ศ. ๒๕๔๖ ได้กำหนดขยายเป็น คดีฟ้องขับไล่บุคคลใด ๆ ออกจากอสังหาริมทรัพย์อันมีค่าเช่าหรืออาจให้เช่าได้ในขณะยื่นคำฟ้องไม่เกินเดือนละสามหมื่นบาท
               มาตรา ๑๙๐ (๓) แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๑๒) พ.ศ. ๒๕๓๔
               มาตรา ๑๙๐ ทวิ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๑๗) พ.ศ. ๒๕๔๒
               มาตรา ๑๙๐ ตรี เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๑๗) พ.ศ. ๒๕๔๒
               มาตรา ๑๙๐ จัตวา เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๑๗) พ.ศ. ๒๕๔๒
               มาตรา ๑๙๐ จัตวา วรรคหนึ่ง แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๒๔) พ.ศ. ๒๕๕๑
               มาตรา ๑๙๑ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๑๗) พ.ศ. ๒๕๔๒
               ๑๐ มาตรา ๑๙๒ วรรคสี่ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๑๗) พ.ศ. ๒๕๔๒
               ๑๑ มาตรา ๑๙๒ วรรคห้า เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๑๗) พ.ศ. ๒๕๔๒
               ๑๒ มาตรา ๑๙๓ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๑๗) พ.ศ. ๒๕๔๒
               ๑๓ มาตรา ๑๙๓ วรรคสี่ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๒๔) พ.ศ. ๒๕๕๑
               ๑๔ มาตรา ๑๙๓ ทวิ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๒๔) พ.ศ. ๒๕๕๑
               ๑๕ มาตรา ๑๙๓ ตรี แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๒๔) พ.ศ. ๒๕๕๑
               ๑๖ มาตรา ๑๙๓ จัตวา เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๑๗) พ.ศ. ๒๕๔๒
               ๑๗ มาตรา ๑๙๓ เบญจ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๑๗) พ.ศ. ๒๕๔๒
               ๑๘ มาตรา ๑๙๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๒๔) พ.ศ. ๒๕๕๑
               ๑๙ มาตรา ๑๙๖ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๒๔) พ.ศ. ๒๕๕๑