ส่วนที่ ๔
คำพิพากษาและการบังคับคดี
-------------------------
มาตรา ๒๒๒/๓๕๑ คำพิพากษาของศาลมีผลเป็นการผูกพันคู่ความและสมาชิกกลุ่มและในกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาให้โจทก์ชนะคดี ให้โจทก์หรือทนายความฝ่ายโจทก์มีอำนาจดำเนินการบังคับคดีแทนโจทก์และสมาชิกกลุ่ม
สมาชิกกลุ่มมีสิทธิที่จะยื่นคำขอรับชำระหนี้ แต่ไม่มีสิทธิที่จะดำเนินการบังคับคดีตามส่วนนี้ด้วยตนเอง
หากความปรากฏต่อศาลว่าทนายความฝ่ายโจทก์ไม่สามารถดำเนินการบังคับคดีเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของสมาชิกกลุ่มได้อย่างเพียงพอและเป็นธรรม ศาลอาจมีคำสั่งให้โจทก์และสมาชิกกลุ่มจัดหาทนายความคนใหม่มาดำเนินการบังคับคดีต่อไปได้
มาตรา ๒๒๒/๓๖๒ คำพิพากษาของศาลต้องกล่าวหรือแสดงรายการดังต่อไปนี้
(๑) รายการตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๑๔๑
(๒) ลักษณะโดยชัดเจนของกลุ่มบุคคลหรือกลุ่มย่อยที่จะต้องถูกผูกพันตามคำพิพากษา
(๓) ในกรณีที่ศาลพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้เป็นเงิน ต้องระบุจำนวนเงินที่จำเลยจะต้องชำระให้แก่โจทก์ รวมทั้งหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณในการชำระเงินให้สมาชิกกลุ่ม
(๔) จำนวนเงินรางวัลของทนายความฝ่ายโจทก์ตามมาตรา ๒๒๒/๓๗
มาตรา ๒๒๒/๓๗๓ ในกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาให้จำเลยกระทำการหรืองดเว้นกระทำการหรือส่งมอบทรัพย์สิน ให้ศาลกำหนดจำนวนเงินรางวัลที่จำเลยจะต้องชำระให้แก่ทนายความฝ่ายโจทก์ตามที่เห็นสมควร โดยคำนึงถึงความยากง่ายของคดีประกอบกับระยะเวลาและการทำงานของทนายความฝ่ายโจทก์ รวมทั้งค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการดำเนินคดีแบบกลุ่ม ซึ่งมิใช่ค่าฤชาธรรมเนียมที่ทนายความฝ่ายโจทก์ได้เสียไป และเพื่อประโยชน์แห่งการนี้ เมื่อการพิจารณาสิ้นสุดลงให้ทนายความฝ่ายโจทก์ยื่นบัญชีค่าใช้จ่ายดังกล่าวต่อศาลโดยให้ส่งสำเนาแก่จำเลยด้วย
ถ้าคำพิพากษากำหนดให้จำเลยใช้เงิน นอกจากศาลต้องคำนึงถึงหลักเกณฑ์ตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้ศาลคำนึงถึงจำนวนเงินที่โจทก์และสมาชิกกลุ่มมีสิทธิได้รับประกอบด้วย โดยกำหนดเป็นจำนวนร้อยละของจำนวนเงินดังกล่าว แต่จำนวนเงินรางวัลของทนายความฝ่ายโจทก์ดังกล่าวต้องไม่เกินร้อยละสามสิบของจำนวนเงินนั้น
ถ้าคำพิพากษากำหนดให้จำเลยกระทำการหรืองดเว้นกระทำการหรือส่งมอบทรัพย์สินและให้ใช้เงินรวมอยู่ด้วย ให้นำความในวรรคหนึ่งและวรรคสองมาใช้บังคับโดยอนุโลม
ในการกำหนดจำนวนเงินรางวัลของทนายความฝ่ายโจทก์ตามมาตรานี้ หากมีการเปลี่ยนทนายความฝ่ายโจทก์ ให้ศาลกำหนดจำนวนเงินรางวัลของทนายความฝ่ายโจทก์ตามสัดส่วนของการทำงานและค่าใช้จ่ายที่ทนายความแต่ละคนเสียไป
ให้ถือว่าทนายความฝ่ายโจทก์เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาและจำเลยเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาในส่วนของเงินรางวัลของทนายความฝ่ายโจทก์ด้วย และเงินรางวัลดังกล่าวมิใช่ค่าฤชาธรรมเนียม
มาตรา ๒๒๒/๓๘๔ ในกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาให้โจทก์ชนะคดี ให้ศาลมีอำนาจกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการปฏิบัติตามคำพิพากษา โดยจะกำหนดไว้ในคำพิพากษาหรือโดยคำสั่งในภายหลังก็ได้ และในระหว่างการบังคับคดีให้ศาลมีอำนาจออกคำบังคับเพิ่มเติมเพื่อให้เป็นไปตามคำพิพากษาได้ตามที่เห็นสมควร
ให้ศาลชั้นต้นมีอำนาจพิจารณาสั่งคำร้องขอทุเลาการบังคับตามคำพิพากษาคำสั่งของศาลชั้นต้นให้เป็นที่สุด
มาตรา ๒๒๒/๓๙๕ ให้ศาลแจ้งคำพิพากษาให้สมาชิกกลุ่มทราบตามวิธีการเช่นเดียวกับที่กำหนดไว้ในมาตรา ๒๒๒/๑๕ วรรคหนึ่ง และให้แจ้งอธิบดีกรมบังคับคดีทราบด้วย
ในกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้เป็นเงินหรือชำระหนี้เป็นเงินรวมอยู่ด้วย ให้ศาลตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อดำเนินการต่อไป รวมทั้งกำหนดวันตามที่เห็นสมควรในคำบอกกล่าวและประกาศตามวรรคหนึ่ง เพื่อให้สมาชิกกลุ่มยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานบังคับคดี แต่ถ้าเป็นกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้อย่างอื่นและจำเป็นจะต้องมีการดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อประโยชน์แก่การบังคับตามคำพิพากษา โจทก์อาจยื่นคำขอต่อศาลเพื่อตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการได้
เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาตามวรรคสอง สมาชิกกลุ่มที่ไม่ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ไม่มีสิทธิขอเฉลี่ยทรัพย์สินหรือเงินในการบังคับคดีตามส่วนนี้ เว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุสุดวิสัย สมาชิกกลุ่มที่ไม่ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ภายในกำหนดระยะเวลา อาจยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ภายในสามสิบวันนับแต่วันพ้นกำหนดระยะเวลา
มาตรา ๒๒๒/๔๐๖ คู่ความในคดีและสมาชิกกลุ่มรายอื่นอาจขอตรวจและโต้แย้งคำขอรับชำระหนี้ของสมาชิกกลุ่มผู้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ได้ แต่ต้องกระทำภายในกำหนดสามสิบวันนับแต่วันที่พ้นกำหนดเวลายื่นคำขอรับชำระหนี้ เว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุสุดวิสัย อาจขอขยายระยะเวลาออกไปอีกได้ไม่เกินสามสิบวัน
มาตรา ๒๒๒/๔๑๗ ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจเรียกคู่ความในคดี สมาชิกกลุ่ม ผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดี หรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง มาสอบสวนในเรื่องคำขอรับชำระหนี้ของสมาชิกกลุ่มเพื่อพิจารณามีคำสั่งต่อไปได้
มาตรา ๒๒๒/๔๒๘ คำขอรับชำระหนี้ของสมาชิกกลุ่มรายใด ถ้าคู่ความในคดีและสมาชิกกลุ่มรายอื่นไม่โต้แย้ง ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจสั่งอนุญาตให้รับชำระหนี้ได้ เว้นแต่มีเหตุอันสมควรสั่งเป็นอย่างอื่นโดยให้เจ้าพนักงานบังคับคดีแจ้งให้ศาลทราบถึงการดำเนินการดังกล่าวด้วย
คำขอรับชำระหนี้ของสมาชิกกลุ่มรายใด ถ้ามีผู้โต้แย้ง ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้
(๑) ให้ยกคำขอรับชำระหนี้
(๒) อนุญาตให้ได้รับชำระหนี้เต็มจำนวน
(๓) อนุญาตให้ได้รับชำระหนี้บางส่วน
สมาชิกกลุ่มที่ยื่นคำขอรับชำระหนี้และไม่มีผู้โต้แย้งตามวรรคหนึ่ง สมาชิกกลุ่มที่ยื่นคำขอรับชำระหนี้และมีผู้โต้แย้งตามวรรคสอง หรือผู้โต้แย้ง อาจยื่นคำร้องคัดค้านคำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดีต่อศาลได้ภายในกำหนดสิบห้าวันนับแต่วันที่ทราบคำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดี
คำสั่งของศาลตามวรรคสามให้อุทธรณ์และฎีกาได้ภายใต้บทบัญญัติในภาค ๓ อุทธรณ์และฎีกา
มาตรา ๒๒๒/๔๓๙ เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินอย่างใดของลูกหนี้ตามคำพิพากษาในคดีอื่นไว้แทนเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแล้ว ให้ทนายความฝ่ายโจทก์ในคดีแบบกลุ่มมีอำนาจยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องต่อศาลที่ออกหมายบังคับคดีให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินนั้น เพื่อให้ศาลมีคำสั่งให้เฉลี่ยทรัพย์แก่ทนายความฝ่ายโจทก์ โจทก์ และสมาชิกกลุ่มตามมาตรา ๓๒๖ ตามจำนวนที่มีสิทธิได้รับ๑๐
ในกรณีที่จำนวนเงินที่สมาชิกกลุ่มได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามมาตรา ๒๒๒/๔๒ ยังไม่เป็นที่ยุติ ให้ศาลที่ได้รับคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ตามวรรคหนึ่งรอการมีคำสั่งให้เฉลี่ยทรัพย์ไว้ก่อน และเมื่อได้ข้อยุติในจำนวนเงินดังกล่าวแล้ว ให้ทนายความฝ่ายโจทก์แจ้งให้ศาลนั้นทราบ
เมื่อศาลได้มีคำสั่งให้เฉลี่ยทรัพย์แล้ว ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีในคดีนั้นส่งเงินให้เจ้าพนักงานบังคับคดีในคดีแบบกลุ่มเพื่อจ่ายให้แก่ผู้มีสิทธิตามมาตรา ๒๒๒/๔๔
มาตรา ๒๒๒/๔๔๑๑ เมื่อจำเลยนำเงินหรือทรัพย์สินมาวางต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีหรือเมื่อได้ขายทอดตลาดหรือจำหน่ายโดยวิธีอื่นซึ่งทรัพย์สินของจำเลย หรือเมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีได้รวบรวมทรัพย์สินอื่นใดของจำเลยเสร็จ และได้หักค่าฤชาธรรมเนียมในการบังคับคดีแล้ว ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีจ่ายเงินให้แก่ผู้มีสิทธิตามลำดับ ดังนี้
(๑)๑๒ ผู้มีสิทธิได้รับชำระหนี้ก่อนตามมาตรา ๓๒๒ และมาตรา ๓๒๔
(๒) เงินรางวัลของทนายความฝ่ายโจทก์ตามมาตรา ๒๒๒/๓๗
(๓) ค่าฤชาธรรมเนียมใช้แทนโจทก์
(๔)๑๓ โจทก์ สมาชิกกลุ่ม และเจ้าหนี้อื่นที่มีสิทธิได้รับเฉลี่ยทรัพย์ตามมาตรา ๓๒๖
๑ มาตรา ๒๒๒/๓๕ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๕๘
๒ มาตรา ๒๒๒/๓๖ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๕๘
๓ มาตรา ๒๒๒/๓๗ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๕๘
๔ มาตรา ๒๒๒/๓๘ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๕๘
๕ มาตรา ๒๒๒/๓๙ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๕๘
๖ มาตรา ๒๒๒/๔๐ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๕๘
๗ มาตรา ๒๒๒/๔๑ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๕๘
๘ มาตรา ๒๒๒/๔๒ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๕๘
๙ มาตรา ๒๒๒/๔๓ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๕๘
๑๐ มาตรา ๒๒๒/๔๓ วรรคหนึ่ง แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๖๐
๑๑ มาตรา ๒๒๒/๔๔ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๕๘
๑๒ มาตรา ๒๒๒/๔๔ (๑) แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๖๐
๑๓ มาตรา ๒๒๒/๔๔ (๔) แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๖๐