ส่วนที่ ๔
การพิจารณาคำขอบังคับคดี
-------------------------
มาตรา ๒๗๖๑ เมื่อเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาขอให้บังคับคดี ถ้าศาลเห็นว่าลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้ทราบหรือถือว่าได้ทราบคำบังคับแล้ว ทั้งระยะเวลาที่กำหนดไว้เพื่อให้ปฏิบัติตามคำบังคับนั้นได้ล่วงพ้นไปแล้ว และคำขอได้ระบุข้อความไว้ครบถ้วน ให้ศาลกำหนดวิธีการบังคับคดีตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายนี้และตามมาตรา ๒๑๓ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ดังต่อไปนี้
(๑) ถ้าการบังคับคดีต้องทำโดยทางเจ้าพนักงานบังคับคดี ให้ศาลออกหมายบังคับคดีตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีและแจ้งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทราบเพื่อดำเนินการต่อไปตามที่กำหนดไว้ในหมายนั้น
(๒) ถ้าการบังคับคดีอาจทำได้โดยไม่ต้องตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดี ให้ศาลมีคำสั่งกำหนดวิธีการตามที่เห็นสมควรเท่าที่สภาพแห่งการบังคับคดีจะเปิดช่องให้กระทำได้
(๓) ถ้าเป็นการขอให้ศาลสั่งจับกุมและกักขังลูกหนี้ตามคำพิพากษา ให้ดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปตามบทบัญญัติว่าด้วยการนั้น
ในคดีมโนสาเร่ ก่อนออกหมายบังคับคดี หากศาลเห็นเป็นการสมควร ศาลจะออกหมายเรียกลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบุคคลอื่นมาสอบถามเกี่ยวกับการปฏิบัติตามคำพิพากษาเพื่อพิจารณาว่าสมควรจะออกหมายบังคับคดีหรือไม่ก็ได้
ในกรณีที่ผู้ขอบังคับคดีขอให้ดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดเกี่ยวกับการบังคับคดี หากมีเหตุสงสัยว่าไม่สมควรบังคับคดีแก่ทรัพย์สินใดหรือมีเหตุสมควรอย่างอื่นเพื่อคุ้มครองบุคคลภายนอกที่อาจได้รับความเสียหายจากการดำเนินการดังกล่าว ก่อนที่ศาลจะมีคำสั่งอนุญาตตามคำขอ ศาลมีอำนาจสั่งให้ผู้ขอบังคับคดีวางเงินหรือหาประกันต่อศาลตามจำนวนและภายในระยะเวลาที่ศาลเห็นสมควรเพื่อเป็นประกันการชำระค่าสินไหมทดแทนสำหรับความเสียหายอันจะพึงเกิดขึ้นเนื่องจากการดำเนินการบังคับคดีดังกล่าว ถ้าผู้ขอบังคับคดีไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาล ให้ศาลมีคำสั่งยกคำขอให้ดำเนินการบังคับคดีนั้นเสีย ส่วนเงินหรือหลักประกันที่วางไว้ต่อศาลดังกล่าว เมื่อศาลเห็นว่าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องวางไว้ต่อไป จะสั่งคืนหรือยกเลิกประกันนั้นก็ได้ คำสั่งของศาลตามวรรคนี้ให้เป็นที่สุด
ในกรณีตามวรรคสาม ถ้าเกิดความเสียหายจากการบังคับคดีโดยความผิดหรือเลินเล่อของผู้ขอบังคับคดี ผู้ที่ได้รับความเสียหายอาจยื่นคำร้องต่อศาลภายในสามสิบวันนับแต่วันที่มีการดำเนินการบังคับคดีเพื่อขอให้ศาลสั่งให้ผู้ขอบังคับคดีชดใช้ค่าสินไหมทดแทนสำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ตนได้ ในกรณีเช่นว่านี้ ให้ศาลมีอำนาจสั่งให้แยกการพิจารณาเป็นสำนวนต่างหากจากคดีเดิม และเมื่อศาลไต่สวนแล้วเห็นว่าคำร้องนั้นฟังได้ ให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้ขอบังคับคดีชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามจำนวนที่ศาลเห็นสมควร ถ้าบุคคลดังกล่าวไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาล ผู้ที่ได้รับความเสียหายอาจร้องขอให้ศาลบังคับคดีแก่บุคคลนั้นเสมือนหนึ่งว่าเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษา
๑ มาตรา ๒๗๖ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๖๐