ส่วนที่ ๖
อำนาจทั่วไปของเจ้าพนักงานบังคับคดี
-------------------------
มาตรา ๒๗๘๑ เมื่อศาลได้ออกหมายบังคับคดีตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีแล้ว ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจในฐานะเป็นเจ้าพนักงานศาลในการดำเนินการบังคับคดีให้เป็นไปตามที่ศาลได้กำหนดไว้ในหมายบังคับคดีและตามบทบัญญัติในลักษณะ ๒ แห่งภาคนี้ ทั้งนี้ จะเรียกให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาช่วยเหลือก็ได้ คำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดีในการดำเนินการบังคับคดีต้องกล่าวหรือแสดงเหตุผลไว้ด้วย
ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจในฐานะเป็นผู้แทนของเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในอันที่จะรับชำระหนี้หรือทรัพย์สินที่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบุคคลภายนอกนำมาวางและออกใบรับให้
เงินที่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบุคคลภายนอกนำมาวางโดยมิได้เป็นผลมาจากการยึดหรืออายัด ให้นำมาชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาผู้ขอบังคับคดี เว้นแต่ในกรณีที่มีเจ้าหนี้ผู้ขอเฉลี่ยตามมาตรา ๓๒๖ อยู่ก่อนแล้วในขณะที่มีการวางเงินนั้น ก็ให้ถือว่าเป็นเงินที่ได้ยึดหรืออายัดไว้ตามบทบัญญัติในลักษณะ ๒ แห่งภาคนี้ แต่ให้ได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมในการบังคับคดี
ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทำบันทึกวิธีการบังคับคดีทั้งหลายที่ได้จัดทำไปและเก็บรักษาไว้ในที่ปลอดภัย แล้วรายงานต่อศาลเป็นระยะ ๆ ไป
ในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานบังคับคดี เจ้าพนักงานบังคับคดีจะมอบหมายให้บุคคลอื่นปฏิบัติการแทนก็ได้ ทั้งนี้ ตามคุณสมบัติ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง
ให้หักค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดีตามตาราง ๕ ท้ายประมวลกฎหมายนี้ เพื่อให้กรมบังคับคดีพิจารณาจ่ายเป็นค่าตอบแทนแก่ผู้ที่ได้รับมอบหมายตามวรรคห้าโดยไม่ต้องนำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน ทั้งนี้ ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมกำหนดโดยได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงการคลัง
มาตรา ๒๗๙๒ ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีรักษาไว้โดยปลอดภัยซึ่งเงิน ทรัพย์สิน และเอกสารที่ได้มาตามอำนาจหน้าที่ของตน รวมทั้งให้มีอำนาจขัดขวางมิให้บุคคลใดสอดเข้าเกี่ยวข้องโดยมิชอบด้วยกฎหมายกับเงินหรือทรัพย์สินหรือเอกสารเช่นว่านั้น ตลอดจนมีอำนาจติดตามและเอาคืนซึ่งเงินหรือทรัพย์สินหรือเอกสารดังกล่าวจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือเอาไว้
ในการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง เมื่อมีความจำเป็น เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจแจ้งให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจช่วยเหลือได้ ในกรณีเช่นนี้ พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจมีอำนาจจับกุมและควบคุมตัวผู้สอดเข้าเกี่ยวข้องหรือผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือตามวรรคหนึ่งได้เท่าที่จำเป็นในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานบังคับคดี
มาตรา ๒๘๐๓ ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจส่งเอกสารเกี่ยวกับการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งตามบทบัญญัติในลักษณะ ๒ แห่งภาคนี้ และให้รายงานการส่งเอกสารนั้นรวมไว้ในสำนวนการบังคับคดีด้วย ทั้งนี้ ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๖๘ มาตรา ๗๓ มาตรา ๗๔ มาตรา ๗๖ มาตรา ๗๗ มาตรา ๗๘ และมาตรา ๘๐ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
นอกจากการส่งเอกสารตามวรรคหนึ่ง ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจสั่งให้ส่งโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับหรือโดยทางไปรษณีย์ด่วนพิเศษในประเทศก็ได้ โดยให้ผู้มีหน้าที่นำส่งเป็นผู้เสียค่าใช้จ่าย กรณีเช่นว่านี้ ให้ถือว่าเอกสารที่ส่งโดยเจ้าพนักงานไปรษณีย์มีผลเสมือนเจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นผู้ส่งและให้นำบทบัญญัติมาตรา ๗๔ มาตรา ๗๖ และมาตรา ๗๗ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
ถ้าการส่งเอกสารไม่สามารถจะทำได้ดังที่บัญญัติไว้ตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจสั่งให้ส่งโดยวิธีอื่นแทนได้ กล่าวคือ ปิดเอกสารไว้ในที่แลเห็นได้ง่าย ณ ภูมิลำเนาหรือสำนักทำการงานของบุคคลผู้มีชื่อระบุไว้ในเอกสารหรือมอบหมายเอกสารไว้แก่พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจแล้วปิดประกาศแสดงการที่ได้มอบหมายดังกล่าวแล้ว หรือลงโฆษณา หรือทำวิธีอื่นใดตามที่เห็นสมควร ทั้งนี้ ให้มีผลใช้ได้ต่อเมื่อกำหนดเวลาสิบห้าวันหรือระยะเวลานานกว่านั้นตามที่เจ้าพนักงานบังคับคดีเห็นสมควรกำหนดไว้ล่วงพ้นไปแล้ว นับแต่เวลาที่เอกสารหรือประกาศแสดงการมอบหมายนั้นได้ปิดไว้หรือการโฆษณาหรือวิธีอื่นใดตามที่เจ้าพนักงานบังคับคดีสั่งนั้นได้ทำหรือได้ตั้งต้นแล้ว
การส่งเอกสารให้แก่คู่ความและบุคคลภายนอก ณ ภูมิลำเนาหรือสำนักทำการงานของบุคคลดังกล่าวนอกราชอาณาจักร ถ้าไม่มีข้อตกลงระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นภาคีกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจสั่งให้ส่งโดยทางไปรษณีย์ด่วนพิเศษระหว่างประเทศหรือผู้ประกอบกิจการรับส่งพัสดุภัณฑ์ระหว่างประเทศ หรือโดยผ่านกระทรวงยุติธรรมและกระทรวงการต่างประเทศ หากไม่อาจกระทำได้เพราะเหตุที่ภูมิลำเนาและสำนักทำการงานของบุคคลดังกล่าวไม่ปรากฏหรือเพราะเหตุอื่นใด หรือเมื่อได้ดำเนินการส่งให้แก่คู่ความหรือบุคคลภายนอกแล้วแต่ไม่อาจทราบผลการส่งได้ ถ้าเจ้าพนักงานบังคับคดีเห็นสมควร ให้มีอำนาจสั่งให้ส่งเอกสารโดยวิธีอื่นแทนได้ กล่าวคือ ปิดเอกสารไว้ในที่แลเห็นได้ง่าย ณ สำนักงานที่ตั้งของเจ้าพนักงานบังคับคดี หรือลงโฆษณา หรือทำวิธีอื่นใดตามที่เห็นสมควร
มาตรา ๒๘๑๔ เจ้าพนักงานบังคับคดีจะต้องดำเนินการบังคับคดีในวันทำการงานปกติในเวลาระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตก ถ้ายังไม่แล้วเสร็จประกอบกับมีความจำเป็นและสมควรจะกระทำต่อไปในเวลาหลังพระอาทิตย์ตกก็ได้
ในกรณีที่มีความจำเป็นและสมควร ศาลจะอนุญาตให้ดำเนินการบังคับคดีนอกวันทำการงานปกติหรือในเวลาหลังพระอาทิตย์ตกก็ได้
ในการดำเนินการบังคับคดีแก่ลูกหนี้ตามคำพิพากษา ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีแสดงหมายบังคับคดีให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษา ผู้ครอบครองหรือผู้ดูแลทรัพย์สินที่จะถูกบังคับคดีทราบ ถ้าบุคคลดังกล่าวไม่อยู่หรือไม่อาจแสดงหมายบังคับคดีแก่บุคคลดังกล่าวได้ด้วยเหตุใด ๆ ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีปิดสำเนาหมายบังคับคดีไว้ในที่แลเห็นได้ง่าย ณ สถานที่ที่ดำเนินการบังคับคดีนั้น ในกรณีเช่นว่านี้ ให้ถือว่าเป็นการแสดงหมายบังคับคดีให้บุคคลดังกล่าวทราบแล้ว
มาตรา ๒๘๒๕ ในกรณีที่มีเหตุอันควรเชื่อว่ามีทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือมีบัญชี เอกสาร จดหมาย หรือวัตถุอื่นใดเกี่ยวกับทรัพย์สินหรือกิจการของลูกหนี้ตามคำพิพากษาอยู่ในสถานที่ใด ๆ ที่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาครอบครองหรือครอบครองร่วมกับผู้อื่น ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจค้นสถานที่ดังกล่าว ทั้งมีอำนาจตรวจสอบและยึดบัญชี เอกสาร จดหมาย หรือวัตถุอื่นใดอันเกี่ยวกับทรัพย์สินหรือกิจการของลูกหนี้ตามคำพิพากษามาเพื่อตรวจสอบได้ และมีอำนาจกระทำการใด ๆ ตามที่จำเป็น เพื่อเปิดสถานที่ดังกล่าวรวมทั้งตู้นิรภัย ตู้ หรือที่เก็บของอื่น ๆ
มาตรา ๒๘๓๖ ในกรณีที่มีเหตุอันควรเชื่อว่ามีทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือมีบัญชี เอกสาร จดหมาย หรือวัตถุอื่นใดอันเกี่ยวกับทรัพย์สินหรือกิจการของลูกหนี้ตามคำพิพากษาอยู่ในสถานที่ที่บุคคลอื่นครอบครองอยู่ เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอาจยื่นคำขอฝ่ายเดียวโดยทำเป็นคำร้องต่อศาลเพื่อขอให้ศาลออกหมายค้นสถานที่นั้น เมื่อได้รับคำร้องเช่นว่านี้ ให้ศาลไต่สวนโดยไม่ชักช้า ถ้าเป็นที่พอใจจากพยานหลักฐานที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้นำมาสืบหรือที่ศาลได้เรียกมาสืบเองว่ามีเหตุอันควรเชื่อตามที่ร้องขอ ให้ศาลมีอำนาจออกหมายค้นสถานที่นั้นเพื่อให้เจ้าพนักงานบังคับคดีตรวจสอบและยึดทรัพย์สินหรือสิ่งต่าง ๆ ดังกล่าวภายในขอบเขตและเงื่อนไขตามที่ศาลเห็นว่าจำเป็น ถ้าศาลมีคำสั่งยกคำขอคำสั่งเช่นว่านั้นให้เป็นที่สุด
มาตรา ๒๘๔๗ ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจดำเนินการไปตามความจำเป็นและสมควรแห่งพฤติการณ์เพื่อดำเนินการบังคับคดีจนได้ ในกรณีที่มีผู้ขัดขวางหรือมีเหตุอันควรเชื่อว่าจะมีผู้ขัดขวาง เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจแจ้งให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจช่วยเหลือได้ ในการนี้ให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจมีอำนาจจับกุมและควบคุมตัวผู้ขัดขวางได้เท่าที่จำเป็นแก่การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานบังคับคดี
มาตรา ๒๘๕๘ ความรับผิดทางละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ต่อลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือต่อบุคคลภายนอกเพื่อความเสียหายที่เกิดจากหรือเกี่ยวเนื่องกับการยึด อายัด หรือขายทรัพย์สินโดยมิชอบหรือเกินกว่าที่จำเป็นแก่การบังคับคดี หรือการบังคับคดีโดยมิชอบในกรณีอื่น ย่อมไม่ตกแก่เจ้าพนักงานบังคับคดี แต่ตกอยู่แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา เว้นแต่ในกรณีเจ้าพนักงานบังคับคดีได้กระทำการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้
ในกรณีที่ความรับผิดตกแก่เจ้าพนักงานบังคับคดีตามวรรคหนึ่ง และเป็นเรื่องความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติหน้าที่ การใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาลตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่หรือตามกฎหมายอื่นไม่ว่าโดยบุคคลใด ให้อยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม
ถ้าเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ยึดทรัพย์สินหรืออายัดสิทธิเรียกร้องอันจะต้องยึดหรืออายัด หรือไม่ขายทรัพย์สิน หรือไม่ดำเนินการบังคับคดีในกรณีอื่น หรือไม่กระทำการดังกล่าวภายในเวลาอันควร โดยจงใจหรือปราศจากความระมัดระวังหรือโดยสมรู้เป็นใจกับลูกหนี้ตามคำพิพากษาเป็นเหตุให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้รับความเสียหาย ให้นำความในวรรคสองมาใช้บังคับโดยอนุโลม
มาตรา ๒๘๖๙ ในกรณีที่มีกฎหมายบัญญัติให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งไปใช้บังคับโดยอนุโลมกับการดำเนินการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอื่นที่ไม่ใช่ศาลยุติธรรม คำว่า ศาลยุติธรรม ตามมาตรา ๒๘๕ วรรคสอง ให้หมายถึงศาลนั้น
๑ มาตรา ๒๗๘ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๖๐
๒ มาตรา ๒๗๙ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๖๐
๓ มาตรา ๒๘๐ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๖๐
๔ มาตรา ๒๘๑ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๖๐
๕ มาตรา ๒๘๒ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๖๐
๖ มาตรา ๒๘๓ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๖๐
๗ มาตรา ๒๘๔ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๖๐
๘ มาตรา ๒๘๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๖๐
๙ มาตรา ๒๘๖ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๖๐