พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๕๑๑
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ปัจจุบันระบบเศรษฐกิจมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว และมีการนำความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้ในการผลิตสินค้าและบริการมากขึ้น ในขณะที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ในเรื่องของคุณภาพสินค้าหรือบริการตลอดจนเทคนิคการตลาดของผู้ประกอบธุรกิจ ทั้งยังขาดอำนาจต่อรองในการเข้าทำสัญญาเพื่อให้ได้มาซึ่งสินค้าหรือบริการ ทำให้ผู้บริโภคถูกเอารัดเอาเปรียบอยู่เสมอ นอกจากนี้ เมื่อเกิดข้อพิพาทขึ้น กระบวนการในการเรียกร้องค่าเสียหายต้องใช้เวลานานและสร้างความยุ่งยากให้แก่ผู้บริโภคที่จะต้องพิสูจน์ถึงข้อเท็จจริงต่าง ๆ ซึ่งไม่อยู่ในความรู้เห็นของตนเอง อีกทั้งต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีสูง ผู้บริโภคจึงตกอยู่ในฐานะที่เสียเปรียบจนบางครั้งนำไปสู่การใช้วิธีการที่รุนแรงและก่อให้เกิดการเผชิญหน้าระหว่างผู้ประกอบธุรกิจกับกลุ่มผู้บริโภคที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมอันส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ สมควรให้มีระบบวิธีพิจารณาคดีที่เอื้อต่อการใช้สิทธิเรียกร้องของผู้บริโภค เพื่อให้ผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายได้รับการแก้ไขเยียวยาด้วยความรวดเร็ว ประหยัดและมีประสิทธิภาพ อันเป็นการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภค ขณะเดียวกัน เป็นการส่งเสริมให้ผู้ประกอบธุรกิจหันมาให้ความสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพของสินค้าและบริการให้ดียิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๖๒
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภคได้กำหนดให้มูลนิธิที่คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภครับรองมีสิทธิฟ้องคดีแพ่ง คดีอาญา และดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ ในคดีเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคโดยส่วนรวมตามที่คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคกำหนดแทนผู้บริโภคได้ ดังนั้น เพื่อให้มูลนิธิที่คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภครับรองมีอำนาจฟ้องและดำเนินคดีสอดคล้องกับกฎหมายดังกล่าว จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๘๓
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ได้มีการแก้ไขปรับปรุงหลักเกณฑ์การอุทธรณ์และฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง โดยให้คดีแพ่งถึงที่สุดในระดับชั้นศาลอุทธรณ์และคดีที่ขึ้นสู่ศาลฎีกาจะต้องได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา สมควรแก้ไขปรับปรุงหลักเกณฑ์การอุทธรณ์และฎีกาในคดีผู้บริโภคให้มีความสอดคล้องเป็นระบบเดียวกัน จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
๑ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๕/ตอนที่ ๓๘ ก/หน้า ๓๒/๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑
๒ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๐/ตอนที่ ๒๕ ก/หน้า ๑/๑๘ มีนาคม ๒๕๕๖
๓ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๒/ตอนที่ ๑๒๐ ก/หน้า ๓๗/๑๔ ธันวาคม ๒๕๕๘