ส่วนที่ ๑/๑
การคุ้มครองผู้บริโภคในด้านความปลอดภัย๑
-------------------------
มาตรา ๒๙/๑๒ ในส่วนนี้ เว้นแต่ข้อความจะแสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่น
“สินค้าที่เป็นอันตราย” หมายความว่า สินค้าที่ก่อหรืออาจก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย สุขภาพ อนามัย จิตใจ หรือทรัพย์สิน ทั้งนี้ ไม่รวมถึงสินค้าที่มีกฎหมายอื่นบัญญัติเรื่องนั้นไว้โดยเฉพาะแล้ว
“บริการที่เป็นอันตราย” หมายความว่า บริการที่ก่อหรืออาจก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย สุขภาพ อนามัย จิตใจ หรือทรัพย์สิน ทั้งนี้ ไม่รวมถึงบริการที่มีกฎหมายอื่นบัญญัติเรื่องนั้นไว้โดยเฉพาะแล้ว
“คณะกรรมการว่าด้วยความปลอดภัย” หมายความว่า คณะกรรมการว่าด้วยความปลอดภัยของสินค้าและบริการ
มาตรา ๒๙/๒๓ สินค้าที่ผู้ประกอบธุรกิจจะขายหรือเสนอขาย หรือเข้าทำความตกลงเพื่อขาย หรือนำเสนอด้วยวิธีการโฆษณาหรือวิธีการอื่นใด หรือนำออกวางตลาด จะต้องเป็นสินค้าที่มีความปลอดภัย
การปฏิบัติเกี่ยวกับความปลอดภัยของสินค้า ให้พิจารณาจากเรื่อง ดังต่อไปนี้
(๑) ลักษณะและประเภทของสินค้า รวมถึงส่วนประกอบของสินค้า การออกแบบสินค้า การบรรจุและบรรจุภัณฑ์ ข้อกำหนดเกี่ยวกับการประกอบ การติดตั้ง การบำรุงรักษา และความคาดหมายที่ผู้บริโภคทั่วไปพึงมีเกี่ยวกับสินค้านั้น
(๒) ลักษณะการนำเสนอสินค้า การติดฉลาก คำเตือนและข้อกำหนดต่าง ๆ เกี่ยวกับการใช้ การกำจัด และการทำลาย และข้อบ่งใช้หรือข้อสารสนเทศใด ๆ เกี่ยวกับสินค้า รวมถึงการโฆษณาสินค้า
(๓) ผลกระทบด้านความปลอดภัยของสินค้าที่อาจเกิดขึ้นหากนำสินค้านั้นไปใช้ร่วมกับสินค้าอื่น
(๔) ผู้บริโภคซึ่งมีความเสี่ยงที่จะได้รับอันตรายจากการบริโภคสินค้าเป็นพิเศษ เช่น เด็ก สตรีมีครรภ์ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วย และคนพิการ
(๕) มาตรฐานความปลอดภัยที่ได้รับการยอมรับเป็นการทั่วไปของสินค้าประเภทนั้น
(๖) แนวปฏิบัติที่ดีของผู้ประกอบธุรกิจ
มาตรา ๒๙/๓๔ ผู้ประกอบธุรกิจต้องไม่ผลิต สั่ง หรือนำเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อขายซึ่งสินค้าที่เป็นอันตราย และต้องไม่แนะนำหรือโฆษณาสินค้าดังกล่าว
มาตรา ๒๙/๔๕ ผู้ประกอบธุรกิจซึ่งเป็นผู้ผลิต หรือผู้สั่งหรือนำเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อขายซึ่งสินค้าที่ควบคุมฉลากตามมาตรา ๓๐ และสินค้าอื่นที่คณะกรรมการว่าด้วยความปลอดภัยประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา ต้องจัดให้มีมาตรการเพื่อป้องกันหรือทำให้ความเสี่ยงต่ออันตรายอันเนื่องมาจากสินค้านั้นหมดสิ้นไป
คณะกรรมการว่าด้วยความปลอดภัยอาจกำหนดให้บริการใดที่ผู้ประกอบธุรกิจต้องจัดให้มีมาตรการเพื่อป้องกันหรือทำให้ความเสี่ยงต่ออันตรายอันเนื่องมาจากบริการนั้นหมดสิ้นไปได้ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
มาตรการเพื่อป้องกันหรือทำให้ความเสี่ยงต่ออันตรายอันเนื่องมาจากสินค้าหรือบริการหมดสิ้นไปที่ผู้ประกอบธุรกิจต้องจัดให้มีนั้น ได้แก่
(๑) สอดส่องดูแลความปลอดภัยของสินค้าหรือบริการของตนตลอดระยะเวลาประกันของสินค้าหรือบริการนั้น พร้อมทั้งเก็บรักษาสถิติหรือรายงานที่เกี่ยวข้อง
(๒) มาตรการอันเหมาะสมกับสินค้าหรือบริการเพื่อให้ทราบได้ถึงความเสี่ยงต่ออันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นตามสภาพของสินค้าหรือบริการเพื่อประโยชน์ในการป้องกันความเสี่ยงดังกล่าว
(๓) ช่องทางในการให้ข้อมูลแก่ผู้บริโภค และช่องทางการรับแจ้งข้อมูลจากผู้บริโภค การตรวจสอบและพิจารณาข้อมูลที่รับแจ้งจากผู้บริโภค และการแจ้งผลการพิจารณาให้ผู้บริโภคทราบโดยไม่ชักช้า พร้อมทั้งจัดทำและเก็บรักษาบันทึกหรือรายงานเกี่ยวกับการรับแจ้งและผลการพิจารณาดังกล่าว
(๔) มาตรการในการติดตามสินค้าที่ได้จัดจำหน่ายไป ซึ่งรวมถึงการระบุชื่อและรายละเอียดของผู้ผลิต ผู้สั่งหรือนำเข้ามาในราชอาณาจักร หรือผู้จัดจำหน่าย และเลขหมายประจำสินค้าไว้ที่ตัวสินค้าหรือบรรจุภัณฑ์
(๕) มาตรการในการติดตามบริการที่ได้ให้บริการไป ซึ่งรวมถึงการระบุชื่อและที่อยู่ของผู้รับบริการและรายละเอียดของการให้บริการ
มาตรา ๒๙/๕๖ ผู้ประกอบธุรกิจซึ่งเป็นผู้ขายหรือผู้ซื้อเพื่อขายต่อซึ่งสินค้าหรือผู้ซื้อสินค้าเพื่อนำออกให้บริการ ซึ่งเป็นสินค้าหรือบริการตามมาตรา ๒๙/๔ ต้องจัดให้มีมาตรการดังต่อไปนี้เพื่อป้องกันหรือทำให้ความเสี่ยงต่ออันตรายอันเนื่องมาจากสินค้าที่ขายหรือสินค้าที่นำออกให้บริการนั้นหมดสิ้นไป
(๑) เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับความเสี่ยงต่ออันตรายอันเนื่องมาจากสินค้าที่ขายหรือสินค้าที่นำออกให้บริการที่ตนได้มาจากผู้ผลิต ผู้สั่งหรือนำเข้ามาในราชอาณาจักร ผู้ขาย หรือผู้ซื้อเพื่อขายต่อซึ่งสินค้า และข้อมูลหรือเอกสารที่เกี่ยวข้องที่อยู่ในความครอบครองของตน โดยส่งต่อให้ผู้ซื้อหรือผู้บริโภคได้ทราบ
(๒) เก็บรักษาเอกสารที่จำเป็นเพื่อการติดตามแหล่งที่มาของสินค้าที่ขายหรือสินค้าที่นำออกให้บริการ เช่น ชื่อและรายละเอียดของผู้ผลิต ผู้สั่งหรือนำเข้ามาในราชอาณาจักร ผู้ขาย หรือผู้ซื้อเพื่อขายต่อซึ่งสินค้าที่ขายหรือสินค้าที่นำออกให้บริการนั้นไว้ และส่งมอบเอกสารดังกล่าวเมื่อคณะกรรมการว่าด้วยความปลอดภัยได้มีหนังสือเรียกให้ส่ง
ผู้ประกอบธุรกิจตามวรรคหนึ่งต้องให้ความร่วมมือกับผู้ผลิต ผู้สั่งหรือนำเข้ามาในราชอาณาจักร ผู้ขาย และพนักงานเจ้าหน้าที่ ในการดำเนินการเพื่อป้องกันหรือทำให้ความเสี่ยงต่ออันตรายอันเนื่องมาจากสินค้าที่ขายหรือสินค้าที่นำออกให้บริการหมดสิ้นไป
มาตรา ๒๙/๖๗ ในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการซึ่งต้องปฏิบัติตามมาตรา ๒๙/๔ และมาตรา ๒๙/๕ มีเหตุอันควรสงสัยว่าสินค้าหรือบริการนั้นอาจเป็นสินค้าหรือบริการที่เป็นอันตราย ผู้ประกอบธุรกิจนั้นอาจแจ้งเตือนภัยแก่ผู้ผลิต ผู้สั่งหรือนำเข้ามาในราชอาณาจักร ผู้ขาย หรือผู้ซื้อเพื่อขายต่อซึ่งสินค้า หรือผู้ให้บริการ รวมถึงผู้ประกอบธุรกิจโฆษณา ผู้บริโภค และประชาชนทราบเป็นการทั่วไป
ในกรณีที่ปรากฏว่าสินค้าหรือบริการใดเป็นสินค้าหรือบริการที่เป็นอันตราย หรือสินค้าหรือบริการที่เป็นอันตรายนั้นมีผลทำให้บุคคลถึงแก่ความตาย รับอันตรายสาหัส หรือเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจของบุคคล หรือเป็นอันตรายต่อทรัพย์สินอื่น ผู้ประกอบธุรกิจตามวรรคหนึ่งต้องแจ้งความเป็นอันตรายของสินค้าหรือบริการนั้นแก่ผู้ผลิต ผู้สั่งหรือนำเข้ามาในราชอาณาจักร ผู้ขาย หรือผู้ซื้อเพื่อขายต่อซึ่งสินค้า หรือผู้ให้บริการ รวมถึงผู้ประกอบธุรกิจโฆษณา ผู้บริโภค และประชาชน และแจ้งสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคทราบโดยเร็ว
คณะกรรมการว่าด้วยความปลอดภัยอาจประกาศกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการดำเนินการตามวรรคสองก็ได้
มาตรา ๒๙/๗๘ ในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจพบหรือได้รับแจ้งตามมาตรา ๒๙/๖ วรรคสอง ว่าสินค้าหรือบริการที่ตนผลิต สั่งหรือนำเข้ามาในราชอาณาจักร ขาย หรือมีไว้เพื่อขายหรือให้บริการนั้น เป็นสินค้าหรือบริการที่เป็นอันตราย ผู้ประกอบธุรกิจนั้นต้องดำเนินการเพื่อปัดป้องอันตรายหรือทำให้อันตรายของสินค้าหรือบริการนั้นหมดสิ้นไป เช่น แก้ไข เปลี่ยนแปลงหรือปรับปรุงสินค้าหรือบริการ เปลี่ยนสินค้าหรือเปลี่ยนวิธีให้บริการ เรียกคืนสินค้าและชดใช้ราคาสินค้า เก็บสินค้าออกจากท้องตลาดหรืองดให้บริการ และแจ้งผลการดำเนินการดังกล่าวเป็นหนังสือต่อสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคโดยไม่ชักช้า แต่ต้องไม่เกินห้าวันนับแต่วันที่เริ่มดำเนินการ โดยมีรายละเอียดเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ ลักษณะของอันตราย และมาตรการที่ผู้ประกอบธุรกิจได้ดำเนินการเพื่อปัดป้องอันตรายดังกล่าว
คณะกรรมการว่าด้วยความปลอดภัยอาจประกาศกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการดำเนินการตามวรรคหนึ่งก็ได้
มาตรา ๒๙/๘๙ ในกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าสินค้าหรือบริการใดอาจเป็นสินค้าหรือบริการที่เป็นอันตราย คณะกรรมการว่าด้วยความปลอดภัยอาจออกคำสั่งให้ผู้ประกอบธุรกิจดำเนินการทดสอบหรือพิสูจน์สินค้าหรือบริการนั้นได้ และให้ผู้ประกอบธุรกิจรายงานผลการทดสอบหรือพิสูจน์ต่อคณะกรรมการว่าด้วยความปลอดภัย ทั้งนี้ ภายในระยะเวลาที่คณะกรรมการว่าด้วยความปลอดภัยกำหนด
เมื่อมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าสินค้าหรือบริการใดเป็นสินค้าหรือบริการที่เป็นอันตราย ให้คณะกรรมการว่าด้วยความปลอดภัยออกคำสั่งให้ผู้ประกอบธุรกิจดำเนินการทดสอบหรือพิสูจน์สินค้าหรือบริการ และอาจสั่งห้ามขายสินค้าหรืองดให้บริการนั้นเป็นการชั่วคราวจนกว่าจะทราบผลการทดสอบหรือผลการพิสูจน์สินค้าหรือบริการนั้นก็ได้ และให้ผู้ประกอบธุรกิจรายงานผลการทดสอบหรือพิสูจน์ต่อคณะกรรมการว่าด้วยความปลอดภัยภายในระยะเวลาที่คณะกรรมการว่าด้วยความปลอดภัยกำหนด
มาตรา ๒๙/๙๑๐ ในกรณีที่คณะกรรมการว่าด้วยความปลอดภัยได้มีคำสั่งห้ามขายสินค้าหรืองดให้บริการชั่วคราวตามมาตรา ๒๙/๘ วรรคสอง เมื่อคณะกรรมการว่าด้วยความปลอดภัยพิจารณาผลการทดสอบหรือผลการพิสูจน์แล้วเห็นว่าสินค้าหรือบริการที่สั่งให้ทดสอบหรือพิสูจน์นั้นไม่เป็นสินค้าหรือบริการที่เป็นอันตราย ให้คณะกรรมการว่าด้วยความปลอดภัยออกคำสั่งเพิกถอนคำสั่งดังกล่าว
ในกรณีที่คณะกรรมการว่าด้วยความปลอดภัยพิจารณาผลการทดสอบหรือผลการพิสูจน์เพื่อประกอบการพิจารณาแล้วเห็นว่า สินค้านั้นเป็นสินค้าที่เป็นอันตรายและไม่อาจป้องกันอันตรายที่จะเกิดจากสินค้านั้นได้โดยการกำหนดฉลากตามมาตรา ๓๐ หรือตามกฎหมายอื่น หรือบริการนั้นเป็นบริการที่เป็นอันตราย ให้คณะกรรมการว่าด้วยความปลอดภัยออกคำสั่งห้ามผู้ประกอบธุรกิจผลิตเพื่อขาย สั่งหรือนำเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อขาย หรือขายสินค้า หรืองดให้บริการ โดยจะสั่งให้แก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือปรับปรุงสินค้าหรือการให้บริการ หรือทำลายสินค้าดังกล่าว หรือส่งกลับคืนไปยังประเทศที่นำสินค้านั้นเข้ามาในราชอาณาจักร ตามควรแก่กรณี
มาตรา ๒๙/๑๐๑๑ ในกรณีที่คณะกรรมการว่าด้วยความปลอดภัยมีคำสั่งห้ามขายสินค้าตามมาตรา ๒๙/๙ วรรคสอง ให้ผู้ประกอบธุรกิจซึ่งเป็นผู้ผลิต หรือผู้สั่งหรือนำเข้ามาในราชอาณาจักรจัดเก็บสินค้าในท้องตลาดกลับคืนและประกาศเรียกคืนสินค้าจากผู้บริโภค และทำให้ความเสี่ยงต่ออันตรายอันเนื่องมาจากสินค้าที่จัดเก็บกลับคืนมาได้และที่อยู่ในความครอบครองของตนหมดสิ้นไป
ในกรณีที่คณะกรรมการว่าด้วยความปลอดภัยมีคำสั่งทำลายสินค้านั้น เมื่อผู้ประกอบธุรกิจได้ทำลายสินค้านั้นแล้ว ให้รายงานต่อคณะกรรมการว่าด้วยความปลอดภัยโดยเร็ว
ให้ผู้ประกอบธุรกิจชดใช้ราคาสินค้าและรับผิดชอบค่าใช้จ่ายของผู้บริโภคที่เกิดขึ้นจากการดำเนินการ
ให้ผู้ประกอบธุรกิจปิดประกาศ แจ้ง หรือโฆษณาข่าวสารเกี่ยวกับการดำเนินการให้ผู้บริโภคทราบภายในสามวันนับแต่วันที่รับทราบคำสั่งห้ามขาย
มาตรา ๒๙/๑๑๑๒ เมื่อคณะกรรมการว่าด้วยความปลอดภัยมีคำสั่งห้ามขายตามมาตรา ๒๙/๙ วรรคสอง ให้ผู้ประกอบธุรกิจซึ่งเป็นผู้ผลิต หรือผู้สั่งหรือนำเข้ามาในราชอาณาจักรจัดทำแผนการจัดเก็บหรือเรียกคืนสินค้า แผนการปรับปรุงแก้ไขหรือดำเนินการกับสินค้าที่จัดเก็บหรือเรียกคืน และแผนการเยียวยาผู้บริโภค เสนอต่อคณะกรรมการว่าด้วยความปลอดภัยภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่รับทราบคำสั่งห้ามขายเพื่อพิจารณา ทั้งนี้ คณะกรรมการว่าด้วยความปลอดภัยอาจประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการดำเนินการดังกล่าวของผู้ประกอบธุรกิจก็ได้
ให้คณะกรรมการว่าด้วยความปลอดภัยพิจารณาแผนตามวรรคหนึ่งให้แล้วเสร็จ และแจ้งให้ผู้ประกอบธุรกิจตามวรรคหนึ่งทราบภายในสามสิบวันนับแต่วันที่เสนอแผน ในกรณีที่เห็นว่าแผนทั้งหมดหรือบางส่วนไม่มีความเหมาะสม ให้มีอำนาจแก้ไขแผนนั้นได้ รวมทั้งมีอำนาจสั่งเยียวยาเพิ่มเติมสิ่งที่ได้ดำเนินการไปแล้วก่อนดำเนินการตามแผนที่ได้รับความเห็นชอบ
ให้ผู้ประกอบธุรกิจรายงานการดำเนินการตามแผนตามวรรคหนึ่งหรือแผนที่แก้ไขตามวรรคสองให้คณะกรรมการว่าด้วยความปลอดภัยทราบทุกเจ็ดวันหรือตามที่คณะกรรมการว่าด้วยความปลอดภัยกำหนดจนกว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จตามแผน
ในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจไม่จัดทำแผนภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่รับทราบคำสั่งห้ามขาย หรือคณะกรรมการว่าด้วยความปลอดภัยเห็นว่าแผนทั้งหมดหรือบางส่วนไม่อาจปฏิบัติได้ ให้คณะกรรมการว่าด้วยความปลอดภัยมีอำนาจกำหนดแผนการจัดเก็บหรือเรียกคืนสินค้า แผนการปรับปรุงแก้ไขหรือดำเนินการกับสินค้าที่จัดเก็บหรือเรียกคืน หรือแผนการเยียวยาผู้บริโภค เพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจดำเนินการได้ตามที่เห็นสมควร และให้ผู้ประกอบธุรกิจรายงานการดำเนินการตามแผนดังกล่าวภายในระยะเวลาที่คณะกรรมการว่าด้วยความปลอดภัยกำหนด ทั้งนี้ ให้ผู้ประกอบธุรกิจรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการจัดทำแผน
การดำเนินการตามวรรคหนึ่งและวรรคสี่ไม่กระทบต่อสิทธิของผู้บริโภคที่จะใช้สิทธิเรียกร้องต่อผู้ประกอบธุรกิจให้รับผิดในเรื่องอื่นตามพระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายอื่น
ให้ผู้ประกอบธุรกิจปิดประกาศ แจ้ง หรือโฆษณาแผนที่ได้รับความเห็นชอบหรือแผนที่ได้รับการแก้ไขตามวรรคสอง หรือแผนที่คณะกรรมการว่าด้วยความปลอดภัยกำหนดขึ้นตามวรรคสี่ให้ผู้บริโภคทราบภายในสามวันนับแต่วันที่ได้รับทราบแผนดังกล่าว
มาตรา ๒๙/๑๒๑๓ ในกรณีที่คณะกรรมการว่าด้วยความปลอดภัยมีคำสั่งให้แก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือปรับปรุงสินค้าตามมาตรา ๒๙/๙ วรรคสอง หรือเป็นการแก้ไขปรับปรุงสินค้าตามแผนตามมาตรา ๒๙/๑๑ วรรคหนึ่ง ก่อนที่ผู้ประกอบธุรกิจจะนำสินค้าออกขาย ให้รายงานต่อคณะกรรมการว่าด้วยความปลอดภัยเพื่อตรวจสอบ เมื่อคณะกรรมการว่าด้วยความปลอดภัยตรวจสอบจนเป็นที่พอใจว่าไม่เป็นสินค้าที่เป็นอันตรายแล้ว ให้เพิกถอนคำสั่งห้ามขายสินค้าตามมาตรา ๒๙/๙ วรรคสอง
มาตรา ๒๙/๑๓๑๔ เมื่อคณะกรรมการว่าด้วยความปลอดภัยมีคำสั่งงดให้บริการตามมาตรา ๒๙/๙ วรรคสอง ให้ผู้ประกอบธุรกิจแจ้งให้ผู้บริโภคที่รับบริการไปแล้วและยังคงมีอันตรายอยู่กับผู้บริโภคนั้นมารับการแก้ไขการให้บริการที่อยู่ในวิสัยที่จะทำได้ทันที และให้นำความในมาตรา ๒๙/๑๐ วรรคสามและวรรคสี่ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
ให้ผู้ประกอบธุรกิจจัดทำแผนดำเนินการปรับปรุงวิธีการให้บริการไม่ให้เป็นอันตรายแก่ผู้บริโภคและแผนการเยียวยาผู้บริโภค และให้นำความในมาตรา ๒๙/๑๑ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
มาตรา ๒๙/๑๔๑๕ เมื่อผู้ประกอบธุรกิจได้ดำเนินการแก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือปรับปรุงวิธีการให้บริการไม่ให้เป็นอันตรายแก่ผู้บริโภคตามมาตรา ๒๙/๑๓ แล้ว ให้รายงานต่อคณะกรรมการว่าด้วยความปลอดภัยเพื่อตรวจสอบ และให้นำความในมาตรา ๒๙/๑๒ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
มาตรา ๒๙/๑๕๑๖ คณะกรรมการว่าด้วยความปลอดภัยอาจขยายระยะเวลาที่กำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจปฏิบัติในส่วนนี้ได้ตามที่เห็นสมควร
มาตรา ๒๙/๑๖๑๗ การปิดประกาศ แจ้ง และโฆษณาข่าวสารตามที่กำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจปฏิบัติ ให้ผู้ประกอบธุรกิจกระทำทางสื่อโฆษณาที่ผู้ประกอบธุรกิจได้ใช้ในการโฆษณาสินค้าหรือบริการนั้นและสื่อรูปแบบอื่น ๆ ตามที่เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคกำหนด รวมทั้งให้ผู้ประกอบธุรกิจดำเนินการแจ้งในเว็บไซต์ของผู้ประกอบธุรกิจและแจ้งเป็นหนังสือ ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ หรือช่องทางอื่นที่ผู้ประกอบธุรกิจเสนอขายสินค้าหรือบริการนั้นให้แก่ผู้บริโภคโดยตรงเพื่อทราบ โดยการปิดประกาศหรือโฆษณาข่าวสารให้กระทำต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่าสามวัน เว้นแต่เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคจะกำหนดเป็นอย่างอื่น และเลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคจะกำหนดหลักเกณฑ์การปิดประกาศ แจ้ง หรือการโฆษณาดังกล่าวด้วยก็ได้
มาตรา ๒๙/๑๗๑๘ ในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจไม่แจ้งความเป็นอันตรายของสินค้าหรือบริการตามมาตรา ๒๙/๖ วรรคสอง หรือไม่ดำเนินการหรือดำเนินการไม่ครบถ้วนในกรณีที่คณะกรรมการว่าด้วยความปลอดภัยมีคำสั่งให้ผู้ประกอบธุรกิจดำเนินการทดสอบหรือพิสูจน์ตามมาตรา ๒๙/๘ หรือไม่ปิดประกาศ แจ้ง หรือโฆษณาตามมาตรา ๒๙/๑๐ วรรคสี่ มาตรา ๒๙/๑๑ วรรคหก หรือมาตรา ๒๙/๑๓ เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคมีอำนาจจัดให้มีการดำเนินการแทน และให้ผู้ประกอบธุรกิจมีหน้าที่ชดใช้ค่าใช้จ่ายและเงินเพิ่ม โดยให้บังคับตามบทบัญญัติเกี่ยวกับการบังคับทางปกครองตามกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง เมื่อดำเนินการแล้วให้เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภครายงานผลการดำเนินการให้คณะกรรมการว่าด้วยความปลอดภัยทราบด้วย
๑ ส่วนที่ ๑/๑ การคุ้มครองผู้บริโภคในด้านความปลอดภัย มาตรา ๒๙/๑ ถึงมาตรา ๒๙/๑๗ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๖๒
๒ มาตรา ๒๙/๑ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๖๒
๓ มาตรา ๒๙/๒ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๖๒
๔ มาตรา ๒๙/๓ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๖๒
๕ มาตรา ๒๙/๔ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๖๒
๖ มาตรา ๒๙/๕ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๖๒
๗ มาตรา ๒๙/๖ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๖๒
๘ มาตรา ๒๙/๗ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๖๒
๙ มาตรา ๒๙/๘ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๖๒
๑๐ มาตรา ๒๙/๙ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๖๒
๑๑ มาตรา ๒๙/๑๐ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๖๒
๑๒ มาตรา ๒๙/๑๑ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๖๒
๑๓ มาตรา ๒๙/๑๒ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๖๒
๑๔ มาตรา ๒๙/๑๓ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๖๒
๑๕ มาตรา ๒๙/๑๔ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๖๒
๑๖ มาตรา ๒๙/๑๕ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๖๒
๑๗ มาตรา ๒๙/๑๖ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๖๒
๑๘ มาตรา ๒๙/๑๗ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๖๒