พระราชบัญญัติ
วิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ
พ.ศ. ๒๕๕๙
-------------------------
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๖ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๙
เป็นปีที่ ๗๑ ในรัชกาลปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ดังต่อไปนี้
มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. ๒๕๕๙”
มาตรา ๒๑ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา ๓ ในพระราชบัญญัตินี้
“คดีทุจริตและประพฤติมิชอบ” หมายความว่า คดีทุจริตและประพฤติมิชอบตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ
“ศาล” หมายความว่า ศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ
“ผู้ถูกกล่าวหา” หมายความว่า ผู้ถูกกล่าวหาตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและตามกฎหมายว่าด้วยมาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต และผู้ต้องหาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
“ประธานกรรมการ ป.ป.ช.” หมายความว่า ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
“คณะกรรมการ ป.ป.ช.” หมายความว่า คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
“คณะกรรมการ ป.ป.ท.” หมายความว่า คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐตามกฎหมายว่าด้วยมาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
“เจ้าหน้าที่ของรัฐ” หมายความว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ
“เจ้าพนักงานคดี” หมายความว่า ข้าราชการศาลยุติธรรมซึ่งได้รับแต่งตั้งจากเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมให้ดำรงตำแหน่งเจ้าพนักงานคดีตามระเบียบที่คณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรมตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการศาลยุติธรรมกำหนด
มาตรา ๔ ให้นำบทบัญญัติในพระราชบัญญัตินี้ เว้นแต่มาตรา ๗ มาตรา ๓๔ มาตรา ๓๕ มาตรา ๓๖ และมาตรา ๓๗ ไปใช้บังคับแก่การพิจารณาพิพากษาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบในศาลทหารด้วย โดย
(๑) ผู้มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลสืบพยานหลักฐานตามมาตรา ๒๗ ได้แก่ อัยการทหารตามกฎหมายว่าด้วยธรรมนูญศาลทหาร
(๒) ผู้มีอำนาจฟ้องคดีให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยธรรมนูญศาลทหาร
(๓) การจ่ายเงินรางวัลและค่าใช้จ่ายแก่ทนายความที่ศาลทหารตั้งให้แก่จำเลย ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยธรรมนูญศาลทหาร
(๔) การจ่ายค่าป่วยการ ค่าพาหนะเดินทาง ค่าเช่าที่พัก และค่าใช้จ่ายอื่นแก่บุคคลตามมาตรา ๑๒ ให้เป็นไปตามระเบียบที่กระทรวงกลาโหมกำหนดโดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง
(๕) การอุทธรณ์และฎีกาในศาลทหาร ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยธรรมนูญศาลทหาร
(๖) การบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งในส่วนอาญา ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยธรรมนูญศาลทหาร
(๗) ให้คำว่า “พนักงานอัยการ” หมายความรวมถึงอัยการทหารตามกฎหมายว่าด้วยธรรมนูญศาลทหาร
ในกรณีคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจฟ้องคดีตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจเป็นโจทก์ฟ้องคดีเองหรือแต่งตั้งทนายความให้ฟ้องคดีแทนต่อศาลทหารได้
ให้ที่ประชุมใหญ่ตุลาการพระธรรมนูญในศาลทหารสูงสุดมีอำนาจออกระเบียบเกี่ยวกับการดำเนินคดีเพื่อให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ หรือเพื่อให้การพิจารณาพิพากษาคดีของศาลทหารเป็นไปด้วยความสะดวก รวดเร็ว เป็นธรรม และมีประสิทธิภาพ เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัตินี้ และเมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้
มาตรา ๕ ให้ประธานศาลฎีกาและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
ประธานศาลฎีกาโดยความเห็นชอบของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกามีอำนาจออกข้อบังคับเกี่ยวกับการดำเนินคดีเพื่อให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ หรือเพื่อให้การพิจารณาพิพากษาคดีของศาลเป็นไปด้วยความสะดวก รวดเร็ว เป็นธรรม และมีประสิทธิภาพ เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัตินี้ และเมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้
๑ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๓/ตอนที่ ๘๖ ก/หน้า ๑/๓๐ กันยายน ๒๕๕๙