หมวด ๔
อุทธรณ์
-------------------------
มาตรา ๓๘ ให้จัดตั้งแผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบขึ้นในศาลอุทธรณ์ โดยให้มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบที่มีการอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้น และตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้
มาตรา ๓๙ ภายใต้บังคับมาตรา ๔๑ การอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้นในคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ให้อุทธรณ์ไปยังศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ โดยยื่นต่อศาลชั้นต้นภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันอ่านหรือถือว่าได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นให้คู่ความฝ่ายที่อุทธรณ์ฟัง
เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์หรือเมื่อมีการยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นส่งอุทธรณ์หรือคำร้องเช่นว่านั้นพร้อมสำนวนไปยังศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ เพื่อพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งโดยเร็ว
มาตรา ๔๐ ในกรณีที่จำเลยซึ่งไม่ได้ถูกคุมขังเป็นผู้อุทธรณ์ จำเลยจะยื่นอุทธรณ์ได้ต่อเมื่อแสดงตนต่อเจ้าพนักงานศาลในขณะยื่นอุทธรณ์ มิฉะนั้นให้ศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์
มาตรา ๔๑ คดีที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ลงโทษประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิต เมื่อไม่มีการอุทธรณ์คำพิพากษา ให้ศาลชั้นต้นส่งสำนวนและคำพิพากษาไปยังศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบตามมาตรา ๒๔๕ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา ๔๒ ให้ศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งโดยมิชักช้า และภายใต้บังคับมาตรา ๔๔ คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบให้เป็นที่สุด
มาตรา ๔๓ การพิจารณาและการชี้ขาดตัดสินคดีของศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ให้นำบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาหรือประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยการพิจารณาและการชี้ขาดตัดสินคดีในชั้นอุทธรณ์มาใช้บังคับโดยอนุโลม