My Template

เหตุผลในการประกาศใช้

 

พระราชบัญญัติให้ใช้พระธรรมนูญศาลยุติธรรม พ.ศ. ๒๕๔๓

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือโดยที่มาตรา ๒๓๖ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้การนั่งพิจารณาคดีของศาลต้องมีผู้พิพากษาครบองค์คณะและผู้พิพากษาซึ่งมิได้นั่งพิจารณาคดีใดจะทำคำพิพากษาคดีนั้นมิได้ เว้นแต่มีเหตุสุดวิสัยหรือมีเหตุจำเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ ประกอบกับมาตรา ๒๔๙ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้การจ่ายสำนวนคดีให้ผู้พิพากษาต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายบัญญัติ และได้ห้ามการเรียกคืนสำนวนคดีหรือการโอนสำนวนคดี เว้นแต่เป็นกรณีที่จะกระทบกระเทือนต่อความยุติธรรมในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดี นอกจากนี้ ได้มีการตรากฎหมายตามมาตรา ๒๗๕ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งบัญญัติให้ศาลยุติธรรมมีหน่วยธุรการที่เป็นอิสระ โดยมีเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมเป็นผู้บังคับบัญชาขึ้นตรงต่อประธานศาลฎีกา ดังนั้น เพื่อเป็นการรองรับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และเพื่อให้การจัดระบบการบริหารงานศาลยุติธรรมตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรมสอดคล้องกับกฎหมายซึ่งตราขึ้นตามมาตรา ๒๗๕ ดังกล่าว จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระธรรมนูญศาลยุติธรรม พ.ศ. ๒๕๕๐

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่บทบัญญัติแห่งพระธรรมนูญศาลยุติธรรมได้กำหนดให้ศาลชั้นต้นมีเขตอำนาจตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติ จึงทำให้การเปลี่ยนแปลงเขตอำนาจศาลดังกล่าวจะต้องตราเป็นพระราชบัญญัติ ซึ่งต้องใช้เวลานานไม่ทันกับการแก้ไขเปลี่ยนแปลงเขตพื้นที่ทางปกครอง และไม่เอื้อประโยชน์ในการอำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชน ดังนั้น เพื่อให้การเปลี่ยนแปลงเขตอำนาจศาลชั้นต้นสามารถกระทำได้อย่างคล่องตัว สมควรแก้ไขเพิ่มเติมพระธรรมนูญศาลยุติธรรมเพื่อให้การเปลี่ยนแปลงเขตอำนาจศาลชั้นต้นสามารถกระทำได้โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาจึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระธรรมนูญศาลยุติธรรม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๐

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่พระธรรมนูญศาลยุติธรรมได้กำหนดให้มีรองประธานศาลฎีกาหนึ่งคน รองประธานศาลอุทธรณ์ และรองประธานศาลอุทธรณ์ภาค ศาลละหนึ่งคน และในกรณีที่มีความจำเป็นเพื่อประโยชน์ในทางราชการ คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมโดยความเห็นชอบของประธานศาลฎีกาจะกำหนดให้มีรองประธานศาลฎีกามากกว่าหนึ่งคนแต่ไม่เกินสามคนก็ได้ แต่เนื่องจากในปัจจุบันปริมาณงานของประธานศาลฎีกา ประธานศาลอุทธรณ์ และประธานศาลอุทธรณ์ภาคได้เพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ สมควรกำหนดให้มีการเพิ่มการกำหนดจำนวนรองประธานศาลฎีกาได้ไม่เกินหกคน และจำนวนรองประธานศาลอุทธรณ์หรือรองประธานศาลอุทธรณ์ภาคได้ไม่เกินสามคน เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระหน้าที่ของประธานศาลฎีกา ประธานศาลอุทธรณ์และประธานศาลอุทธรณ์ภาค จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระธรรมนูญศาลยุติธรรม (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๑

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่การพิจารณาพิพากษาอรรถคดีของศาลยุติธรรมเป็นงานที่ต้องใช้ความละเอียดรอบคอบและการกลั่นกรองจากผู้พิพากษาที่มีประสบการณ์ สมควรกำหนดให้ประธานศาลฎีกามีอำนาจให้คำแนะนำแก่ข้าราชการตุลาการ และให้ผู้ที่รับผิดชอบการบริหารงานของศาลมีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสำนวนและทำความเห็นแย้ง ทั้งยังสมควรเพิ่มเติมบทบัญญัติที่เกี่ยวกับอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลฎีกาให้สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๒๑๙ วรรคสอง จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระธรรมนูญศาลยุติธรรม (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๕

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องด้วยปริมาณงานตุลาการและงานธุรการคดีของศาลยุติธรรมได้เพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ แต่ผู้รับผิดชอบควบคุมดูแลงานของศาลยุติธรรมในส่วนภูมิภาคมีอธิบดีผู้พิพากษาภาคเพียงคนเดียว ไม่มีผู้ช่วยปฏิบัติราชการ ทำให้ราชการของศาลยุติธรรมไม่อาจดำเนินไปได้ด้วยความสะดวก รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพเท่าที่ควร และปริมาณคดีที่เพิ่มมากขึ้นดังกล่าวส่งผลต่อระยะเวลาในการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลชั้นต้น ทำให้การพิจารณาพิพากษาคดีของศาลชั้นต้นมีความล่าช้ากระทบต่อการอำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชนและคู่ความในคดี ดังนั้น เพื่อให้การบริหารจัดการคดีของศาลยุติธรรมเป็นไปโดยสะดวก รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพเพื่อประโยชน์ในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีให้เป็นไปโดยถูกต้อง รวดเร็ว และเป็นธรรม สมควรแก้ไขเพิ่มเติมพระธรรมนูญศาลยุติธรรมโดยกำหนดตำแหน่งรองอธิบดีผู้พิพากษาภาคและอำนาจหน้าที่ของอธิบดีผู้พิพากษาภาคและรองอธิบดีผู้พิพากษาภาค จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระธรรมนูญศาลยุติธรรม (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๕๘

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ได้มีการจัดตั้งศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษโดยกำหนดให้เป็นศาลชั้นอุทธรณ์ที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่อุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชำนัญพิเศษ สมควรกำหนดความหมายของคำว่า “ศาลชั้นอุทธรณ์” ให้สอดคล้องกับการจัดตั้งศาลดังกล่าว อีกทั้งสมควรกำหนดให้คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมมีอำนาจออกประกาศเปิดทำการสาขาของศาลชั้นต้น รวมทั้งให้มีอำนาจกำหนดและเปลี่ยนแปลงสถานที่ตั้งของศาลได้ด้วย เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนผู้มีอรรถคดีและผู้ที่เกี่ยวข้องซึ่งอยู่ในพื้นที่ห่างไกล และในกรณีคดีที่อยู่ในอำนาจของศาลแขวงถ้ามีการยื่นฟ้องคดีต่อศาลแพ่ง ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ศาลแพ่งธนบุรี ศาลอาญา ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลอาญาธนบุรี หรือศาลจังหวัด ก็ให้ศาลดังกล่าวนั้นมีดุลพินิจที่จะพิจารณาพิพากษาคดีที่รับฟ้องไว้แล้วนั้นต่อไปหรือโอนคดีไปยังศาลแขวงที่มีอำนาจก็ได้ แต่หากในกรณีที่ศาลดังกล่าวได้มีคำสั่งรับฟ้องคดีไว้แล้วโดยในขณะยื่นฟ้องคดีนั้นเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจของศาลแขวง หรือกรณีเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจของศาลแพ่ง ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ศาลแพ่งธนบุรี ศาลอาญา ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลอาญาธนบุรี หรือศาลจังหวัด แต่ต่อมามีพฤติการณ์เปลี่ยนแปลงไปทำให้คดีนั้นอยู่ในอำนาจของศาลแขวง ก็ให้ศาลนั้นมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีต่อไป อันเป็นการส่งเสริมให้การบริหารจัดการคดีของศาลยุติธรรมมีประสิทธิภาพเพื่อประโยชน์ในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีให้เป็นไปโดยถูกต้อง รวดเร็ว และเป็นธรรม จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระธรรมนูญศาลยุติธรรม (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๖๒

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ได้มีการจัดตั้งศาลแพ่งตลิ่งชัน ศาลแพ่งพระโขนง ศาลแพ่งมีนบุรี ศาลอาญาตลิ่งชัน ศาลอาญาพระโขนง และศาลอาญามีนบุรี โดยกำหนดให้เป็นศาลชั้นต้นในท้องที่กรุงเทพมหานคร และยุบเลิกศาลจังหวัดตลิ่งชัน ศาลจังหวัดพระโขนง และศาลจังหวัดมีนบุรี สมควรแก้ไขเพิ่มเติมพระธรรมนูญศาลยุติธรรมเกี่ยวกับชื่อศาลชั้นต้น ตำแหน่งอธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้นประจำศาลแพ่งตลิ่งชัน ศาลแพ่งพระโขนง ศาลแพ่งมีนบุรี ศาลอาญาตลิ่งชัน ศาลอาญาพระโขนง และศาลอาญามีนบุรี เขตอำนาจศาลแพ่งและศาลอาญาในท้องที่กรุงเทพมหานคร อำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งทั้งปวงและคดีอาญาทั้งปวง และการรับพิจารณาและการโอนคดีในกรณีที่คดีในศาลชั้นต้นเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจของศาลแขวง เพื่อให้การบริหารจัดการคดีของศาลยุติธรรมมีประสิทธิภาพ และเพื่อประโยชน์ในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีให้เป็นไปโดยถูกต้อง รวดเร็ว และเป็นธรรม จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้


                ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๗/ตอนที่ ๔๔ ก/หน้า ๑/๑๘ พฤษภาคม ๒๕๔๓
                ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๔/ตอนที่ ๕๑ ก/หน้า ๒๑/๕ กันยายน ๒๕๕๐
                ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๔/ตอนที่ ๕๑ ก/หน้า ๒๔/๕ กันยายน ๒๕๕๐
                ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๕/ตอนที่ ๓๗ ก/หน้า ๔๔/๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑
               ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๙/ตอนที่ ๓๗ ก/หน้า ๑/๒๗ เมษายน ๒๕๕๕

               ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๒/ตอนที่ ๑๒๐ ก/หน้า ๕/๑๔ ธันวาคม ๒๕๕๘
               ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๖/ตอนที่ ๓๔ ก/หน้า ๑๑/๒๐ มีนาคม ๒๕๖๒