หมวด ๑
หมายเรียก
-------------------------
มาตรา ๕๒ การที่จะให้บุคคลใดมาที่พนักงานสอบสวนหรือมาที่พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่หรือมาศาล เนื่องในการสอบสวน การไต่สวนมูลฟ้อง การพิจารณาคดี หรือการอย่างอื่นตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ จักต้องมีหมายเรียกของพนักงานสอบสวนหรือพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่หรือของศาล แล้วแต่กรณี
แต่ในกรณีที่พนักงานสอบสวนหรือพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่ไปทำการสอบสวนด้วยตนเอง ย่อมมีอำนาจที่จะเรียกผู้ต้องหาหรือพยานมาได้โดยไม่ต้องออกหมายเรียก
มาตรา ๕๓ หมายเรียกต้องทำเป็นหนังสือและมีข้อความ ดังต่อไปนี้
(๑) สถานที่ที่ออกหมาย
(๒) วันเดือนปีที่ออกหมาย
(๓) ชื่อและตำบลที่อยู่ของบุคคลที่ออกหมายเรียกให้มา
(๔) เหตุที่ต้องเรียกผู้นั้นมา
(๕) สถานที่ วันเดือนปีและเวลาที่จะให้ผู้นั้นไปถึง
(๖) ลายมือชื่อและประทับตราของศาล หรือลายมือชื่อและตำแหน่งเจ้าพนักงานผู้ออกหมาย
มาตรา ๕๔ ในการกำหนดวันและเวลาที่จะให้มาตามหมายเรียกนั้น ให้พึงระลึกถึงระยะทางใกล้ไกล เพื่อให้ผู้ถูกเรียกมีโอกาสมาถึงตามวันเวลากำหนดในหมาย
มาตรา ๕๕ การส่งหมายเรียกแก่ผู้ต้องหา จะส่งให้แก่บุคคลผู้อื่นซึ่งมิใช่สามีภริยา ญาติหรือผู้ปกครองของผู้รับหมายรับแทนนั้นไม่ได้
มาตรา ๕๕/๑๑ ในคดีพนักงานอัยการเป็นโจทก์ ถ้าศาลมีคำสั่งให้ออกหมายเรียกพยานโจทก์โดยมิได้กำหนดวิธีการส่งไว้ ให้พนักงานอัยการมีหน้าที่ดำเนินการให้หัวหน้าพนักงานสอบสวนแห่งท้องที่เป็นผู้จัดส่งหมายเรียกแก่พยานและติดตามพยานโจทก์มาศาลตามกำหนดนัดแล้วแจ้งผลการส่งหมายเรียกไปยังศาลและพนักงานอัยการโดยเร็ว หากปรากฏว่าพยานโจทก์มีเหตุขัดข้องไม่อาจมาศาลได้หรือเกรงว่าจะเป็นการยากที่จะนำพยานนั้นมาสืบตามที่ศาลนัดไว้ ก็ให้พนักงานอัยการขอให้ศาลสืบพยานนั้นไว้ล่วงหน้าตามมาตรา ๑๗๓/๒ วรรคสอง
เจ้าพนักงานผู้ส่งหมายเรียกมีสิทธิได้รับค่าใช้จ่ายตามระเบียบที่กระทรวงยุติธรรมกำหนดโดยได้รับความเห็นชอบจากระทรวงการคลัง
มาตรา ๕๖ เมื่อบุคคลที่รับหมายเรียกอยู่ต่างท้องที่กับท้องที่ซึ่งออกหมาย เป็นหมายศาลก็ให้ส่งไปศาล เป็นหมายพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจให้ส่งยังพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจที่มีอำนาจออกหมายเรียกซึ่งผู้ถูกเรียกอยู่ในท้องที่ เมื่อศาลหรือพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจได้รับหมายเช่นนั้นแล้ว ก็ให้สลักหลังหมายแล้วจัดการส่งแก่ผู้รับต่อไป
๑ มาตรา ๕๕/๑ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ ๒๒) พ.ศ. ๒๕๔๗