พระราชบัญญัติให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ. ๒๕๒๐

 

พระราชบัญญัติ
ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง
มาใช้บังคับในศาลจังหวัด
พ.ศ. ๒๕๒๐

-------------------------

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๐
เป็นปีที่ ๓๒ ในรัชกาลปัจจุบัน

               พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

               โดยที่เป็นการสมควรให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัดสำหรับคดีอาญาที่อยู่ในอำนาจศาลแขวง ในท้องที่ซึ่งยังมิได้มีศาลแขวงเปิดทำการ

               จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ดังต่อไปนี้

               มาตรา ๑  พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ. ๒๕๒๐”

               มาตรา ๒  พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป เว้นแต่มาตรา ๓ จะให้ใช้บังคับสำหรับคดีที่เกิดขึ้นในท้องที่ใดเมื่อใด ให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา

               มาตรา ๓  ในท้องที่ซึ่งยังมิได้มีศาลแขวงเปิดทำการ ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัดสำหรับคดีอาญาที่มีอัตราโทษอย่างสูงตามที่กฎหมายกำหนดไว้ให้จำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

               มาตรา ๔  ในกรณีที่ศาลจังหวัด ศาลอาญาหรือศาลอาญาธนบุรียอมรับคดีซึ่งอยู่ในอำนาจของศาลแขวงไว้พิจารณาพิพากษาตามบทบัญญัติมาตรา ๑๔ แห่งพระธรรมนูญศาลยุติธรรม ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับสำหรับคดีดังกล่าว

               มาตรา ๕  ให้รัฐมนตรีว่าการกระทวงยุติธรรมรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
      ธานินทร์ กรัยวิเชียร
          นายกรัฐมนตรี

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ในปัจจุบัน การพิจารณาคดีอาญาที่มีอัตราโทษอย่างสูงตามที่กฎหมายกำหนดไว้ให้จำคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินหกพันบาทหรือทั้งจำทั้งปรับในศาลแขวงและในศาลจังหวัดมีวิธีปฏิบัติแตกต่างกัน เพราะศาลแขวงใช้วิธีพิจารณาตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง แต่ศาลจังหวัดใช้วิธีพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ทำให้ประชาชนซึ่งอยู่ในเขตอำนาจของศาลแขวงและศาลจังหวัด ได้รับผลปฏิบัติในทางคดีแตกต่างกันสมควรแก้ไขให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัดสำหรับคดีอาญาที่อยู่ในอำนาจศาลแขวงในท้องที่ซึ่งยังมิได้มีศาลแขวงเปิดทำการ เพื่อให้ประชาชนได้รับผลปฏิบัติในทางคดีเท่าเทียมกัน และให้การสอบสวนและการพิจารณาพิพากษาคดีในศาลได้เป็นไปโดยสะดวกรวดเร็วขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ขึ้น

พระราชบัญญัติให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๒๓

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่พระธรรมนูญศาลยุติธรรมซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระธรรมนูญศาลยุติธรรม (ฉบับที่ ๗) พ.ศ. ๒๕๒๒ ได้แก้ไขเพิ่มเติมอำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดีอาญาของศาลแขวงโดยเพิ่มจำนวนค่าปรับให้สูงขึ้นจากหกพันบาทเป็นหกหมื่นบาท เห็นสมควรแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ. ๒๕๒๐ ให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระธรรมนูญศาลยุติธรรม (ฉบับที่ ๗) พ.ศ. ๒๕๒๒ เพื่อให้คดีอาญาของศาลจังหวัดและศาลแขวงที่ห้ามอุทธรณ์คำพิพากษาในปัญหาข้อเท็จจริงมีอัตราโทษเท่าเทียมกันและให้คดีอาญาของศาลจังหวัดซึ่งจะนำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับเป็นคดีที่มีอัตราโทษเช่นเดียวกับคดีที่อยู่ในอำนาจของศาลแขวง อันจะเป็นผลทำให้ประชาชนที่อยู่ในเขตอำนาจศาลแขวง และในเขตอำนาจศาลจังหวัดมีสิทธิในการอุทธรณ์โดยเท่าเทียมกันและได้รับผลปฏิบัติทางคดีเช่นเดียวกัน จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ขึ้น


               ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๙๔/ตอนที่ ๑๘/ฉบับพิเศษ หน้า ๑/๑๑ มีนาคม ๒๕๒๐
               มาตรา ๓ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๒๓
               ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๙๗/ตอนที่ ๑๐๙/ฉบับพิเศษ หน้า ๔/๑๖ กรกฎาคม ๒๕๒๓