หมวด ๑
บทบัญญัติทั่วไป
-------------------------
มาตรา ๑๕ ในลักษณะนี้
“ตํารับยาเสพติดให้โทษ” หมายความว่า สูตรซึ่งระบุส่วนประกอบและปริมาณของสิ่งปรุงที่มียาเสพติดให้โทษรวมอยู่ด้วย
“ตํารับวัตถุออกฤทธิ์” หมายความว่า สูตรซึ่งระบุส่วนประกอบและปริมาณของสิ่งปรุงที่มีวัตถุออกฤทธิ์รวมอยู่ด้วย
“วัตถุตํารับ” หมายความว่า สิ่งปรุงไม่ว่าจะมีรูปลักษณะใดที่มีวัตถุออกฤทธิ์รวมอยู่ด้วย ทั้งนี้ รวมทั้งวัตถุออกฤทธิ์ที่มีลักษณะเป็นวัตถุสําเร็จรูปทางเภสัชกรรมซึ่งพร้อมที่จะนําไปใช้แก่คนหรือสัตว์ได้
“วัตถุตำรับยกเว้น” หมายความว่า วัตถุตํารับที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประกาศกําหนดให้ได้รับการยกเว้นจากมาตรการควบคุมบางประการสําหรับวัตถุออกฤทธิ์ที่มีอยู่ในวัตถุตํารับนั้น
“ฉลาก” หมายความว่า รูป รอยประดิษฐ์ เครื่องหมาย หรือข้อความใด ๆ ซึ่งแสดงไว้ที่ภาชนะหรือหีบห่อบรรจุยาเสพติด
“ผู้รับอนุญาต” หมายความว่า ผู้ได้รับใบอนุญาตตามบทบัญญัติในลักษณะนี้
“ผู้อนุญาต” หมายความว่า เลขาธิการ อย. หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเลขาธิการ อย.
“หน่วยงานของรัฐ” หมายความว่า ราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และหน่วยงานอื่นของรัฐ
มาตรา ๑๖ บทบัญญัติในหมวด ๔ การอนุญาตเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ และหมวด ๕ การขึ้นทะเบียนตำรับยาเสพติดให้โทษในประเภท ๓ และการขึ้นทะเบียนตํารับวัตถุออกฤทธิ์ ไม่ใช้บังคับแก่สํานักงาน อย.
มาตรา ๑๗ ในกรณีที่สํานักงาน อย. ผลิต นําเข้า ส่งออก จําหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์และได้รับยกเว้นตามมาตรา ๑๖ โดยไม่ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามประมวลกฎหมายนี้ ให้สํานักงาน อย. รายงานการรับ การจ่าย และการเก็บรักษาซึ่งยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ดังกล่าว และวิธีการปฏิบัติอย่างอื่นที่เกี่ยวกับการควบคุมยาเสพติดให้คณะกรรมการควบคุมยาเสพติดทราบทุกหกเดือนของปีปฏิทิน แล้วให้คณะกรรมการควบคุมยาเสพติดเสนอรายงานพร้อมกับให้ความเห็นต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อสั่งการต่อไป
มาตรา ๑๘ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขมีอํานาจออกกฎกระทรวงกําหนดค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ที่เจ้าหน้าที่ได้ให้บริการ รวมทั้งกําหนดอัตราค่าธรรมเนียมไม่เกินอัตราตามบัญชีท้ายประมวลกฎหมายนี้หรือยกเว้นค่าธรรมเนียม
กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้
มาตรา ๑๙ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขหรือเลขาธิการ อย. มีอํานาจมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ในความรับผิดชอบของตน หรือผู้เชี่ยวชาญ องค์กรผู้เชี่ยวชาญ หน่วยงานของรัฐ หรือองค์กรเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งได้รับการขึ้นบัญชีโดยสํานักงาน อย. ปฏิบัติงานต่าง ๆ เกี่ยวกับกระบวนการพิจารณาอนุญาตยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์ได้ตามความเหมาะสม
การขึ้นบัญชีผู้เชี่ยวชาญ องค์กรผู้เชี่ยวชาญ หน่วยงานของรัฐ หรือองค์กรเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยสานักงาน อย. ตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประกาศกําหนด
มาตรา ๒๐ ค่าธรรมเนียมตาม (๑๗) (๑๘) (๑๙) (๒๐) และ (๒๑) ในอัตราค่าธรรมเนียมท้ายประมวลกฎหมายนี้ ให้ตกเป็นของสํานักงาน อย. เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ หรือเป็นค่าตอบแทนแก่ผู้ปฏิบัติงานตามมาตรา ๑๙ ทั้งนี้ ตามระเบียบที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประกาศกําหนดโดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง
มาตรา ๒๑ การรับเงิน การเก็บรักษาเงิน และการจ่ายเงินตามมาตรา ๒๐ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประกาศกําหนด โดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง
มาตรา ๒๒ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขโดยการเสนอแนะของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติด มีอํานาจประกาศกำหนดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ ดังต่อไปนี้
(๑) กําหนดมาตรฐานว่าด้วยปริมาณ ส่วนประกอบ คุณภาพ ความบริสุทธิ์ หรือลักษณะอื่นของยาเสพติดให้โทษ ตลอดจนการบรรจุและการเก็บรักษายาเสพติดให้โทษ
(๒) กําหนดจํานวนและจํานวนเพิ่มเติมซึ่งยาเสพติดให้โทษที่จะต้องใช้ในทางการแพทย์และทางวิทยาศาสตร์ทั่วราชอาณาจักรประจําปี
(๓) กําหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการกําหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษที่ผู้อนุญาตจะอนุญาตให้ผลิต นําเข้า จําหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองได้
(๔) ระบุชื่อและประเภทยาเสพติดให้โทษที่ต้องมีคําเตือนหรือข้อควรระวัง และข้อความของคําเตือนหรือข้อควรระวังเป็นตัวอักษร ภาพ หรือเครื่องหมายให้ผู้ใช้ระมัดระวังตามความจําเป็น เพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้
(๕) กําหนดสถานที่แห่งใดในราชอาณาจักรให้เป็นด่านตรวจสอบยาเสพติดให้โทษที่นําเข้า ส่งออก หรือนำผ่าน
(๖) กําหนดการอื่นเพื่อประโยชน์แก่การปฏิบัติตามลักษณะนี้
มาตรา ๒๓ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขโดยการเสนอแนะของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติด มีอํานาจประกาศกําหนดเกี่ยวกับวัตถุออกฤทธิ์ ดังต่อไปนี้
(๑) ระบุชื่อและจัดแบ่งประเภทวัตถุออกฤทธิ์ว่าวัตถุออกฤทธิ์ใดอยู่ในประเภท ๑ ประเภท ๒ ประเภท ๓ หรือประเภท ๔
(๒) กําหนดมาตรฐานว่าด้วยปริมาณ ส่วนประกอบ คุณภาพ ความบริสุทธิ์หรือลักษณะอื่นของวัตถุออกฤทธิ์ ตลอดจนการบรรจุและการเก็บรักษาวัตถุออกฤทธิ์ตาม (๑)
(๓) เพิกถอนหรือเปลี่ยนแปลงชื่อหรือประเภทวัตถุออกฤทธิ์ตาม (๑)
(๔) ระบุชื่อและประเภทวัตถุออกฤทธิ์ที่ห้ามผลิต นําเข้า ส่งออก จําหน่าย มีไว้ในครอบครอง หรือนำผ่าน
(๕) ระบุชื่อวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท ๒ ซึ่งอนุญาตให้ผลิตเพื่อส่งออกหรือส่งออกได้
(๖) ระบุวัตถุตํารับให้เป็นวัตถุตํารับยกเว้นและเพิกถอนวัตถุตํารับยกเว้น
(๗) กําหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการกําหนดปริมาณวัตถุออกฤทธิ์ที่ผู้อนุญาตจะอนุญาตให้ผลิต นําเข้า จําหน่าย หรือมีไว้ในครอบครอง
(๘) ระบุชื่อและประเภทวัตถุออกฤทธิ์ที่ต้องมีคําเตือนหรือข้อควรระวัง และข้อความของคําเตือนหรือข้อควรระวังเป็นตัวอักษร ภาพ หรือเครื่องหมายให้ผู้ใช้ระมัดระวังตามความจําเป็นเพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้
(๙) กําหนดปริมาณวัตถุออกฤทธิ์ที่ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ชั้นหนึ่ง ผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม หรือผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์ หรือสาธารณสุขอื่น มีไว้ในครอบครองได้ตามมาตรา ๓๒
(๑๐) ระบุชื่อหน่วยงานของรัฐตามมาตรา ๓๓ (๔)
(๑๑) ระบุชื่อและประเภทวัตถุออกฤทธิ์ที่ประเทศหนึ่งประเทศใดห้ามนําเข้าตามมาตรา ๔๔
(๑๒) กําหนดสถานที่แห่งใดในราชอาณาจักรให้เป็นด่านตรวจสอบวัตถุออกฤทธิ์ที่นําเข้า ส่งออก หรือนําผ่าน
(๑๓) กําหนดการอื่นเพื่อประโยชน์แก่การปฏิบัติตามลักษณะนี้
มาตรา ๒๔ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมโดยการเสนอแนะของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติด มีอํานาจประกาศกําหนดเกี่ยวกับสารระเหย ดังต่อไปนี้
(๑) ระบุชื่อ ประเภท ชนิด หรือขนาดบรรจุของสารเคมี หรือผลิตภัณฑ์ที่เป็นสารระเหย
(๒) เพิกถอนหรือเปลี่ยนแปลงชื่อ ประเภท ชนิด หรือขนาดบรรจุของสารเคมี หรือผลิตภัณฑ์ที่เป็นสารระเหยตาม (๑)
(๓) กําหนดการอื่นเพื่อประโยชน์แก่การปฏิบัติตามลักษณะนี้