หมวด ๓
ประเภทของยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์
-------------------------
มาตรา ๒๙ ยาเสพติดให้โทษแบ่งออกเป็น ๕ ประเภท คือ
(๑) ประเภท ๑ ยาเสพติดให้โทษชนิดร้ายแรง เช่น เฮโรอีน (Heroin)
(๒) ประเภท ๒ ยาเสพติดให้โทษทั่วไป เช่น มอร์ฟีน (Morphine) โคคาอีน (Cocaine) โคเดอีน (Codeine) หรือฝิ่นยา (Medicinal Opium)
(๓) ประเภท ๓ ยาเสพติดให้โทษที่มีลักษณะเป็นตํารับยา และมียาเสพติดให้โทษในประเภท ๒ ผสมอยู่ด้วย ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขโดยการเสนอแนะของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดประกาศกําหนด
(๔) ประเภท ๔ สารเคมีที่ใช้ในการผลิตยาเสพติดให้โทษในประเภท ๑ หรือประเภท ๒ เช่น อาเซติค แอนไฮไดรด์ (Acetic Anhydride)
(๕) ประเภท ๕ ยาเสพติดให้โทษที่มิได้เข้าอยู่ในประเภท ๑ ถึงประเภท ๔ เช่น พืชฝิ่น
การระบุชื่อยาเสพติดให้โทษว่ายาเสพติดให้โทษชื่อใดอยู่ในประเภทใดตามวรรคหนึ่ง (๑) (๒) (๔) และ (๕) และการเพิกถอนหรือเปลี่ยนแปลงชื่อหรือประเภทยาเสพติดให้โทษดังกล่าว ให้เป็นไปตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ ป.ป.ส. ประกาศกําหนด
เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ คําว่า “ฝิ่นยา (Medicinal Opium)” หมายความว่า ฝิ่นที่ได้ผ่านกรรมวิธีปรุงแต่งโดยมีความมุ่งหมายเพื่อใช้ในทางยา
มาตรา ๓๐ วัตถุออกฤทธิ์แบ่งออกเป็น ๔ ประเภท คือ
(๑) ประเภท ๑ วัตถุออกฤทธิ์ที่ไม่ใช้ในทางการแพทย์ และอาจก่อให้เกิดการนําไปใช้หรือมีแนวโน้มในการนําไปใช้ในทางที่ผิดสูง
(๒) ประเภท ๒ วัตถุออกฤทธิ์ที่ใช้ในทางการแพทย์ และอาจก่อให้เกิดการนําไปใช้หรือมีแนวโน้มในการนําไปใช้ในทางที่ผิดสูง
(๓) ประเภท ๓ วัตถุออกฤทธิ์ที่ใช้ในทางการแพทย์ และอาจก่อให้เกิดการนําไปใช้หรือมีแนวโน้มในการนำไปใช้ในทางที่ผิด
(๔) ประเภท ๔ วัตถุออกฤทธิ์ที่ใช้ในทางการแพทย์ และอาจก่อให้เกิดการนําไปใช้หรือมีแนวโน้มในการนำไปใช้ในทางที่ผิดน้อยกว่าประเภท ๓
ทั้งนี้ การระบุชื่อวัตถุออกฤทธิ์ว่าวัตถุออกฤทธิ์ชื่อใดอยู่ในประเภทใด และการเพิกถอน หรือเปลี่ยนแปลงชื่อหรือประเภทวัตถุออกฤทธิ์ดังกล่าว ให้เป็นไปตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขโดยการเสนอแนะของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดประกาศกําหนด
มาตรา ๓๑ ในกรณีที่วัตถุตํารับมีวัตถุออกฤทธิ์ในประเภทหนึ่งประเภทใดปรุงผสมอยู่ ให้ถือว่าเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภทนั้นด้วย
ในกรณีที่วัตถุตํารับมีวัตถุออกฤทธิ์อันระบุอยู่ในประเภทต่างกันผสมอยู่ ให้ถือว่าเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภทที่มีการควบคุมเข้มงวดกว่าในประเภทที่ผสมอยู่นั้น