หมวด ๓
มาตรการตรวจสอบทรัพย์สินตามมูลค่า
-------------------------
มาตรา ๘๔ ในกรณีที่คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินพิจารณาพยานหลักฐานที่ได้จากการตรวจสอบแล้ววินิจฉัยว่าผู้ถูกตรวจสอบได้รับทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทําความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติด ให้คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินคํานวณมูลค่าของทรัพย์สินดังกล่าวเป็นจํานวนเงินที่แน่นอน พร้อมส่งสํานวนการตรวจสอบทรัพย์สิน เอกสาร และพยานหลักฐานไปยังพนักงานอัยการ ให้พนักงานอัยการยื่นคําร้องเพื่อขอให้ศาลสั่งริบมูลค่าของทรัพย์สินนั้น
การขอให้ศาลสั่งริบมูลค่าของทรัพย์สินและการไต่สวนคําร้องของพนักงานอัยการ ให้นําความในมาตรา ๒๗ มาตรา ๗๙ วรรคหนึ่งและวรรคสอง และมาตรา ๘๒ มาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม
มาตรา ๘๕ กรณีที่ศาลไต่สวนแล้วมีมูลว่ามูลค่าของทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทําความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติดที่ศาลสั่งริบนั้นไม่สามารถติดตามหรือตรวจสอบหาทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทําความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติดตามมูลค่าดังกล่าวได้ ให้พนักงานอัยการยื่นคําร้องต่อศาลเพื่อบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินอื่นของจําเลยหรือผู้ถูกตรวจสอบได้ภายในสิบปีนับแต่วันที่ศาลมีคําสั่ง แต่ต้องไม่เกินมูลค่าของทรัพย์สินที่ศาลสั่งริบนั้น
ในกรณีที่ต้องมีการบังคับคดีกับทรัพย์สินตามวรรคหนึ่ง ให้ถือว่าสํานักงาน ป.ป.ส. เป็นเจ้าหนี้ตามคําพิพากษา และให้เจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ที่ได้รับมอบหมายจากสํานักงาน ป.ป.ส. มีหน้าที่สืบหาทรัพย์สินหรือสิทธิเรียกร้องของจําเลยหรือผู้ถูกตรวจสอบ เพื่อบังคับคดีให้เป็นไปตามคําสั่งศาลโดยคําแนะนําของพนักงานอัยการ
การขอคืนมูลค่าของทรัพย์สิน ให้นําความในมาตรา ๘๐ มาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม
มาตรา ๘๖ ทรัพย์สินที่ได้จากการบังคับคดีตามมาตรา ๘๕ ให้ตกเป็นของกองทุน