My Template

ลักษณะ ๓ การบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด (มาตรา ๑๑๓ - ๑๑๗)

 

ลักษณะ ๓
การบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด

-------------------------

               มาตรา ๑๑๓  ผู้ใดยกเหตุว่าตนได้เสพยาเสพติดตามมาตรา ๑๖๒ หรือมาตรา ๑๖๓ หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์เพื่อเสพตามมาตรา ๑๖๔ และได้สมัครใจขอเข้ารับการบำบัดรักษาในสถานพยาบาลยาเสพติดก่อนที่เจ้าพนักงาน ป.ป.ส. หรือพนักงานฝ่ายปกครองหรือตํารวจจะตรวจพบ อีกทั้งได้ปฏิบัติครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการบําบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดกําหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา จนได้รับการรับรองเป็นหนังสือว่าเป็นผู้ผ่านการบําบัดรักษาเป็นที่น่าพอใจจากหัวหน้าสถานพยาบาลยาเสพติดหรือสถานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ให้ผู้นั้นไม่มีความผิดในมาตราดังกล่าว

               มาตรา ๑๑๔  ในกรณีที่เจ้าพนักงาน ป.ป.ส. หรือพนักงานฝ่ายปกครองหรือตํารวจตรวจพบผู้ที่มีพฤติการณ์อันควรสงสัยว่ากระทําความผิดฐานเสพยาเสพติดตามมาตรา ๑๖๒ หรือมาตรา ๑๖๓ หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดเพื่อเสพตามมาตรา ๑๖๔ ถ้าไม่ปรากฏว่าผู้นั้นเป็นผู้ต้องหาหรืออยู่ในระหว่างถูกดําเนินคดีในความผิดอื่นซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษจําคุก หรืออยู่ในระหว่างรับโทษจําคุกตามคําพิพากษาของศาล ไม่มีพฤติกรรมที่อาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้อื่นหรือสังคม หรือมีพฤติกรรมที่อาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้อื่นหรือสังคมที่เกิดจากโรคทางจิตและประสาท หรืออาการที่เกิดจากฤทธิ์ของยาเสพติดที่ใช้ และสมัครใจเข้ารับการบำบัดรักษา ให้เจ้าพนักงาน ป.ป.ส. หรือพนักงานฝ่ายปกครองหรือตํารวจส่งตัวผู้นั้นไปสถานพยาบาลยาเสพติดหรือศูนย์คัดกรองต่อไป
               เมื่อผู้สมัครใจเข้ารับการบําบัดรักษาตามวรรคหนึ่งเข้ารับการบําบัดรักษาและปฏิบัติครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการบําบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดกําหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา จนได้รับการรับรองเป็นหนังสือว่าเป็นผู้ผ่านการบำบัดรักษาเป็นที่น่าพอใจจากหัวหน้าสถานพยาบาลยาเสพติดหรือสถานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ให้ผู้นั้นไม่มีความผิดในมาตราดังกล่าว
               หากผู้เข้ารับการบําบัดรักษาตามวรรคหนึ่งหลบหนีหรือไม่ให้ความร่วมมือในการบําบัดรักษาจนครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการบําบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดกําหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา ให้สถานพยาบาลยาเสพติดหรือสถานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจัดทําประวัติ ข้อมูล และพฤติการณ์ของผู้หลบหนีหรือไม่ให้ความร่วมมือในการบําบัดรักษาดังกล่าว เพื่อประโยชน์ในการพิจารณาให้เข้ารับการบําบัดรักษาตามวรรคหนึ่ง

               มาตรา ๑๑๕  เพื่อประโยชน์ในการบําบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด ให้เจ้าพนักงาน ป.ป.ส. หรือพนักงานฝ่ายปกครองหรือตํารวจ มีหน้าที่และอํานาจ ดังต่อไปนี้
               (๑) ตรวจหรือค้นผู้มีพฤติการณ์อันควรสงสัยว่าเสพยาเสพติด
               (๒) ยึดยาเสพติดจากผู้ครอบครองยาเสพติด
               (๓) ตรวจหรือทดสอบหรือสั่งให้รับการตรวจหรือทดสอบสารเสพติดในร่างกายของบุคคลเมื่อมีเหตุจําเป็นประกอบกับมีเหตุอันควรเชื่อว่าบุคคลนั้นเสพยาเสพติดในเคหสถาน สถานที่ใด ๆ หรือยานพาหนะ
               (๔) สอบถามและตรวจสอบ เพื่อทราบชื่อ อาชีพ ที่อยู่ ประวัติ รายได้ และพฤติการณ์อื่นของบุคคลตาม (๑) (๒) หรือ (๓)
               (๕) สอบถามความสมัครใจและให้ลงนามสมัครใจหรือไม่สมัครใจเข้ารับการบำบัดรักษา
               (๖) เพื่อประโยชน์ในการดําเนินการตาม (๑) (๒) (๓) (๔) และ (๕) และเพื่อส่งตัวผู้นั้นไปยังสถานพยาบาลยาเสพติด จะให้บุคคลนั้นอยู่ในความดูแลเป็นการชั่วคราวได้แต่ต้องไม่เกินยี่สิบสี่ชั่วโมงนับแต่เวลาที่ตรวจหรือทดสอบว่าบุคคลนั้นมีสารเสพติดอยู่ในร่างกาย
               (๗) บันทึกพฤติการณ์แห่งการดําเนินการตาม (๑) (๒) (๓) (๔) (๕) และ (๖) และส่งไปยังพนักงานสอบสวนเพื่อเก็บไว้เป็นพยานหลักฐานในกรณีที่จะดําเนินคดีกับบุคคลนั้น
               หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมกําหนดในกฎกระทรวง
               เจ้าพนักงาน ป.ป.ส. หรือพนักงานฝ่ายปกครองหรือตํารวจตําแหน่งใดหรือระดับใดจะมีหน้าที่และอํานาจตามที่กําหนดไว้ในวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมกําหนดในกฎกระทรวง

               มาตรา ๑๑๖  ให้กระทรวงสาธารณสุขประกาศกําหนดสถานที่ที่เป็นศูนย์คัดกรอง ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการบําบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดกําหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
               ให้ศูนย์คัดกรองมีหน้าที่และอํานาจ ดังต่อไปนี้
               (๑) ตรวจหาสารเสพติดในร่างกาย
               (๒) คัดกรองและประเมินความรุนแรงของการติดยาเสพติด ภาวะความเสี่ยงทางสุขภาพกายหรือสุขภาพจิต
               (๓) พิจารณาส่งต่อผู้เข้ารับการบําบัดรักษาไปยังสถานพยาบาลยาเสพติดหรือสถานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด
               (๔) จัดทําข้อมูลเกี่ยวกับการคัดกรองและข้อมูลอื่นของผู้รับการคัดกรอง

               มาตรา ๑๑๗  ให้สถานพยาบาลยาเสพติดหรือสถานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดมีหน้าที่และอํานาจดําเนินการบําบัดรักษาหรือการฟื้นฟูสมรรถภาพ ประเมินผล ติดตามดูแลอย่างต่อเนื่อง จัดทําและเก็บข้อมูลประวัติของผู้เข้ารับการบําบัดรักษาหรือการฟื้นฟูสมรรถภาพ รวมทั้งดําเนินการลดอันตรายจากยาเสพติด แล้วแต่กรณี