พระราชบัญญัติ
วิธีพิจารณาคดียาเสพติด
พ.ศ. ๒๕๕๐
-------------------------
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๐
เป็นปีที่ ๖๒ ในรัชกาลปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาคดียาเสพติด
พระราชบัญญัตินี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๓๓ มาตรา ๓๖ และมาตรา ๔๑ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ดังต่อไปนี้
มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. ๒๕๕๐”
มาตรา ๒๑ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา ๓๒ บทบัญญัติหรือวิธีพิจารณาใดซึ่งพระราชบัญญัตินี้มิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ ให้นําบทบัญญัติหรือวิธีพิจารณาแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา กฎหมายว่าด้วยศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว กฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง หรือกฎหมายว่าด้วยธรรมนูญศาลทหาร มาใช้บังคับเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัตินี้
มาตรา ๔๓ ห้ามมิให้นําบทบัญญัติในหมวด ๓ วิธีพิจารณาในศาลชั้นต้น และหมวด ๔ อุทธรณ์และฎีกา แห่งพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับแก่คดีเยาวชนและครอบครัว ตามกฎหมายว่าด้วยศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว
มาตรา ๕ ในพระราชบัญญัตินี้ เว้นแต่ข้อความจะแสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่น
"พนักงานอัยการ" หมายความรวมถึงอัยการทหารตามกฎหมายว่าด้วยธรรมนูญศาลทหาร
"ยาเสพติด"๔ หมายความว่า ยาเสพติดตามประมวลกฎหมายยาเสพติด
"กฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติด"๕ หมายความว่า ประมวลกฎหมายยาเสพติด
"ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด"๖ หมายความว่า ความผิดตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายยาเสพติด
"เจ้าพนักงาน"๗ หมายความว่า เจ้าพนักงาน ป.ป.ส. และพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
"ศาลอุทธรณ์" หมายความว่า ศาลอุทธรณ์ซึ่งมิใช่ศาลอุทธรณ์ภาค
"คณะกรรมการ ป.ป.ส."๘ หมายความว่า คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดตามประมวลกฎหมายยาเสพติด
"กรรมการ ป.ป.ส."๙ หมายความว่า กรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดตามประมวลกฎหมายยาเสพติด
"เจ้าพนักงาน ป.ป.ส."๑๐ หมายความว่า เจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด
มาตรา ๖๑๑ ให้ประธานศาลฎีกา นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ โดยให้ประธานศาลฎีกามีอํานาจออกระเบียบที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา และนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม มีอํานาจออกกฎกระทรวงและระเบียบเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ ทั้งนี้ ในส่วนที่เกี่ยวกับหน้าที่และอํานาจของตน
กฎกระทรวงหรือระเบียบนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้
๑ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๕/ตอนที่ ๙ ก/หน้า ๔๕/๑๔ มกราคม ๒๕๕๑
๒ มาตรา ๓ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๔
๓ มาตรา ๔ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๔
๔ มาตรา ๕ นิยามคำว่า "ยาเสพติด" แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๔
๕ มาตรา ๕ นิยามคำว่า "กฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติด" แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๔
๖ มาตรา ๕ นิยามคำว่า "ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด" แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๔
๗ มาตรา ๕ นิยามคำว่า "เจ้าพนักงาน" แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๔
๘ มาตรา ๕ นิยามคำว่า "คณะกรรมการ ป.ป.ส." เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๔
๙ มาตรา ๕ นิยามคำว่า "กรรมการ ป.ป.ส." เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๔
๑๐ มาตรา ๕ นิยามคำว่า "เจ้าพนักงาน ป.ป.ส." เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๔
๑๑ มาตรา ๖ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๔