My Template

หมวด ๔ คณะกรรมการเครื่องหมายการค้า (มาตรา ๙๕ - ๑๐๒)

 

หมวด ๔
คณะกรรมการเครื่องหมายการค้า

-------------------------

               มาตรา ๙๕  ให้มีคณะกรรมการเรียกว่า “คณะกรรมการเครื่องหมายการค้า” ประกอบด้วย อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เป็นประธานกรรมการ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาหรือผู้แทน อัยการสูงสุดหรือผู้แทน และผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมีความรู้ความสามารถด้านกฎหมายหรือการพาณิชย์ และมีประสบการณ์เกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาหรือเครื่องหมายการค้าไม่น้อยกว่าแปดคนแต่ไม่เกินสิบสองคนซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้ง เป็นกรรมการ
               การแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิเป็นกรรมการตามวรรคหนึ่ง ต้องแต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิภาคเอกชนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนกรรมการซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้ง
               คณะกรรมการจะแต่งตั้งบุคคลใดเป็นเลขานุการและผู้ช่วยเลขานุการก็ได้

               มาตรา ๙๖  คณะกรรมการมีอำนาจและหน้าที่ดังต่อไปนี้
               (๑) วินิจฉัยอุทธรณ์คำสั่งหรือคำวินิจฉัยของนายทะเบียนตามพระราชบัญญัตินี้
               (๒) พิจารณาและมีคำสั่งเกี่ยวกับคำร้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า เครื่องหมายบริการ เครื่องหมายรับรอง เครื่องหมายร่วม หรือสัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้าหรือเครื่องหมายบริการตามพระราชบัญญัตินี้
               (๓) ให้คำแนะนำหรือคำปรึกษาแก่รัฐมนตรีในการออกกฎกระทรวงหรือประกาศตามพระราชบัญญัตินี้
               (๔) พิจารณาเรื่องอื่น ๆ ตามที่รัฐมนตรีมอบหมาย

               มาตรา ๙๗  กรรมการซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งมีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละสี่ปี
               ในกรณีที่มีการแต่งตั้งกรรมการในระหว่างที่กรรมการซึ่งแต่งตั้งไว้แล้วยังมีวาระอยู่ในตำแหน่ง ไม่ว่าจะเป็นการแต่งตั้งเพิ่มขึ้นหรือแต่งตั้งซ่อมให้ผู้ได้รับแต่งตั้งนั้นอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการซึ่งได้แต่งตั้งไว้แล้วนั้น
               กรรมการซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้

               มาตรา ๙๘  นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระตามมาตรา ๙๗ กรรมการซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งพ้นจากตำแหน่งเมื่อ
               (๑) ตาย
               (๒) ลาออก
               (๓) คณะรัฐมนตรีให้ออก
               (๔) เป็นบุคคลล้มละลาย
               (๕) เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
               (๖) ได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ

               มาตรา ๙๙  การประชุมของคณะกรรมการต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด จึงจะเป็นองค์ประชุม
               ถ้าประธานกรรมการไม่มาประชุมหรือไม่อยู่ในที่ประชุม ให้ที่ประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม
               การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก กรรมการคนหนึ่งให้มีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด
               กรรมการผู้ใดมีส่วนได้เสียในเรื่องที่พิจารณาตามมาตรา ๙๖ (๑) หรือ (๒) ห้ามมิให้กรรมการผู้นั้นเข้าร่วมประชุมในเรื่องดังกล่าว

               มาตรา ๙๙ ทวิ  ในการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา ๙๖ (๑) และ (๒) คณะกรรมการมีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการเชี่ยวชาญเฉพาะเรื่องขึ้นคณะหนึ่งหรือหลายคณะ เพื่อวินิจฉัยอุทธรณ์คำสั่ง หรือคำวินิจฉัยของนายทะเบียนตามพระราชบัญญัตินี้ และเมื่อดำเนินการแล้ว ให้รายงานต่อคณะกรรมการเพื่อมีคำสั่งหรือคำวินิจฉัยต่อไป
               ให้นำมาตรา ๙๙ มาใช้บังคับแก่การประชุมของคณะกรรมการเชี่ยวชาญเฉพาะเรื่องโดยอนุโลม

               มาตรา ๑๐๐  คณะกรรมการอาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ เพื่อพิจารณาหรือปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่คณะกรรมการมอบหมายได้
               ให้นำมาตรา ๙๙ มาใช้บังคับแก่การประชุมของคณะอนุกรรมการโดยอนุโลม

               มาตรา ๑๐๑  การอุทธรณ์คำสั่งหรือคำวินิจฉัยของนายทะเบียน และคำร้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า เครื่องหมายบริการ เครื่องหมายรับรอง เครื่องหมายร่วม หรือสัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้าหรือเครื่องหมายบริการตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ยื่นต่อนายทะเบียนตามแบบที่อธิบดีกำหนด
               วิธีพิจารณาอุทธรณ์และคำร้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด

               มาตรา ๑๐๒  ในการปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ ให้คณะกรรมการมีอำนาจมีหนังสือสอบถามหรือเรียกนายทะเบียน ผู้อุทธรณ์ หรือบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องมาให้ขอเท็จจริง คำอธิบาย หรือความเห็น หรือให้ส่งเอกสารหรือหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้องมาพิจารณาก็ได้


               มาตรา ๙๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๓
               มาตรา ๙๖ (๒) แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๓
               มาตรา ๙๙ วรรคสี่ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๓
               มาตรา ๙๙ ทวิ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๓
               มาตรา ๑๐๑ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๓