พระราชบัญญัติ
การรับขนทางอากาศระหว่างประเทศ
พ.ศ. ๒๕๕๘
-------------------------
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๘
เป็นปีที่ ๗๐ ในรัชกาลปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยการรับขนทางอากาศระหว่างประเทศ
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ดังต่อไปนี้
มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติการรับขนทางอากาศระหว่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๕๘”
มาตรา ๒๑ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา ๓ ในพระราชบัญญัตินี้
“การรับขนทางอากาศ” หมายความว่า การรับขนคนโดยสาร สัมภาระ หรือของทางอากาศโดยอากาศยาน
“การรับขนทางอากาศระหว่างประเทศที่อยู่ภายใต้อนุสัญญา”๒ หมายความว่า การรับขนทางอากาศระหว่างประเทศตามมาตรา ๔ วรรคสอง ซึ่งถิ่นต้นทางและถิ่นปลายทางตั้งอยู่ภายในอาณาเขตของรัฐภาคี”
“การรับขนทางอากาศภายในประเทศ”๓ หมายความว่า การรับขนคนโดยสาร สัมภาระ หรือของทางอากาศโดยอากาศยาน ซึ่งคู่สัญญาตกลงให้ถิ่นต้นทางและถิ่นปลายทางตั้งอยู่ในอาณาเขตของประเทศเดียวกัน และไม่มีถิ่นหยุดพักตามที่ตกลงกันภายนอกประเทศ
“คนโดยสาร” หมายความว่า บุคคลซึ่งผู้ขนส่งยอมรับให้เดินทางไปกับอากาศยานที่มิใช่เจ้าหน้าที่ประจำอากาศยาน
“สัมภาระ” หมายความว่า สัมภาระลงทะเบียนและสัมภาระไม่ลงทะเบียน
“สัมภาระลงทะเบียน” หมายความว่า สัมภาระที่อยู่ในความดูแลของผู้ขนส่งและผู้ขนส่งได้ออกป้ายกำกับสัมภาระ
“สัมภาระไม่ลงทะเบียน” หมายความว่า สัมภาระที่อยู่ในความดูแลของคนโดยสารนอกจากสัมภาระลงทะเบียน
“ของ” หมายความว่า สังหาริมทรัพย์ที่ผู้ตราส่งส่งมอบให้อยู่ในความดูแลของผู้ขนส่งเพื่อทำการรับขนทางอากาศ
“อากาศยาน” หมายความว่า อากาศยานตามกฎหมายว่าด้วยการเดินอากาศ
“ผู้ขนส่ง” หมายความว่า บุคคลซึ่งประกอบการรับขนทางอากาศเพื่อบำเหน็จเป็นทางค้าปกติไม่ว่าจะเป็นผู้ขนส่งตามสัญญาหรือผู้ขนส่งตามความเป็นจริง และให้หมายความรวมถึงบุคคลซึ่งรับขนคนโดยสาร สัมภาระ หรือของทางอากาศโดยอากาศยาน
“ผู้ขนส่งตามสัญญา” หมายความว่า ผู้ขนส่งซึ่งเป็นผู้ทำสัญญารับขนทางอากาศกับคนโดยสารผู้ตราส่ง หรือบุคคลซึ่งกระทำการในนามของคนโดยสารหรือผู้ตราส่ง
“ผู้ขนส่งตามความเป็นจริง” หมายความว่า ผู้ขนส่งซึ่งดำเนินการรับขนทางอากาศ ตลอดเส้นทางหรือบางส่วนของเส้นทางโดยอาศัยอำนาจของผู้ขนส่งตามสัญญา
“ผู้ตราส่ง” หมายความว่า บุคคลซึ่งเป็นคู่สัญญากับผู้ขนส่งเพื่อให้ขนส่งของตามสัญญารับขนทางอากาศ
“ผู้รับตราส่ง” หมายความว่า บุคคลซึ่งมีชื่อระบุให้เป็นผู้รับตราส่งในใบตราส่งทางอากาศใบรับของ หรือในบันทึกซึ่งปรากฏข้อมูลโดยวิธีอื่นในกรณีที่ไม่มีการออกใบตราส่งทางอากาศหรือใบรับของ แล้วแต่กรณี
“ลูกจ้าง” หมายความว่า บุคคลซึ่งทำงานให้แก่ผู้ขนส่ง ไม่ว่าจะมีการรับสินจ้างหรือไม่ก็ตาม
“หน่วยสิทธิพิเศษถอนเงิน” หมายความว่า หน่วยสิทธิพิเศษถอนเงินตามกฎหมายว่าด้วยการให้อำนาจและกำหนดการปฏิบัติบางประการเกี่ยวกับสิทธิพิเศษถอนเงินในกองทุนการเงินระหว่างประเทศ
“อนุสัญญา”๔ หมายความว่า อนุสัญญาเพื่อการรวบรวมกฎเกณฑ์บางประการเกี่ยวกับการรับขนระหว่างประเทศทางอากาศ ซึ่งทำขึ้น ณ เมืองมอนตริออล เมื่อวันที่ ๒๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๒
“รัฐภาคี”๕ หมายความว่า รัฐภาคีของอนุสัญญา”
มาตรา ๔๖ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับแก่การรับขนทางอากาศเพื่อสินจ้างรางวัล รวมถึงการรับขนทางอากาศแบบให้เปล่าที่ดำเนินการโดยบุคคลซึ่งประกอบการรับขนทางอากาศเพื่อบำเหน็จเป็นทางค้าปกติด้วย ไม่ว่าการรับขนนั้นจะเป็นการรับขนทางอากาศระหว่างประเทศหรือการรับขนทางอากาศระหว่างประเทศที่อยู่ภายใต้อนุสัญญา
การรับขนทางอากาศระหว่างประเทศตามวรรคหนึ่ง หมายความว่า การรับขนทางอากาศซึ่งตามความตกลงระหว่างคู่สัญญาตกลงให้ถิ่นต้นทางและถิ่นปลายทาง ตั้งอยู่ภายในอาณาเขตของสองประเทศ หรือตั้งอยู่ภายในอาณาเขตของประเทศเดียวแต่มีถิ่นหยุดพักที่ตกลงกันไว้ภายในอาณาเขตของอีกประเทศหนึ่ง ทั้งนี้ ไม่ว่าจะมีการหยุดพักในการรับขนหรือมีการถ่ายลำหรือไม่ก็ตาม
การรับขนที่ดำเนินการโดยผู้ขนส่งหลายคนหลายทอดต่อเนื่องกัน ให้ถือว่าเป็นการรับขนเดียวโดยไม่แบ่งแยก ถ้าการรับขนนั้นคู่สัญญาได้ถือว่าเป็นการดำเนินการเดียว ไม่ว่าจะได้ตกลงกันในรูปของสัญญาฉบับเดียวหรือสัญญาเป็นชุด และย่อมไม่สูญเสียลักษณะของการรับขนทางอากาศระหว่างประเทศเพียงเพราะจะต้องดำเนินการทั้งหมดภายในอาณาเขตของประเทศเดียวกันตามสัญญาฉบับเดียวหรือสัญญาเป็นชุด
พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับแก่การรับขนทางอากาศที่ดำเนินการโดยบุคคลอื่นที่มิใช่ผู้ขนส่งตามสัญญาภายใต้เงื่อนไขที่กำหนดในหมวด ๔ ด้วย
พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับแก่การรับขนที่ดำเนินการโดยรัฐหรือหน่วยงานของรัฐที่ตั้งขึ้นโดยกฎหมาย ถ้าการรับขนนั้นเป็นการรับขนทางอากาศระหว่างประเทศที่อยู่ภายใต้อนุสัญญา
มาตรา ๕๗ พระราชบัญญัตินี้ไม่ใช้บังคับแก่
(๑) การรับขนไปรษณียภัณฑ์ ซึ่งผู้ขนส่งต้องรับผิดเป็นการเฉพาะต่อหน่วยงานการไปรษณีย์ตามกฎหมายที่ใช้บังคับกับความสัมพันธ์ระหว่างผู้ขนส่งและหน่วยงานการไปรษณีย์
(๒) การรับขนทางอากาศที่กระทำและดำเนินการโดยหน่วยงานของรัฐตามภาระหน้าที่ซึ่งไม่มีวัตถุประสงค์ทางการค้า
(๓) การรับขนทางอากาศในราชการทหาร โดยอากาศยานที่จดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการเดินอากาศ หรืออากาศยานที่เช่ามาเพื่อใช้ในราชการทหาร ซึ่งระวางทั้งหมดของอากาศยานนั้นได้สงวนไว้โดยหรือในนามของราชการทหารดังกล่าว
หากกรณีตาม (๒) และ (๓) เป็นการรับขนทางอากาศระหว่างประเทศที่อยู่ภายใต้อนุสัญญา พระราชบัญญัตินี้จะไม่ใช้บังคับต่อเมื่อรัฐบาลได้ประกาศโดยทำเป็นหนังสือแจ้งไปยังผู้เก็บรักษาอนุสัญญาตามที่กำหนดในอนุสัญญาแล้ว
มาตรา ๖ ผู้ขนส่งที่ดำเนินการรับขนทางอากาศภายใน เข้ามาใน หรือออกไปนอกราชอาณาจักรต้องจัดให้มีการประกันสำหรับความรับผิดของผู้ขนส่งตามพระราชบัญญัตินี้
หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการประกันตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
การประกันตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยมีอำนาจสั่งให้ผู้ขนส่งแสดงหลักฐานการประกัน๘
ในกรณีที่มีการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสาม ให้เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจในการอนุญาตให้ดำเนินการรับขนทางอากาศสั่งให้ผู้ขนส่งระงับการดำเนินการรับขนทางอากาศภายใน เข้ามาใน หรือออกไปนอกราชอาณาจักร จนกว่าผู้ขนส่งนั้นจะได้ดำเนินการตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสาม แล้วแต่กรณี
มาตรา ๗ เกณฑ์จำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งตามพระราชบัญญัตินี้อาจเปลี่ยนแปลงได้ตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา
มาตรา ๗/๑๙ บทบัญญัติมาตรา ๙ มาตรา ๒๔ มาตรา ๒๕ มาตรา ๒๗ และมาตรา ๒๘ ที่เกี่ยวกับเอกสารการรับขน ไม่ใช้บังคับแก่การรับขนที่กระทำในสถานการณ์พิเศษนอกขอบข่ายปกติของธุรกิจของผู้ขนส่งรายนั้น
มาตรา ๗/๒๑๐ ผู้ขนส่งอาจกำหนดให้สัญญารับขนมีเกณฑ์จำกัดความรับผิดสูงกว่าที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้ หรือไม่มีเกณฑ์จำกัดความรับผิดก็ได้
มาตรา ๗/๓๑๑ ในการรับขนทางอากาศ ผู้ขนส่งอาจปฏิเสธไม่เข้าทำสัญญารับขนใด ๆ หรือสละข้อต่อสู้ใด ๆ หรือจะกำหนดเงื่อนไขอื่นใดซึ่งไม่ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ก็ได้
มาตรา ๗/๔๑๒ ข้อกำหนดใด ๆ ที่มีอยู่ในสัญญารับขนและความตกลงพิเศษทั้งปวงซึ่งมีผลใช้บังคับก่อนความเสียหายเกิดขึ้น โดยคู่สัญญามุ่งหมายที่จะไม่ใช้กฎเกณฑ์ที่กำหนดในพระราชบัญญัตินี้ ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดกฎหมายที่จะใช้บังคับหรือการเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์เกี่ยวกับเขตอำนาจศาล ย่อมเป็นโมฆะ
มาตรา ๗/๕๑๓ วันตามพระราชบัญญัตินี้หมายถึงวันติดต่อกันตามปฏิทิน
มาตรา ๘ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้และให้มีอำนาจออกกฎกระทรวงเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้
๑ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๒/ตอนที่ ๑๐ ก/หน้า ๑๒/๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘
๒ มาตรา ๓ นิยามคำว่า "การรับขนทางอากาศระหว่างประเทศที่อยู่ภายใต้อนุสัญญา" เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการรับขนทางอากาศระหว่างประเทศ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๐
๓ มาตรา ๓ นิยามคำว่า "การรับขนทางอากาศภายในประเทศ" แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการรับขนทางอากาศระหว่างประเทศ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๐
๔ มาตรา ๓ นิยามคำว่า "อนุสัญญา" เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการรับขนทางอากาศระหว่างประเทศ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๐
๕ มาตรา ๓ นิยามคำว่า "รัฐภาคี" เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการรับขนทางอากาศระหว่างประเทศ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๐
๖ มาตรา ๔ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการรับขนทางอากาศระหว่างประเทศ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๐
๗ มาตรา ๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการรับขนทางอากาศระหว่างประเทศ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๐
๘ มาตรา ๖ วรรคสาม แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการรับขนทางอากาศระหว่างประเทศ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๐
๙ มาตรา ๗/๑ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการรับขนทางอากาศระหว่างประเทศ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๐
๑๐ มาตรา ๗/๒ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการรับขนทางอากาศระหว่างประเทศ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๐
๑๑ มาตรา ๗/๓ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการรับขนทางอากาศระหว่างประเทศ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๐
๑๒ มาตรา ๗/๔ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการรับขนทางอากาศระหว่างประเทศ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๐
๑๓ มาตรา ๗/๕ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการรับขนทางอากาศระหว่างประเทศ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๐