ส่วนที่ ๓
หน้าที่และความรับผิดของผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่อง
-------------------------
มาตรา ๒๐ ภายใต้บังคับมาตรา ๒๗ ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องต้องรับผิดเพื่อความเสียหายอันเป็นผลจากการที่ของสูญหาย เสียหายหรือส่งมอบชักช้า ถ้าเหตุแห่งการสูญหาย เสียหายหรือส่งมอบชักช้านั้นได้เกิดขึ้นตั้งแต่เวลาที่ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องรับมอบของจนถึงเวลาที่ได้ส่งมอบของนั้น เว้นแต่ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องจะพิสูจน์ได้ว่าตนหรือลูกจ้าง ตัวแทนของตนหรือบุคคลอื่นใดซึ่งตนได้ใช้บริการ เพื่อปฏิบัติตามสัญญาขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ ได้ใช้มาตรการทั้งปวงซึ่งจำเป็นต้องกระทำเพื่อหลีกเลี่ยงเหตุแห่งการสูญหาย เสียหายหรือส่งมอบชักช้ารวมทั้งผลที่เกิดขึ้นจากเหตุนั้น
ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องไม่ต้องรับผิดเพื่อความเสียหายใด ๆ อันเป็นผลจากการส่งมอบชักช้า เว้นแต่ผู้ตราส่งจะได้แจ้งก่อนที่ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องจะรับมอบของว่า หากมีการส่งมอบชักช้า ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องจะต้องรับผิดในความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นและผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องได้ยินยอมที่จะรับผิดในความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นก่อนรับมอบของ
มาตรา ๒๑ การส่งมอบชักช้า คือ
(๑) ในกรณีที่มีการตกลงกำหนดเวลาส่งมอบไว้อย่างชัดแจ้ง ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องไม่ได้ส่งมอบของภายในกำหนดเวลานั้น
(๒) ในกรณีที่ไม่มีการตกลงกำหนดเวลาส่งมอบไว้ ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องไม่ได้ส่งมอบของภายในกำหนดเวลาอันควรที่จะส่งมอบตามหน้าที่อันพึงปฏิบัติ ทั้งนี้ ให้คำนึงถึงพฤติการณ์แห่งกรณีประกอบด้วย
มาตรา ๒๒ ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องมีหน้าที่ต้องดำเนินการส่งมอบของดังต่อไปนี้
(๑) ถ้าใบตราส่งต่อเนื่องเป็นชนิดโอนให้กันได้ประเภทออกให้แก่ผู้ถือ ให้ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องส่งมอบของแก่บุคคลซึ่งเวนคืนต้นฉบับใบตราส่งต่อเนื่องฉบับใดฉบับหนึ่ง
(๒) ถ้าใบตราส่งต่อเนื่องเป็นชนิดโอนให้กันได้ประเภทออกให้แก่บุคคลเพื่อเขาสั่ง ให้ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องส่งมอบของแก่บุคคลซึ่งได้เวนคืนต้นฉบับใบตราส่งต่อเนื่องฉบับใดฉบับหนึ่ง ซึ่งได้สลักหลังโดยชอบ
(๓) ถ้าใบตราส่งต่อเนื่องเป็นชนิดโอนให้กันได้ประเภทออกให้แก่บุคคลโดยนาม ให้ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องส่งมอบของแก่บุคคลซึ่งมีชื่อระบุในใบตราส่งต่อเนื่องเมื่อได้มีการพิสูจน์ถึงความถูกต้องของตัวบุคคลและได้รับการเวนคืนต้นฉบับใบตราส่งต่อเนื่องฉบับใดฉบับหนึ่งจากบุคคลดังกล่าว แต่ถ้ามีการโอนใบตราส่งต่อเนื่องดังกล่าวต่อไปเป็นประเภทเพื่อเขาสั่งหรือโดยการสลักหลังลอยให้นำความใน (๒) มาใช้บังคับ
(๔) ถ้าใบตราส่งต่อเนื่องเป็นชนิดห้ามโอน ให้ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องส่งมอบของแก่บุคคลซึ่งมีชื่อเป็นผู้รับตราส่งในใบตราส่งต่อเนื่องเมื่อได้พิสูจน์ถึงความถูกต้องของตัวบุคคลนั้นแล้ว
ในกรณีที่ไม่มีการออกเอกสารใด ๆ ให้แก่ผู้ตราส่ง ให้ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องส่งมอบของแก่บุคคลตามคำสั่งของผู้ตราส่ง หรือตามคำสั่งของผู้ได้มาซึ่งสิทธิของผู้ตราส่งหรือของผู้รับตราส่งตามที่สัญญาขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบระบุไว้
มาตรา ๒๓ ในกรณีที่หาตัวผู้รับตราส่งไม่พบหรือผู้รับตราส่งปฏิเสธไม่ยอมรับของผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องต้องบอกกล่าวไปยังผู้ตราส่งทันทีและถามเอาคำสั่งจากผู้ตราส่ง
หากมีพฤติการณ์ขัดขวางไม่สามารถจะบอกกล่าวไปยังผู้ตราส่งได้ทันที หรือไม่อาจถามเอาคำสั่งจากผู้ตราส่งได้ หรือผู้ตราส่งละเลยไม่ส่งคำสั่งนั้นมาในเวลาอันควรหรือส่งมาเป็นคำสั่งอันไม่อาจปฏิบัติได้ หากของนั้นได้พ้นจากอารักขาภายใต้บังคับกฎหมายว่าด้วยศุลกากรแล้วให้ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องมีสิทธินำของนั้นออกขาย ทำลาย หรือจัดการอย่างใดอย่างหนึ่งตามความเหมาะสมและจำเป็น
เมื่อได้จัดการตามวรรคสองแล้ว ให้ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องบอกกล่าวแก่ผู้ตราส่งโดยไม่ชักช้า เว้นแต่ไม่สามารถจะทำได้ ถ้าผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องละเลยไม่บอกกล่าวแก่ผู้ตราส่ง ให้ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้น
ในกรณีที่ได้จัดการกับของตามวรรคสองแล้ว ได้เงินจำนวนเท่าใด ให้ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องมีสิทธิหักเอาไว้เป็นค่าระวาง ค่าอุปกรณ์แห่งค่าระวางและค่าใช้จ่ายอันเกิดขึ้นจากการจัดการนั้น ถ้ายังมีเงินเหลือ ให้ส่งมอบแก่บุคคลซึ่งมีสิทธิจะได้เงินนั้นโดยพลันหรือถ้าส่งมอบไม่ได้ ให้นำไปฝากไว้ ณ สำนักงานวางทรัพย์ แต่ถ้าเงินยังขาดอยู่เท่าใด ผู้ตราส่งต้องรับผิดในส่วนที่ขาดนั้น
ในกรณีที่ได้ทำลายหรือจัดการกับของตามวรรคสองแล้วไม่ได้เงิน ให้ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องมีสิทธิเรียกค่าใช้จ่ายอันเกิดขึ้นจากการจัดการดังกล่าวเอากับผู้ตราส่งได้
มาตรา ๒๔ เมื่อผู้รับตราส่งได้รับของ หากปรากฏว่ามีการสูญหายบางส่วนหรือเสียหายและถ้าผู้รับตราส่งมิได้โต้แย้งเป็นหนังสือแก่ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องถึงการสูญหายหรือสภาพของความเสียหายแห่งของที่ได้รับนั้น ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องได้ส่งมอบของถูกต้องตามที่ระบุไว้ในใบตราส่งต่อเนื่อง
ในกรณีที่การสูญหายหรือเสียหายไม่เห็นประจักษ์ ผู้รับตราส่งมีสิทธิโต้แย้งเป็นหนังสือภายในหกวันนับแต่วันที่ได้รับของนั้น
มาตรา ๒๕ ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องต้องรับผิดเพื่อความเสียหายในการกระทำหรืองดเว้นการกระทำของลูกจ้างและตัวแทนของตน และของบุคคลอื่นซึ่งตนได้ใช้บริการเพื่อการปฏิบัติตามสัญญารวมถึงลูกจ้างและตัวแทนของบุคคลอื่นนั้น ซึ่งได้กระทำไปในทางการที่จ้างหรือภายในขอบอำนาจแห่งการเป็นตัวแทนหรือในกิจการที่ได้ใช้บริการนั้น
มาตรา ๒๖ ในกรณีที่ได้ล่วงพ้นกำหนดเวลาส่งมอบของหรือกำหนดเวลาอันควรที่จะส่งมอบของ แล้วแต่กรณี ให้บุคคลผู้มีสิทธิรับของมีสิทธิอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้
(๑) รับของ
(๒) รับของและเรียกค่าเสียหายอันเป็นผลมาจากการส่งมอบชักช้า หรือ
(๓) ไม่รับของและเรียกค่าเสียหายอันเป็นผลมาจากการส่งมอบชักช้า
ในกรณีที่กำหนดเวลาส่งมอบของหรือกำหนดเวลาอันควที่จะส่งมอบของได้ล่วงพ้นไปแล้วไม่น้อยกว่าเก้าสิบวันนับแต่วันถึงกำหนดส่งมอบของ ให้ถือว่าของนั้นได้สูญหายโดยสิ้นเชิง บุคคลผู้มีสิทธิรับของมีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนเสมือนว่าของนั้นได้สูญหายโดยสิ้นเชิง เว้นแต่จะปรากฏหลักฐานแสดงให้เห็นว่าของนั้นยังมิได้สูญหาย
ในกรณีที่ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องได้ชำระค่าเสียหายหรือค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้มีสิทธิรับของแล้ว ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยการรับช่วงสิทธิแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาใช้บังคับ
มาตรา ๒๗ ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องไม่ต้องรับผิดเพื่อการสูญหาย เสียหาย หรือส่งมอบชักช้า ถ้าพิสูจน์ได้ว่าการสูญหาย เสียหาย หรือส่งมอบชักช้านั้นเกิดขึ้นหรือเป็นผลจาก
(๑) เหตุสุดวิสัย
(๒) การกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อของผู้ตราส่ง ผู้รับตราส่ง ผู้แทนหรือตัวแทนของบุคคลดังกล่าว
(๓) การบรรจุหีบห่อ การทำเครื่องหมาย หรือการระบุจำนวนของที่บกพร่องหรือไม่เพียงพอ
(๔) การยกขน การบรรทุก การขนถ่าย การเก็บรักษาของโดยผู้ตราส่ง ผู้รับตราส่ง ผู้แทนหรือตัวแทนของบุคคลดังกล่าว
(๕) สภาพแห่งของนั้นเองหรือความชำรุดบกพร่องที่แฝงอยู่ภายในของนั้น
(๖) การนัดหยุดงาน การปิดงานงดจ้าง การผละงาน หรืออุปสรรคหรือเหตุขัดข้องในด้านแรงงานด้วยประการใด ๆ
(๗) ในกรณีเป็นของที่ขนส่งทางทะเลหรือน่านน้ำภายใน เมื่อการสูญหาย เสียหาย หรือส่งมอบชักช้าระหว่างการขนส่งเกิดขึ้นโดย
(ก) การกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อหรือความผิดพลาดในการเดินเรือหรือในการบริหารจัดการเรือไม่ว่าจะเป็นการกระทำของนายเรือ คนประจำเรือ ผู้นำร่อง หรือลูกจ้างของผู้ขนส่ง
(ข) อัคคีภัย เว้นแต่อัคคีภัยนั้นเกิดจากความผิดหรืออยู่ในความรู้เห็นของผู้ขนส่ง
อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องยังคงต้องรับผิดในการสูญหาย เสียหาย หรือส่งมอบชักช้าตาม (๗) อันเป็นผลมาจากเรือไม่อยู่ในสภาพที่สามารถเดินทะเลได้อย่างปลอดภัย เว้นแต่ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องจะพิสูจน์ให้เห็นได้ว่าตนได้กระทำการตามที่ควรจะต้องกระทำในฐานะเช่นนั้น เพื่อให้เรืออยู่ในสภาพดังกล่าวแล้วเมื่อเริ่มต้นการเดินทาง