หมวด ๕
การใช้สิทธิเรียกร้องและการระงับข้อพิพาท
-------------------------
มาตรา ๓๒ ความในพระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับแก่การใช้สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนที่เกิดจากสัญญารับขนคนโดยสารทางถนนระหว่างประเทศ ไม่ว่าการใช้สิทธิเรียกร้องนั้นจะมีมูลกรณีจากสัญญาหรือละเมิด
ในกรณีที่มีการใช้สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนตามพระราชบัญญัตินี้ต่อลูกจ้าง ตัวแทนหรือผู้รับจ้างช่วงของผู้ขนส่ง บุคคลที่ถูกใช้สิทธิเรียกร้องดังกล่าวมีสิทธิยกข้อต่อสู้ของผู้ขนส่งตามที่กำหนดในพระราชบัญญัตินี้ขึ้นต่อสู้ผู้ใช้สิทธิเรียกร้องได้ด้วย
มาตรา ๓๓ ในการฟ้องคดีเรียกค่าสินไหมทดแทนตามพระราชบัญญัตินี้ โจทก์มีสิทธิเลือกฟ้องคดีในศาลใดศาลหนึ่งที่มีเขตอำนาจพิจาณาคดีดังกล่าวตามกฎหมายของประเทศนั้นได้ ดังต่อไปนี้
(๑) ศาลในประเทศที่การรับขนเริ่มต้นหรือสิ้นสุดลง
(๒) ศาลในประเทศที่ความสูญหายหรือความเสียหายเกิดขึ้น หากสามารถระบุได้
(๓) ศาลในประเทศที่เป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของผู้ขนส่ง หรือ
(๔) ศาลในประเทศที่เป็นภูมิลำเนาของโจทก์
การฟ้องคดีเรียกค่าสินไหมทดแทนตามพระราชบัญญัตินี้ในประเทศไทยให้อยู่ในเขตอำนาจของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ
มาตรา ๓๔ คู่สัญญาอาจตกลงเป็นหนังสือให้ระงับข้อพิพาทโดยการอนุญาโตตุลาการตามกฎหมายว่าด้วยอนุญาโตตุลาการ
มาตรา ๓๕ การใช้สิทธิเรียกร้องที่เกิดจากการรับขนคนโดยสารทางถนนระหว่างประเทศตามพระราชบัญญัตินี้ ถ้ามิได้ฟ้องคดีต่อศาลหรือเสนอข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาดภายในกำหนดเวลาดังต่อไปนี้ ให้เป็นอันขาดอายุความ
(๑) สามปี สำหรับการตาย การบาดเจ็บ หรือความเสียหายต่อร่างกายหรือจิตใจของคนโดยสาร
(๒) หกเดือน สำหรับการสูญหาย ความเสียหาย ความล่าช้าของสัมภาระและความล่าช้าในการถึงจุดหมายของคนโดยสาร
การนับอายุความตามวรรคหนึ่ง ให้เริ่มนับตั้งแต่วันที่เกิดสิทธิเรียกร้อง หรือวันที่ถึงจุดปลายทาง หรือวันที่กำหนดจะไปถึงจุดปลายทาง หรือวันที่สมควรถึงจุดปลายทางตามหน้าที่อันพึงปฏิบัติได้ของผู้ขนส่งในพฤติการณ์เดียวกัน แล้วแต่วันใดเป็นวันหลังสุด
ถ้าเรียกร้องค่าเสียหายในมูลอันมีโทษทางอาญา และมีกำหนดอายุความทางอาญายาวกว่าอายุความตามวรรคหนึ่ง ให้นำอายุความที่ยาวกว่านั้นมาบังคับ
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
นายกรัฐมนตรี