พระราชบัญญัติ
จัดวางการรถไฟแลทางหลวง
พระพุทธศักราช ๒๔๖๔
-------------------------
มีพระบรมราชโองการ ในพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ดำรัสเหนือเกล้าฯ ให้ประกาศให้ทราบทั่วกันว่า ด้วยมีเหตุสมควรที่จะจัดวางการรถไฟแผ่นดิน รถไฟราษฎร์แลทางหลวงให้เรียบร้อยดียิ่งขึ้น แลเพื่อรวบรวมบทกฎหมายข้อบังคับในเรื่องนี้เข้าไว้เปนหมวดหมู่ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติโดยบทมาตราไว้ต่อไปดังนี้
ข้อความเบื้องต้น
-------------------------
มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้ให้เรียกว่า “พระราชบัญญัติจัดวางการรถไฟแลทางหลวงพระพุทธศักราช ๒๔๖๔”
มาตรา ๒๑ ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้เป็นกฎหมาย ตั้งแต่วันที่ ๑๕ เดือนสิงหาคม พระพุทธศักราช ๒๔๖๔ เป็นต้นไป
มาตรา ๓ ในพระราชบัญญัตินี้
(๑)๒ คำว่า “รถไฟ” หมายความว่า กิจการที่จัดทำขึ้นเพื่อหาประโยชน์ด้วยวิธีบรรทุกส่งคนโดยสาร และสินค้าบนทางซึ่งมีราง ส่วนรถไฟซึ่งได้รับอนุญาตให้สร้างขึ้นตลอดทั้งสายบนถนนหลวงของนครหนึ่งหรือเมืองหนึ่งนั้นให้เรียกว่า “รถราง”
(๒) คำว่า “ที่ดินรถไฟ” หมายความว่า ที่ดินทั้งหลายที่ได้จัดหาหรือเช่าถือไว้ใช้ในการรถไฟโดยชอบด้วยพระราชกำหนดกฎหมาย
(๓) คำว่า “ทางรถไฟ” หมายความว่า ถนนหรือทางซึ่งได้วางรางเพื่อการเดินรถ
(๔) คำว่า “เครื่องประกอบทางรถไฟ” หมายความว่า สถานี สำนักงานที่ทำการ คลังไว้สินค้า เครื่องจักรประจำที่ และสรรพสิ่งของทั้งปวงที่ก่อสร้างไว้เพื่อประโยชน์ของรถไฟ
(๕) คำว่า “รถ” หมายความว่า รถจักร รถบรรทุก รถคนโดยสาร หรือรถขนของซึ่งมีล้อครีบสำหรับเดินบนราง
(๖) คำว่า “พัสดุ” หมายความว่า รางอะไหล่ ไม้หมอน หมุดควงและแป้นควง เครื่องอะไหล่สำหรับรถ เครื่องประกอบสำหรับสร้างสะพาน ของเครื่องใช้ในการก่อสร้าง เครื่องมือ วัตถุเชื้อเพลิง น้ำมันหยอดเครื่อง หรือของสิ่งอื่น ๆ ซึ่งรถไฟเก็บสะสมไว้ใช้
(๗) คำว่า “พนักงานรถไฟ” หมายความว่า บุคคลที่รถไฟได้จ้างไว้หรือได้มอบหน้าที่ให้กระทำกิจการอย่างใดอย่างหนึ่งของรถไฟ
(๘) คำว่า “หัตถภาระ” หมายความว่า ถุง ย่าม ห่อผ้า หรือกระเป๋าถือทุกชนิด ซึ่งผู้โดยสารนำไปในห้องรถโดยสาร เพื่อใช้สอยเองหรือเพื่อความสะดวก
(๙) คำว่า “ครุภาระ” หมายความว่า สรรพสิ่งของเครื่องใช้ทุกชนิด ซึ่งผู้โดยสารอาจนำบรรทุกในรถสัมภาระ
(๑๐) คำว่า “ห่อวัตถุ” หมายความว่า ห่อของ ถุง หีบ ตะกร้า และของสิ่งอื่น ๆ (รวมทั้งผลไม้ ผัก ปลา เป็ด ไก่ ห่าน ฯลฯ) ที่บรรทุกได้ในขบวนรถโดยสารตามอัตราระวางบรรทุกห่อวัตถุ
(๑๑) คำว่า “สินค้า” หมายความว่า สรรพสิ่งของหรือสินค้าทั้งปวงที่ส่งไปตามอัตราสินค้า
(๑๒) คำว่า “ของมีชีวิต” หมายความว่า สัตว์มีชีวิตทุกอย่างที่ส่งไปในขบวนรถสินค้าหรือขบวนรถอื่น
(๑๓) คำว่า “ผู้รับอนุญาต” หมายความว่า บุคคล ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทที่ได้รับอนุญาตจากรัฐบาลให้สร้างรถไฟได้เป็นพิเศษ
(๑๔) คำว่า “ทางหลวง” หมายความว่า บรรดาถนนหลวง ทางเกวียน และทางต่างอันอยู่ในความกำกับตรวจตราแห่งเจ้าหน้าที่ของรัฐบาล
(๑๕) คำว่า “ทางราษฎร์” หมายความว่า ถนนหนทาง ทางเกวียน และทางต่างอย่างอื่น ๆ นอกจากที่จัดเป็นทางหลวง
(๑๖) คำว่า “ทางน้ำ” หมายความว่า แม่น้ำ ลำน้ำ และคลองที่เรือเดินได้
มาตรา ๔ รถไฟจัดแบ่งเป็น ๓ ประเภท คือ
(๑) รถไฟแผ่นดิน
(๒) รถไฟผู้รับอนุญาต
(๓) รถไฟหัตถกรรม
มาตรา ๕ การกำหนดประเภทรถไฟก็ดี หรือการเปลี่ยนแปลงประเภทรถไฟก็ดี ท่านบังคับว่าจำต้องมีประกาศพระราชกฤษฎีกา
มาตรา ๖ ในส่วนรถไฟทั้งหลายนอกจากรถไฟหัตถกรรม
(๑) ห้ามไม่ให้ยกกำหนดอายุความขึ้นต่อสู้สิทธิของแผ่นดินเหนือที่ดินรถไฟ หรืออสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นของรถไฟ
(๒) ห้ามไม่ให้เอกชนหรือบริษัทใด ๆ หวงห้ามหรือถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินรถไฟ หรืออสังหาริมทรัพย์อย่างอื่น เว้นไว้แต่จะได้มีประกาศกระแสพระบรมราชโองการเป็นพิเศษว่าทรัพย์นั้น ๆ ได้ขาดจากเป็นที่ดินรถไฟแล้ว
(๓) ห้ามมิให้ยึดที่ดินรถไฟ สิ่งปลูกสร้าง รถและพัสดุของรถไฟ
มาตรา ๗ ตั้งแต่วันที่ได้ประกาศใช้พระราชบัญญัตินี้สืบไป แม้ถึงว่าจะมีข้อความกล่าวไว้เป็นอย่างอื่นในหนังสือพระราชทานพระบรมราชานุญาตนั้นก็ดี บทพระราชบัญญัติทั้งหลายนี้ซึ่งว่าด้วยความสงบเรียบร้อยและความปราศภัยแห่งประชาชน กับทั้งว่าด้วยการสอดส่องและการกำกับตรวจตราโดยสภากรมการรถไฟนั้น ท่านให้ใช้บังคับแก่บรรดารถไฟราษฎร์ทั้งหลายซึ่งมีอยู่ในพระราชอาณาจักรในวันที่ออกใช้พระราชบัญญัตินี้ด้วย
๑ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๓๘/-/หน้า ๑๒๓/๒๗ สิงหาคม ๒๔๖๔
๒ มาตรา ๓ (๑) แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศแก้ไขความในมาตรา ๓ ข้อ (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดวางการรถไฟแลทางหลวง พระพุทธศักราช ๒๔๖๔