ภาคที่ ๓
ว่าด้วยทางหลวงและทางราษฎร์
-------------------------
มาตรา ๑๔๖ ทางหลวงนั้นท่านจัดแบ่งเป็น ๒ ประเภท คือ
(๑) ทางหลวงของแผ่นดิน ซึ่งกรมทางเป็นเจ้าหน้าที่ก่อสร้างและบำรุงรักษาในนามรัฐบาลประเภทหนึ่ง และ
(๒) ทางหลวงของมณฑล ซึ่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายมณฑลได้สร้างขึ้นและบำรุงรักษา โดยได้รับอนุมัติจากกรมทางอีกประเภทหนึ่ง
นอกจากทางหลวงที่กล่าวแล้วนี้ ยังมีทางราษฎร์ที่พวกราษฎรในตำบลนั้นได้สร้างขึ้นและบำรุงรักษา
กรมทางมีอำนาจที่จะรับเอาทางหลวงของมณฑลหรือทางราษฎร์มาขึ้นอยู่ในกรมทางและยกขึ้นเป็นทางหลวงของแผ่นดิน หรือจะลดชั้นทางหลวงของแผ่นดินลงเป็นทางหลวงของมณฑลหรือทางราษฎร์ก็ได้ตามที่จะเห็นสมควร
มาตรา ๑๔๗ กรมทางมีอำนาจที่จะดำริการเสมอทุกปีว่า
(๑) ควรสร้างทางหลวงของแผ่นดินสายใด หรือแต่ส่วนใดบ้าง
(๒) ควรจัดบำรุงด้วยวิธีใด เพื่อให้ทางหลวงของแผ่นดินที่มีอยู่แล้วให้ดีอยู่คงที่
มาตรา ๑๔๘ ทางหลวงของแผ่นดินนั้น ให้นายช่างและคนงานในกรมทางก่อสร้างและบำรุงรักษา
มาตรา ๑๔๙ เมื่อได้ปรึกษาหารือกับกรมทางแล้ว ให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายมณฑลมีอำนาจที่จะดำริการดังต่อไปนี้ว่า
(๑) ควรสร้างทางหลวงของมณฑลสายใด หรือแต่ส่วนใดภายในเขตมณฑลนั้น
(๒) ควรจัดบำรุงทางด้วยวิธีใดเพื่อให้ทางหลวงของมณฑลที่มีอยู่แล้วให้ดีอยู่คงที่
มาตรา ๑๕๐ เมื่อเจ้าหน้าที่ฝ่ายมณฑลได้ร้องขอมา กรมทางมีอำนาจที่จะตั้งนายช่างออกไปเพื่อแนะนำและช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ฝ่ายมณฑลตามแต่กรมทางจะเห็นควร
มาตรา ๑๕๑ การก่อสร้างและบำรุงรักษาทางราษฎร์นั้น ให้อยู่ในความกำกับตรวจตราของนายอำเภอ
มาตรา ๑๕๒ เมื่อทางหลวงของแผ่นดินหรือทางหลวงของมณฑลสายใดผ่านไปในจังหวัด เมืองหรือหมู่บ้าน กรมทางจะเข้าจัดการบำรุงรักษาทางสายนั้นก็ได้ ถ้าดำริเห็นเป็นการสมควรเพื่อประโยชน์แก่ชนทั่วไป แต่ส่วนค่าบำรุงรักษานั้นอาจจะเรียกจากสุขาภิบาลแห่งท้องที่ ๆ ทางผ่านไปนั้นได้
มาตรา ๑๕๓ บรรดาเรื่องราวที่เกี่ยวกับทางหลวงของแผ่นดินขนาดกว้างยาว รายละเอียดชนิดการก่อสร้าง และการบำรุงรักษากับเลขหมายประจำทางพร้อมด้วยแผนที่ทางหลวงทุกสายนั้น ให้เก็บรักษาไว้ที่กรมทาง
ส่วนเรื่องที่เกี่ยวกับทางหลวงของมณฑลนั้น ให้เก็บรักษาไว้ ณ ศาลารัฐบาลมณฑล และให้ส่งสำเนาเรื่องทางหลวงของมณฑลและแผนที่เข้ามายังกรมทางปีละครั้ง
มาตรา ๑๕๔ ห้ามมิให้ยกเอากำหนดอายุความขึ้นต่อสู้สิทธิของแผ่นดินในเรื่องที่ดินซึ่งเป็นทางหลวง กับห้ามมิให้ยึดที่ดินนั้น
มาตรา ๑๕๕ เมื่อเห็นเป็นการจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนแนวทางเกวียนสายใดสายหนึ่งซึ่งอยู่ในประเภททางหลวงของแผ่นดินหรือทางหลวงของมณฑลให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายมณฑลจัดทำไป แต่ถ้าเป็นทางหลวงของแผ่นดินให้รายงานแจ้งเหตุการณ์ละเอียดเข้ามายังกรมทางโดยพลัน
มาตรา ๑๕๖ ในการก่อสร้างหรือเปลี่ยนแปลงทางหลวงสายใด ถ้าต้องการที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นซึ่งไม่ใช่เป็นของแผ่นดิน ให้เจ้าหน้าที่มีอำนาจจัดหาซื้อทรัพย์นั้นได้
บทบัญญัติว่าด้วยการจัดหาซื้อที่ดินดังกล่าวไว้ในภาค ๑ แห่งพระราชบัญญัตินี้ ให้พึงอนุโลมใช้บังคับได้ตามสมควรแก่บทนั้น ๆ แต่ถ้าเป็นทางหลวงของมณฑล ให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายมณฑลมีอำนาจตั้งผู้แทนคนหนึ่งเป็นกรรมการจัดหาซื้อที่ดินนั้นได้
มาตรา ๑๕๗ บทบัญญัติว่าด้วยการก่อสร้างและการบำรุงดังกล่าวไว้ในภาค ๑ แห่งพระราชบัญญัตินี้ ให้พึงอนุโลมใช้บังคับแก่ทางหลวงได้ตามสมควรแก่บทนั้น ๆ
มาตรา ๑๕๘ เจ้าหน้าที่ผู้รักษาทางหลวงมีอำนาจแจ้งความแก่เจ้าของที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นตามริมทางหลวงนั้นว่า
(๑) ห้ามมิให้ขุดหรือถมร่อง คู บ่อน้ำ สระน้ำ หรือหลุมภายในระยะ ๖ เมตรจากชานเขื่อนหรือขอบทางหลวง
(๒) ให้ตัดรานกิ่งหรือตัดโค่นต้นไม้ รั้วต้นไม้ลงเป็นครั้งคราวตามแต่นายช่างบำรุงทางจะสั่ง เพื่อมิให้เป็นเครื่องกีดขวางต่อการไปมาหรือเป็นอันตรายต่อทางหลวง
ถ้าเจ้าของที่ดินคนใดไม่ปฏิบัติการตามคำแจ้งความของเจ้าหน้าที่นั้นแล้ว ให้เจ้าหน้าที่นั้นมีอำนาจให้คนงานของตนจัดการทำเสียเองได้ตามที่เห็นว่าจำเป็น
มาตรา ๑๕๙ กรมทางมีอำนาจส่งพนักงานไปตรวจทางหลวงของมณฑลและทางราษฎร์ แล้วทำรายงานเสนอว่าทางเหล่านั้นเป็นอยู่อย่างไรและการบำรุงรักษาทางนั้นเป็นสถานใด กับออกความเห็นว่าควรจะเปลี่ยนทางนั้นเป็นประเภทใดได้
มาตรา ๑๖๐ กรมทางมีอำนาจออกกฎข้อบังคับตามที่เห็นว่าจำเป็นในข้อต่อไปนี้ คือ
(๑) ว่าด้วยลำดับชั้นทางหลวงควรจะแบ่งออกเป็นถนน ทางเกวียน ทางต่าง ทางเดิน ฯลฯ ตามแต่สภาพแห่งการค้าขาย หรือการไปมาในทางนั้น ๆ
(๒) ว่าด้วยพันธะของเจ้าของที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นที่อยู่ริมทางหลวงนั้นที่จะไม่ขุดถมที่หรือต้องตัดโค่นต้นไม้ที่อยู่ริมทาง
(๓) ว่าด้วยระเบียบการที่ประชาชนพึงใช้ทางหลวงกับข้อบังคับสำหรับทางและการไปมา เพื่อรักษาทางนั้นไว้ให้ดีอยู่คงที่ และเพื่อมิให้มีภยันตรายต่อประชาชนในการไปมา
(๔) ว่าด้วยวิธีปิดประกาศแจ้งความ เครื่องหมายบอกทาง และหลักหมายระยะทาง
มาตรา ๑๖๑ ผู้ใดกระทำความผิดดังกล่าวต่อไปนี้ ให้ลงโทษฐานลหุโทษตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา เว้นไว้แต่การกระทำเช่นนั้นประมวลกฎหมายอาญาบัญญัติว่าเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้แล้ว
(๑) ผู้ใดกระทำการโดยเจตนาขัดขวางต่อพนักงานในเวลาที่ทำการตามหน้าที่ก็ดี หรือกระทำการขัดขวางผู้มีหน้าที่อันชอบด้วยกฎหมายในการรังวัด ก่อสร้างหรือบำรุงทางหลวงก็ดี หรือถอนหมุดหลักที่ปักไว้ในดิน หรือลบเลือนทำลายเครื่องหมายใด ๆ ที่ทำไว้สำหรับกิจการนั้น ๆ ก็ดี ท่านว่ามันมีความผิดฐานลหุโทษ ต้องระวางโทษชั้น ๒
(๒) ผู้ใดมิได้รับอนุญาตอันชอบด้วยกฎหมายบังอาจขุดขนดิน ทราย ศิลา หญ้า ต้นไม้ หรือวัตถุสิ่งอื่นไปจากมูลดิน คู สะพาน เขื่อนสะพาน ทางระบายน้ำ หรือกำแพงเขื่อน หรือทำความเสียหายแก่ทางหลวงอย่างหนึ่งอย่างใด ท่านว่ามันมีความผิดฐานลหุโทษ ต้องระวางโทษชั้น ๓
(๓) ผู้ใดมิได้รับอนุญาตโดยชอบด้วยกฎหมาย เปลี่ยนทางน้ำหรือรางน้ำด้วยความเจตนา หรือทำทำนบกั้นคูหรือทางระบายน้ำใต้สะพาน หรือกั้นทางน้ำโดยวิธีอย่างใด ๆ อันเป็นเหตุที่อาจให้เกิดเสียหายแก่ทางหลวงได้ ท่านว่ามันมีความผิดฐานลหุโทษ ต้องระวางโทษชั้น ๓
(๔) ผู้ใดลากไถ คราด หรือเครื่องมืออย่างอื่นไปตามทางหลวงก็ดี หรือผ่านข้ามไปอันเป็นเหตุที่อาจทำให้ถนนเป็นรอยหรือขุดเป็นหลุมเป็นบ่อโดยมิได้ใช้ความระมัดระวังตามที่กรมทางได้กำหนดไว้ก็ดี ท่านว่ามันมีความผิดฐานลหุโทษ ต้องระวางโทษชั้น ๑
(๕) ผู้ใดรื้อถอนหลัก เสาหรือเครื่องหมายบอกทาง เครื่องหมายชี้หนทางและบอกระยะทางก็ดี หรือทำลายหรือทำให้เสียหายก็ดี ท่านว่ามันมีความผิดฐานลหุโทษ ต้องระวางโทษชั้น ๒
(๖) ผู้ใดไม่ปฏิบัติการตามกฎข้อบังคับของกรมทางว่าด้วยพันธะของเจ้าของที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นที่อยู่ริมทางหลวงหรือระเบียบว่าด้วยการใช้ทางหลวง ท่านว่ามันมีความผิดฐานลหุโทษ ต้องระวางโทษชั้น ๒
มาตรา ๑๖๒ เมื่อผู้ใดกระทำความผิด ซึ่งมีโทษเพียงแต่ปรับเป็นพินัยสถานเดียว ท่านว่าพนักงานที่กรมทางได้ตั้งแต่งขึ้นเพื่อฟ้องร้องคดีนั้นมีอำนาจประนีประนอมยอมความได้ทันทีโดยยอมรับเบี้ยปรับตามอัตราอย่างสูงที่กฎหมายบัญญัติไว้ แล้วออกใบเสร็จให้เป็นสำคัญ ส่วนเงินพินัยที่เก็บได้นั้นให้กรมทางทำบัญชีส่งไปยังกระทรวงยุติธรรมฯ
ประกาศมา ณ วันที่ ๑๕ สิงหาคม พระพุทธศักราช ๒๔๖๔ เป็นปีที่ ๑๒ ในรัชกาลปัจจุบันนี้