My Template

หมวด ๔ คณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนและคณะกรรมการการแพทย์ (มาตรา ๓๑ - ๔๓)

 

หมวด ๔
คณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนและคณะกรรมการการแพทย์

-------------------------

               มาตรา ๓๑  ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่ง เรียกว่า คณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนประกอบด้วยเลขาธิการสำนักงานประกันสังคมเป็นประธานกรรมการ และผู้ทรงคุณวุฒิไม่เกินหกคนกับผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายลูกจ้างฝ่ายละสามคน ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้ง เป็นกรรมการ และผู้แทนสำนักงานประกันสังคมเป็นกรรมการและเลขานุการ
               การแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิตามวรรคหนึ่ง ให้รัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้ที่มีความ
เชี่ยวชาญในทางแพทยศาสตร์ นิติศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ การคลัง ประกันสังคม หรือประกันภัย
               การได้มาซึ่งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายลูกจ้างตามวรรคหนึ่ง ให้ใช้วิธีสรรหาโดยคำนึงถึง
การมีส่วนร่วมของฝ่ายนายจ้างและฝ่ายลูกจ้าง ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีกำหนดโดยคำแนะนำของคณะกรรมการ
              
เลขาธิการจะแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ในสำนักงานเป็นผู้ช่วยเลขานุการก็ได้

               มาตรา ๓๑/๑  กรรมการซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้
              
(๑) มีสัญชาติไทย
              
(๒) ไม่เป็นคนวิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ
              
(๓) ไม่เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
              
(๔) ไม่เป็นบุคคลล้มละลายหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต
              
(๕) ไม่เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
               (๖) ไม่เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเพราะร่ำรวยผิดปกติ หรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ
              
(๗) ไม่เคยถูกไล่ออก ปลดออก หรือเลิกจ้างจากหน่วยงานของรัฐหรือสถานประกอบการของเอกชนเพราะทุจริตต่อหน้าที่
              
(๘) ไม่เป็นคู่สัญญาหรือผู้มีส่วนได้เสียในกิจการที่เป็นคู่สัญญา หรือมีธุรกิจเกี่ยวข้องกับสำนักงาน ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม
              
(๙) ไม่เป็นหรือเคยเป็นข้าราชการการเมือง ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สมาชิกสภาท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่น กรรมการหรือที่ปรึกษาของพรรคการเมือง หรือเจ้าหน้าที่ของพรรคการเมือง เว้นแต่จะได้พ้นจากตำแหน่งดังกล่าวแล้วไม่น้อยกว่าสามปี
              
(๑๐) ไม่เคยเป็นกรรมการในคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน
              
(๑๑) ไม่เป็นหรือเคยเป็นกรรมการในคณะกรรมการประกันสังคม

               มาตรา ๓๒  คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
              
(๑) เสนอความเห็นต่อรัฐมนตรีเกี่ยวกับนโยบายการบริหารกองทุนและการจ่ายเงินทดแทน
               (๒) พิจารณาให้ความเห็นต่อรัฐมนตรีในการออกกฎกระทรวงและระเบียบต่าง
ๆ เพื่อดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้
              
(๓) วางระเบียบโดยความเห็นชอบของกระทรวงแรงงาน* เกี่ยวกับการรับเงิน การจ่ายเงิน และการเก็บรักษาเงินกองทุน
              
(๔) วางระเบียบโดยความเห็นชอบของกระทรวงแรงงาน* เกี่ยวกับการจัดหาผลประโยชน์ของกองทุน
              
(๕) พิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ตามมาตรา ๕๒
              
(๖) ให้คำปรึกษาและแนะนำแก่สำนักงานประกันสังคมในการดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้
              
(๗) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่พระราชบัญญัตินี้ หรือกฎหมายอื่นบัญญัติให้เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ หรือตามที่รัฐมนตรีมอบหมาย
               ในการปฏิบัติหน้าที่ตามวรรคหนึ่ง คณะกรรมการอาจมอบหมายให้สำนักงาน
ประกันสังคมเป็นผู้ปฏิบัติก็ได้

               มาตรา ๓๓  กรรมการซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งมีวาระการดำรงตำแหน่งสองปี และให้ดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว

               มาตรา ๓๔  นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระตามมาตรา ๓๓ กรรมการซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งพ้นจากตำแหน่ง เมื่อ
              
(๑) ตาย
              
(๒) ลาออก
              
(๓) รัฐมนตรีให้ออก เพราะบกพร่องต่อหน้าที่ มีความประพฤติเสื่อมเสีย หรือหย่อนความสามารถ
              
(๔) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๓๑/๑
              
ในกรณีที่กรรมการซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ ให้รัฐมนตรีแต่งตั้งบุคคลในประเภทเดียวกันตามมาตรา ๓๑ เป็นกรรมการแทน และให้ผู้ได้รับแต่งตั้งอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการซึ่งตนแทน

               มาตรา ๓๕  ในกรณีที่กรรมการซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งดำรงตำแหน่งครบตามวาระแล้ว แต่ยังมิได้มีการแต่งตั้งกรรมการขึ้นใหม่ ให้กรรมการที่พ้นจากตำแหน่งตามวาระปฏิบัติหน้าที่ต่อไปพลางก่อนจนกว่ากรรมการที่ได้รับแต่งตั้งใหม่จะเข้ารับหน้าที่แทน

               มาตรา ๓๖  การประชุมของคณะกรรมการต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมดจึงจะเป็นองค์ประชุม
              
ในการประชุมของคณะกรรมการ ถ้าประธานกรรมการไม่อยู่ในที่ประชุม หรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้กรรมการที่มาประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม
              
มติในที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก กรรมการคนหนึ่งมีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด

               มาตรา ๓๗  ในการประชุมของคณะกรรมการ ถ้ากรรมการผู้ใดมีส่วนได้เสียเป็นการส่วนตัวในเรื่องที่พิจารณา ผู้นั้นไม่มีสิทธิเข้าประชุม

               มาตรา ๓๘  ให้มีคณะกรรมการการแพทย์คณะหนึ่ง ประกอบด้วยประธานกรรมการ และกรรมการอื่นมีจำนวนรวมกันไม่เกินสิบห้าคนซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในวิชาชีพเวชกรรมสาขาต่าง ๆ
              
ให้รัฐมนตรีแต่งตั้งข้าราชการของสำนักงานประกันสังคมเป็นกรรมการและเลขานุการ
              
เลขาธิการจะแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ในสำนักงานเป็นผู้ช่วยเลขานุการก็ได้
              
ให้นำมาตรา ๓๓ มาตรา ๓๕ และมาตรา ๓๖ วรรคสองและวรรคสาม มาใช้บังคับโดยอนุโลม

               มาตรา ๓๘/๑  กรรมการการแพทย์ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้
              
(๑) มีสัญชาติไทย
              
(๒) ไม่เป็นคนวิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ
              
(๓) ไม่เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
              
(๔) ไม่เป็นบุคคลล้มละลายหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต
              
(๕) ไม่เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
              
(๖) ไม่เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเพราะร่ารวยผิดปกติ หรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ
              
(๗) ไม่อยู่ระหว่างถูกสั่งพักใช้หรือเคยถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรมหรือใบอนุญาตประกอบโรคศิลปะ
              
(๘) ไม่เคยถูกไล่ออก ปลดออก หรือเลิกจ้างจากหน่วยงานของรัฐหรือสถานประกอบการของเอกชนเพราะทุจริตต่อหน้าที่
              
(๙) ไม่เป็นคู่สัญญาหรือผู้มีส่วนได้เสียในกิจการที่เป็นคู่สัญญา หรือมีธุรกิจเกี่ยวข้องกับสำนักงาน ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม
              
(๑๐) ไม่เป็นหรือเคยเป็นข้าราชการการเมือง ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สมาชิกสภาท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่น กรรมการหรือที่ปรึกษาของพรรคการเมือง หรือเจ้าหน้าที่ของพรรคการเมือง เว้นแต่จะได้พ้นจากตำแหน่งดังกล่าวแล้วไม่น้อยกว่าสามปี

               มาตรา ๓๘/๒  นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ กรรมการการแพทย์ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งพ้นจากตำแหน่ง เมื่อ
              
(๑) ตาย
              
(๒) ลาออก
              
(๓) รัฐมนตรีให้ออก เพราะบกพร่องต่อหน้าที่ มีความประพฤติเสื่อมเสียหรือหย่อนความสามารถ
              
(๔) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๓๘/๑
              
ในกรณีที่กรรมการการแพทย์ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ รัฐมนตรีอาจแต่งตั้ง
ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในวิชาชีพเวชกรรมสาขาต่าง ๆ เป็นกรรมการแทน และให้ผู้ได้รับแต่งตั้งอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการซึ่งตนแทน

               มาตรา ๓๙  การประชุมของคณะกรรมการการแพทย์ ต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่าห้าคน จึงจะเป็นองค์ประชุม

               มาตรา ๔๐  คณะกรรมการการแพทย์มีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
              
(๑) เสนอความเห็นต่อคณะกรรมการเกี่ยวกับการดำเนินงานในการให้บริการทางการแพทย์
              
(๒) ให้คำปรึกษาแนะนำในทางการแพทย์แก่คณะกรรมการและสำนักงาน
              
(๓) ให้ความเห็นในการออกกฎกระทรวงตามมาตรา ๑๓ และประกาศกระทรวงแรงงานตามมาตรา ๑๔ และมาตรา ๑๘ (๒) และ (๓)
              
(๔) ปฏิบัติการอื่นตามที่พระราชบัญญัตินี้บัญญัติให้เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรการแพทย์ หรือตามที่รัฐมตรีหรือคณะกรรมการมอบหมาย

               มาตรา ๔๑  คณะกรรมการหรือคณะกรรมการการแพทย์จะแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาหรือปฏิบัติอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่คณะกรรมการหรือคณะกรรมการการแพทย์มอบหมายก็ได้
              
การประชุมของคณะอนุกรรมการให้นำมาตรา ๓๖ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

               มาตรา ๔๒  คณะกรรมการ คณะกรรมการการแพทย์ และคณะอนุกรรมการมีอำนาจสั่งให้บุคคลที่เกี่ยวข้องส่งเอกสาร สิ่งของ หรือข้อมูลที่จำเป็นมาพิจารณาได้ ในการนี้จะสั่งให้บุคคลที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงด้วยก็ได้

               มาตรา ๔๓๑๐  กรรมการ กรรมการการแพทย์ อนุกรรมการ เลขานุการ และผู้ช่วยเลขานุการ มีสิทธิได้รับเบี้ยประชุม ค่าพาหนะ ค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าเช่าที่พัก และค่าใช้จ่ายอย่างอื่นในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนด


               มาตรา ๓๑ วรรคสาม เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเงินทดแทน (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๑
               มาตรา ๓๑ วรรคสี่
เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเงินทดแทน (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๑
               มาตรา ๓๑/๑
เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเงินทดแทน (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๑
               มาตรา ๓๓
แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเงินทดแทน (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๑
               มาตรา ๓๔ วรรคหนึ่ง
แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเงินทดแทน (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๑
               มาตรา ๓๘ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเงินทดแทน (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๑
               มาตรา ๓๘/๑
เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเงินทดแทน (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๑
               มาตรา ๓๘/๒ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเงินทดแทน (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๑
               มาตรา ๔๐ (๓) แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเงินทดแทน (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๑
               ๑๐ มาตรา ๔๓ แก้ไข
เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเงินทดแทน (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๑