My Template

หมวด ๒ การจัดที่ดินในรูปนิคมสร้างตนเอง (มาตรา ๒๐ - ๓๓)

 

หมวด ๒
การจัดที่ดินในรูปนิคมสร้างตนเอง

-------------------------

               มาตรา ๒๐  เมื่อได้มีพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งนิคมสร้างตนเองแล้ว ให้มีคณะกรรมการขึ้นคณะหนึ่ง ประกอบด้วย ประธานกรรมการ และกรรมการอื่นอีกไม่น้อยกว่าสองคน แต่ไม่เกินแปดคนซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้ง
               ระเบียบการประชุมของคณะกรรมการให้เป็นไปตามที่อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการกำหนด

               มาตรา ๒๑  ให้คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
               (๑) คัดเลือกผู้ที่มีคุณสมบัติตามมาตรา ๒๒ เข้าเป็นสมาชิกนิคมสร้างตนเอง
               (๒) จัดสมาชิกนิคมสร้างตนเองเพื่อให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินแต่ละแปลงตามแผนผังที่อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการกำหนด
               (๓) ส่งเสริมการเกษตร และกิจกรรมอื่นเพื่อพัฒนาการสังคมและเศรษฐกิจของนิคมสร้างตนเอง

               มาตรา ๒๒  ผู้ซึ่งจะเข้าเป็นสมาชิกนิคมสร้างตนเองได้ต้องมีคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้
               (๑) มีสัญชาติไทย
               (๒) บรรลุนิติภาวะ และเป็นหัวหน้าครอบครัว
               (๓) มีความประพฤติดี และเต็มใจปฏิบัติตามระเบียบที่อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการกำหนด
               (๔) สามารถประกอบการเกษตรได้ตามระเบียบที่อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการกำหนด
               (๕) ไม่เป็นคนวิกลจริต หรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ
               (๖) ไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง หรือมีแต่เพียงเล็กน้อยไม่พอแก่การครองชีพ
               (๗) ไม่มีอาชีพอย่างใดอย่างหนึ่งในขณะนั้นพอแก่การครองชีพ

               มาตรา ๒๓  เมื่อคณะกรรมการได้พิจารณาคัดเลือกผู้ใดเข้าเป็นสมาชิกนิคมสร้างตนเองแล้ว ให้ผู้ปกครองนิคมแสดงเขตที่ดินที่จัดแบ่งให้แก่ผู้นั้นไว้ในแผนผังที่ดินของนิคมสร้างตนเอง และให้ทำประกาศปิดไว้ ณ ที่ทำการนิคมสร้างตนเองพร้อมกับทำหนังสือแจ้งให้ไปรับมอบที่ดินภายในเวลาที่กำหนด ซึ่งต้องไม่น้อยกว่าสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้ง

               มาตรา ๒๔  ให้ผู้ซึ่งได้รับหนังสือแจ้งตามมาตรา ๒๓ ไปแสดงตนต่อผู้ปกครองนิคมภายในเวลาที่กำหนดในหนังสือแจ้งเมื่อผู้ปกครองนิคมได้ตรวจสอบหลักฐานของผู้ซึ่งแสดงตนนั้น และเห็นว่าถูกต้อง ก็ให้ชี้เขตที่ดินที่ได้รับมอบให้เข้าทำประโยชน์ เมื่อผู้นั้นลงลายมือชื่อรับมอบที่ดินแล้ว ให้อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการหรือผู้ซึ่งอธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการมอบหมายออกหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดิน และสั่งให้อพยพครอบครัวเข้าอยู่ประจำในที่ดินนั้นภายในหกสิบวันนับแต่วันที่รับมอบที่ดิน

               มาตรา ๒๕  สมาชิกนิคมสร้างตนเองผู้ใดไม่ไปแสดงตนเพื่อรับมอบที่ดิน และไม่อพยพครอบครัวเข้าอยู่ประจำในที่ดินภายในระยะเวลาที่กำหนดตามมาตรา ๒๓ หรือมาตรา ๒๔ แล้วแต่กรณี โดยไม่แจ้งเหตุขัดข้องอันสมควรเป็นหนังสือให้ผู้ปกครองนิคมทราบ ก็ให้ถือว่าผู้นั้นสละสิทธิ และให้อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการหรือผู้ซึ่งอธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการมอบหมายประกาศยกเลิกหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินที่ออกให้ผู้นั้น

               มาตรา ๒๖  สมาชิกนิคมสร้างตนเองซึ่งได้รับมอบที่ดินตามมาตรา ๒๔ แล้ว ต้องจัดทำที่ดินให้เกิดประโยชน์ให้แล้วเสร็จภายในห้าปีนับแต่วันที่อพยพครอบครัวเข้าอยู่ประจำในที่ดินโดยมีเงื่อนไขว่า ภายในปีแรกต้องทำประโยชน์ให้ได้อย่างน้อยหนึ่งในสิบส่วนของที่ดินที่ได้รับมอบ ถ้าทำประโยชน์ไม่ได้ตามส่วนของเนื้อที่ดินดังกล่าว ให้สมาชิกนิคมสร้างตนเองนั้นขาดสิทธิเข้าทำประโยชน์ในที่ดินที่ได้รับมอบ และถ้าภายในสี่ปีต่อมายังทำประโยชน์ไม่ได้เต็มเนื้อที่ ก็ให้ได้รับหนังสือแสดงการทำประโยชน์เฉพาะส่วนที่ดินที่ได้ทำประโยชน์แล้วเท่านั้น เว้นแต่อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการจะผ่อนผันให้ขยายระยะเวลาทำประโยชน์ต่อไปได้อีกคราวละหนึ่งปี แต่ต้องไม่เกินสามปี

               มาตรา ๒๗  สมาชิกนิคมสร้างตนเองมีหน้าที่ ดังต่อไปนี้
               (๑) ประพฤติและปฏิบัติตนเรียบร้อย มีวัฒนธรรมและศีลธรรมอันดี
               (๒) สร้างบ้านพักอาศัยตามแบบแปลนแผนผังนิคม
               (๓) ปฏิบัติตามคำแนะนำของผู้ปกครองนิคมเกี่ยวกับการประกอบอาชีพ การป้องกันและรักษาโรค ตลอดจนการสุขาภิบาล
               (๔) ช่วยเหลือร่วมแรงทำการบำรุงที่ดินหรือปฏิบัติการงานอื่น ๆ อันจำเป็นเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของนิคมสร้างตนเอง
               (๕) ไม่รับบุคคลผู้มีความประพฤติอันน่าจะก่อกวนความสงบของนิคมสร้างตนเองเข้ามาอยู่ในที่ดินที่ได้รับมอบ
               (๖) ไม่มอบหรือโอนสิทธิการเข้าทำประโยชน์ในที่ดินที่ได้รับมอบให้แก่ผู้อื่น เว้นแต่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากอธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการหรือผู้ซึ่งอธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการมอบหมาย
               (๗) ไม่นำหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินไปเป็นหลักประกันการชำระหนี้
               (๘) ถ้ามีหนี้ที่เกี่ยวกับกิจการของนิคมสร้างตนเองที่จะต้องชำระให้แก่ทางราชการ ต้องชำระให้แก่นิคมสร้างตนเองภายในระยะเวลาที่กำหนด เว้นแต่ได้รับผ่อนผันจากอธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ

               มาตรา ๒๘  ให้อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการมีอำนาจสั่งให้สมาชิกนิคมสร้างตนเองออกจากนิคมสร้างตนเองด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง ดังต่อไปนี้
               (๑) ไม่ใช้ที่ดินทำประโยชน์ให้ถูกต้องตามระเบียบที่ออกตามความในมาตรา ๙
               (๒) ปรากฏว่า เป็นผู้ขาดคุณสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่งตามมาตรา ๒๒
               (๓) ไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๒๗

               มาตรา ๒๙  สมาชิกนิคมสร้างตนเองสิ้นสภาพการเป็นสมาชิกนิคมสร้างตนเอง เมื่อลาออก หรือถูกสั่งให้ออกตามมาตรา ๒๘
               ให้อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการหรือผู้ซึ่งอธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการมอบหมายประกาศเพิกถอนการเป็นสมาชิกนิคมสร้างตนเอง และหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินนับแต่วันที่สมาชิกนิคมสร้างตนเองลาออก หรือถูกสั่งให้ออก และให้ผู้ปกครองนิคมดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินและหนี้สินของสมาชิกนิคมสร้างตนเองอันเกี่ยวกับกิจการของนิคมตามระเบียบที่อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการกำหนด

               มาตรา ๓๐  ถ้าสมาชิกนิคมสร้างตนเองตายก่อนได้รับโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์สำหรับที่ดินนั้น ให้คณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกทายาทโดยธรรม และมีคุณสมบัติตามมาตรา ๒๒ เข้าเป็นสมาชิกนิคมสร้างตนเองแทน

               มาตรา ๓๑  ในกรณีที่ทายาทโดยธรรมตามมาตรา ๓๐ เป็นผู้เยาว์ ให้อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการพิจารณาดำเนินการตามควรแก่กรณีเพื่อประโยชน์แก่ผู้เยาว์เกี่ยวกับที่ดินนั้น

               มาตรา ๓๒  ถ้าสมาชิกนิคมสร้างตนเองตายโดยไม่มีทายาทโดยธรรม หรือมีแต่ไม่อาจคัดเลือกได้ตามมาตรา ๓๐ ให้คณะกรรมการคัดเลือกผู้อื่นซึ่งมีคุณสมบัติตามมาตรา ๒๒ เข้าเป็นสมาชิกนิคมสร้างตนเองแทน และผู้นั้นต้องให้ความยินยอมเป็นหนังสือยอมรับภาระเกี่ยวกับหนี้สินของผู้ตายอันเกี่ยวกับกิจการของนิคมสร้างตนเองในกรณีเช่นนี้ ให้นำความในมาตรา ๒๓ และมาตรา ๒๙ วรรคสอง มาใช้บังคับโดยอนุโลม

               มาตรา ๓๓  ในกรณีที่สมาชิกนิคมสร้างตนเองกลายเป็นผู้วิกลจริต หรือมีจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ ให้อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการพิจารณาดำเนินการตามควรแก่กรณีเกี่ยวกับที่ดินนั้น


               มาตรา ๒๒ (๔) แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๐