ส่วนที่ ๑
การเสียอากร
-------------------------
มาตรา ๑๐๔ ตราสารที่ระบุไว้ในบัญชีท้ายหมวดนี้ ต้องปิดแสตมป์บริบูรณ์ตามอัตราที่กำหนดไว้ในบัญชีนั้น
มาตรา ๑๐๕๑ ในกรณีต่อไปนี้ผู้ขาย ผู้ให้เช่าซื้อ ผู้รับเงิน หรือผู้รับชำระราคาต้องออกใบรับให้แก่ผู้ซื้อ ผู้เช่าซื้อ ผู้จ่ายเงิน หรือผู้ชำระราคาในทันทีทุกคราวที่รับเงินหรือรับชำระราคาไม่ว่าจะมีการเรียกร้องให้ออกใบรับหรือไม่ก็ตาม
(๑) การรับเงินหรือรับชำระราคาจากการขายสินค้าหรือการให้บริการของผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามหมวด ๔ และการรับเงินหรือรับชำระราคาจากการกระทำกิจการของผู้ประกอบกิจการที่จดทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามหมวด ๕ ซึ่งรวมเงินหรือราคาที่ได้รับชำระแต่ละครั้งเกินจำนวนเงินตามที่อธิบดีกำหนด แต่อธิบดีจะกำหนดเกินหนึ่งพันบาทไม่ได้
(๒) การรับเงินหรือรับชำระราคาในกรณีอื่นซึ่งรวมเงินหรือราคาที่ได้รับชำระแต่ละครั้งเกินจำนวนเงินตามที่อธิบดีกำหนด แต่อธิบดีจะกำหนดเกินหนึ่งหมื่นบาทไม่ได้
ถ้าการรับเงินหรือรับชำระราคาในกรณีเดียวกันมีจำนวนเกินกว่าที่อธิบดีกำหนดตาม (๑) หรือ (๒) แต่มีเงื่อนไขให้รับเงินหรือรับชำระราคาในภายหลังเป็นหลายงวด ให้ออกใบรับทุกคราวในทันทีที่รับเงินหรือรับชำระราคานั้น
ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มซึ่งได้ออกใบกำกับภาษีที่มีข้อความแสดงว่าได้รับเงินหรือรับชำระราคาแล้ว จะถือเอาใบกำกับภาษีนั้นเป็นใบรับที่ต้องออกตามมาตรานี้ก็ได้
มาตรานี้ไม่ใช้บังคับแก่การจำหน่ายแสตมป์อากร หรือแสตมป์อื่นของรัฐบาลที่ยังมิได้ใช้
มาตรา ๑๐๕ ทวิ๒ ในการออกใบรับให้ผู้มีหน้าที่ออกใบรับตามมาตรา ๑๐๕ (๑) หรือผู้มีหน้าที่ออกใบรับตามมาตรา ๑๐๕ (๒) เฉพาะผู้ซึ่งกระทำเป็นปกติธุระทำต้นขั้วหรือสำเนาใบรับและเก็บต้นขั้วหรือสำเนาใบรับดังกล่าวไว้เป็นเวลาไม่น้อยกว่าห้าปีนับแต่วันที่ออกใบรับ๓
ถ้าปรากฏว่าการรับเงินหรือรับชำระราคาที่ต้องทำต้นขั้วหรือสำเนาใบรับตามวรรคหนึ่งไม่มีต้นขั้วหรือสำเนาใบรับ ให้สันนิษฐานว่าไม่ได้ออกใบรับ
ใบรับและต้นขั้ว หรือสำเนาใบรับตามวรรคหนึ่ง อย่างน้อยต้องมีตัวเลขไทยหรืออารบิคและอักษรไทยให้ปรากฏข้อความต่อไปนี้
(๑)๔ เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ออกใบรับ
(๒) ชื่อหรือยี่ห้อของผู้ออกใบรับ
(๓) เลขลำดับของเล่มและของใบรับ
(๔) วัน เดือน ปี ที่ออกใบรับ
(๕) จำนวนเงินที่รับ
(๖) ชนิด ชื่อ จำนวนเงินและราคาสินค้าในกรณีการขายหรือให้เช่าซื้อสินค้าเฉพาะชนิดที่มีราคาตั้งแต่หนึ่งร้อยบาทขึ้นไป
ในกรณีผู้ผลิต ผู้นำเข้า หรือผู้ขายส่งขายสินค้าให้แก่ผู้ซึ่งทำการค้าสินค้าประเภทเดียวกับสินค้าที่ขายนั้นให้แสดงชื่อหรือยี่ห้อและที่อยู่ของผู้ซื้อไว้ในใบรับที่ต้องออกตามวรรคหนึ่งด้วยทุกคราวที่ได้รับชำระเงินหรือชำระราคา ข้อความในใบรับเช่นว่านี้ ถ้าทำเป็นภาษาต่างประเทศให้มีภาษาไทยกำกับไว้ด้วย
ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับแก่กิจการตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
มาตรา ๑๐๕ ตรี๕ ในกรณีที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มหรือผู้ประกอบกิจการที่จดทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะ รับเงินหรือรับชำระราคามีจำนวนครั้งหนึ่ง ๆ ไม่ถึงจำนวนที่อธิบดีกำหนดตามมาตรา ๑๐๕ (๑) ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มหรือผู้ประกอบกิจการที่จดทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะ รวมเงินที่รับมาเฉพาะในกรณีดังกล่าวทุกครั้งและเมื่อสิ้นวันหนึ่ง ๆ ได้จำนวนเท่าใด ให้ทำบันทึกจำนวนเงินนั้นรวมขึ้นเป็นวัน ๆ ตามแบบที่อธิบดีกำหนดและเก็บไว้เป็นเวลาไม่น้อยกว่าห้าปีนับแต่วันทำบันทึก
มาตรา ๑๐๕ จัตวา๖ ในการขายสินค้าให้ผู้ประกอบการตามหมวด ๔ ที่เป็นผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้ส่งออก หรือผู้ขายส่ง เมื่อมีการขายสินค้าให้ออกใบส่งของให้แก่ผู้ซื้อและให้ทำสำเนาเก็บไว้เป็นเวลาไม่น้อยกว่าห้าปี นับแต่วันที่ออกใบส่งของ
ใบส่งของและสำเนาตามความในวรรคก่อน อย่างน้อยต้องมีตัวเลขและอักษรไทยให้ปรากฏข้อความต่อไปนี้
(๑) ชื่อ หรือยี่ห้อและเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ขาย
(๒) ชื่อ หรือยี่ห้อของผู้ซื้อ
(๓) เลขลำดับของเล่ม (ถ้ามี) และของใบส่งของ
(๔) วัน เดือน ปี ที่ออกใบส่งของ
(๕) ชนิด ชื่อ จำนวน และราคาของสินค้าที่ขาย
ตัวเลขไทยนั้นจะใช้เลขอารบิคแทนก็ได้
ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามหมวด ๔ ซึ่งได้ออกใบกำกับภาษีที่มีข้อความแสดงว่าได้ส่งสินค้าให้แก่ผู้ซื้อแล้ว จะถือเอาใบกำกับภาษีนั้นเป็นใบส่งของที่ต้องออกตามมาตรานี้ก็ได้
มาตรา ๑๐๖๗ ใบรับที่ต้องปิดแสตมป์บริบูรณ์ แม้ไม่อยู่ในบังคับให้จำต้องออกใบรับตามความในมาตรา ๑๐๕ เมื่อผู้มีส่วนได้เสียเรียกร้อง ผู้มีหน้าที่ออกใบรับต้องออกให้ในทันทีที่ถูกเรียกร้อง
มาตรา ๑๐๗ เว้นแต่ที่บัญญัติในมาตรา ๑๑๑ ถ้าไม่มีข้อตกลงเป็นอย่างอื่นผู้มีหน้าที่เสียอากรและผู้มีหน้าที่ขีดฆ่าให้เป็นไปตามบัญชีท้ายหมวดนี้
ถ้าผู้มีหน้าที่ขีดฆ่าเขียนหนังสือไม่เป็น จะให้ผู้อื่นเขียนวันเดือนปีแทนก็ได้
ถ้าผู้มีหน้าที่ขีดฆ่าไม่ยอมขีดฆ่า หรือไม่มีตัวอยู่ที่จะทำการขีดฆ่าได้ ให้ผู้ทรงตราสารหรือผู้ถือเอาประโยชน์ขีดฆ่าแทนได้
มาตรา ๑๐๘ ถ้าทำตราสารหลายลักษณะตามที่ระบุในบัญชีท้ายหมวดนี้บนกระดาษแผ่นเดียวกัน หรือเป็นฉบับเดียวกัน เช่น เช่าและกู้ยืมรวมกันไว้ หรือทำตราสารลักษณะเดียวกันหลายเรื่องบนกระดาษแผ่นเดียวกัน หรือเป็นฉบับเดียวกัน เช่น ขายของสิ่งหนึ่งให้แก่คนหนึ่งและขายอีกสิ่งหนึ่งให้แก่อีกคนหนึ่ง ซึ่งตามสภาพควรจะแยกกัน ต้องปิดแสตมป์บริบูรณ์ให้ครบทุกลักษณะหรือทุกเรื่อง โดยปิดแสตมป์บริบูรณ์เป็นรายตราสารแยกไว้ ให้ปรากฏว่าตราสารใดอยู่ที่ใดและแสตมป์ดวงใดสำหรับตราสารลักษณะหรือเรื่องใด
มาตรา ๑๐๙ สัญญาใดเป็นตราสาร ซึ่งเกิดขึ้นโดยมีหนังสือโต้ตอบกันและมิได้ปิดแสตมป์บริบูรณ์ ถ้าพิสูจน์ได้ว่า หนังสือฉบับหนึ่งฉบับใดที่จำเป็นในการทำให้เกิดสัญญานั้นขึ้น ได้ปิดแสตมป์ครบจำนวนอากรและขีดฆ่าแสตมป์แล้ว ให้ถือว่าสัญญานั้นได้ปิดแสตมป์บริบูรณ์แล้ว
มาตรา ๑๑๐ คู่ฉบับหรือคู่ฉีกแห่งตราสารใด แม้จะได้ปิดแสตมป์สำหรับคู่ฉบับหรือคู่ฉีกนั้นตามอัตราในบัญชีท้ายหมวดนี้แล้วก็ดี ถ้ามิได้นำตราสารต้นฉบับหรือพยานหลักฐานมาแสดงให้เป็นที่พอใจว่าตราสารต้นฉบับนั้นได้ปิดแสตมป์บริบูรณ์แล้ว มิให้ถือว่าคู่ฉบับหรือคู่ฉีกนั้นได้ปิดแสตมป์บริบูรณ์ จนกว่าจะได้เสียอากรโดยปิดแสตมป์ครบจำนวนอากรสำหรับตราสารต้นฉบับและขีดฆ่าแล้ว
มาตรา ๑๑๑ ถ้าตราสารที่ต้องเสียอากรได้ทำขึ้นนอกสยาม ให้เป็นหน้าที่ของผู้ทรงตราสารคนแรกในสยามต้องเสียอากรโดยปิดแสตมป์ครบจำนวนอากรและขีดฆ่าภายใน ๓๐ วัน นับแต่วันที่ได้รับตราสารนั้น ถ้าไม่ปฏิบัติตามนี้ให้ถือว่าเป็นตราสารที่มิได้ปิดแสตมป์บริบูรณ์
ถ้ามิได้ปฏิบัติตามความในวรรคก่อน ผู้ทรงคนใดคนหนึ่งแห่งตราสารต้องเสียอากรโดยปิดแสตมป์ครบจำนวนอากรและขีดฆ่าก่อน แล้วจึงจะยื่นตราสารเพื่อให้จ่ายเงิน รับรอง สลักหลัง โอนหรือถือเอาประโยชน์ได้
ผู้ทรงตราสารคนใดได้ตราสารตามความในมาตรานี้มาไว้ในครอบครองก่อนพ้นกำหนดเวลาที่กล่าวในวรรค ๑ ผู้ทรงคนนั้นจะเสียอากรโดยปิดแสตมป์ครบจำนวนอากรและขีดฆ่าก็ได้โดยมีสิทธิไล่เบี้ยจากผู้ทรงคนก่อน ๆ
มาตรา ๑๑๒ ถ้าตั๋วเงินที่ยื่นให้ชำระเงินมิได้ปิดแสตมป์บริบูรณ์ ผู้รับตั๋วจะเสียอากรโดยปิดแสตมป์ครบจำนวนอากรและขีดฆ่า และใช้สิทธิไล่เบี้ยจากผู้มีหน้าที่เสียอากร หรือหักค่าอากรจากเงินที่จะชำระก็ได้
๑ มาตรา ๑๐๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๓๔
๒ มาตรา ๑๐๕ ทวิ แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๐ ลงวันที่ ๗ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๒๐
๓ มาตรา ๑๐๕ ทวิ วรรคหนึ่ง แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๒๑
๔ มาตรา ๑๐๕ ทวิ วรรคสาม (๑) แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๓๔
๕ มาตรา ๑๐๕ ตรี แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๓๔
๖ มาตรา ๑๐๕ จัตวา แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๓๔
๗ มาตรา ๑๐๖ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๔๙๖