หมวด ๖
อากรแสตมป์
-------------------------
มาตรา ๑๐๓ ในหมวดนี้ เว้นแต่ข้อความจะแสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่น
“ตราสาร” หมายความว่า เอกสารที่ต้องเสียอากรตามหมวดนี้
“กระดาษ” หมายความตลอดถึงแผ่นหนังฟอกหรือสิ่งอื่น ๆ ซึ่งใช้เขียนตราสาร
“แสตมป์”๑ หมายความว่า แสตมป์ปิดทับหรือแสตมป์ดุนบนกระดาษ และแสตมป์ดุนบนกระดาษนี้ ให้หมายความรวมถึง แสตมป์พิมพ์ทับบนกระดาษด้วย ทั้งนี้ ตามที่กำหนดลักษณะโดยกฎกระทรวง
“กระทำ” เมื่อใช้เกี่ยวกับตราสาร หมายความว่า การลงลายมือชื่อตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
“ปิดแสตมป์” หมายความว่า การปิดแสตมป์ทับกระดาษ หรือการมีแสตมป์ดุนบนกระดาษ
“ขีดฆ่า”๒ หมายความว่า การกระทำเพื่อมิให้ใช้แสตมป์ได้อีก โดยในกรณีแสตมป์ปิดทับได้ลงลายมือชื่อ หรือลงชื่อห้างร้านบนแสตมป์ หรือขีดเส้นคร่อมฆ่าแสตมป์ที่ปิดทับกระดาษและลงวัน เดือน ปีที่กระทำสิ่งเหล่านี้ด้วย ในกรณีแสตมป์ดุนได้เขียนบนตราสารหรือยื่นตราสารให้พนักงานเจ้าหน้าที่ประทับแสตมป์ดุนให้แสตมป์ดุนปรากฏอยู่ในด้านหน้าของตราสารนั้น
“ปิดแสตมป์บริบูรณ์”๓ หมายความว่า
(๑) ในกรณีแสตมป์ปิดทับ คือ การได้เสียอากรโดยปิดแสตมป์ทับกระดาษก่อนกระทำหรือในทันทีที่ทำตราสารเป็นราคาไม่น้อยกว่าอากรที่ต้องเสียและได้ขีดฆ่าแสตมป์นั้นแล้ว หรือ
(๒) ในกรณีแสตมป์ดุน คือ การได้เสียอากรโดยใช้กระดาษมีแสตมป์ดุนเป็นราคาไม่น้อยกว่าอากรที่ต้องเสียและขีดฆ่าแล้ว หรือโดยยื่นตราสารให้พนักงานเจ้าหน้าที่ประทับแสตมป์ดุนและชำระเงินเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าอากรที่ต้องเสียและขีดฆ่าแล้ว หรือ
(๓) ในกรณีชำระเป็นตัวเงิน คือ การได้เสียอากรเป็นตัวเงิน เป็นราคาไม่น้อยกว่าอากรที่ต้องเสียตามบทบัญญัติในหมวดนี้ หรือตามระเบียบซึ่งอธิบดีจะได้กำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี
การปิดแสตมป์บริบูรณ์ตามที่กำหนดใน (๑) และ (๒) ดังกล่าวข้างต้นนั้น ให้อธิบดีมีอำนาจสั่งให้ปฏิบัติตามที่กำหนดใน (๓) แทนได้
“ใบรับ” หมายความว่า
(ก) บันทึก หรือหนังสือใด ๆ ที่เป็นหลักฐานแสดงว่าได้รับ ได้รับฝากหรือได้รับชำระเงินหรือตั๋วเงิน หรือ
(ข) บันทึก หรือหนังสือใด ๆ ที่เป็นหลักฐานแสดงว่าหนี้หรือสิทธิเรียกร้องได้ชำระหรือปลดให้แล้ว
บันทึก หรือหนังสือที่กล่าวนั้นจะมีลายมือชื่อของบุคคลใด ๆ หรือไม่ ไม่สำคัญ
“พนักงานเจ้าหน้าที่” หมายความว่า เจ้าพนักงานซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้ง
“นายตรวจ”๔ หมายความว่า เจ้าพนักงานซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้ง
๑ มาตรา ๑๐๓ นิยามคำว่า "แสตมป์" แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๘) พ.ศ. ๒๔๙๔
๒ มาตรา ๑๐๓ นิยามคำว่า "ขีดฆ่า" แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๒) พุทธศักราช ๒๔๘๓
๓ มาตรา ๑๐๓ นิยามคำว่า "ปิดแสตมป์บริบูรณ์" แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๔๙๖
๔ มาตรา ๑๐๓ นิยามคำว่า "นายตรวจ" เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร พุทธศักราช ๒๔๘๒