หมวด ๔ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (มาตรา ๕๘ - ๗๗)

 

หมวด ๔
สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน

-------------------------

               มาตรา ๕๘  ให้มีสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน เป็นส่วนราชการที่เป็นหน่วยงานอิสระตามรัฐธรรมนูญ มีฐานะเป็นนิติบุคคล และอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของผู้ว่าการ
               ให้สำนักงานทำหน้าที่เป็นหน่วยธุรการของคณะกรรมการ

               มาตรา ๕๙  สำนักงานมีหน้าที่และอำนาจ ดังต่อไปนี้
               (๑) รับผิดชอบงานธุรการ และดำเนินการเพื่อให้คณะกรรมการบรรลุภารกิจและหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ และกฎหมายอื่น
               (๒) อำนวยความสะดวก ช่วยเหลือ ส่งเสริม และสนับสนุนการปฏิบัติงานของคณะกรรมการ กรรมการ และผู้ว่าการ
               (๓) ดำเนินการเพื่อให้หน่วยรับตรวจมีความรู้ความเข้าใจในหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ มติคณะรัฐมนตรี และแบบแผนการปฏิบัติราชการ
               (๔) จัดให้มีการฝึกอบรมและพัฒนาความรู้ความเข้าใจให้แก่เจ้าหน้าที่และบุคลากรอื่นของสำนักงาน เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมกระบวนการตรวจสอบ
               (๕) ประสานงานและร่วมมือกับหน่วยงานต่างประเทศหรือระหว่างประเทศเกี่ยวกับการตรวจเงินแผ่นดิน
               (๖) จัดทำรายงานผลการปฏิบัติงานประจำปีและรายงานผลการปฏิบัติงานระหว่างปีเสนอต่อคณะกรรมการเพื่อให้คำแนะนำ ข้อเสนอแนะ หรือข้อท้วงติง และพิจารณาเห็นชอบก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และคณะรัฐมนตรีทราบ
               (๗) ติดตามผลการดำเนินงานของหน่วยรับตรวจตามข้อเสนอแนะของสำนักงาน
               (๘) รวบรวมคำสั่งของผู้ว่าการและเจ้าหน้าที่ที่มีถึงหน่วยรับตรวจในส่วนที่เกี่ยวกับผลการตรวจสอบ เพื่อเสนอคณะกรรมการพิจารณาวางหลักเกณฑ์ให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติให้เป็นมาตรฐาน รวมถึงเผยแพร่ให้หน่วยรับตรวจและประชาชนทราบ
               (๙) เผยแพร่ผลการตรวจสอบให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไปตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำหนด
               (๑๐) ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่กฎหมายกำหนดหรือที่คณะกรรมการหรือผู้ว่าการมอบหมาย

               มาตรา ๖๐  ในการกำกับดูแลสำนักงาน ให้คณะกรรมการมีอำนาจออกระเบียบหรือประกาศ ในเรื่องดังต่อไปนี้
               (๑) การแบ่งส่วนราชการภายในของสำนักงานและขอบเขตหน้าที่และอำนาจของส่วนราชการดังกล่าว
               (๒) การกำหนดตำแหน่ง การจัดประเภทตำแหน่งและระดับตำแหน่ง และการเทียบตำแหน่ง อัตราเงินเดือน เงินเพิ่มพิเศษสำหรับตำแหน่ง และค่าตอบแทนพิเศษหรือสิทธิประโยชน์อื่นของเจ้าหน้าที่
               (๓) การกำหนดคุณสมบัติ การคัดเลือก การบรรจุ การแต่งตั้ง การออกจากราชการ วินัย การร้องทุกข์ และการอื่นที่จำเป็นในการบริหารงานบุคคลสำหรับเจ้าหน้าที่
               (๔) การกำหนดวิธีการและเงื่อนไขในการจ้างลูกจ้างของสำนักงาน รวมตลอดทั้งอัตราเงินเดือน เงินเพิ่ม และค่าตอบแทนพิเศษหรือสิทธิประโยชน์อื่นของลูกจ้างของสำนักงาน
               (๕) การกำหนดวิธีการและเงื่อนไขในการจ้างที่ปรึกษาหรือผู้เชี่ยวชาญ เพื่อช่วยการปฏิบัติงานของสำนักงาน รวมตลอดทั้งค่าจ้างหรือค่าตอบแทนอื่นของที่ปรึกษาหรือผู้เชี่ยวชาญ
               (๖) การบริหารจัดการการเงินและทรัพย์สิน การงบประมาณ และการพัสดุของสำนักงาน
               (๗) การจัดสวัสดิการหรือการสงเคราะห์อื่นแก่เจ้าหน้าที่และบุคลากรอื่นของสำนักงาน
               (๘) การกำหนดเครื่องแบบและการแต่งเครื่องแบบของกรรมการ ผู้ว่าการ เจ้าหน้าที่ และบุคลากรอื่นของสำนักงาน
               การดำเนินการตาม (๑) และ (๒) ต้องคำนึงถึงความมีประสิทธิภาพและความคล่องตัว
               การกำหนดตาม (๒) และ (๔) ต้องคำนึงถึงค่าครองชีพ และความเพียงพอในการดำรงชีพและภาระความรับผิดชอบที่แตกต่างกันของบุคลากรแต่ละสายงานและระดับด้วย
               ในการออกระเบียบเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลตามวรรคหนึ่ง ให้คณะกรรมการคำนึงถึงความเที่ยงธรรม ขวัญและกำลังใจของบุคลากร
               ให้ประธานกรรมการเป็นผู้มีหน้าที่ลงนามในระเบียบหรือประกาศที่คณะกรรมการมีมติเห็นชอบแล้ว และเมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้
               การดำเนินการตามมาตรานี้ ต้องไม่มีผลเป็นการให้คณะกรรมการหรือกรรมการมีอำนาจในการบรรจุแต่งตั้ง ย้าย เลื่อนตำแหน่ง หรือขึ้นเงินเดือนเจ้าหน้าที่ เว้นแต่เป็นกรณีของรองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินหรือตำแหน่งอื่นที่เทียบเท่า คณะกรรมการจะกำหนดให้ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการก่อนก็ได้
               เมื่อมีกรณีที่จะต้องแต่งตั้งรองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินหรือผู้ดำรงตำแหน่งอื่นที่เทียบเท่า ให้นำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงแต่งตั้งต่อไป

               มาตรา ๖๑  ข้าราชการสำนักงาน ได้แก่ บุคคลซึ่งได้รับการบรรจุและแต่งตั้งให้เป็นข้าราชการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้
               ให้ข้าราชการสำนักงานเป็นข้าราชการตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ
               การใดอันเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลที่มิได้กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ หรือระเบียบหรือประกาศที่ออกตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ให้นำกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนมาใช้บังคับแก่การบริหารงานบุคคลของเจ้าหน้าที่ด้วยโดยอนุโลม
               การจ่ายเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งให้แก่ข้าราชการสำนักงาน ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น

               มาตรา ๖๒  ภายใต้บังคับมาตรา ๖๐ วรรคหก และเพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามมาตรา ๖๑ ให้คณะกรรมการทำหน้าที่เป็น ก.พ. ตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือน และมีอำนาจแต่งตั้งอนุกรรมการเพื่อทำหน้าที่เป็นคณะอนุกรรมการข้าราชการสำนักงานได้ โดยมีองค์ประกอบและหน้าที่และอำนาจตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด
               ให้คณะอนุกรรมการที่ได้รับแต่งตั้งทำหน้าที่เช่นเดียวกับคณะอนุกรรมการสามัญประจำกระทรวง ตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือน
               ในการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการในฐานะองค์กรกลางบริหารงานบุคคลและคณะอนุกรรมการที่ได้รับการแต่งตั้ง ให้มีสิทธิได้รับค่าเบี้ยประชุมเช่นเดียวกับ ก.พ. หรือ อ.ก.พ. แล้วแต่กรณี

               มาตรา ๖๓  ให้คณะกรรมการออกข้อกำหนดทางจริยธรรมขึ้นใช้บังคับแก่เจ้าหน้าที่และบุคลากรอื่นของสำนักงาน ทั้งนี้ ข้อกำหนดทางจริยธรรมดังกล่าวต้องระบุด้วยว่าการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามจะต้องได้รับโทษอย่างใด

               มาตรา ๖๔  การโอนข้าราชการตามกฎหมายอื่นมาบรรจุเป็นข้าราชการสำนักงาน อาจกระทำได้ถ้าเจ้าตัวสมัครใจ โดยผู้มีอำนาจสั่งบรรจุทำความตกลงกับเจ้าสังกัดแล้วเสนอคณะกรรมการเพื่อพิจารณาอนุมัติ ทั้งนี้ จะแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งระดับใดและได้รับเงินเดือนเท่าใดให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด แต่เงินเดือนที่จะให้ได้รับจะต้องไม่สูงกว่าข้าราชการสำนักงานที่มีคุณวุฒิ ความสามารถ และความชำนาญงานในระดับเดียวกัน
               เพื่อประโยชน์ในการนับเวลาราชการ ให้ถือเวลาราชการหรือเวลาทำงานของผู้ซึ่งโอนมาตามวรรคหนึ่งในขณะที่เป็นข้าราชการนั้น เป็นเวลาราชการของข้าราชการสำนักงานตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ด้วย
               การโอนข้าราชการการเมืองและข้าราชการที่อยู่ในระหว่างทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการมาเป็นข้าราชการสำนักงานตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้จะกระทำมิได้

               มาตรา ๖๕  ในกิจการของสำนักงานที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอก ให้ผู้ว่าการเป็นผู้แทนของสำนักงาน เพื่อการนี้ ผู้ว่าการจะมอบอำนาจให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานแทนก็ได้ ตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด

               มาตรา ๖๖  ในการปฏิบัติการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ผู้ว่าการ เจ้าหน้าที่ และบุคลากรอื่น ต้องแสดงบัตรประจำตัวต่อบุคคลที่เกี่ยวข้อง
               บัตรประจำตัวตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามแบบที่ผู้ว่าการกำหนด โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

               มาตรา ๖๗  ในการปฏิบัติการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ให้ประธานกรรมการ กรรมการ ผู้ว่าการ และเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายตามมาตรา ๕๓ มาตรา ๕๔ และมาตรา ๙๓ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา

               มาตรา ๖๘  ให้ผู้ว่าการโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการเสนองบประมาณรายจ่ายเพื่อจัดสรรเป็นเงินอุดหนุนของคณะกรรมการและสำนักงานไว้ในร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ หรือร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม แล้วแต่กรณี
               ในกรณีที่ผู้ว่าการเห็นว่างบประมาณรายจ่ายที่ได้รับการจัดสรรให้ไม่เพียงพอ ให้ผู้ว่าการโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการเสนอคำขอแปรญัตติต่อคณะกรรมาธิการพิจารณางบประมาณของสภาผู้แทนราษฎรได้โดยตรง
               ในการเสนองบประมาณรายจ่ายดังกล่าวให้ผู้ว่าการพิจารณาผลการตรวจสอบของคณะผู้ตรวจสอบตามมาตรา ๗๔ ประกอบด้วย
               ในการเสนองบประมาณรายจ่ายตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ให้ผู้ว่าการแจ้งให้คณะรัฐมนตรีทราบถึงรายได้และทรัพย์สินที่มีอยู่ด้วย

               มาตรา ๖๙  เมื่อพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณหรือพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมตามมาตรา ๖๘ ใช้บังคับแล้ว ให้สำนักงานจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีเพื่อขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการ และเผยแพร่ให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป
               การใช้จ่ายเงินของสำนักงานต้องเป็นไปตามที่ระบุไว้ในงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามวรรคหนึ่ง เว้นแต่จะได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการเป็นการเฉพาะกรณี
               ในการเบิกงบประมาณที่ได้รับการจัดสรร ให้สำนักงานส่งข้อมูลคำขอเบิกงบประมาณต่อกรมบัญชีกลาง โดยให้ระบุจำนวนเงินที่จะต้องใช้ในแต่ละงวด งวดละสามเดือน และให้กรมบัญชีกลางสั่งจ่ายเงินให้แก่สำนักงานภายในสามวันก่อนวันขึ้นงวดใหม่ แต่ในกรณีที่สำนักงานมีความจำเป็นต้องใช้เงินมากกว่าที่ได้แจ้งไว้ในงวดใด ให้กรมบัญชีกลางจ่ายให้ตามที่สำนักงานร้องขอ

               มาตรา ๗๐  รายได้และทรัพย์สินในการดำเนินกิจการของสำนักงาน ประกอบด้วย
               (๑) เงินอุดหนุนที่ได้รับตามมาตรา ๖๘
               (๒) ทรัพย์สินที่มีผู้อุทิศให้แก่สำนักงาน
               (๓) ดอกผลหรือประโยชน์ของเงินหรือทรัพย์สินของสำนักงาน
               (๔) รายได้อื่นตามที่กฎหมายกำหนด
               ในการรับทรัพย์สินตาม (๒) ให้คำนึงถึงความเป็นกลางในการปฏิบัติหน้าที่ และในกรณีที่คณะกรรมการเห็นว่าการรับทรัพย์สินดังกล่าวอาจมีผลกระทบต่อความเป็นกลางในการปฏิบัติหน้าที่ของสำนักงาน จะสั่งให้สำนักงานไม่รับทรัพย์สินนั้นหรือให้คืนทรัพย์สินนั้นแก่ผู้อุทิศให้ก็ได้
               การใช้จ่ายเงินรายได้ของสำนักงานให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด

               มาตรา ๗๑  รายได้ของสำนักงานไม่เป็นรายได้ที่ต้องนำส่งคลังตามกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง กฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ หรือกฎหมายอื่น
               ให้สำนักงานจัดทำรายงานการรับและการใช้จ่ายเงินตามวรรคหนึ่งเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และคณะรัฐมนตรีเมื่อสิ้นปีงบประมาณทุกปี
               อสังหาริมทรัพย์ซึ่งสำนักงานได้กรรมสิทธิ์มาไม่ว่าจากการซื้อ หรือมีผู้ยกให้ ให้เป็นที่ราชพัสดุ แต่สำนักงานมีอำนาจในการปกครองดูแล ใช้ หรือหาประโยชน์ได้

               มาตรา ๗๒  ทรัพย์สินของสำนักงานไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี และผู้ใดจะยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้มิได้

               มาตรา ๗๓  ให้มีคณะกรรมการกำกับการตรวจสอบเพื่อทำหน้าที่ในการกำกับการปฏิบัติหน้าที่ในการตรวจสอบสำนักงานของคณะผู้ตรวจสอบ และดูแลให้คณะผู้ตรวจสอบมีความอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ตรวจสอบสำนักงาน ประกอบด้วย
               (๑) ประธานวุฒิสภาเป็นประธานกรรมการ
               (๒) ประธานองค์กรอิสระทุกองค์กร ยกเว้นประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน เป็นกรรมการ
               ให้อธิบดีกรมบัญชีกลางเป็นกรรมการและเลขานุการ

               มาตรา ๗๔  ให้กรมบัญชีกลางโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการกำกับการตรวจสอบแต่งตั้งคณะผู้ตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่ในกรมบัญชีกลางขึ้นคณะหนึ่งตามจำนวนที่เพียงพอต่อการปฏิบัติหน้าที่ ทำหน้าที่ในการตรวจสอบสำนักงาน โดยให้คณะผู้ตรวจสอบมีหน้าที่และอำนาจเช่นเดียวกับที่ผู้ว่าการมีหน้าที่และอำนาจในการตรวจเงินแผ่นดินของหน่วยรับตรวจ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์มาตรฐานเกี่ยวกับการตรวจเงินแผ่นดินตามมาตรา ๒๗ (๒) แล้วทำรายงานเสนอผลการตรวจสอบต่อคณะกรรมการกำกับการตรวจสอบ คณะกรรมการ สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และคณะรัฐมนตรี เพื่อทราบและดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจต่อไป รายงานดังกล่าวให้เผยแพร่ให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไปด้วย
               ในการตรวจสอบตามวรรคหนึ่ง ให้คณะผู้ตรวจสอบมีหน้าที่และอำนาจเช่นเดียวกับผู้ว่าการตามมาตรา ๙๓

               มาตรา ๗๕  ให้สำนักงานจัดทำรายงานการเงินประจำปีซึ่งอย่างน้อยต้องประกอบด้วยงบแสดงฐานะการเงินและงบแสดงผลการดำเนินงานทางการเงินของสำนักงานส่งคณะผู้ตรวจสอบ ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันสิ้นปีงบประมาณ

               มาตรา ๗๖  ให้สำนักงานจัดให้มีระบบการตรวจสอบภายในเพื่อตรวจสอบการดำเนินงานต่าง ๆ ของสำนักงานและกองทุน ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด

               มาตรา ๗๗  ให้สำนักงานทำรายงานผลการปฏิบัติงานประจำปีเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ ภายในสองร้อยสิบวันนับแต่วันสิ้นปีงบประมาณ ทั้งนี้ ให้ประธานกรรมการหรือกรรมการที่คณะกรรมการมอบหมายและผู้ว่าการมาแถลงรายงานดังกล่าวต่อสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และคณะรัฐมนตรีด้วย
               รายงานผลการปฏิบัติงานตามวรรคหนึ่งจะต้องรายงานผลการปฏิบัติงานที่สำคัญในทุกด้าน โดยเฉพาะด้านผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพของการใช้จ่ายเงินของหน่วยรับตรวจ เว้นแต่เป็นเรื่องที่คณะกรรมการเห็นว่าควรแก่การรักษาไว้เป็นความลับหรือมีกฎหมายห้ามมิให้เปิดเผย
               ในกรณีเพื่อประโยชน์ทางราชการ สำนักงานจะจัดทำรายงานเผยแพร่เป็นครั้งคราวนอกเหนือจากรายงานตามวรรคหนึ่งก็ได้