หมวด ๓ ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (มาตรา ๔๐ - ๕๗)

 

หมวด ๓
ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน

-------------------------

               มาตรา ๔๐  ให้มีผู้ว่าการคนหนึ่งซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภา โดยได้รับการเสนอชื่อจากคณะกรรมการ
               ผู้ว่าการต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามเช่นเดียวกับกรรมการ

               มาตรา ๔๑  เมื่อมีกรณีที่จะต้องแต่งตั้งผู้ว่าการ ให้คณะกรรมการดำเนินการสรรหาบุคคลที่สมควรได้รับการเสนอชื่อเพื่อแต่งตั้งเป็นผู้ว่าการ

               มาตรา ๔๒  ในการสรรหาผู้ว่าการ ให้คณะกรรมการประกาศรับสมัครบุคคลเพื่อเข้ารับการสรรหาเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่าสามสิบวัน ซึ่งต้องกระทำโดยเปิดเผย และให้มีการประกาศรายชื่อบุคคลที่จะเข้ารับการสรรหาให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป เพื่อรับฟังข้อมูลเกี่ยวกับความเหมาะสมของผู้เข้ารับการสรรหาดังกล่าวเพื่อประกอบการพิจารณาในการสรรหาด้วย
               หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการสมัคร และระยะเวลาที่จะใช้ในการสรรหาทุกขั้นตอน ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการกำหนด

               มาตรา ๔๓  ให้คณะกรรมการปรึกษาหารือเพื่อคัดเลือกให้ได้บุคคลซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์เกี่ยวกับการตรวจเงินแผ่นดิน กฎหมาย การบัญชี การตรวจสอบภายใน การเงินการคลัง และด้านอื่นที่เป็นประโยชน์ต่อการตรวจเงินแผ่นดิน และเป็นผู้ที่มีความรับผิดชอบสูง มีความกล้าหาญและความซื่อสัตย์สุจริตในการปฏิบัติหน้าที่ และมีพฤติกรรมทางจริยธรรมเป็นตัวอย่างที่ดีของสังคม รวมตลอดทั้งมีทัศนคติที่เหมาะสมในการปฏิบัติหน้าที่ให้เกิดผลสำเร็จ

               มาตรา ๔๔  ในการสรรหา ให้ใช้วิธีลงคะแนนโดยเปิดเผย และให้กรรมการแต่ละคนบันทึกเหตุผลในการลงคะแนนของตนไว้ด้วย
               ผู้ซึ่งจะได้รับการเสนอชื่อเพื่อแต่งตั้งเป็นผู้ว่าการต้องได้รับคะแนนเสียงถึงสองในสามของจำนวนทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของคณะกรรมการ ในกรณีที่ไม่มีผู้ได้รับคะแนนเสียงถึงสองในสามให้ดำเนินการ ดังต่อไปนี้
               (๑) ในกรณีมีผู้สมัครคนเดียว ให้ดำเนินการสรรหาใหม่
               (๒) ในกรณีมีผู้สมัครสองคนให้ลงคะแนนใหม่อีกครั้งหนึ่ง ถ้ายังไม่มีผู้ใดได้คะแนนเสียงถึงสองในสาม ให้ดำเนินการสรรหาใหม่
               (๓) ในกรณีมีผู้สมัครเกินสองคนขึ้นไป ให้นำผู้ที่ได้รับคะแนนสูงสุดสองลำดับแรกมาลงคะแนนใหม่ ถ้ายังไม่มีผู้ใดได้คะแนนเสียงถึงสองในสาม ให้ดำเนินการสรรหาใหม่
               ถ้ามีผู้ได้รับคะแนนเท่ากันจนเป็นเหตุให้มีผู้ได้คะแนนสูงสุดเกินสองคน ให้ประธานกรรมการจับสลากผู้ที่ได้รับคะแนนเท่ากันเพื่อให้เหลือสองคนแล้วจึงลงคะแนน

               มาตรา ๔๕  เมื่อคณะกรรมการคัดเลือกบุคคลที่สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ว่าการได้แล้ว ให้เสนอชื่อผู้ได้รับการคัดเลือกพร้อมความยินยอมของผู้นั้นต่อประธานวุฒิสภา
               ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๑๘ มาใช้บังคับแก่ผู้ซึ่งได้รับการคัดเลือกด้วยโดยอนุโลม

               มาตรา ๔๖  ผู้ได้รับการเสนอชื่อเพื่อแต่งตั้งเป็นผู้ว่าการ ต้องได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภาด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกวุฒิสภาทั้งหมดเท่าที่มีอยู่
               ในกรณีที่วุฒิสภาไม่ให้ความเห็นชอบผู้ได้รับการเสนอชื่อ ให้ดำเนินการสรรหาบุคคลใหม่แทนผู้นั้น แล้วเสนอต่อวุฒิสภาเพื่อให้ความเห็นชอบต่อไป โดยผู้ซึ่งไม่ได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภาในครั้งนี้จะเข้ารับการสรรหาในครั้งใหม่นี้ไม่ได้
               ให้ประธานวุฒิสภานำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงแต่งตั้งผู้ว่าการ และเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ

               มาตรา ๔๗  ให้ผู้ว่าการมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละหกปีนับแต่วันที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง และให้ดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว

               มาตรา ๔๘  ให้ผู้ว่าการมีความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่โดยรับผิดชอบต่อคณะกรรมการ และเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของสำนักงาน
               ในการปฏิบัติหน้าที่ตามวรรคหนึ่ง ผู้ว่าการพึงรับฟังคำแนะนำ ข้อเสนอแนะ หรือข้อท้วงติงของคณะกรรมการซึ่งต้องไม่กระทบต่อความเป็นอิสระในการตรวจเงินแผ่นดินของผู้ว่าการ

               มาตรา ๔๙  ผู้ว่าการต้องปฏิบัติหน้าที่เต็มเวลา และการปฏิบัติหน้าที่และการใช้อำนาจของผู้ว่าการต้องเป็นไปโดยสุจริต เที่ยงธรรม กล้าหาญ และปราศจากอคติทั้งปวงในการใช้ดุลพินิจ และปฏิบัติตนให้ถูกต้องตามมาตรฐานทางจริยธรรม ในระหว่างการดำรงตำแหน่ง ผู้ว่าการจะเข้ารับการศึกษาหรืออบรมในหลักสูตรหรือโครงการใด ๆ มิได้ เว้นแต่เป็นหลักสูตรหรือโครงการที่จัดขึ้นโดยเฉพาะสำหรับกรรมการและผู้ว่าการ

               มาตรา ๕๐  นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ ผู้ว่าการพ้นจากตำแหน่งเมื่อ
               (๑) ตาย
               (๒) ลาออก
               (๓) ขาดคุณสมบัติตามมาตรา ๑๓ หรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๔
               (๔) คณะกรรมการมีมติให้พ้นจากตำแหน่งด้วยคะแนนเสียงสามในสี่ของกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ เนื่องจากจงใจฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามนโยบายการตรวจเงินแผ่นดินหรือหลักเกณฑ์มาตรฐานเกี่ยวกับการตรวจเงินแผ่นดินที่คณะกรรมการกำหนดและเมื่อคณะกรรมการสั่งให้แก้ไขแล้วไม่ดำเนินการภายในเวลาอันสมควรจนอาจก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อทางราชการ
               (๕) พ้นจากตำแหน่งด้วยเหตุอื่นตามรัฐธรรมนูญ
               (๖) ไม่สามารถทำงานได้เต็มเวลา

               มาตรา ๕๑  ในกรณีที่ผู้ว่าการต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่เพราะถูกกล่าวหาและศาลฎีกาหรือศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองประทับรับฟ้อง ให้รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินซึ่งมีอาวุโสสูงสุดปฏิบัติหน้าที่แทน จนกว่าผู้ว่าการจะปฏิบัติหน้าที่ได้ หรือจนกว่าจะมีการแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการแทน
               หลักเกณฑ์การกำหนดอาวุโสตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามระเบียบที่ผู้ว่าการโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการกำหนด

               มาตรา ๕๒  ให้ผู้ว่าการได้รับเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง ค่ารับรองเหมาจ่ายและประโยชน์ตอบแทนอื่นเช่นเดียวกับกรรมการ

               มาตรา ๕๓  ให้ผู้ว่าการมีหน้าที่และอำนาจ ดังต่อไปนี้
               (๑) ตรวจเงินแผ่นดินตามนโยบายการตรวจเงินแผ่นดินและหลักเกณฑ์มาตรฐานเกี่ยวกับการตรวจเงินแผ่นดินที่คณะกรรมการกำหนด และตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ
               (๒) ตรวจผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพในการใช้จ่ายเงินของหน่วยงานของรัฐ
               (๓) มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการตาม (๑) และ (๒)
               (๔) กำกับและรับผิดชอบในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตาม (๓)
               ในการตรวจเงินแผ่นดินสำหรับหน่วยรับตรวจตามบทนิยามคำว่า “หน่วยรับตรวจ” ตามมาตรา ๔ (๗) ให้ตรวจเฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับเงินอุดหนุนหรือกิจการที่ได้รับเงินหรือทรัพย์สินลงทุนจากหน่วยรับตรวจตามบทนิยามคำว่า “หน่วยรับตรวจ” ตามมาตรา ๔ (๑) (๒) (๓) (๔) หรือ (๖) ว่ามีการใช้จ่ายไปตามวัตถุประสงค์หรือไม่

               มาตรา ๕๔  นอกจากหน้าที่และอำนาจตามมาตรา ๕๓ ให้ผู้ว่าการมีหน้าที่และอำนาจ ดังต่อไปนี้ด้วย
               (๑) กำหนดแผนการตรวจสอบประจำปีเพื่อให้สำนักงานถือปฏิบัติ และเสนอคณะกรรมการเพื่อทราบ
               (๒) ตรวจสอบรายงานการเงินแผ่นดินประจำปีงบประมาณ และแสดงความเห็นว่าเป็นไปตามกฎหมายและตามความเป็นจริงหรือไม่
               (๓) ตรวจสอบบัญชีทุนสำรองเงินตราประจำปี และแสดงความเห็นว่าเป็นไปตามกฎหมายและตามความเป็นจริงหรือไม่
               (๔) แจ้งผลการตรวจสอบและติดตามให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจเพื่อให้เป็นไปตามผลการตรวจสอบ
               (๕) วางระเบียบเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของสำนักงานเท่าที่ไม่ขัดกับระเบียบหรือประกาศหรือมติของคณะกรรมการ
               (๖) แต่งตั้งที่ปรึกษาหรือผู้เชี่ยวชาญในสาขาวิชาการหรือในกิจการต่าง ๆ เพื่อช่วยการปฏิบัติงานของสำนักงาน ทั้งนี้ ตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด
               (๗) จัดจ้างและกำหนดค่าจ้างที่ปรึกษาหรือผู้เชี่ยวชาญในการปฏิบัติงานของสำนักงาน ทั้งนี้ ตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด
               (๘) มอบหมายเจ้าหน้าที่เพื่อปฏิบัติการตาม (๒) (๓) และ (๔) และมาตรา ๗ วรรคสาม รวมถึงรับผิดชอบในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ดังกล่าว
               (๙) ปฏิบัติหน้าที่อื่นใดตามที่มีกฎหมายกำหนดหรือตามที่คณะกรรมการมอบหมาย
               การกำหนดแผนการตรวจสอบตาม (๑) ต้องสอดคล้องกับนโยบายการตรวจเงินแผ่นดินและหลักเกณฑ์มาตรฐานเกี่ยวกับการตรวจเงินแผ่นดินที่คณะกรรมการกำหนด

               มาตรา ๕๕  การใช้หน้าที่และอำนาจตามมาตรา ๕๓ และมาตรา ๕๔ นั้น ห้ามมิให้ผู้ว่าการหรือเจ้าหน้าที่ที่ผู้ว่าการมอบหมายดำเนินการสอบบัญชีโดยมีการเรียกค่าใช้จ่ายจากหน่วยรับตรวจ อันเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์

               มาตรา ๕๖  ห้ามมิให้มีการเปิดเผยหรือเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการตรวจสอบที่อยู่ระหว่างการดำเนินการให้สาธารณชนทราบ จนกว่าจะได้ข้อยุติเกี่ยวกับการตรวจสอบนั้นแล้ว เว้นแต่เป็นกรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการระงับความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นแก่ทางราชการ ผู้ว่าการจะเปิดเผยหรือเผยแพร่ข้อมูลที่จะเป็นประโยชน์ดังกล่าวก็ได้ตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด แต่ไม่ว่าจะเป็นกรณีใด การเปิดเผยต้องไม่มีลักษณะเป็นการวินิจฉัยว่ามีการกระทำความผิดเกิดขึ้นแล้ว

               มาตรา ๕๗  ในกรณีที่หน่วยรับตรวจสอบถามเกี่ยวกับการปฏิบัติให้ถูกต้องตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ กฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ หรือในเรื่องที่อยู่ในอำนาจการตรวจสอบของผู้ว่าการ ให้ผู้ว่าการหรือเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายตอบข้อสอบถามเป็นหนังสือโดยเร็ว ซึ่งต้องไม่ช้ากว่าสามสิบวันนับแต่วันได้รับการสอบถาม
               ในกรณีที่หน่วยรับตรวจได้ปฏิบัติตามที่ได้รับแจ้งตามวรรคหนึ่ง หรือตามที่หน่วยงานที่เป็นผู้มีหน้าที่ดูแลการปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ มติคณะรัฐมนตรี หรือแบบแผนการปฏิบัติราชการได้แจ้งให้ทราบแล้ว มิให้ถือว่าเป็นการกระทำที่ไม่ชอบหรือไม่ถูกต้อง แต่ไม่ตัดอำนาจผู้ว่าการที่จะแก้ไขคำตอบหรือโต้แย้งกับหน่วยงานที่เป็นผู้มีหน้าที่ดูแลการปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ มติคณะรัฐมนตรี หรือแบบแผนการปฏิบัติราชการดังกล่าว และในกรณีที่มีข้อยุติที่แตกต่างไป มิให้มีผลกระทบกับการกระทำที่ได้ดำเนินการไปก่อนแล้ว