หมวด ๙ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (มาตรา ๑๔๑ - ๑๖๑)

 

หมวด ๙
สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ

-------------------------

               มาตรา ๑๔๑  ให้มีสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรียกโดยย่อว่า “สำนักงาน ป.ป.ช.” เป็นส่วนราชการและมีฐานะเป็นนิติบุคคล รับผิดชอบขึ้นตรงต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.

               มาตรา ๑๔๒  สำนักงานมีหน้าที่และอำนาจ ดังต่อไปนี้
               (๑) รับผิดชอบงานธุรการ และดำเนินการเพื่อให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. บรรลุภารกิจและหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ และกฎหมายอื่น
               (๒) อำนวยความสะดวก ประสานงาน ให้ความร่วมมือ ส่งเสริม และสนับสนุนการปฏิบัติงานของคณะกรรมการ ป.ป.ช. และกรรมการ
               (๓) ประสานงานและให้ความร่วมมือระหว่างประเทศเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
               (๔) ดำเนินการหรือจัดให้มีการรวบรวม วิเคราะห์ ศึกษาวิจัย และเผยแพร่ข้อมูลและความรู้เกี่ยวกับการทุจริตและประพฤติมิชอบและอันตรายของการทุจริตและประพฤติมิชอบทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน
               (๕) ส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนรวมตัวกันเพื่อมีส่วนร่วมในการรณรงค์ให้ความรู้ ต่อต้าน หรือชี้เบาะแส ตามกลไกที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนดตามมาตรา ๓๓
               (๖) เสนอแนะและให้คำปรึกษาแก่หน่วยงานราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น หรือเจ้าพนักงานของรัฐ หรือภาคเอกชน เกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
               (๗) จัดทำระบบสารสนเทศของข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องที่อยู่ในระหว่างการดำเนินการของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งอย่างน้อยต้องระบุผู้รับผิดชอบและความคืบหน้าของการดำเนินการของแต่ละเรื่อง เพื่อกรรมการจะได้ตรวจสอบได้ตลอดเวลา
               (๘) ปฏิบัติการอื่นตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มอบหมาย และตามที่กฎหมายบัญญัติ
               ในการดำเนินการตาม (๖) สำนักงานต้องตอบข้อหารือภายในสามสิบวัน เว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นอันไม่อาจดำเนินการให้แล้วเสร็จตามระยะเวลาดังกล่าว ประธานกรรมการอาจขยายระยะเวลาออกไปตามที่จำเป็นได้แต่รวมแล้วต้องไม่เกินเก้าสิบวัน

               มาตรา ๑๔๓  ในการกำกับดูแลสำนักงาน ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจออกระเบียบหรือประกาศในเรื่องดังต่อไปนี้
               (๑) การจัดแบ่งส่วนงานภายในของสำนักงาน และขอบเขตหน้าที่ของส่วนงานดังกล่าว
               (๒) การบริหารและจัดการการเงินและทรัพย์สิน การงบประมาณ และการพัสดุของสำนักงาน
               (๓) การวางระเบียบว่าด้วยการจัดทำ การเปิดเผย การเผยแพร่ การเก็บรักษา และการทำลายเอกสารและข้อมูลที่อยู่ในความครอบครองของคณะกรรมการ ป.ป.ช. และสำนักงาน ทั้งนี้ ในการเผยแพร่ข้อมูลให้จัดทำสำหรับคนพิการที่จะสามารถเข้าถึงได้ด้วย
               (๔) วางระเบียบเก็บรักษาและบริหารจัดการพยานหลักฐานของกลางในคดีและทรัพย์สิน รวมทั้งการจำหน่าย การมอบหมายให้ผู้อื่นเก็บรักษา หรือจำหน่ายทรัพย์สินดังกล่าว
               (๕) กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการจ่ายค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าที่พัก ค่าเดินทาง ค่าใช้จ่ายอื่น และค่าตอบแทนของพยานบุคคลหรือผู้ซึ่งช่วยปฏิบัติหน้าที่ตามคำร้องขอของพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้
               (๖) วางระเบียบเกี่ยวกับการแต่งตั้งคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ และคณะบุคคล เพื่อช่วยเหลือคณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือสำนักงานในการปฏิบัติหน้าที่ที่ไม่ใช่การไต่สวน และกำหนดเบี้ยประชุมให้แก่บุคคลที่ได้รับแต่งตั้งดังกล่าว
               (๗) วางระเบียบเกี่ยวกับการกำหนดเบี้ยประชุมของคณะกรรมการไต่สวนตามมาตรา ๕๑ คณะกรรมการตามมาตรา ๓๓ วรรคสอง และคณะอนุกรรมการตามมาตรา ๓๓ วรรคสาม
               การดำเนินการตาม (๑) ต้องคำนึงถึงความมีประสิทธิภาพ ความคุ้มค่า และความคล่องตัว
               ระเบียบหรือประกาศตามวรรคหนึ่ง ให้ประธานกรรมการเป็นผู้ลงนามและเมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้

               มาตรา ๑๔๔  ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นองค์กรกลางบริหารงานบุคคลของสำนักงาน ทำหน้าที่เกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของสำนักงาน มีอำนาจออกระเบียบหรือประกาศในเรื่องดังต่อไปนี้
               (๑) การกำหนดตำแหน่ง อัตราเงินเดือน เงินเพิ่มพิเศษสำหรับตำแหน่ง และค่าตอบแทนหรือสิทธิและประโยชน์อื่นของเลขาธิการ ข้าราชการ พนักงานราชการ และลูกจ้างของสำนักงาน
               (๒) การคัดเลือก การบรรจุ การแต่งตั้ง การโอน การถอดถอน คุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม การกำหนดมาตรฐานทางจริยธรรม สมรรถภาพ การประเมินผลการปฏิบัติงาน การดำเนินการสอบสวนทางวินัย การออกจากตำแหน่ง การร้องทุกข์และการอุทธรณ์การลงโทษ และการอื่นใดอันเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลสำหรับเลขาธิการ ข้าราชการ พนักงานราชการ และลูกจ้างของสำนักงาน รวมทั้งวิธีการและเงื่อนไขในการจ้างพนักงานราชการและลูกจ้างของสำนักงาน
               (๓) การรักษาราชการแทน การปฏิบัติราชการแทน และการรักษาการในตำแหน่งของข้าราชการของสำนักงาน
               (๔) วันเวลาทำงาน วันหยุดราชการตามประเพณี และวันหยุดราชการประจำปี
               (๕) การกำหนดเครื่องแบบและการแต่งเครื่องแบบของกรรมการ เลขาธิการ ข้าราชการ พนักงานราชการ และลูกจ้างของสำนักงาน
               (๖) การจ้างและการแต่งตั้งบุคคลเพื่อเป็นที่ปรึกษา ผู้เชี่ยวชาญ หรือเป็นผู้ชำนาญการเฉพาะด้าน อันจะเป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติราชการของสำนักงาน รวมตลอดทั้งค่าจ้างหรือค่าตอบแทนอื่นให้แก่บุคคลดังกล่าว
               (๗) การจัดสวัสดิการหรือการสงเคราะห์อื่นแก่เลขาธิการ ข้าราชการ พนักงานราชการ และลูกจ้างของสำนักงาน
               (๘) การรักษาทะเบียนประวัติและควบคุมการเกษียณอายุของข้าราชการสำนักงาน
               การกำหนดตำแหน่งตาม (๑) อย่างน้อยต้องกำหนดให้มีตำแหน่งผู้ช่วยพนักงานไต่สวนและพนักงานไต่สวน โดยผู้ช่วยพนักงานไต่สวนและพนักงานไต่สวนต้องมีคุณสมบัติเฉพาะตำแหน่งตามมาตรา ๑๔๖ (๑) ด้วย
               ในการปฏิบัติหน้าที่ตามวรรคหนึ่งให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. แต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิจากบุคคลภายนอกด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล ด้านการบริหารและการจัดการ หรือด้านการงบประมาณ จำนวนไม่เกินสามคนร่วมเป็นกรรมการ โดยให้เลขาธิการเป็นกรรมการและเลขานุการ และอาจแต่งตั้งข้าราชการสำนักงานจำนวนไม่เกินสามคนเป็นผู้ช่วยเลขานุการ ทั้งนี้ อาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อกำกับดูแลหรือพิจารณาคำร้องทุกข์หรือคำอุทธรณ์ที่เป็นอิสระ และอาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อปฏิบัติการใด ๆ ตามที่ได้รับมอบหมาย หรือทำหน้าที่ในคณะอนุกรรมการสามัญประจำกระทรวงตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนด้วยก็ได้ โดยมีองค์ประกอบและหน้าที่และอำนาจตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะองค์กรกลางบริหารงานบุคคลของสำนักงานกำหนด
               ในการออกระเบียบหรือประกาศเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลตามวรรคหนึ่ง ให้คำนึงถึงความเที่ยงธรรม ขวัญและกำลังใจของบุคลากร โดยเฉพาะการกำหนดตาม (๑) ต้องคำนึงถึงค่าครองชีพและความเพียงพอในการดำรงชีพ และภาระความรับผิดชอบที่แตกต่างกันของข้าราชการ พนักงานราชการ และลูกจ้างแต่ละสายงานและระดับด้วย
               ระเบียบหรือประกาศตามวรรคหนึ่ง ให้ประธานกรรมการเป็นผู้ลงนาม และเมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้
               ให้นำกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนมาใช้บังคับกับวินัยและการลงโทษทางวินัยแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ด้วยโดยอนุโลม
               การปฏิบัติหน้าที่องค์กรกลางบริหารงานบุคคลของสำนักงาน และคณะอนุกรรมการที่ได้รับแต่งตั้งให้มีสิทธิได้รับค่าเบี้ยประชุมเช่นเดียวกับ ก.พ. หรือ อ.ก.พ. วิสามัญ แล้วแต่กรณี
               ในส่วนที่เกี่ยวกับการนำกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนมาใช้บังคับโดยอนุโลม คำว่า “ก.พ.” ให้หมายถึง “คณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะองค์กรกลางบริหารงานบุคคลของสำนักงาน ป.ป.ช.” และคำว่า “ส่วนราชการที่มีหัวหน้าส่วนราชการรับผิดชอบในการปฏิบัติราชการขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี” ให้หมายถึง “สำนักงาน ป.ป.ช.”

               มาตรา ๑๔๕  ข้าราชการสำนักงาน ได้แก่ บุคคลซึ่งได้รับบรรจุและแต่งตั้งให้เป็นข้าราชการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้
               ให้ข้าราชการสำนักงานเป็นข้าราชการตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการและให้มีสิทธิได้รับบำเหน็จบำนาญ และสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น
               การจ่ายเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง ให้เป็นไปตามระเบียบที่กำหนด

               มาตรา ๑๔๖  ตำแหน่งของข้าราชการสำนักงานให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด โดยให้จำแนกประเภทตำแหน่งดังต่อไปนี้
               (๑) ข้าราชการสำนักงาน สาขากระบวนการยุติธรรม ต้องเป็นผู้มีพื้นความรู้สำเร็จการศึกษาระดับตั้งแต่ปริญญาโททางกฎหมายขึ้นไป หรือสอบไล่ได้เป็นเนติบัณฑิตตามหลักสูตรของสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา หรือสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีทางกฎหมายและปริญญาสาขาอื่นอันจะยังประโยชน์ต่อการปฏิบัติงานของสำนักงาน ทั้งนี้ จะต้องมีความรู้และประสบการณ์ที่เป็นประโยชน์ในการไต่สวนและวินิจฉัยคดี หรือการให้ความเห็นทางกฎหมาย หรือการดำเนินคดีในชั้นศาล ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด
               (๒) ข้าราชการสำนักงานประเภททั่วไป ให้จำแนกประเภทตำแหน่งตามสาขาอาชีพและตามภารกิจของลักษณะงานที่ได้รับมอบหมาย ทั้งนี้ โดยจะมีตำแหน่งประเภทวิชาการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนด้วยก็ได้
               ในส่วนของตำแหน่งทางบริหารตาม (๑) และ (๒) ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ประกาศกำหนด
               คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะแต่งตั้งเลขาธิการ รองเลขาธิการ ผู้ช่วยเลขาธิการ และผู้ดำรงตำแหน่งระดับผู้อำนวยการ หรือตำแหน่งที่เทียบเท่าในสำนักงานให้เป็นหัวหน้าพนักงานไต่สวนด้วยก็ได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด

               มาตรา ๑๔๗  มาตรฐานทางจริยธรรมที่กำหนดตามมาตรา ๑๔๔ (๒) ต้องระบุด้วยว่าการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามจะต้องได้รับโทษอย่างใด
               ในกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยโดยมีหลักฐานตามสมควรว่าข้าราชการหรือลูกจ้างของสำนักงานผู้ใดกระทำการใดโดยไม่สุจริตหรือเอื้อประโยชน์หรือกลั่นแกล้งผู้ใดในการปฏิบัติหน้าที่ ให้ดำเนินการทางวินัยโดยเร็ว และในระหว่างนั้นให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ย้ายผู้นั้นให้พ้นจากตำแหน่งหน้าที่หรือจากท้องที่ที่ผู้นั้นปฏิบัติหน้าที่อยู่ทันที
               ให้นำความในวรรคหนึ่งและวรรคสองมาใช้บังคับแก่เลขาธิการด้วยโดยอนุโลม โดยให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ไว้พลางก่อนได้

               มาตรา ๑๔๘  ให้สำนักงานมีเลขาธิการเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการและลูกจ้างของสำนักงานและรับผิดชอบการปฏิบัติงานของสำนักงาน ขึ้นตรงต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะกำหนดให้มีรองเลขาธิการ ผู้ช่วยเลขาธิการ หรือตำแหน่งอื่นที่เทียบเท่า เป็นผู้ช่วยสั่งและปฏิบัติราชการด้วยก็ได้
               วิธีการได้มาซึ่งเลขาธิการให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด
               เมื่อมีกรณีที่จะแต่งตั้งเลขาธิการ รองเลขาธิการ หรือตำแหน่งอื่นที่เทียบเท่าให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. เสนอเรื่องต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งต่อไป

               มาตรา ๑๔๙  เลขาธิการต้องเป็นผู้มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ปฏิบัติหน้าที่และใช้อำนาจโดยสุจริต เที่ยงธรรม กล้าหาญ เป็นกลาง มีจริยธรรมที่ดี และปราศจากอคติทั้งปวง และมีคุณวุฒิ ประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญอันจะเป็นประโยชน์แก่การปฏิบัติงานของสำนักงานตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด
               เลขาธิการมีวาระการดำรงตำแหน่งห้าปีนับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้ง และให้ดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว

               มาตรา ๑๕๐  นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระแล้ว เลขาธิการพ้นจากตำแหน่ง เมื่อ
               (๑) ตาย
               (๒) พ้นจากราชการตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือเพราะขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๔๔ (๒)
               (๓) ลาออก
               (๔) คณะกรรมการ ป.ป.ช. เสนอเรื่องต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พ้นจากตำแหน่งเพราะไม่ผ่านการประเมิน ตามระเบียบหรือประกาศที่ออกตามมาตรา ๑๔๔ (๒)
               กรณีที่เลขาธิการพ้นตำแหน่งตามวาระแต่ยังไม่พ้นจากราชการตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือพ้นจากตำแหน่งก่อนครบวาระตามวรรคหนึ่ง (๓) และ (๔) ให้บุคคลดังกล่าวดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาประจำสำนักงาน หรือตำแหน่งอื่นใดซึ่งมีตำแหน่งเทียบเท่า

               มาตรา ๑๕๑  เลขาธิการมีหน้าที่และอำนาจควบคุมดูแลการปฏิบัติงานโดยทั่วไปของสำนักงานให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ ประกาศ และมติของคณะกรรมการ ป.ป.ช. และให้มีหน้าที่และอำนาจดังต่อไปนี้ด้วย
               (๑) บรรจุ แต่งตั้ง โอน ถอดถอน เลื่อนเงินเดือนหรือค่าจ้าง ลงโทษทางวินัยข้าราชการ พนักงานราชการ หรือลูกจ้างของสำนักงาน ตลอดจนให้ข้าราชการ พนักงานราชการ และลูกจ้างของสำนักงานออกจากตำแหน่ง ทั้งนี้ ตามระเบียบของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตามมาตรา ๑๔๔ (๒)
               (๒) วางระเบียบเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของสำนักงานเท่าที่ไม่ขัดกับระเบียบ หรือประกาศ หรือมติของคณะกรรมการ ป.ป.ช.
               (๓) หน้าที่และอำนาจตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้หรือกฎหมายอื่น และตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด

               มาตรา ๑๕๒  ในกิจการของสำนักงานที่เกี่ยวข้องกับบุคคลภายนอก ให้เลขาธิการเป็นผู้แทนของสำนักงาน  เพื่อการนี้ เลขาธิการจะมอบอำนาจให้บุคคลใดปฏิบัติราชการเฉพาะอย่างแทนก็ได้ ทั้งนี้ ต้องเป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
               ในการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ถ้าเป็นกิจการสำคัญเกี่ยวกับการงบประมาณของสำนักงาน และกิจการอื่นใดที่มีผลต่อการปฏิบัติภารกิจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด ให้เลขาธิการขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. ก่อน

               มาตรา ๑๕๓  ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. เสนองบประมาณรายจ่ายเพื่อจัดสรรเป็นเงินอุดหนุนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. และสำนักงานไว้ในร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีหรือร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม แล้วแต่กรณี
               ในกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นว่างบประมาณรายจ่ายที่ได้รับการจัดสรรให้ไม่เพียงพอ ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. เสนอคำขอแปรญัตติต่อคณะกรรมาธิการพิจารณางบประมาณของสภาผู้แทนราษฎรได้โดยตรง
               ในการเสนองบประมาณรายจ่ายตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. แจ้งให้คณะรัฐมนตรีทราบถึงรายได้และทรัพย์สินที่มีอยู่ด้วย

               มาตรา ๑๕๔  เมื่อพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีหรือพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมตามมาตรา ๑๕๓ ใช้บังคับแล้ว ให้สำนักงานจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีเพื่อขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. และเผยแพร่ให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป
               การใช้จ่ายเงินของสำนักงานต้องเป็นไปตามที่ระบุไว้ในงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามวรรคหนึ่ง เว้นแต่จะได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นการเฉพาะกรณี
               ในการเบิกงบประมาณที่ได้รับการจัดสรร ให้สำนักงานส่งข้อมูลคำขอเบิกงบประมาณต่อกรมบัญชีกลาง โดยให้ระบุจำนวนเงินที่จะต้องใช้ในแต่ละงวด งวดละสามเดือน และให้กรมบัญชีกลางสั่งจ่ายเงินให้แก่สำนักงานภายในสามวันก่อนวันขึ้นงวดใหม่ แต่ในกรณีที่สำนักงานมีความจำเป็นต้องใช้เงินมากกว่าที่ได้แจ้งไว้ในงวดใด ให้กรมบัญชีกลางจ่ายให้ตามที่สำนักงานร้องขอ

               มาตรา ๑๕๕  ทรัพย์สินของสำนักงานไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีและผู้ใดจะยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้มิได้

               มาตรา ๑๕๖  ให้สำนักงานจัดทำงบดุล งบการเงิน และบัญชีทำการ ส่งผู้สอบบัญชีภายในเก้าสิบวันนับแต่วันสิ้นปีบัญชี
               ให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเป็นผู้สอบบัญชีของสำนักงาน โดยให้ทำการตรวจสอบรับรองบัญชีและการเงินทุกประเภทของสำนักงาน โดยแสดงให้เห็นด้วยว่าการใช้จ่ายดังกล่าวเป็นไปตามวัตถุประสงค์ ประหยัด ได้ผลตามเป้าหมาย มีประสิทธิภาพ เกิดผลสัมฤทธิ์ และคุ้มค่าเพียงใดแล้วทำรายงานเสนอผลการสอบบัญชีต่อรัฐสภาและคณะรัฐมนตรีโดยไม่ชักช้า

               มาตรา ๑๕๗  ภายใต้บังคับกฎหมายว่าด้วยอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน และกฎหมายว่าด้วยการควบคุมยุทธภัณฑ์ เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ให้กรรมการ กรรมการไต่สวน หัวหน้าพนักงานไต่สวน พนักงานไต่สวน และพนักงานเจ้าหน้าที่ มี ใช้ และพกพาอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน ยุทธภัณฑ์ และอุปกรณ์เกี่ยวข้องเพื่อความปลอดภัยเท่าที่จำเป็น ทั้งนี้ การมี การใช้ และการพกพาอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน ยุทธภัณฑ์ และอุปกรณ์เกี่ยวข้อง ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด

               มาตรา ๑๕๘  ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตั้งแต่ระดับผู้อำนวยการกองขึ้นไป ผู้ช่วยพนักงานไต่สวน พนักงานไต่สวน หัวหน้าพนักงานไต่สวน และพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งมีตำแหน่งและหน้าที่เกี่ยวกับการตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สิน มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของตน คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ รวมทั้งทรัพย์สินที่มอบหมายให้อยู่ในความครอบครองหรือดูแลของบุคคลอื่น ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อตรวจสอบและเปิดเผยผลการตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สิน ในการตรวจสอบดังกล่าว เพื่อให้เกิดธรรมาภิบาลและเป็นการป้องกันการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนดระเบียบมอบหมายให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินเป็นการเฉพาะก็ได้
               ให้นำความในมาตรา ๔๓ มาใช้บังคับกับการดำเนินคดีกับบุคคลตามวรรคหนึ่งด้วยโดยอนุโลม

               มาตรา ๑๕๙  เพื่อให้เกิดธรรมาภิบาลและเป็นการป้องกันการขัดกันแห่งผลประโยชน์ เมื่อความปรากฏต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ว่าพนักงานเจ้าหน้าที่ร่ำรวยผิดปกติ กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะดำเนินการไต่สวนและวินิจฉัยเอง หรือจะแต่งตั้งคณะกรรมการไต่สวนก็ได้
               คณะกรรมการ ป.ป.ช. ต้องพิจารณาและวินิจฉัยตามวรรคหนึ่งให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับสำนวนการไต่สวน

               มาตรา ๑๖๐  เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้รับแจ้งจากผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินว่า ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินได้ดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดินแล้วมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าเจ้าหน้าที่ของสำนักงานมีพฤติการณ์อันเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ จงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายแล้ว หากคณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วเห็นว่า การไต่สวนเบื้องต้นของผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินจะกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะแจ้งพร้อมด้วยเหตุผลให้ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินยุติการดำเนินการและส่งเรื่องให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อดำเนินการไต่สวนเองตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ต่อไปก็ได้ และเมื่อดำเนินการเป็นประการใดแล้วให้แจ้งให้ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินทราบด้วย
               ในกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นควรให้ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินดำเนินการไต่สวนเบื้องต้นต่อไป เมื่อผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินได้ส่งสำนวนการไต่สวนเบื้องต้นให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. แล้ว ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาวินิจฉัยโดยให้ถือสำนวนการไต่สวนเบื้องต้น เอกสารและหลักฐานที่ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินจัดทำขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของสำนวนการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช.

               มาตรา ๑๖๑  ให้มีสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติประจำจังหวัด เรียกโดยย่อว่า “สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัด” เป็นส่วนราชการในสังกัดสำนักงาน มีหน้าที่และอำนาจเกี่ยวกับการตรวจสอบเบื้องต้น การยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน การตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สิน และหน้าที่และอำนาจอื่นตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. และสำนักงานกำหนด แต่ไม่รวมถึงหน้าที่และอำนาจในการไต่สวนเบื้องต้น เว้นแต่คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะมีมติมอบหมายให้ดำเนินการไต่สวนเบื้องต้นเฉพาะกรณี โดยมีผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัด เป็นหัวหน้าส่วนราชการระดับจังหวัด
               เพื่อประโยชน์ในการบริหารราชการสำนักงานให้จัดตั้งสำนักงาน ป.ป.ช. ภาคตามจำนวนที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนดซึ่งต้องไม่เกินสิบสองภาค และให้มีหัวหน้าสำนักงาน ป.ป.ช. ภาคเป็นผู้บังคับบัญชารับผิดชอบต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. และเลขาธิการ
               สำนักงาน ป.ป.ช. ภาคมีหน้าที่และอำนาจในการไต่สวนเบื้องต้น กำกับการปฏิบัติหน้าที่ของสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัด และมีหน้าที่และอำนาจอื่นตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. และสำนักงานกำหนด