หมวด ๑๐ กองทุนป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (มาตรา ๑๖๒ - ๑๖๖)

 

หมวด ๑๐
กองทุนป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ

-------------------------

               มาตรา ๑๖๒  ให้จัดตั้งกองทุนป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติขึ้นในสำนักงานเรียกโดยย่อว่า “กองทุน ป.ป.ช.” มีวัตถุประสงค์เพื่อ
               (๑) สนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ และสนับสนุนภาคเอกชนในการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ หรือรณรงค์ในการป้องกันการทุจริต
               (๒) เป็นค่าใช้จ่ายในการจัดให้มีมาตรการคุ้มครองช่วยเหลือและค่าทดแทนตามมาตรา ๑๓๑ และเงินรางวัลตามมาตรา ๑๓๗
               (๓) ใช้จ่ายในการคุ้มครองการปฏิบัติงานของคณะกรรมการ ป.ป.ช. กรรมการ หัวหน้าพนักงานไต่สวน พนักงานไต่สวน และพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา ๔๑
               (๔) ค่าใช้จ่ายอื่นใดที่จะเป็นประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่และอำนาจเกี่ยวข้องกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริต

               มาตรา ๑๖๓  กองทุน ป.ป.ช. ประกอบด้วยเงินและทรัพย์สิน ดังต่อไปนี้
               (๑) เงินอุดหนุนที่รัฐบาลจัดสรรเพื่อสมทบเข้ากองทุน ป.ป.ช.
               (๒) ดอกผลที่เกิดจากเงินหรือทรัพย์สินของกองทุน ป.ป.ช.
               เงินและทรัพย์สินที่เป็นของกองทุน ป.ป.ช. ไม่อยู่ในบังคับที่ต้องนำส่งกระทรวงการคลังเป็นรายได้แผ่นดินตามกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลังและกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ
               เงินและทรัพย์สินของกองทุน ป.ป.ช. ให้นำไปใช้จ่ายตามวัตถุประสงค์ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด

               มาตรา ๑๖๔  การรับเงิน การจ่ายเงิน การเก็บรักษาเงินและทรัพย์สินของกองทุน ป.ป.ช. และการตรวจสอบ ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด

               มาตรา ๑๖๕  หน้าที่และอำนาจในการบริหารและการจัดการกองทุน ป.ป.ช. ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด ระเบียบดังกล่าวอย่างน้อยต้องกำหนดให้มีคณะกรรมการกองทุน ป.ป.ช. เพื่อดูแลรับผิดชอบในการรับและจ่ายเงินกองทุนให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ และคณะกรรมการกองทุน ป.ป.ช. ดังกล่าวอย่างน้อยต้องมีผู้แทนของหน่วยงานของรัฐที่มิใช่สำนักงาน หนึ่งคน ผู้แทนองค์กรภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริต หนึ่งคน

               มาตรา ๑๖๖  ภายในเก้าสิบวันนับจากวันสิ้นปีงบประมาณ ให้กองทุน ป.ป.ช. ส่งรายงานการเงินของกองทุน ป.ป.ช. ในปีที่ล่วงมาแล้ว ให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินตรวจสอบและแสดงความเห็นต่อรายงานการเงินนั้น แล้วเสนอต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. และเผยแพร่ให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป