ส่วนที่ ๒
การสมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง
-------------------------
มาตรา ๔๓ ผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งต้องเป็นผู้ซึ่งพรรคการเมืองที่ตนเป็นสมาชิกส่งสมัครรับเลือกตั้งและได้รับการสรรหาตามวิธีการที่กำหนดไว้ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง โดยจะสมัครรับเลือกตั้งเกินหนึ่งเขตมิได้ และต้องไม่เป็นบุคคลที่มีรายชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อ
มาตรา ๔๔ ให้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งประกาศวิธีการหรือสถานที่รับสมัครภายในสามวันนับแต่วันที่คณะกรรมการกำหนดวันเลือกตั้ง กรณีมีเหตุจำเป็นอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ อาจมีการเปลี่ยนวิธีการหรือสถานที่รับสมัครก็ได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำหนด โดยจะกำหนดให้การรับสมัครของแต่ละเขตเลือกตั้งในจังหวัดเดียวกันกระทำในสถานที่เดียวกันก็ได้
มาตรา ๔๕ ในการสมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ให้ผู้สมัครยื่นสมัครรับเลือกตั้งตามที่กำหนดตามมาตรา ๔๔ ภายในระยะเวลาการรับสมัคร โดยมีเอกสารและหลักฐาน ดังต่อไปนี้
(๑) หนังสือรับรองการส่งผู้สมัครแบบแบ่งเขตเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคการเมือง ซึ่งต้องมีคำรับรองด้วยว่าได้ดำเนินการถูกต้องครบถ้วนตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองแล้ว ตามแบบที่คณะกรรมการกำหนด
(๒) หลักฐานแสดงการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็นเวลาติดต่อกันสามปีนับถึงปีที่สมัครรับเลือกตั้งของผู้สมัคร เว้นแต่เป็นผู้ไม่ได้เสียภาษีเงินได้ ให้ทำหนังสือยืนยันการไม่ได้เสียภาษีพร้อมทั้งสาเหตุแห่งการไม่ได้เสียภาษี
(๓) เงินค่าธรรมเนียมการสมัครคนละหนึ่งหมื่นบาท
(๔) เอกสารและหลักฐานอื่นตามที่คณะกรรมการกำหนดเท่าที่จำเป็นต่อการดำเนินการเลือกตั้ง
ให้สำนักงานจัดทำข้อมูลหลักฐานตาม (๒) และเปิดเผยให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป
มาตรา ๔๖ ให้เป็นหน้าที่ของผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งที่จะต้องตรวจสอบการสมัครของผู้สมัครว่าได้ส่งเอกสารและหลักฐานตามมาตรา ๔๕ ถูกต้องครบถ้วนหรือไม่ ถ้าเห็นว่าไม่ถูกต้องครบถ้วน ให้คืนเอกสารและหลักฐานทั้งหมดให้ผู้สมัครนั้น
ในกรณีที่ผู้สมัครได้ส่งเอกสารและหลักฐานตามมาตรา ๔๕ ถูกต้องครบถ้วนแล้ว ให้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งออกหลักฐานการรับสมัครรับเลือกตั้งให้แก่ผู้สมัครนั้นเรียงตามลำดับการยื่นสมัคร และให้ทำสำเนาคู่ฉบับไว้เป็นหลักฐานและให้ประกาศรายชื่อผู้สมัครภายในเจ็ดวันนับแต่วันปิดรับสมัครไว้โดยเปิดเผย ณ ที่เลือกตั้ง หรือบริเวณใกล้เคียงกับที่เลือกตั้ง หรือสถานที่อื่นที่เห็นสมควร
ประกาศตามวรรคสองอย่างน้อยให้มีชื่อตัว ชื่อสกุล และรูปถ่ายของผู้สมัคร พรรคการเมืองที่สังกัด และหมายเลขประจำตัวผู้สมัครที่จะใช้ในการออกเสียงลงคะแนน
มาตรา ๔๗ ในกรณีมีเหตุจำเป็นเฉพาะพื้นที่ทำให้ไม่สามารถดำเนินการรับสมัครรับเลือกตั้งได้ตามมาตรา ๔๕ เนื่องจากเกิดจลาจล อุทกภัย อัคคีภัย เหตุสุดวิสัย หรือเหตุจำเป็นอื่น ในเขตเลือกตั้ง ให้คณะกรรมการมีอำนาจประกาศกำหนดวันรับสมัครเพิ่มเติมโดยอาจกำหนดให้ดำเนินการรับสมัครรับเลือกตั้งในท้องที่อื่นได้
ให้นำความในมาตรา ๑๖ มาใช้บังคับแก่การจัดการเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งตามมาตรานี้ด้วยโดยอนุโลม
มาตรา ๔๘ ในการสมัครรับเลือกตั้ง ให้ผู้สมัครได้รับหมายเลขประจำตัวผู้สมัครเรียงตามลำดับเลขที่ของหลักฐานการรับสมัครรับเลือกตั้งที่ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งออกให้ตามมาตรา ๔๖
ในกรณีที่มีผู้มาสมัครพร้อมกันหลายคนและไม่อาจตกลงลำดับในการยื่นใบสมัครได้ ให้ใช้วิธีจับสลากระหว่างผู้สมัครที่มาพร้อมกัน
เมื่อได้กำหนดหมายเลขประจำตัวผู้สมัครแล้วจะเปลี่ยนแปลงหมายเลขประจำตัวผู้สมัครไม่ได้ไม่ว่าด้วยประการใด ๆ
มาตรา ๔๙ กรณีที่ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งไม่รับสมัครผู้ใด หรือไม่ประกาศรายชื่อบุคคลใดเป็นผู้สมัครตามมาตรา ๔๖ ให้บุคคลนั้นมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ไม่รับสมัครหรือวันที่ประกาศรายชื่อผู้สมัคร แล้วแต่กรณี โดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมศาลในการดำเนินกระบวนพิจารณา โดยในการพิจารณาและวินิจฉัยของศาลฎีกา ให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่าสามวัน และเมื่อศาลฎีกามีคำวินิจฉัยเช่นใดแล้ว ให้ศาลแจ้งคำวินิจฉัยไปยังผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งเพื่อดำเนินการตามคำวินิจฉัยต่อไปโดยเร็ว แต่ทั้งนี้ ไม่กระทบกระเทือนถึงการปฏิบัติก่อนทราบคำวินิจฉัยของศาล
มาตรา ๕๐ เมื่อผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งได้ออกหลักฐานการรับสมัครรับเลือกตั้งให้แก่ผู้สมัครตามมาตรา ๔๖ แล้ว ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองจะถอนการสมัครหรือเปลี่ยนแปลงผู้สมัครได้เฉพาะกรณีผู้สมัครตายหรือขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม และต้องกระทำก่อนปิดการรับสมัครรับเลือกตั้ง ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด
มาตรา ๕๑ ในกรณีที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งหรือผู้สมัครผู้ใดเห็นว่าผู้มีชื่อในประกาศรายชื่อที่ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งได้ประกาศตามมาตรา ๔๖ ไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ให้มีสิทธิยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ประกาศรายชื่อผู้สมัคร เมื่อคณะกรรมการมีคำวินิจฉัยเช่นใดแล้ว ให้แจ้งคำวินิจฉัยไปยังผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งเพื่อดำเนินการตามคำวินิจฉัยต่อไปโดยเร็ว ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด แต่ทั้งนี้ ไม่กระทบกระเทือนถึงการปฏิบัติก่อนทราบคำวินิจฉัยของคณะกรรมการ
ในกรณีที่คณะกรรมการมีคำวินิจฉัยให้ถอนการรับสมัครของผู้ใด ให้ผู้นั้นมีสิทธิยื่นอุทธรณ์คำวินิจฉัยดังกล่าวต่อศาลฎีกาได้ภายในสามวันนับแต่วันที่ถูกถอนการรับสมัคร และในกรณีที่ศาลฎีกายังมิได้มีคำวินิจฉัยเป็นประการใดก่อนวันเลือกตั้ง ให้การพิจารณาเป็นอันยุติ และให้ดำเนินการเลือกตั้งไปตามคำสั่งของคณะกรรมการ
มาตรา ๕๒ ก่อนวันเลือกตั้ง หากผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งตรวจสอบแล้วเห็นว่าผู้สมัครผู้ใดไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเนื่องจากขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ให้ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาให้ถอนชื่อผู้นั้นออกจากประกาศรายชื่อผู้สมัคร
เมื่อถึงวันเลือกตั้ง ถ้าปรากฏว่าศาลฎีกายังมิได้วินิจฉัย ให้ดำเนินการเลือกตั้งไปตามประกาศรายชื่อผู้สมัครที่มีผลอยู่ในวันนั้น
มาตรา ๕๓๑ ก่อนประกาศผลการเลือกตั้ง หากผู้อํานวยการการเลือกตั้งประจําเขตเลือกตั้งตรวจสอบแล้วเห็นว่าผู้สมัครผู้ใดไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเนื่องจากขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งและผู้สมัครผู้นั้นได้คะแนนอยู่ในลําดับที่จะได้รับการเลือกตั้ง ให้เสนอเรื่องต่อคณะกรรมการเพื่อวินิจฉัย ในกรณีที่คณะกรรมการวินิจฉัยว่าผู้สมัครผู้นั้นมีเหตุดังกล่าว ให้มีคําสั่งยกเลิกการเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้นและสั่งให้นําเนินการเลือกตั้งใหม่
ในกรณีตามวรรคหนึ่ง หากผู้สมัครผู้นั้นรู้อยู่แล้วว่าตนเป็นผู้ไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ให้คณะกรรมการสั่งระงับสิทธิสมัครรับเลือกตั้งไว้เป็นการชั่วคราว และดําเนินการต่อไปตามมาตรา ๑๓๘
มาตรา ๕๔ กรณีที่พบเหตุตามมาตรา ๕๓ ภายหลังประกาศผลการเลือกตั้ง และผู้นั้นเป็นผู้ได้รับเลือกตั้ง ให้คณะกรรมการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย
ในกรณีตามวรรคหนึ่ง หากผู้สมัครผู้นั้นรู้อยู่แล้วว่าตนเป็นผู้ไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งแล้วปกปิด หรือไม่แจ้งข้อความจริงนั้น ให้ถือว่าการเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้นมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม และให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคําสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้น๒
เมื่อศาลรัฐธรรมนูญได้รับเรื่องไว้พิจารณาแล้ว หากปรากฏเหตุอันควรสงสัยว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้ถูกร้องมีกรณีตามที่ถูกร้อง ให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ผู้นั้นหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย
มาตรา ๕๕ พรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัคร หากประสงค์จะส่งผู้แทนไปประจำอยู่ ณ ที่เลือกตั้งเพื่อสังเกตการณ์การออกเสียงลงคะแนนและการนับคะแนน ให้ยื่นหนังสือแต่งตั้งผู้แทนของตนต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่าสิบห้าวัน ทั้งนี้ ให้แต่งตั้งได้ที่เลือกตั้งละหนึ่งคน
ผู้แทนพรรคการเมืองตามวรรคหนึ่ง ต้องอยู่ในที่ซึ่งจัดไว้ ณ ที่เลือกตั้งซึ่งสามารถมองเห็นการปฏิบัติงานได้ และต้องปฏิบัติตามที่กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งกำหนด
ในกรณีที่มีการกระทำอันเป็นการฝ่าฝืนความในวรรคสอง ให้คณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งมีคำสั่งให้ผู้แทนพรรคการเมืองนั้นออกไปจากที่เลือกตั้ง และให้เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำหน่วยเลือกตั้งดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามคำสั่ง
การปฏิบัติงานของผู้แทนพรรคการเมืองให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด
๑ มาตรา ๕๓ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๖
๒ มาตรา ๕๔ วรรคสอง แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๖