ส่วนที่ ๓ การสมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ (มาตรา ๕๖ - ๖๑)

 

ส่วนที่ ๓
การสมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ

-------------------------

               มาตรา ๕๖  พรรคการเมืองใดส่งผู้สมัครแบบแบ่งเขตเลือกตั้งแล้ว ให้มีสิทธิส่งผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อได้พรรคละหนึ่งบัญชี มีจํานวนไม่เกินหนึ่งร้อยรายชื่อ ตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
               (๑) ดําเนินการสรรหาผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อตามวิธีการที่กําหนดไว้ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง
               (๒) พรรคการเมืองจะเสนอรายชื่อบุคคลใดต้องได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากบุคคลนั้น และบุคคลดังกล่าวต้องเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองที่จะเสนอรายชื่อเพียงพรรคเดียว
               (๓) ให้จัดทําบัญชีรายชื่อตามแบบที่คณะกรรมการกําหนด โดยจัดเรียงลําดับรายชื่อผู้สมัครตามลำดับหมายเลข
               (๔) รายชื่อในบัญชีผู้สมัครของพรรคการเมืองต้องไม่ซ้ำกับพรรคการเมืองอื่นและไม่ซ้ำกับรายชื่อผู้สมัครแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง

               มาตรา ๕๗  การสมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ ให้พรรคการเมืองยื่นบัญชีรายชื่อผู้สมัครที่พรรคการเมืองจัดทำขึ้นตามมาตรา ๕๖ ต่อคณะกรรมการก่อนปิดการรับสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ตามวิธีการและสถานที่ที่คณะกรรมการกำหนด กรณีมีเหตุจำเป็นอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ คณะกรรมการอาจเปลี่ยนวิธีการหรือสถานที่รับสมัครก็ได้
               ในการยื่นบัญชีรายชื่อผู้สมัครตามวรรคหนึ่ง ต้องยื่นพร้อมเอกสารและหลักฐานดังต่อไปนี้
               (๑) หนังสือยินยอมของผู้สมัคร
               (๒) หนังสือรับรองของพรรคการเมืองว่าได้ดำเนินการถูกต้องครบถ้วนตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองแล้ว
               (๓) หลักฐานแสดงการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็นเวลาติดต่อกันสามปีนับถึงปีที่สมัครรับเลือกตั้งของผู้สมัคร เว้นแต่เป็นผู้ไม่ได้เสียภาษีเงินได้ ให้ทำหนังสือยืนยันการไม่ได้เสียภาษีพร้อมทั้งสาเหตุแห่งการไม่ได้เสียภาษี
               (๔) เงินค่าธรรมเนียมการสมัครคนละหนึ่งหมื่นบาท
               (๕) เอกสารและหลักฐานอื่นตามที่คณะกรรมการกำหนดเท่าที่จำเป็นต่อการดำเนินการเลือกตั้ง
               ให้สำนักงานจัดทำข้อมูลหลักฐานตาม (๓) และเปิดเผยให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป
               ในกรณีพรรคการเมืองใดยื่นเอกสารและหลักฐานการสมัครรับเลือกตั้งของผู้สมัครรายใดไม่ถูกต้องครบถ้วน ให้คณะกรรมการมีอำนาจไม่รับสมัครรับเลือกตั้งผู้สมัครรายนั้นได้ และให้สำนักงานแจ้งเหตุผลให้พรรคการเมืองทราบ ทั้งนี้ ตามที่คณะกรรมการกำหนด
               ให้นําความในมาตรา ๔๘ มาใช้บังคับแก่การให้หมายเลขประจําตัวสําหรับผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อด้วยโดยอนุโลม

               มาตรา ๕๘  เมื่อคณะกรรมการรับสมัครผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองใดแล้ว ให้ประกาศรายชื่อผู้สมัครภายในเจ็ดวันนับแต่วันปิดรับสมัครไว้โดยเปิดเผย ณ ที่เลือกตั้ง หรือบริเวณใกล้เคียงกับที่เลือกตั้ง หรือสถานที่อื่นที่เห็นสมควร และให้นำความในมาตรา ๔๖ วรรคสาม และมาตรา ๔๗ มาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม

               มาตรา ๕๙  กรณีที่คณะกรรมการไม่รับสมัครบุคคลใดหรือไม่ประกาศรายชื่อบุคคลใดเป็นผู้สมัครตามมาตรา ๕๘ ให้บุคคลนั้นมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ไม่รับสมัครหรือวันที่ประกาศรายชื่อผู้สมัคร แล้วแต่กรณี และให้นำความในมาตรา ๔๙ มาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม

               มาตรา ๖๐  ให้นำความในมาตรา ๕๑ มาใช้บังคับแก่กรณีที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งหรือผู้สมัครผู้ใดเห็นว่าผู้มีชื่อในบัญชีรายชื่อที่คณะกรรมการประกาศตามมาตรา ๕๘ ไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งด้วยโดยอนุโลม

               มาตรา ๖๑  ก่อนวันเลือกตั้ง หากคณะกรรมการเห็นว่าผู้สมัครของพรรคการเมืองใดไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเนื่องจากขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ให้ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาให้ถอนชื่อผู้นั้นออกจากประกาศรายชื่อผู้สมัคร และให้นำความในมาตรา ๕๒ วรรคสอง มาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม


               มาตรา ๕๖ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๖
               มาตรา ๕๗ วรรคห้า เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๖