หมวด ๒
องค์ประกอบของศาล
-------------------------
มาตรา ๘ ศาลประกอบด้วยตุลาการจํานวนเก้าคนซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจากบุคคล ดังต่อไปนี้
(๑) ผู้พิพากษาในศาลฎีกาซึ่งดํารงตําแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกามาแล้วไม่น้อยกว่าสามปี ซึ่งได้รับคัดเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา จํานวนสามคน
(๒) ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดซึ่งดํารงตําแหน่งไม่ต่ำกว่าตุลาการศาลปกครองสูงสุดมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี ซึ่งได้รับคัดเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด จํานวนสองคน
(๓) ผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ซึ่งได้รับการสรรหาจากผู้ดํารงตําแหน่งหรือเคยดํารงตําแหน่งศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยในประเทศไทยมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่าห้าปี และยังมีผลงานทางวิชาการเป็นที่ประจักษ์ จํานวนหนึ่งคน
(๔) ผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์หรือรัฐประศาสนศาสตร์ซึ่งได้รับการสรรหาจากผู้ดํารงตําแหน่งหรือเคยดํารงตําแหน่งศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยในประเทศไทยมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่าห้าปี และยังมีผลงานทางวิชาการเป็นที่ประจักษ์ จํานวนหนึ่งคน
(๕) ผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้รับการสรรหาจากผู้รับหรือเคยรับราชการในตําแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดีหรือหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่า หรือตําแหน่งไม่ต่ำกว่ารองอัยการสูงสุดมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี จํานวนสองคน
ในกรณีไม่อาจเลือกผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกาตาม (๑) ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาจะเลือกบุคคลจากผู้ซึ่งเคยดํารงตําแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาในศาลฎีกามาแล้วไม่น้อยกว่าสามปีก็ได้
การนับระยะเวลาตามวรรคหนึ่ง ให้นับถึงวันที่ได้รับการคัดเลือกหรือวันสมัครเข้ารับการสรรหา แล้วแต่กรณี ในกรณีจําเป็นอันไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ คณะกรรมการสรรหาจะประกาศลดระยะเวลาตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสองลงก็ได้ แต่จะลดลงเหลือน้อยกว่าสองปีมิได้
มาตรา ๙ นอกจากคุณสมบัติตามมาตรา ๘ แล้ว ตุลาการต้องมีคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้ด้วย
(๑) มีสัญชาติไทยโดยการเกิด
(๒) มีอายุไม่ต่ำกว่าสี่สิบห้าปีแต่ไม่ถึงหกสิบแปดปีในวันที่ได้รับการคัดเลือกหรือวันสมัครเข้ารับการสรรหา
(๓) สําเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า
(๔) มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์
(๕) มีสุขภาพที่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
มาตรา ๑๐ ตุลาการต้องไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้
(๑) เป็นหรือเคยเป็นตุลาการหรือผู้ดํารงตําแหน่งในองค์กรอิสระใด
(๒) ติดยาเสพติดให้โทษ
(๓) เป็นบุคคลล้มละลายหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต
(๔) เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์ หรือสื่อมวลชนใด ๆ
(๕) เป็นภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช
(๖) อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งไม่ว่าคดีนั้นจะถึงที่สุดแล้วหรือไม่
(๗) วิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ
(๘) อยู่ในระหว่างถูกระงับการใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นการชั่วคราวหรือถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง
(๙) ต้องคำพิพากษาให้จําคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล
(๑๐) เคยถูกสั่งให้พ้นจากราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจเพราะทุจริตต่อหน้าที่ หรือถือว่ากระทําการทุจริตหรือประพฤติมิชอบในวงราชการ
(๑๑) เคยต้องคําพิพากษาหรือคําสั่งของศาลอันถึงที่สุดให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเพราะร่ำรวยผิดปกติ หรือเคยต้องคําพิพากษาอันถึงที่สุดให้ลงโทษจําคุกเพราะกระทําความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
(๑๒) เคยต้องคําพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทําความผิดต่อตําแหน่งหน้าที่ราชการหรือต่อตําแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม หรือกระทําความผิดตามกฎหมายว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ หรือความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ที่กระทําโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน กฎหมายว่าด้วยยาเสพติดในความผิดฐานเป็นผู้ผลิต นําเข้า ส่งออก หรือผู้ค้า กฎหมายว่าด้วยการพนันในความผิดฐานเป็นเจ้ามือหรือเจ้าสํานัก กฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ หรือกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินในความผิดฐานฟอกเงิน
(๑๓) เคยต้องคําพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทําการอันเป็นการทุจริตในการเลือกตั้ง
(๑๔) อยู่ในระหว่างต้องห้ามมิให้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง
(๑๕) เคยพ้นจากตําแหน่งเพราะศาลวินิจฉัยว่ามีการเสนอ การแปรญัตติ หรือการกระทําด้วยประการใด ๆ ที่มีผลให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือกรรมาธิการ มีส่วนไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมในการใช้งบประมาณรายจ่าย
(๑๖) เคยพ้นจากตําแหน่งเพราะศาลฎีกาหรือศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองมีคําพิพากษาว่าฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง หรือเป็นผู้มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ หรือกระทําความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อํานาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย
(๑๗) เคยได้รับโทษจําคุกโดยคําพิพากษาถึงที่สุดให้จําคุก เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทําโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
(๑๘) เป็นหรือเคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ข้าราชการการเมือง หรือสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นในระยะสิบปีก่อนเข้ารับการคัดเลือกหรือสรรหา
(๑๙) เป็นหรือเคยเป็นสมาชิกหรือผู้ดํารงตําแหน่งอื่นของพรรคการเมืองในระยะสิบปีก่อนเข้ารับการคัดเลือกหรือสรรหา
(๒๐) เป็นข้าราชการซึ่งมีตําแหน่งหรือเงินเดือนประจํา
(๒๑) เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น หรือกรรมการหรือที่ปรึกษาของหน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ
(๒๒) เป็นผู้ดํารงตําแหน่งใดในห้างหุ้นส่วน บริษัท หรือองค์กรที่ดําเนินธุรกิจโดยมุ่งหาผลกําไรหรือรายได้มาแบ่งปันกัน หรือเป็นลูกจ้างของบุคคลใด
(๒๓) เป็นผู้ประกอบวิชาชีพอิสระ
(๒๔) มีพฤติการณ์อันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง
มาตรา ๑๑ เมื่อมีกรณีที่จะต้องสรรหาผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นตุลาการตามมาตรา ๘ (๓) (๔) หรือ (๕) ให้เป็นหน้าที่และอํานาจของคณะกรรมการสรรหา ซึ่งประกอบด้วย
(๑) ประธานศาลฎีกา เป็นประธานกรรมการ
(๒) ประธานสภาผู้แทนราษฎร และผู้นําฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร เป็นกรรมการ
(๓) ประธานศาลปกครองสูงสุด เป็นกรรมการ
(๔) บุคคลซึ่งองค์กรอิสระแต่งตั้งจากผู้มีคุณสมบัติตามมาตรา ๘ และมาตรา ๙ และไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๐ และไม่เคยปฏิบัติหน้าที่ใด ๆ ในศาลหรือองค์กรอิสระ องค์กรละหนึ่งคน เป็นกรรมการ
ให้เลขาธิการวุฒิสภาเป็นเลขานุการของคณะกรรมการสรรหา และให้สํานักงานเลขาธิการวุฒิสภาปฏิบัติหน้าที่เป็นหน่วยธุรการของคณะกรรมการสรรหา
ในการดําเนินการแต่งตั้งบุคคลตาม (๔) ให้องค์กรอิสระดําเนินการเสนอชื่อบุคคลซึ่งองค์กรนั้นแต่งตั้งเป็นกรรมการสรรหาภายในยี่สิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากเลขาธิการวุฒิสภา โดยให้คัดเลือกจากบุคคลซึ่งมีความเป็นกลาง ซื่อสัตย์สุจริต และมีความเข้าใจในภารกิจของศาล และผู้จะได้รับการคัดเลือกเป็นกรรมการสรรหาต้องได้รับคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของจํานวนทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของกรรมการองค์กรอิสระ ในกรณีที่ไม่มีบุคคลใดได้รับคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่ง ให้ลงคะแนนใหม่อีกครั้งหนึ่ง ในการลงคะแนนครั้งนี้ถ้ามีผู้เข้ารับการคัดเลือกเกินสองคน ให้นําเฉพาะคนที่ได้คะแนนสูงสุดสองลําดับแรกมาลงคะแนนใหม่ ในกรณีที่มีผู้ได้คะแนนสูงสุดเท่ากันจนเป็นเหตุให้มีผู้ได้คะแนนสูงสุดสองลําดับแรกเกินสองคน ให้ผู้เข้ารับการคัดเลือกซึ่งได้คะแนนเท่ากันนั้นจับสลากเพื่อให้เหลือผู้ที่ได้คะแนนสูงสุดสองลําดับแรกเพียงสองคน ในการลงคะแนนครั้งหลังนี้ ถ้ายังไม่มีผู้ใดได้รับคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของจํานวนทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของกรรมการองค์กรอิสระ ให้ดําเนินการเพื่อคัดเลือกใหม่ โดยจะคัดเลือกผู้เข้ารับการคัดเลือกที่มีชื่ออยู่ในการคัดเลือกครั้งแรกมิได้
ให้เลขาธิการวุฒิสภาประกาศรายชื่อกรรมการสรรหาตาม (๔) ให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป
ในกรณีที่ไม่มีผู้ดํารงตําแหน่งกรรมการสรรหาตาม (๒) หรือกรรมการสรรหาตาม (๔) มีไม่ครบไม่ว่าด้วยเหตุใด หรือพ้นกําหนดเวลาการคัดเลือกตามวรรคสามแล้วมิได้มีการเสนอชื่อ ให้คณะกรรมการสรรหาเท่าที่มีอยู่ปฏิบัติหน้าที่และใช้อํานาจไปพลางก่อนได้ โดยในระหว่างนั้นให้ถือว่าคณะกรรมการสรรหาประกอบด้วยกรรมการสรรหาเท่าที่มีอยู่
ให้กรรมการสรรหาตาม (๔) อยู่ในวาระการดํารงตําแหน่งจนถึงวันก่อนวันที่มีกรณีที่ต้องสรรหาตุลาการใหม่ แต่ไม่รวมการสรรหาใหม่หรือการสรรหาเพิ่มเติมตามมาตรา ๑๒ วรรคหก วรรคเก้า และวรรคสิบ และมาตรา ๑๓ และให้กรรมการสรรหาดังกล่าวพ้นจากตําแหน่งก่อนวาระ เมื่อตาย ลาออก ขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้าม
ผู้ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการสรรหาตาม (๔) แล้ว จะเป็นกรรมการสรรหาในคณะกรรมการสรรหาสำหรับองค์กรอิสระในขณะเดียวกันมิได้
ให้ประธานกรรมการสรรหา และกรรมการสรรหาเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา ๑๒ ในการสรรหาตุลาการ ให้คณะกรรมการสรรหาปรึกษาหารือเพื่อคัดสรรให้ได้บุคคลซึ่งมีความรับผิดชอบสูง มีความกล้าหาญในการปฏิบัติหน้าที่ และมีพฤติกรรมทางจริยธรรมเป็นตัวอย่างที่ดีของสังคม รวมตลอดทั้งมีทัศนคติที่เหมาะสมในการปฏิบัติหน้าที่ให้เกิดผลสําเร็จ โดยนอกจากการประกาศรับสมัครแล้ว ให้คณะกรรมการสรรหาดําเนินการสรรหาจากบุคคลซึ่งมีความเหมาะสมทั่วไปได้ด้วยแต่ต้องได้รับความยินยอมของบุคคลนั้น ทั้งนี้ โดยคํานึงถึงความหลากหลายของประสบการณ์ที่แตกต่างกันในแต่ละด้านประกอบด้วย และเพื่อประโยชน์แห่งการนี้ ให้คณะกรรมการสรรหาใช้วิธีการสัมภาษณ์หรือให้แสดงความคิดเห็นในเรื่องที่เกี่ยวกับหน้าที่และอํานาจของศาล หรือวิธีการอื่นใดที่เหมาะสม เพื่อประกอบการพิจารณาด้วย
ให้นําความในวรรคหนึ่งมาใช้บังคับแก่การคัดเลือกผู้สมควรได้รับแต่งตั้งเป็นตุลาการของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาและที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดด้วยโดยอนุโลม
ในการสรรหาหรือคัดเลือก ให้ใช้วิธีลงคะแนนโดยเปิดเผย และให้กรรมการสรรหาแต่ละคนบันทึกเหตุผลในการเลือกไว้ด้วย
ผู้ซึ่งจะได้รับการสรรหาต้องได้รับคะแนนเสียงถึงสองในสามของจํานวนทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของคณะกรรมการสรรหา
ผู้ซึ่งจะได้รับการคัดเลือกจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาหรือที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดต้องได้รับคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของจํานวนทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของผู้พิพากษาในศาลฎีกาหรือตุลาการในศาลปกครองสูงสุด แล้วแต่กรณี
ถ้าไม่มีบุคคลใดได้รับคะแนนเสียงตามวรรคสี่หรือวรรคห้า หรือมีแต่ยังไม่ครบจํานวนที่จะต้องสรรหาหรือคัดเลือก ให้มีการลงคะแนนใหม่สําหรับผู้ได้คะแนนไม่ถึงสองในสามหรือไม่เกินกึ่งหนึ่ง แล้วแต่กรณี ถ้ายังได้ไม่ครบตามจํานวน ให้มีการลงคะแนนอีกครั้งหนึ่ง ในกรณีที่การลงคะแนนครั้งหลังนี้ยังได้บุคคลไม่ครบตามจํานวนที่จะต้องสรรหาหรือคัดเลือก ให้ดําเนินการสรรหาหรือคัดเลือกใหม่สําหรับจํานวนที่ยังขาดอยู่
ภายในสามวันนับแต่วันปิดรับสมัครให้เลขาธิการวุฒิสภาประกาศรายชื่อผู้เข้ารับการสรรหาให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป ประกาศดังกล่าวให้ระบุรายละเอียดเกี่ยวกับคุณสมบัติและประวัติการทํางานตามที่คณะกรรมการสรรหากําหนดด้วย
เมื่อคณะกรรมการสรรหา ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา และที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดสรรหาหรือคัดเลือกได้บุคคลใดแล้ว ให้เสนอชื่อไปยังวุฒิสภา เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ โดยผู้ได้รับการสรรหาหรือคัดเลือกนั้นต้องได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภา ด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา
ในกรณีที่วุฒิสภาไม่ให้ความเห็นชอบผู้ได้รับการสรรหาหรือคัดเลือกรายใดไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ให้ส่งรายชื่อนั้นกลับไปยังคณะกรรมการสรรหา ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาหรือที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด แล้วแต่กรณี พร้อมด้วยเหตุผลเพื่อให้ดําเนินการสรรหาหรือคัดเลือกบุคคลใหม่แทนผู้นั้น ซึ่งต้องดําเนินการให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวันนับแต่วันที่วุฒิสภาไม่ให้ความเห็นชอบ แล้วเสนอต่อวุฒิสภาเพื่อให้ความเห็นชอบต่อไป โดยผู้ซึ่งไม่ได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภาในครั้งนี้จะเข้ารับการสรรหาหรือคัดเลือกในครั้งใหม่นี้ไม่ได้
เมื่อมีผู้ได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภาแล้ว หากเป็นกรณีที่ประธานศาลรัฐธรรมนูญพ้นจากตําแหน่งด้วย ให้ผู้ได้รับความเห็นชอบประชุมร่วมกับตุลาการซึ่งยังไม่พ้นจากตําแหน่ง ถ้ามี เพื่อเลือกกันเองให้คนหนึ่งเป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญ และแจ้งผลให้ประธานวุฒิสภาทราบ ในกรณีที่ผู้ซึ่งวุฒิสภาให้ความเห็นชอบยังได้ไม่ครบจํานวนที่ต้องสรรหาหรือคัดเลือก แต่เมื่อรวมกับตุลาการซึ่งยังดํารงตําแหน่งอยู่ ถ้ามี มีจํานวนถึงเจ็ดคน ก็ให้ดําเนินการประชุมเพื่อเลือกประธานศาลรัฐธรรมนูญได้ และเมื่อโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งแล้ว ให้ศาลดําเนินการตามหน้าที่และอํานาจต่อไปพลางก่อนได้ โดยในระหว่างนั้นให้ถือว่าศาลประกอบด้วยตุลาการเท่าที่มีอยู่ และให้ดําเนินการสรรหาหรือคัดเลือกเพิ่มเติมให้ครบตามจํานวนที่ต้องสรรหาหรือคัดเลือกต่อไปโดยเร็ว
ให้ประธานวุฒิสภานําความกราบบังคมทูลเพื่อทรงแต่งตั้งประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการ และเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ
มาตรา ๑๓ ผู้ได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภาให้เป็นตุลาการโดยที่ยังมิได้พ้นจากตําแหน่งตามมาตรา ๑๐ (๒๐) (๒๑) หรือ (๒๒) หรือยังประกอบวิชาชีพตามมาตรา ๑๐ (๒๓) อยู่ ต้องแสดงหลักฐานว่าได้ลาออกหรือเลิกประกอบวิชาชีพดังกล่าวแล้วนั้นต่อประธานวุฒิสภาภายในเวลาที่ประธานวุฒิสภากําหนด ซึ่งต้องเป็นเวลาก่อนที่ประธานวุฒิสภาจะนําความกราบบังคมทูลเพื่อทรงแต่งตั้งตุลาการ ในกรณีที่ไม่ได้แสดงหลักฐานภายในกําหนดเวลาดังกล่าว ให้ถือว่าผู้นั้นสละสิทธิ และให้ดําเนินการสรรหาหรือคัดเลือกใหม่
มาตรา ๑๔ ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้สมัคร ผู้ได้รับการคัดเลือกหรือได้รับการสรรหา ให้เป็นหน้าที่และอํานาจของคณะกรรมการสรรหาเป็นผู้วินิจฉัย คําวินิจฉัยของคณะกรรมการสรรหาให้เป็นที่สุด
การเสนอเรื่องเพื่อให้คณะกรรมการสรรหาวินิจฉัยตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการสรรหากําหนด
การวินิจฉัยให้ใช้วิธีลงคะแนนโดยเปิดเผย
ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของกรรมการสรรหาให้ศาลปกครองสูงสุดเป็นผู้วินิจฉัยภายในระยะเวลาสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับเรื่อง ทั้งนี้ ไม่กระทบต่อการดําเนินการใดที่คณะกรรมการสรรหาได้ดําเนินการไปแล้วก่อนมีคําวินิจฉัย
มาตรา ๑๕ ให้ประธานกรรมการสรรหาและกรรมการสรรหาได้รับเบี้ยประชุมและค่าตอบแทนอื่นตามที่ประธานวุฒิสภากําหนด แต่สําหรับเบี้ยประชุมให้กําหนดให้ได้รับเป็นรายครั้งที่มาประชุมในอัตราไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของประธานกรรมการหรือกรรมการในคณะกรรมการข้าราชการรัฐสภาตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการรัฐสภาได้รับในแต่ละเดือน แล้วแต่กรณี
มาตรา ๑๖ ก่อนเข้ารับหน้าที่ ตุลาการต้องถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ด้วยถ้อยคำ ดังต่อไปนี้
“ข้าพระพุทธเจ้า (ชื่อผู้ปฏิญาณ) ขอถวายสัตย์ปฏิญาณว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ และจะปฏิบัติหน้าที่ในพระปรมาภิไธยด้วยความซื่อสัตย์สุจริตโดยปราศจากอคติทั้งปวง เพื่อให้เกิดความยุติธรรมแก่ประชาชน และความสงบสุขแห่งราชอาณาจักร ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และกฎหมายทุกประการ”
มาตรา ๑๗ ตุลาการมีวาระการดำรงตำแหน่งเจ็ดปีนับแต่วันที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง และให้ดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว
ในกรณีที่ตุลาการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ ให้ตุลาการที่พ้นจากตำแหน่งปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าตุลาการที่แต่งตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่
มาตรา ๑๘ นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ ตุลาการพ้นจากตำแหน่งเมื่อ
(๑) ขาดคุณสมบัติตามมาตรา ๘ หรือมาตรา ๙ หรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๐
(๒) ตาย
(๓) ลาออก
(๔) มีอายุครบเจ็ดสิบห้าปี
(๕) ศาลมีมติให้พ้นจากตำแหน่งด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ของตุลาการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่เพราะเหตุฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการ
(๖) ต้องคำพิพากษาศาลฎีกาหรือศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองว่าเป็นผู้มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ หรือกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง
ประธานศาลรัฐธรรมนูญซึ่งลาออกจากตำแหน่งให้พ้นจากตำแหน่งตุลาการด้วย
ในกรณีที่มีปัญหาว่าตุลาการผู้ใดพ้นจากตำแหน่งตาม (๑) หรือ (๓) หรือไม่ ให้เป็นหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการสรรหาเป็นผู้วินิจฉัย คำวินิจฉัยของคณะกรรมการสรรหาให้เป็นที่สุด
ในกรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญ หรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้ตุลาการเลือกตุลาการคนหนึ่งทำหน้าที่แทนประธานศาลรัฐธรรมนูญ
มาตรา ๑๙ เมื่อตุลาการจะพ้นจากตำแหน่งตามวาระ ให้ดำเนินการสรรหาหรือคัดเลือกตุลาการใหม่ภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันก่อนวันที่ตุลาการครบวาระ แต่ถ้าตุลาการพ้นจากตำแหน่งด้วยเหตุอื่นนอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ ให้ดำเนินการสรรหาหรือคัดเลือกตุลาการภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ตำแหน่งว่างลง
มาตรา ๒๐ ในกรณีที่ตุลาการพ้นจากตำแหน่ง และยังไม่มีการแต่งตั้งตุลาการแทนตำแหน่งที่ว่าง ให้ตุลาการเท่าที่เหลืออยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ แต่ถ้ามีตุลาการเหลืออยู่ไม่ถึงเจ็ดคนจะนั่งพิจารณาหรือทำคำวินิจฉัยมิได้ ในกรณีเช่นนั้นหากมีเหตุจำเป็นเพื่อประโยชน์แห่งความมั่นคงของประเทศ ให้ศาลร้องขอต่อประธานศาลฎีกาและประธานศาลปกครองสูงสุดให้ดำเนินการตามมาตรา ๒๑ เพื่อให้มีตุลาการครบเจ็ดคน
มาตรา ๒๑ ในกรณีที่ตุลาการต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่เพราะถูกกล่าวหาและศาลฎีกา หรือศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองประทับรับฟ้อง และมีตุลาการเหลืออยู่ไม่ถึงเจ็ดคน ให้ประธานศาลฎีกาและประธานศาลปกครองสูงสุดร่วมกันแต่งตั้งบุคคลซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามเช่นเดียวกับตุลาการทำหน้าที่เป็นตุลาการเป็นการชั่วคราวให้ครบตามจำนวนที่ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่แต่ไม่เกินเก้าคน โดยให้ผู้ซึ่งได้รับแต่งตั้งทำหน้าที่ในฐานะตุลาการได้จนกว่าตุลาการที่ตนทำหน้าที่แทนจะปฏิบัติหน้าที่ได้ หรือจนกว่าจะมีการแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งแทน ในการแต่งตั้งดังกล่าวให้คำนึงถึงองค์ประกอบตามมาตรา ๘ ด้วย
มาตรา ๒๒ เมื่อมีผู้ร้องขอโดยมีหลักฐานตามสมควรว่าตุลาการผู้ใดพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา ๑๘ (๑) หรือ (๓) ให้เลขาธิการวุฒิสภาเสนอเรื่องต่อประธานกรรมการสรรหาภายในห้าวันนับแต่วันที่ได้รับการร้องขอ และให้คณะกรรมการสรรหาวินิจฉัยให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ในการวินิจฉัยให้ถือเสียงข้างมาก กรณีที่มีเสียงเท่ากันให้ประธานกรรมการสรรหาออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด
หลักฐานตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการสรรหากำหนด
มาตรา ๒๓ การปฏิบัติหน้าที่และการใช้อำนาจของศาลต้องเป็นไปโดยรวดเร็ว เป็นธรรม ปราศจากอคติทั้งปวง มีความกล้าหาญ และปฏิบัติตนให้ถูกต้องตามมาตรฐานทางจริยธรรม
ตุลาการต้องปฏิบัติหน้าที่เต็มเวลา การเข้ารับการศึกษาหรืออบรมในหลักสูตรหรือโครงการใด ๆ ที่จัดในเวลาราชการทั้งหมดหรือบางส่วน ให้ถือว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่ไม่เต็มเวลา เว้นแต่เป็นหลักสูตรหรือโครงการที่ศาลเป็นผู้จัดขึ้นโดยเฉพาะสำหรับตุลาการ
มาตรา ๒๔ เงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง และประโยชน์ตอบแทนอื่นของตุลาการ ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น และให้ได้รับเบี้ยประชุมสำหรับการประชุมในฐานะกรรมการเป็นรายครั้งเท่ากับกรรมการตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยเบี้ยประชุมกรรมการ
ให้ตุลาการได้รับเงินค่ารับรองเหมาจ่ายเป็นรายเดือนตามอัตราที่กระทรวงการคลังกำหนดซึ่งต้องไม่น้อยกว่าเงินประจำตำแหน่งของตุลาการ
มาตรา ๒๕ ตุลาการซึ่งดำรงตำแหน่งไม่น้อยกว่าหนึ่งปีมีสิทธิได้รับบำเหน็จตอบแทนเป็นเงินซึ่งจ่ายครั้งเดียวเมื่อพ้นจากตำแหน่งด้วยเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้
(๑) ครบวาระ
(๒) ตาย
(๓) ลาออก
(๔) มีอายุครบเจ็ดสิบห้าปี
ในการคำนวณบำเหน็จตอบแทนนั้น ให้นำอัตราเงินเดือนตามมาตรา ๒๔ คูณด้วยจำนวนปีที่ดำรงตำแหน่ง เศษของปีให้นับเป็นหนึ่งปี
สิทธิในบำเหน็จตอบแทนนั้น เป็นสิทธิเฉพาะตัว จะโอนไม่ได้ เว้นแต่กรณีตาย ให้ตกได้แก่คู่สมรสและทายาทที่ได้แจ้งไว้ และถ้าการตายนั้นเกิดขึ้นเพราะเหตุปฏิบัติหน้าที่หรือในการปฏิบัติหน้าที่ ให้ได้รับเป็นสองเท่าของบำเหน็จตอบแทนที่กำหนดไว้ตามวรรคสอง
มาตรา ๒๖ ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ให้ตุลาการเป็นเจ้าพนักงานในการยุติธรรมตามประมวลกฎหมายอาญา