หมวด ๑
บททั่วไป
-------------------------
มาตรา ๙ ให้มีแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกา
เพื่อประโยชน์ในการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ให้ประธานศาลฎีกาแต่งตั้งผู้พิพากษาในศาลฎีกาซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาศาลฎีกาหรือผู้พิพากษาอาวุโสซึ่งเคยดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาศาลฎีกาจำนวนตามที่เห็นสมควร เป็นผู้พิพากษาประจำแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกาเพื่อปฏิบัติงานที่จำเป็นในระหว่างที่ยังไม่มีองค์คณะผู้พิพากษาตามมาตรา ๑๑ สำหรับคดีใดคดีหนึ่ง
มาตรา ๑๐ ศาลมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี ดังต่อไปนี้
(๑) คดีที่มีมูลแห่งคดีเป็นการกล่าวหาว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเฉพาะตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ หรือผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ร่ำรวยผิดปกติ ทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย
(๒) คดีที่คณะผู้ไต่สวนอิสระเห็นว่ากรรมการ ป.ป.ช. มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย
(๓) คดีที่มีมูลแห่งคดีเป็นการกล่าวหาบุคคลอื่นซึ่งมิใช่บุคคลตาม (๑) และ (๒) เป็นตัวการ ผู้ใช้ หรือผู้สนับสนุนในการกระทำความผิดทางอาญาตาม (๑) หรือ (๒) รวมทั้งผู้ให้ ผู้ขอให้หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่บุคคลตาม (๑) หรือ (๒) เพื่อจูงใจให้กระทำการ ไม่กระทำการ หรือประวิงการกระทำอันมิชอบด้วยหน้าที่
(๔) คดีที่บุคคลตาม (๑) หรือกรรมการ ป.ป.ช. หรือเจ้าหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติตามมาตรา ๕๗ วรรคสอง จงใจไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน หรือจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินหรือหนี้สินอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ และมีพฤติการณ์อันควรเชื่อได้ว่ามีเจตนาไม่แสดงที่มาแห่งทรัพย์สินหรือหนี้สิน
มาตรา ๑๑ เมื่อมีการยื่นฟ้องคดีต่อศาล ให้ประธานศาลฎีกาเรียกประชุมใหญ่ศาลฎีกาโดยเร็ว เพื่อเลือกผู้พิพากษาในศาลฎีกาซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาศาลฎีกาหรือผู้พิพากษาอาวุโสซึ่งเคยดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาศาลฎีกา จำนวนเก้าคน เป็นองค์คณะผู้พิพากษา โดยให้เลือกเป็นรายคดี
ในกรณีมีเหตุสมควร ผู้พิพากษาคนใดอาจขอถอนตัวจากการได้รับเลือกเป็นองค์คณะผู้พิพากษาได้ โดยให้แถลงต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาก่อนการลงคะแนน และให้ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาลงมติว่าจะให้มีการถอนตัวหรือไม่ มติของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาให้เป็นที่สุด
การเลือกองค์คณะผู้พิพากษาแต่ละคดีให้ใช้วิธีการลงคะแนนลับ ให้ผู้พิพากษาซึ่งได้รับคะแนนสูงสุดเรียงลงไปตามลำดับจนครบจำนวนเก้าคนเป็นผู้ได้รับเลือกเป็นองค์คณะผู้พิพากษาสำหรับคดี ถ้ามีผู้ได้รับคะแนนเท่ากันในลำดับใดอันเป็นเหตุให้มีผู้ได้รับเลือกเกินจำนวนดังกล่าว ให้ประธานศาลฎีกาจับสลากว่าผู้ใดเป็นผู้ได้รับเลือก
ผู้พิพากษาซึ่งได้รับเลือกเป็นองค์คณะผู้พิพากษามีหน้าที่และอำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดีจนกว่าจะสิ้นสุดหน้าที่และอำนาจตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ และระหว่างการพิจารณาพิพากษาคดีนั้น ห้ามมิให้มีคำสั่งให้ผู้พิพากษาผู้นั้นไปทำงานที่อื่นนอกศาลฎีกา
ในกรณีที่ผู้พิพากษาคนใดในองค์คณะผู้พิพากษาพ้นจากหน้าที่ตามมาตรา ๑๒ หรือมีเหตุสุดวิสัยหรือเหตุจำเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ทำให้ผู้พิพากษานั้นไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้ดำเนินการเลือกผู้พิพากษาเข้ามาแทนที่ให้ครบจำนวนตามหลักเกณฑ์และวิธีการตามวรรคหนึ่ง โดยผู้พิพากษาซึ่งได้รับเลือกนั้น ให้มีอำนาจเช่นเดียวกับผู้พิพากษาอื่นในองค์คณะผู้พิพากษาที่ตนเข้าแทนที่และมีอำนาจตรวจสำนวน ทำความเห็นในการวินิจฉัยคดี และลงลายมือชื่อในคำสั่งที่เป็นการวินิจฉัยชี้ขาดคดีหรือคำพิพากษาได้
ในกรณีมีเหตุสุดวิสัย หรือเหตุจำเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ทำให้ผู้พิพากษาคนใดในองค์คณะผู้พิพากษาไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ในวันนัดเป็นการชั่วคราว และผู้พิพากษาในองค์คณะผู้พิพากษาคงเหลือไม่น้อยกว่าเจ็ดคน ให้ถือว่าผู้พิพากษาเท่าที่มีอยู่เป็นองค์คณะผู้พิพากษาพิจารณาคดีต่อไปได้ เว้นแต่การทำคำสั่งที่เป็นการวินิจฉัยชี้ขาดคดีหรือคำพิพากษา
การเปลี่ยนแปลงสถานะของผู้พิพากษาในศาลฎีกาซึ่งได้รับเลือกเป็นองค์คณะผู้พิพากษาไปเป็นผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา ไม่กระทบกระเทือนถึงการที่ผู้นั้นจะปฏิบัติหน้าที่เป็นองค์คณะผู้พิพากษาต่อไป
ผู้พิพากษาซึ่งร่วมประชุมใหญ่ศาลฎีกาตามวรรคหนึ่ง องค์คณะผู้พิพากษาซึ่งได้รับเลือกในการประชุมดังกล่าว ตลอดจนบุคคลซึ่งองค์คณะผู้พิพากษามอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่มีสิทธิได้รับเบี้ยประชุม หรือค่าตอบแทน แล้วแต่กรณี ตามระเบียบที่คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการศาลยุติธรรมกำหนด
มาตรา ๑๒ ผู้พิพากษาในองค์คณะผู้พิพากษาย่อมพ้นหน้าที่ในคดี เมื่อ
(๑) พ้นจากการเป็นข้าราชการตุลาการ
(๒) ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ไปดำรงตำแหน่งที่ศาลอื่น
(๓) ถอนตัวเนื่องจากการคัดค้านผู้พิพากษา และองค์คณะผู้พิพากษามีคำสั่งยอมรับตามคำคัดค้านในมาตรา ๑๓
(๔) มีเหตุสมควรและได้รับอนุญาตจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาให้ถอนตัวได้
มาตรา ๑๓ หากคู่ความฝ่ายใดประสงค์จะคัดค้านผู้พิพากษาคนใดซึ่งได้รับเลือกเป็นผู้พิพากษาในองค์คณะผู้พิพากษา เนื่องจากมีเหตุอันจะคัดค้านผู้พิพากษาได้ ให้ยื่นคำร้องต่อศาลก่อนเริ่มการไต่สวนพยานหลักฐาน ในการนี้ ให้องค์คณะผู้พิพากษาไต่สวนตามที่เห็นสมควรแล้วมีคำสั่งยอมรับหรือยกคำคัดค้าน คำสั่งนี้เป็นที่สุด และให้นำบทบัญญัติว่าด้วยการคัดค้านผู้พิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม
การคัดค้านผู้พิพากษาจะกระทำมิได้ หากได้เริ่มการไต่สวนพยานหลักฐานไปแล้ว เว้นแต่ผู้คัดค้านสามารถแสดงต่อศาลได้ว่ามีเหตุสมควรที่ทำให้ไม่สามารถคัดค้านได้ก่อนนั้น
มาตรา ๑๔ ให้องค์คณะผู้พิพากษาเลือกผู้พิพากษาคนหนึ่งในจำนวนเก้าคนเป็นผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน
ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนมีอำนาจดำเนินการตามมติขององค์คณะผู้พิพากษา และเมื่อได้รับความเห็นชอบจากผู้พิพากษาในองค์คณะผู้พิพากษาอีกสองคน มีอำนาจออกคำสั่งใด ๆ ที่มิได้เป็นการวินิจฉัยชี้ขาดคดีได้
มาตรา ๑๕ ให้ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาไต่สวนพยานหลักฐานต่อเนื่องติดต่อกันไปจนกว่าจะเสร็จการพิจารณา เว้นแต่จะมีเหตุสุดวิสัยหรือเหตุจำเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้
มาตรา ๑๖ ถ้าอัยการสูงสุด หรือคณะกรรมการ ป.ป.ช. รวมทั้งบุคคลที่เกี่ยวข้องในคดีเกรงว่าพยานหลักฐานที่อาจต้องอ้างอิงในภายหน้าจะสูญหายหรือยากแก่การนำมาไต่สวนในภายหลัง บุคคลดังกล่าวอาจยื่นคำร้องต่อศาลขอให้มีคำสั่งไต่สวนพยานหลักฐานนั้นไว้ทันทีได้
ในกรณีที่มีการยื่นคำร้องตามวรรคหนึ่งก่อนอัยการสูงสุดหรือคณะกรรมการ ป.ป.ช. ยื่นฟ้อง ให้ผู้พิพากษาประจำแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกาตามมาตรา ๙ เป็นผู้พิจารณา ทั้งนี้ พยานหลักฐานที่ได้จากการไต่สวนพยานหลักฐานดังกล่าวให้รับฟังเป็นพยานหลักฐานได้
มาตรา ๑๗ เมื่อศาลประทับรับฟ้อง ให้ผู้ถูกกล่าวหาซึ่งดำรงตำแหน่งตามมาตรา ๑๐ (๑) กรรมการ ป.ป.ช. หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ หยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าจะมีคำพิพากษา เว้นแต่ศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น
ในกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาให้ผู้ใดพ้นจากตำแหน่ง หรือคำพิพากษานั้นมีผลให้ผู้ใดพ้นจากตำแหน่งไม่ว่าจะมีการอุทธรณ์ตามหมวด ๖ อุทธรณ์ หรือไม่ ให้ผู้นั้นพ้นจากตำแหน่งตั้งแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาหรือวันที่หยุดปฏิบัติหน้าที่
มาตรา ๑๘ ในระหว่างพิจารณา ศาลมีอำนาจมอบหมายให้ผู้พิพากษาซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในศาลฎีกาทำหน้าที่ช่วยเหลือศาลในการดำเนินคดีตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้อย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้
(๑) ตรวจสอบและรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อให้ศาลใช้เป็นแนวทางในการพิจารณาคดี
(๒) ดำเนินการและจัดทำรายงานเกี่ยวกับคดีตามที่ศาลมีคำสั่ง
(๓) ช่วยเหลือศาลในการบันทึกคำพยาน
(๔) ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ หรือตามข้อกำหนดของประธานศาลฎีกาในการทำหน้าที่ช่วยเหลือนั้น
หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการปฏิบัติหน้าที่ของผู้พิพากษาซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในศาลฎีกาให้เป็นไปตามที่กำหนดในข้อกำหนดของประธานศาลฎีกา
มาตรา ๑๙ ระยะเวลาที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ หรือในกฎหมายอื่นที่บทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้นำมาใช้บังคับ หรือในข้อกำหนดของประธานศาลฎีกา หรือตามที่ศาลกำหนด เมื่อศาลเห็นสมควรหรือเมื่อคู่ความมีคำขอ ศาลอาจย่นหรือขยายได้ตามความจำเป็นและเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม
ในกรณีที่มีข้อผิดพลาดหรือบกพร่องทางวิธีพิจารณาเกิดขึ้น ศาลอาจสั่งให้คู่ความซึ่งดำเนินกระบวนพิจารณาไม่ถูกต้อง ดำเนินกระบวนพิจารณาให้ถูกต้องได้ภายในระยะเวลาและเงื่อนไขที่ศาลเห็นสมควรกำหนด ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม
มาตรา ๒๐ การทำคำสั่งที่เป็นการวินิจฉัยชี้ขาดหรือการพิพากษาคดี ให้ผู้พิพากษาในองค์คณะผู้พิพากษาทุกคนทำความเห็นในการวินิจฉัยคดีเป็นหนังสือโดยสังเขป พร้อมทั้งต้องแถลงด้วยวาจาต่อที่ประชุม และให้ที่ประชุมปรึกษาหารือร่วมกันก่อนแล้วจึงลงมติโดยให้ถือมติตามเสียงข้างมาก ในการนี้ องค์คณะผู้พิพากษาอาจมอบหมายให้ผู้พิพากษาคนใดคนหนึ่งในองค์คณะผู้พิพากษาเป็นผู้จัดทำคำสั่งหรือคำพิพากษาตามมตินั้นก็ได้
ความเห็นในการวินิจฉัยคดีตามวรรคหนึ่งอย่างน้อยต้องมีสาระสำคัญตามข้อกำหนดของประธานศาลฎีกา
คำสั่งที่เป็นการวินิจฉัยชี้ขาดคดีหรือคำพิพากษาของศาล ให้เปิดเผยโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา ส่วนความเห็นในการวินิจฉัยคดีของผู้พิพากษาในองค์คณะผู้พิพากษาทุกคน ให้เปิดเผยตามวิธีการในข้อกำหนดของประธานศาลฎีกา
มาตรา ๒๑ คำสั่งที่เป็นการวินิจฉัยชี้ขาดคดีหรือคำพิพากษาของศาล อย่างน้อยต้องประกอบด้วย
(๑) ชื่อคู่ความทุกฝ่าย
(๒) เรื่องที่ถูกกล่าวหา
(๓) ข้อกล่าวหาและคำให้การ
(๔) ข้อเท็จจริงที่ได้จากการพิจารณา
(๕) เหตุผลในการวินิจฉัยทั้งในปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย
(๖) บทบัญญัติของกฎหมายที่ยกขึ้นอ้างอิง
(๗) คำวินิจฉัยคดี รวมทั้งการดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินที่เกี่ยวข้อง ถ้ามี
มาตรา ๒๒ เมื่อมีความจำเป็นที่จะต้องจับกุมหรือคุมขังผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยเนื่องจากมีหลักฐานตามสมควรว่าผู้นั้นน่าจะได้กระทำความผิดอาญาและมีเหตุอันควรเชื่อว่าผู้นั้นจะหลบหนีหรือจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานหรือก่อเหตุอันตรายประการอื่น คณะกรรมการ ป.ป.ช. คณะผู้ไต่สวนอิสระ หรืออัยการสูงสุดอาจร้องขอต่อศาลเพื่อให้ศาลออกหมายจับหรือหมายขังผู้นั้นได้
ในกรณีที่มีการฟ้องคดีแล้ว ไม่ว่าจะมีการคุมขังจำเลยมาก่อนหรือไม่ ให้องค์คณะผู้พิพากษาพิจารณาถึงเหตุอันควรคุมขังจำเลย และมีคำสั่งตามที่เห็นสมควรหรือปล่อยชั่วคราวจำเลยนั้นได้