หมวด ๖
อุทธรณ์
-------------------------
มาตรา ๖๐ คำพิพากษาของศาลให้อุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา
มาตรา ๖๑ ในกรณีที่จำเลยซึ่งไม่ได้ถูกคุมขังเป็นผู้อุทธรณ์ จำเลยจะยื่นอุทธรณ์ได้ต่อเมื่อแสดงตนต่อเจ้าพนักงานศาลในขณะยื่นอุทธรณ์ มิฉะนั้นให้ศาลมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์
มาตรา ๖๒ คดีที่ไม่มีอุทธรณ์คำพิพากษา ให้เป็นที่สุดตั้งแต่วันที่ศาลได้อ่านหรือถือว่าได้อ่านคำพิพากษา แต่ถ้าเป็นคดีที่ศาลพิพากษาให้ลงโทษประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิต ให้ศาลมีหน้าที่ต้องส่งสำนวนคดีดังกล่าวต่อไปให้ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา เพื่อพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ตามมาตรา ๖๓
มาตรา ๖๓ การวินิจฉัยอุทธรณ์ของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ให้ดำเนินการโดยองค์คณะของศาลฎีกา ซึ่งประกอบด้วยผู้พิพากษาจำนวนเก้าคน ซึ่งที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาคัดเลือกจากผู้พิพากษาในศาลฎีกาซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา หรือผู้พิพากษาอาวุโสซึ่งเคยดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา ซึ่งไม่เคยพิจารณาคดีนั้นมาก่อน โดยให้เลือกเป็นรายคดี คำวินิจฉัยอุทธรณ์ขององค์คณะให้ถือว่าเป็นคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา
ให้นำความในมาตรา ๑๑ มาตรา ๑๒ มาตรา ๑๓ มาตรา ๑๔ มาตรา ๒๐ และมาตรา ๒๑ มาใช้บังคับแก่การดำเนินคดีชั้นอุทธรณ์ โดยอนุโลม
มาตรา ๖๔ ในการพิจารณาอุทธรณ์ หากมีปัญหาข้อกฎหมายสำคัญ ผู้พิพากษาคนหนึ่งคนใดในองค์คณะของศาลฎีกานั้น หรือประธานแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกาจะเสนอประธานศาลฎีกาเพื่อพิจารณาให้มีการวินิจฉัยปัญหานั้นโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาก็ได้
เมื่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกามีคำวินิจฉัยในเรื่องหรือประเด็นใดตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้องค์คณะของศาลฎีกาวินิจฉัยหรือมีคำพิพากษาในเรื่องหรือประเด็นนั้นไปตามคำวินิจฉัยของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา