ลักษณะ ๑
ข้อความเบื้องต้น
-------------------------
มาตรา ๑ กฎหมายนี้ให้เรียกว่า “ประมวลรัษฎากร”
มาตรา ๒๑ ในประมวลรัษฎากรนี้ เว้นแต่ข้อความจะแสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่น
“รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามประมวลรัษฎากรนี้
“อธิบดี”๒ หมายความว่า อธิบดีกรมสรรพากรหรือผู้ที่อธิบดีกรมสรรพากรมอบหมาย
“ผู้ว่าราชการจังหวัด” หมายความรวมถึงผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครด้วย
“อำเภอ” หมายความว่า นายอำเภอ สมุห์บัญชีอำเภอ หรือสมุห์บัญชีเขต
“นายอำเภอ” หมายความรวมถึงหัวหน้าเขต และปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอด้วย
“ที่ว่าการอำเภอ” หมายความรวมถึงที่ว่าการเขต และที่ว่าการกิ่งอำเภอด้วย
“องค์การของรัฐบาล” หมายความว่า องค์การของรัฐบาลตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาลและกิจการของรัฐตามกฎหมายที่จัดตั้งกิจการนั้น และหมายความรวมถึงหน่วยงานธุรกิจที่รัฐบาลเป็นเจ้าของซึ่งไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคลด้วย
“ประเทศไทย” หรือ “ราชอาณาจักร” หมายความรวมถึงเขตไหล่ทวีปที่เป็นสิทธิของประเทศไทยตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศที่ยอมรับนับถือกันโดยทั่วไป และตามความตกลงกับต่างประเทศด้วย
มาตรา ๓๓ บรรดารัษฎากรประเภทต่าง ๆ ซึ่งเรียกเก็บตามประมวลรัษฎากรนี้จะตราพระราชกฤษฎีกาเพื่อการต่อไปนี้ก็ได้ คือ
(๑) ลดอัตรา หรือยกเว้นเพื่อให้เหมาะสมกับเหตุการณ์ กิจการ หรือสภาพของท้องที่บางแห่งหรือทั่วไป
(๒) ยกเว้นแก่บุคคลหรือองค์การระหว่างประเทศตามข้อผูกพันที่ประเทศไทยมีอยู่ต่อองค์การสหประชาชาติ หรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ หรือตามสัญญา หรือตามหลักถ้อยทีถ้อยปฏิบัติต่อกันกับนานาประเทศ
(๓) ยกเว้นแก่รัฐบาล องค์การของรัฐบาล เทศบาล สุขาภิบาล องค์การศาสนา หรือองค์การกุศลสาธารณะ
การลดหรือยกเว้นตาม (๑) (๒) และ (๓) นั้น จะตราพระราชกฤษฎีกายกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงก็ได้
มาตรา ๓ ทวิ๔ ถ้าเจ้าพนักงานดังต่อไปนี้เห็นว่าผู้ต้องหาไม่ควรต้องได้รับโทษจำคุกหรือไม่ควรถูกฟ้องร้อง ให้มีอำนาจเปรียบเทียบโดยกำหนดค่าปรับแต่สถานเดียวในความผิดต่อไปนี้ เว้นแต่ความผิดตามมาตรา ๑๓ คือ
(๑) ความผิดที่มีโทษปรับสถานเดียว หรือมีโทษปรับ หรือจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือทั้งปรับทั้งจำซึ่งโทษจำคุกไม่เกินหกเดือนที่เกิดขึ้นในกรุงเทพมหานครให้เป็นอำนาจของอธิบดี ถ้าเกิดขึ้นในจังหวัดอื่นให้เป็นอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัด
(๒) ความผิดที่มีโทษปรับหรือโทษจำคุกเกินหกเดือนแต่ไม่เกินหนึ่งปี หรือทั้งปรับทั้งจำซึ่งโทษจำคุกเกินหกเดือนแต่ไม่เกินหนึ่งปีให้เป็นอำนาจของคณะกรรมการ ซึ่งประกอบด้วยอธิบดี อธิบดีกรมการปกครอง และอธิบดีกรมตำรวจหรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย
ถ้าผู้ต้องหาใช้ค่าปรับตามที่เปรียบเทียบภายในระยะเวลาที่ผู้มีอำนาจเปรียบเทียบกำหนดแล้ว ให้ถือว่าเป็นอันคุ้มผู้ต้องหามิให้ถูกฟ้องร้องต่อไปในกรณีแห่งความผิดนั้น
ถ้าผู้มีอำนาจเปรียบเทียบตามวรรคหนึ่งเห็นว่าไม่ควรใช้อำนาจเปรียบเทียบ หรือเมื่อเปรียบเทียบแล้วผู้ต้องหาไม่ยอมตามที่เปรียบเทียบ หรือยอมแล้วแต่ไม่ชำระค่าปรับภายในระยะเวลาที่ผู้มีอำนาจเปรียบเทียบกำหนดให้ดำเนินการฟ้องร้องต่อไป และในกรณีนี้ห้ามมิให้ดำเนินการเปรียบเทียบตามกฎหมายอื่นอีก
มาตรา ๓ ตรี๕ บุคคลใดจะต้องเสียเงินเพิ่มภาษีอากรตามบทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากรนี้ และบุคคลนั้นยินยอมและชำระเงินเพิ่มภาษีอากรตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในกฎกระทรวงแล้ว ให้ถือว่าเป็นอันคุ้มบุคคลนั้นมิให้ต้องรับผิดเสียเงินเพิ่มภาษีอากร
มาตรา ๓ จัตวา๖ ในกรณีที่บทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากรกำหนดให้บุคคลไปเสียภาษีอากร ณ ที่ว่าการอำเภอ รัฐมนตรีจะประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนดให้ไปเสีย ณ สำนักงานแห่งอื่นก็ได้ ในกรณีเช่นว่านี้การเสียภาษีอากรนั้น ให้ถือว่าเป็นการสมบูรณ์เมื่อได้รับใบเสร็จรับเงินซึ่งหัวหน้าสำนักงานแห่งนั้นได้ลงลายมือชื่อรับเงินแล้ว
มาตรา ๓ เบญจ๗ เมื่อมีเหตุอันควรเชื่อว่ามีการหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร ให้อธิบดีมีอำนาจเข้าไปหรือออกคำสั่งเป็นหนังสือให้เจ้าพนักงานสรรพากรเข้าไปในสถานที่หรือยานพาหนะใดเพื่อทำการตรวจค้น ยึด หรืออายัดบัญชี เอกสาร หรือหลักฐานอื่นที่เกี่ยวกับหรือสันนิษฐานว่าเกี่ยวกับภาษีอากรที่จะต้องเสียได้ทั่วราชอาณาจักร
ในจังหวัดอื่นนอกจากกรุงเทพมหานคร ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดหรือสรรพากรเขตมีอำนาจเช่นเดียวกับอธิบดีตามวรรคหนึ่ง สำหรับในเขตท้องที่จังหวัดหรือเขตนั้น
การทำการตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสองต้องทำในระหว่างเวลาพระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตก หรือในระหว่างเวลาทำการของผู้ประกอบกิจการนั้น
มาตรา ๓ ฉ๘ บรรดาบัญชี เอกสาร และหลักฐานต่าง ๆ ซึ่งเกี่ยวกับหรือสันนิษฐานว่าเกี่ยวกับภาษีอากรที่จะต้องเสีย ถ้าทำเป็นภาษาต่างประเทศเจ้าพนักงานประเมินหรือพนักงานเจ้าหน้าที่จะสั่งให้บุคคลใดที่มีหน้าที่รับผิดชอบจัดการแปลเป็นภาษาไทยให้เสร็จภายในเวลาที่สมควรก็ได้
มาตรา ๓ สัตต๙ เพื่อประโยชน์แห่งการจัดเก็บภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร การตรวจสอบและรับรองบัญชีจะกระทำได้ก็แต่โดยบุคคลที่ได้รับใบอนุญาตจากอธิบดี
บุคคลที่จะขอใบอนุญาตจากอธิบดีตามความในวรรคก่อน ต้องเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติและปฏิบัติตามระเบียบที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี
บุคคลใดได้รับใบอนุญาตดังกล่าวแล้ว ถ้าฝ่าฝืนระเบียบที่อธิบดีกำหนด อธิบดีอาจพิจารณาสั่งถอนใบอนุญาตเสียก็ได้
บทบัญญัติแห่งมาตรานี้จะใช้บังคับในเขตจังหวัดใด ให้อธิบดีประกาศโดยอนุมัติรัฐมนตรี
การประกาศ ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
มาตรา ๓ อัฏฐ๑๐ กำหนดเวลาการยื่นแบบแสดงรายการหรือแจ้งรายการต่าง ๆ ก็ดี กำหนดเวลาการอุทธรณ์ก็ดี หรือกำหนดเวลาการเสียภาษีอากรตามที่กำหนดไว้ในประมวลรัษฎากรนี้ก็ดี ถ้าผู้มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามกำหนดเวลาดังกล่าวมิได้อยู่ในประเทศไทย หรือมีเหตุจำเป็นจนไม่สามารถจะปฏิบัติตามกำหนดเวลาได้ เมื่ออธิบดีพิจารณาเห็นเป็นการสมควรจะให้ขยายหรือให้เลื่อนกำหนดเวลาออกไปอีกตามความจำเป็นแก่กรณีก็ได้
กำหนดเวลาต่าง ๆ ที่กำหนดไว้ในประมวลรัษฎากรนี้ เมื่อรัฐมนตรีเห็นเป็นการสมควร จะขยายหรือเลื่อนกำหนดเวลานั้นออกไปอีกตามความจำเป็นแก่กรณีก็ได้
มาตรา ๓ นว๑๑ ผู้ใดรู้อยู่แล้วไม่อำนวยความสะดวกหรือขัดขวางเจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่ตามความในมาตรา ๓ เบญจ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท หรือจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือทั้งปรับทั้งจำ
มาตรา ๓ ทศ๑๒ ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงานประเมิน หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ตามความในมาตรา ๓ ฉ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท
มาตรา ๓ เอกาทศ๑๓ เพื่อประโยชน์ในการจัดเก็บภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร อธิบดีมีอำนาจกำหนดให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีอากร และผู้มีหน้าที่จ่ายเงินได้มีและใช้เลขประจำตัวในการปฏิบัติการตามประมวลรัษฎากรได้ตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่อธิบดีกำหนด ทั้งนี้ โดยอนุมัติรัฐมนตรี
การกำหนดตามวรรคหนึ่ง ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
มาตรา ๓ ทวาทศ๑๔ ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามประกาศที่ออกตามความในมาตรา ๓ เอกาทศ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองพันบาท
มาตรา ๓ เตรส๑๕ ในกรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการจัดเก็บภาษี ให้อธิบดีมีอำนาจออกคำสั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา ๔๐ ซึ่งไม่มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายตามลักษณะ ๒ หักภาษี ณ ที่จ่ายตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และอัตราที่กำหนดโดยกฎกระทรวง ในการนี้ให้นำมาตรา ๕๒ มาตรา ๕๓ มาตรา ๕๔ มาตรา ๕๕ มาตรา ๕๘ มาตรา ๕๙ มาตรา ๖๐ และมาตรา ๖๓ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
มาตรา ๓ จตุทศ๑๖ ในกรณีที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายตามบทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร ให้ผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย หักภาษี ณ ที่จ่ายและนำส่งก่อนไม่ว่าการจ่ายเงินนั้นจะเกิดขึ้นจากคำสั่งหรือคำบังคับของศาลหรือตามกฎหมายหรือเหตุอื่นใดก็ตาม
มาตรา ๓ ปัณรส๑๗ เพื่อประโยชน์ในการนำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ตามมาตรา ๕๒ การนำส่งภาษีเงินได้ตามมาตรา ๗๐ และมาตรา ๗๐ ทวิ และการนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา ๘๓/๕ และมาตรา ๘๓/๖ ผู้มีหน้าที่นำส่งภาษีอาจเลือกวิธีนำส่งเงินภาษีให้แก่กรมสรรพากรตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และระยะเวลาที่กำหนดในกฎกระทรวงแทนวิธีนำส่งตามที่บัญญัติในมาตราที่เกี่ยวข้องก็ได้
กฎกระทรวงตามวรรคหนึ่งจะกำหนดระยะเวลานำส่งเงินภาษีเกินกว่าที่บัญญัติในมาตราที่เกี่ยวข้องแต่ละกรณีไม่ได้
มาตรา ๓ โสฬส๑๘ บรรดาหมายเรียก หนังสือแจ้งให้เสียภาษีอากร แบบใบกำกับภาษีรายงาน เอกสารหลักฐานหรือหนังสืออื่นใด ที่ต้องมี จัดทำ หรือใช้ ตามที่บัญญัติในประมวลรัษฎากร และบรรดาเอกสารหลักฐานหรือหนังสือที่กรมสรรพากรต้องใช้ในการติดต่อกับผู้เสียภาษีอากรหรือบุคคลใดหรือที่ผู้เสียภาษีอากรหรือบุคคลใดต้องใช้ในการติดต่อกับกรมสรรพากร อาจกระทำด้วยกระบวนการทางอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้ ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง
กฎกระทรวงตามวรรคหนึ่งให้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการจัดทำ การส่ง การรับ ตลอดจนการเก็บรักษาที่เกี่ยวข้องไว้ด้วย ซึ่งต้องสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ตามกฎหมายว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์
มาตรา ๓ สัตตรส๑๙ เพื่อประโยชน์ในการจัดเก็บภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร ให้บุคคลดังต่อไปนี้เป็นผู้มีหน้าที่รายงานข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลที่มีธุรกรรมลักษณะเฉพาะในปีที่ล่วงมาเฉพาะที่อยู่ในความครอบครองต่อกรมสรรพากรภายในเดือนมีนาคมของทุกปี
(๑) สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน
(๒) สถาบันการเงินของรัฐที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น
(๓) ผู้ให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ตามกฎหมายว่าด้วยระบบการชำระเงิน
ธุรกรรมลักษณะเฉพาะตามวรรคหนึ่ง หมายความว่า ธุรกรรมที่มีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดในปีที่ล่วงมา ดังต่อไปนี้
(๑) ฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่สามพันครั้งขึ้นไป
(๒) ฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่สี่ร้อยครั้งและมียอดรวมของธุรกรรมฝากหรือรับโอนเงินรวมกันตั้งแต่สองล้านบาทขึ้นไป
รายการข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลที่มีธุรกรรมลักษณะเฉพาะที่ต้องรายงานตามวรรคหนึ่ง และวิธีการรายงาน ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
จำนวนครั้งหรือยอดรวมของธุรกรรมฝากหรือรับโอนเงินตามวรรคสอง ให้กำหนดเพิ่มขึ้นได้ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
ให้อธิบดีมีหน้าที่ในการเก็บรักษาข้อมูลที่ได้รับตามมาตรานี้และให้เก็บข้อมูลดังกล่าวไว้ไม่เกินสิบปีนับแต่วันที่กรมสรรพากรได้รับข้อมูล
มาตรา ๓ อัฏฐารส๒๐ ในกรณีที่ปรากฏว่าผู้มีหน้าที่รายงานผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๓ สัตตรส ให้อธิบดีมีอำนาจสั่งให้ผู้มีหน้าที่รายงานปฏิบัติให้ถูกต้องภายในระยะเวลาที่กำหนด
ผู้มีหน้าที่รายงานผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของอธิบดีตามวรรคหนึ่ง ให้อธิบดีมีอำนาจพิจารณามีคำสั่งลงโทษปรับทางปกครองไม่เกินหนึ่งแสนบาท และปรับอีกไม่เกินวันละหนึ่งหมื่นบาท ตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่หรือจนกว่าจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง
มาตรา ๔๒๑ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามประมวลรัษฎากรนี้ และให้มีอำนาจแต่งตั้งเจ้าพนักงานประเมินและเจ้าพนักงานอื่นโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษากับออกกฎกระทรวง
(๑) ให้ใช้หรือให้ยกเลิกแสตมป์โดยกำหนดให้นำมาแลกเปลี่ยนกับแสตมป์ที่ใช้ได้ภายในเวลาและเงื่อนไขที่กำหนด แต่ต้องให้เวลาไม่น้อยกว่าหกสิบวัน
(๒) กำหนดกิจการอื่นเพื่อปฏิบัติการตามประมวลรัษฎากรนี้
กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้
มาตรา ๔ ทวิ๒๒ คนต่างด้าวผู้ใดจะเดินทางออกจากประเทศไทยต้องเสียภาษีอากรที่ค้างชำระ และหรือที่จะต้องชำระแม้จะยังไม่ถึงกำหนดชำระ หรือจัดหาประกันเงินภาษีอากรให้เสร็จสิ้นตามบทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากรนี้ก่อนออกเดินทาง
มาตรา ๔ ตรี๒๓ ให้คนต่างด้าวซึ่งจะเดินทางออกจากประเทศไทยยื่นคำร้องตามแบบที่อธิบดีกำหนด เพื่อขอรับใบผ่านภาษีอากรภายในกำหนดเวลาไม่เกินสิบห้าวันก่อนออกเดินทางไม่ว่ามีเงินภาษีอากรที่ต้องชำระหรือไม่
การยื่นคำร้องตามความในวรรคก่อน ถ้าผู้ยื่นคำร้องมีภูมิลำเนาหรือพักอยู่ในเขตจังหวัดพระนครหรือจังหวัดธนบุรี ให้ยื่นต่ออธิบดีหรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย ถ้ามีภูมิลำเนาหรือพักอยู่ในเขตจังหวัดอื่นให้ยื่นต่อผู้ว่าราชการจังหวัดนั้นหรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย
คนต่างด้าวผู้ใดไม่ยื่นคำร้องขอรับใบผ่านภาษีอากรตามความในวรรคก่อนหรือยื่นคำร้องแล้วแต่ยังไม่ได้รับใบผ่านภาษีอากร เดินทางออกจากประเทศไทยหรือพยายามเดินทางออกจากประเทศไทย นอกจากจะมีความผิดตามบทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากรนี้ ให้คนต่างด้าวผู้นั้นเสียเงินเพิ่มร้อยละ ๒๐ ของเงินภาษีอากรที่จะต้องเสียทั้งสิ้นอีกด้วย เงินเพิ่มตามมาตรานี้ให้ถือเป็นค่าภาษีอากร
มาตรา ๔ จัตวา๒๔ บทบัญญัติมาตรา ๔ ทวิ และมาตรา ๔ ตรี ไม่ใช้บังคับแก่คนต่างด้าวผู้เดินทางผ่านประเทศไทย หรือเข้ามา และอยู่ในประเทศไทยชั่วระยะเวลาหนึ่งหรือหลายระยะรวมกันไม่เกินเก้าสิบวันในปีภาษีใด โดยไม่มีเงินได้พึงประเมิน หรือคนต่างด้าวที่อธิบดีประกาศกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี
มาตรา ๔ เบญจ๒๕ ให้ผู้รับคำร้องตามมาตรา ๔ ตรี ตรวจสอบว่า ผู้ยื่นคำร้องมีภาษีอากรที่จะต้องเสียตามมาตรา ๔ ทวิ หรือไม่ ถ้าไม่มีก็ให้ออกใบผ่านภาษีอากรตามแบบที่อธิบดีกำหนดให้แก่ผู้ยื่นคำร้อง
ถ้าในการตรวจสอบตามความในวรรคก่อนปรากฏว่า ผู้ยื่นคำร้องมีเงินภาษีอากรที่ต้องเสียตามมาตรา ๔ ทวิ และผู้ยื่นคำร้องได้นำเงินภาษีอากรมาชำระครบถ้วนแล้วก็ดี หรือไม่อาจชำระได้ทั้งหมดหรือได้ชำระแต่บางส่วน และผู้ยื่นคำร้องได้จัดหาผู้ค้ำประกันหรือหลักประกันที่อธิบดีหรือผู้ว่าราชการจังหวัดหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายเห็นสมควรมาเป็นประกันเงินค่าภาษีอากรนั้นแล้วก็ดี ให้อธิบดีหรือผู้ว่าราชการจังหวัดหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายออกใบผ่านภาษีอากรให้
มาตรา ๔ ฉ๒๖ ในกรณีที่ผู้รับคำร้องตามมาตรา ๔ ตรี พิจารณาเห็นว่า ผู้ยื่นคำร้องมีเหตุผลสมควรจะต้องเดินทางออกจากประเทศไทยเป็นการรีบด่วนและชั่วคราว และผู้ยื่นคำร้องมีหลักประกันหรือหลักทรัพย์อยู่ในประเทศไทยพอคุ้มค่าภาษีอากรที่ค้างหรือที่จะต้องชำระ ให้อธิบดีหรือผู้ว่าราชการจังหวัดหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายออกใบผ่านภาษีอากรให้
มาตรา ๔ สัตต๒๗ ภายใต้บังคับมาตรา ๔ อัฏฐ ใบผ่านภาษีอากรให้มีอายุใช้ได้สิบห้าวันนับแต่วันออก ถ้ามีการขอต่ออายุใบผ่านภาษีอากรก่อนสิ้นอายุ อธิบดีหรือผู้ว่าราชการจังหวัดหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจะต่ออายุให้อีกสิบห้าวันก็ได้
มาตรา ๔ อัฏฐ๒๘ คนต่างด้าวซึ่งมีความจำเป็นต้องเดินทางเข้าออกประเทศไทยเป็นปกติธุระเกี่ยวกับการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพ จะยื่นคำร้องต่ออธิบดีหรือผู้ว่าราชการจังหวัดหรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย แล้วแต่กรณี ขอให้ออกใบผ่านภาษีอากรให้ใช้เป็นประจำก็ได้ ถ้าผู้รับคำร้องพิจารณาเห็นว่าคนต่างด้าวผู้นั้นมีความจำเป็นดังที่ร้องขอ และมีหลักประกันหรือหลักทรัพย์อยู่ในประเทศไทยพอคุ้มค่าภาษีอากรที่ค้างหรือที่จะต้องชำระแล้ว จะออกใบผ่านภาษีอากรให้ตามแบบที่อธิบดีกำหนดก็ได้ ใบผ่านภาษีอากรเช่นว่านี้ให้มีกำหนดเวลาใช้ได้ตามที่ระบุในใบผ่านภาษีอากรนั้น แต่ต้องไม่เกินกว่าหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันออก
มาตรา ๔ นว๒๙ คนต่างด้าวผู้ใดเดินทางออกจากประเทศไทยโดยไม่มีใบผ่านภาษีอากร ซึ่งต้องมีตามความในประมวลรัษฎากรนี้ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือทั้งปรับทั้งจำ
คนต่างด้าวผู้ใดพยายามกระทำการเช่นว่านั้น ต้องระวางโทษเช่นเดียวกัน
มาตรา ๔ ทศ๓๐ ให้อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายสั่งให้ดอกเบี้ยแก่ผู้ได้รับคืนเงินภาษีอากรในอัตราร้อยละ ๑ ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของเงินภาษีอากรที่ได้รับคืนโดยไม่คิดทบต้น ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดโดยกฎกระทรวง
ดอกเบี้ยที่ให้ตามวรรคหนึ่งมิให้เกินกว่าจำนวนเงินภาษีอากรที่ได้รับคืน และให้จ่ายจากเงินภาษีอากรที่จัดเก็บได้ตามประมวลรัษฎากรนี้
๑ มาตรา ๒ แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๐ ลงวันที่ ๗ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๒๐
๒ มาตรา ๒ นิยามคำว่า "อธิบดี" แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๑๓) พ.ศ. ๒๕๒๗
๓ มาตรา ๓ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๔๙๖
๔ มาตรา ๓ ทวิ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๒๕) พ.ศ. ๒๕๒๕
๕ มาตรา ๓ ตรี เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๘) พ.ศ. ๒๔๙๔
๖ มาตรา ๓ จัตวา เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๘) พ.ศ. ๒๔๙๔
๗ มาตรา ๓ เบญจ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๒๕) พ.ศ. ๒๕๒๕
๘ มาตรา ๓ ฉ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๔๙๖
๙ มาตรา ๓ สัตต เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๔๙๖
๑๐ มาตรา ๓ อัฏฐ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๔๙๖
๑๑ มาตรา ๓ นว เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๔๙๖
๑๒ มาตรา ๓ ทศ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๔๙๖
๑๓ มาตรา ๓ เอกาทศ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๒๕) พ.ศ. ๒๕๒๕
๑๔ มาตรา ๓ ทวาทศ เพิ่มเติมโดยโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๐ ลงวันที่ ๗ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๒๐
๑๕ มาตรา ๓ เตรส เพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๒๑
๑๖ มาตรา ๓ จตุทศ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๑๒) พ.ศ. ๒๕๒๖
๑๗ มาตรา ๓ ปัณรส เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๔๘) พ.ศ. ๒๕๖๒
๑๘ มาตรา ๓ โสฬส แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๕๓) พ.ศ. ๒๕๖๔
๑๙ มาตรา ๓ สัตตรส เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๔๘) พ.ศ. ๒๕๖๒
๒๐ มาตรา ๓ อัฏฐารส เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๔๘) พ.ศ. ๒๕๖๒
๒๑ มาตรา ๔ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๒๐) พ.ศ. ๒๕๑๓
๒๒ มาตรา ๔ ทวิ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๑๖) พ.ศ. ๒๕๐๒
๒๓ มาตรา ๔ ตรี เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๑๖) พ.ศ. ๒๕๐๒
๒๔ มาตรา ๔ จัตวา แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๑๓) พ.ศ. ๒๕๒๗
๒๕ มาตรา ๔ เบญจ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๑๖) พ.ศ. ๒๕๐๒
๒๖ มาตรา ๔ ฉ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๑๖) พ.ศ. ๒๕๐๒
๒๗ มาตรา ๔ สัตต เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๑๖) พ.ศ. ๒๕๐๒
๒๘ มาตรา ๔ อัฏฐ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๑๖) พ.ศ. ๒๕๐๒
๒๙ มาตรา ๔ นว เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๑๖) พ.ศ. ๒๕๐๒
๓๐ มาตรา ๔ ทศ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๒๕) พ.ศ. ๒๕๒๕