ส่วนที่ ๒
การอุทธรณ์
-------------------------
มาตรา ๒๘ การอุทธรณ์นั้น ให้อุทธรณ์ตามแบบที่อธิบดีกำหนด
มาตรา ๒๙ ในการอุทธรณ์การประเมินภาษีอากรที่อำเภอมีหน้าที่ประเมิน ให้อุทธรณ์ได้ตามเกณฑ์และวิธีการดังต่อไปนี้
(๑) ให้อุทธรณ์การประเมินของอำเภอต่อเจ้าพนักงานประเมินภายในกำหนด ๑๕ วัน นับแต่วันได้รับแจ้งการประเมิน
(๒)๑ เว้นแต่ในกรณีห้ามอุทธรณ์ตามความในมาตรา ๒๑ หรือมาตรา ๒๕ ให้อุทธรณ์การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินต่อผู้ว่าราชการจังหวัดภายในกำหนดสิบห้าวันนับแต่วันได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ หรือรับแจ้งการประเมินตามความในมาตรา ๑๘ ทวิ มาตรา ๒๐ หรือ มาตรา ๒๔
(๓) เว้นแต่ในกรณีห้ามอุทธรณ์ตามมาตรา ๓๓ ให้อุทธรณ์คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของข้าหลวงประจำจังหวัดต่อศาลภายในกำหนด ๑๕ วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์
มาตรา ๓๐๒ ในการอุทธรณ์การประเมินภาษีอากรที่อำเภอไม่มีหน้าที่ประเมินให้อุทธรณ์ภายในกำหนดเวลาสามสิบวันนับแต่วันได้รับแจ้งการประเมิน โดยให้อุทธรณ์ตามเกณฑ์และวิธีการดังต่อไปนี้
(๑) เว้นแต่ในกรณีห้ามอุทธรณ์ตามมาตรา ๒๑ หรือมาตรา ๒๕
(ก) ถ้าเจ้าพนักงานประเมินผู้ทำการประเมินมีสำนักงานอยู่ในเขตจังหวัดพระนครหรือจังหวัดธนบุรี ให้อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ซึ่งประกอบด้วยอธิบดีหรือผู้แทน ผู้แทนกรมอัยการและผู้แทนกรมมหาดไทย
(ข) ถ้าเจ้าพนักงานประเมินผู้ทำการประเมินมีสำนักงานอยู่ในเขตจังหวัดอื่น ให้อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ซึ่งประกอบด้วยผู้ว่าราชการจังหวัดหรือผู้แทนสรรพากรเขตหรือผู้แทน และอัยการจังหวัดหรือผู้แทน
(๒) เว้นแต่ในกรณีห้ามอุทธรณ์ตามมาตรา ๓๓ ให้อุทธรณ์คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ต่อศาลภายในกำหนดเวลาสามสิบวันนับแต่วันได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์
คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตาม (ก) จะมีหลายคณะก็ได้๓
มาตรา ๓๑๔ การอุทธรณ์ไม่เป็นการทุเลาการเสียภาษีอากร ถ้าไม่เสียภาษีอากรภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดให้ถือเป็นภาษีอากรค้างตามมาตรา ๑๒ เว้นแต่กรณีที่ผู้อุทธรณ์ได้รับอนุมัติจากอธิบดีให้รอคำวินิจฉัยอุทธรณ์หรือคำพิพากษาได้ ก็ให้มีหน้าที่ชำระภายในสามสิบวันนับแต่วันได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์หรือได้รับทราบคำพิพากษาถึงที่สุด แล้วแต่กรณี
ในกรณีที่มีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ให้เสียภาษีอากรเพิ่มขึ้น ผู้อุทธรณ์จะต้องชำระภายในกำหนดเวลาเช่นเดียวกับวรรคก่อน
มาตรา ๓๒๕ เพื่อการวินิจฉัยอุทธรณ์ตามมาตรา ๒๙ หรือมาตรา ๓๐ เจ้าพนักงานประเมิน ผู้ว่าราชการจังหวัดหรือกรรมการในคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ แล้วแต่กรณี มีอำนาจออกหมายเรียกผู้อุทธรณ์มาไต่สวน ออกหมายเรียกพยาน กับสั่งให้ผู้อุทธรณ์หรือพยานนั้นนำสมุดบัญชี หรือพยานหลักฐานอย่างอื่นอันควรแก่เรื่องมาแสดงได้ แต่ต้องให้เวลาล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสิบห้าวันนับแต่วันส่งหมาย
มาตรา ๓๓๖ ผู้อุทธรณ์คนใดไม่ปฏิบัติตามหมายเรียกหรือคำสั่งตามมาตรา ๓๒ หรือไม่ยอมตอบคำถามเมื่อซักถามโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร ผู้นั้นหมดสิทธิที่จะอุทธรณ์คำวินิจฉัยอุทธรณ์ต่อไป
มาตรา ๓๔๗ คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้มีหน้าที่พิจารณาอุทธรณ์ตามมาตรา ๒๙ หรือมาตรา ๓๐ ให้ทำเป็นหนังสือและให้ส่งไปยังผู้อุทธรณ์
๑ มาตรา ๒๙ (๒) แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๑๒) พ.ศ. ๒๔๙๗
๒ มาตรา ๓๐ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๑๖) พ.ศ. ๒๕๐๒
๓ มาตรา ๓๐ วรรคสอง เพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๑๒) พ.ศ. ๒๕๒๖
๔ มาตรา ๓๑ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๑๘) พ.ศ. ๒๕๐๔
๕ มาตรา ๓๒ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๑๖) พ.ศ. ๒๕๐๒
๖ มาตรา ๓๓ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๑๖) พ.ศ. ๒๕๐๒
๗ มาตรา ๓๔ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๑๖) พ.ศ. ๒๕๐๒