My Template

หมวด ๓ คณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง (มาตรา ๓๕ - ๔๑/๑)

 

หมวด ๒
ตุลาการศาลปกครอง

-------------------------

               มาตรา ๓๕  ให้มีคณะกรรมการตุลาการศาลปกครองคณะหนึ่งเรียกโดยย่อว่า ก.ศป.” ประกอบด้วย
              
(๑) ประธานศาลปกครองสูงสุดเป็นประธานกรรมการ
              
(๒) กรรมการตุลาการศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งเป็นตุลาการศาลปกครองจำนวนสิบคน ดังนี้
                    
(ก) ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดจำนวนหกคนซึ่งได้รับเลือกจากตุลาการในศาลปกครองสูงสุด
                    
(ข) ตุลาการในศาลปกครองชั้นต้นจำนวนสี่คนซึ่งได้รับเลือกจากตุลาการในศาลปกครองชั้นต้น
              
(๓) กรรมการตุลาการศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งไม่เป็นหรือเคยเป็นตุลาการในศาลปกครองจำนวนสองคน ที่ได้รับเลือกจากตุลาการในศาลปกครองสูงสุดและตุลาการในศาลปกครองชั้นต้น
              
ให้เลขาธิการสำนักงานศาลปกครองเป็นเลขานุการของ ก.ศป. และให้ ก.ศป. แต่งตั้งข้าราชการฝ่ายศาลปกครองจำนวนไม่เกินสองคนเป็นผู้ช่วยเลขานุการ

               มาตรา ๓๕/๑  กรรมการตุลาการศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิตามมาตรา ๓๕ วรรคหนึ่ง (๓) ต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้
              
(๑) มีสัญชาติไทย
              
(๒) มีอายุไม่ต่ำกว่าสี่สิบห้าปี
              
(๓) สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า
               (๔) ไม่เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กรรมการการเลือกตั้ง กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน
ผู้ตรวจการแผ่นดิน กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือกรรมการในคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมหรือศาลอื่น
              
(๕) ไม่เป็นข้าราชการอัยการ ข้าราชการตำรวจ ข้าราชการตุลาการศาลยุติธรรม ตุลาการศาลทหาร หรือทนายความ
               (๖) ไม่เป็นกรรมการ ที่ปรึกษา พนักงาน ลูกจ้าง หรือดำรงตำแหน่งใดในรัฐวิสาหกิจ
              
(๗) ไม่เป็นผู้มีความประพฤติเสื่อมเสียหรือบกพร่องในศีลธรรมอันดี
              
(๘) ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย หรือไม่เคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต
              
(๙) ไม่เคยถูกไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกจากราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ
              
(๑๐) ไม่เคยต้องรับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
              
(๑๑) ไม่เป็นคนไร้ความสามารถ คนเสมือนไร้ความสามารถ หรือคนวิกลจริต หรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ
              
(๑๒) ไม่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ข้าราชการการเมือง สมาชิกสภาท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่น กรรมการพรรคการเมือง สมาชิกพรรคการเมือง หรือเจ้าหน้าที่ในพรรคการเมือง
               (๑๓) ไม่ประกอบอาชีพหรือวิชาชีพอื่นใดอันเป็นการกระทบกระเทือนถึงการปฏิบัติหน้าที่
ในตำแหน่งกรรมการตุลาการศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิ

               มาตรา ๓๕/๒  กรรมการตุลาการศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิตามมาตรา ๓๕ วรรคหนึ่ง (๒) และ (๓) จะดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิตามมาตรา ๔๑/๒ วรรคหนึ่ง (๓) (๔) หรือ (๕) หรือกรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิตามมาตรา ๘๑ วรรคหนึ่ง (๓) (๔) หรือ (๕) ในเวลาเดียวกันมิได้

               มาตรา ๓๖  การเลือกกรรมการตุลาการศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิตามมาตรา ๓๕ วรรคหนึ่ง (๒) ให้ใช้วิธีออกเสียงลงคะแนนโดยตรงและลับ ในการนี้ให้เลขาธิการสำนักงานศาลปกครองจัดทำบัญชีรายชื่อบุคคลผู้มีสิทธิได้รับเลือก โดยแยกเป็นประเภทตุลาการในศาลปกครองสูงสุดและตุลาการในศาลปกครองชั้นต้นส่งไปยังตุลาการในศาลปกครองสูงสุดหรือตุลาการในศาลปกครองชั้นต้น แล้วแต่กรณี และให้แจ้งกำหนดวัน เวลา และสถานที่ที่จะทำการเลือกไปด้วย
              
ให้มีคณะกรรมการดำเนินการเลือก ประกอบด้วย เลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง ตุลาการศาลปกครองสามคน และคณบดีคณะนิติศาสตร์ในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐสามคน ซึ่งประธานศาลปกครองสูงสุดเป็นผู้คัดเลือก เป็นกรรมการ มีหน้าที่ในการดำเนินการเกี่ยวกับการเลือกกรรมการตุลาการศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิตามวรรคหนึ่ง การตรวจนับคะแนนและการประกาศผลการเลือก
              
ให้ประธานศาลปกครองสูงสุดรับผิดชอบดูแลให้การเลือกเป็นไปโดยถูกต้องและเรียบร้อย
               ให้ผู้ได้รับเลือกเป็นกรรมการตุลาการศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิตามมาตรา ๓๕ วรรคหนึ่ง (๒)
เข้ารับหน้าที่เมื่อประธานศาลปกครองสูงสุดได้ประกาศรายชื่อผู้ได้รับเลือกเป็นกรรมการตุลาการศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิ และให้เลขาธิการสำนักงานศาลปกครองดำเนินการประกาศรายชื่อผู้ได้รับเลือกในราชกิจจานุเบกษา

               มาตรา ๓๗  ให้ประธานศาลปกครองสูงสุดประกาศรับสมัครบุคคลซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๓๕/๑ เข้ารับการเลือกเป็นกรรมการตุลาการศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิตามมาตรา ๓๕ วรรคหนึ่ง (๓) โดยให้คณะกรรมการดำเนินการเลือกตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครเข้ารับการเลือก แล้วจัดทำบัญชีรายชื่อบุคคลผู้มีสิทธิได้รับเลือกส่งไปยังตุลาการในศาลปกครองสูงสุดและตุลาการในศาลปกครองชั้นต้น และให้แจ้งกำหนดวัน เวลา และสถานที่ที่จะทำการเลือกไปด้วย
              
ให้นำความในมาตรา ๓๖ มาใช้บังคับแก่การเลือกกรรมการตุลาการศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิในวรรคหนึ่ง โดยอนุโลม

               มาตรา ๓๘  หลักเกณฑ์และวิธีการเลือก การนับคะแนน และการประกาศผลการเลือกกรรมการตุลาการศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิตามมาตรา ๓๖ มาตรา ๓๗ และมาตรา ๓๙/๑ ให้เป็นไปตามที่ประธานศาลปกครองสูงสุดประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของ ก.ศป.

               มาตรา ๓๙  กรรมการตุลาการศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิตามมาตรา ๓๕ วรรคหนึ่ง (๒) หรือ (๓) ให้อยู่ในตำแหน่งคราวละสองปีโดยอาจได้รับเลือกใหม่ได้อีก แต่จะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินสองวาระไม่ได้
              
ก่อน
กรรมการตุลาการศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิตามมาตรา ๓๕ วรรคหนึ่ง (๒) และ (๓) จะครบวาระเป็นเวลาไม่น้อยกว่าหกสิบวันแต่ไม่เกินเก้าสิบวัน ให้ดำเนินการเลือกกรรมการตุลาการศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิขึ้นใหม่ โดยต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนที่กรรมการตุลาการศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิชุดเดิมจะพ้นจากตำแหน่งตามวาระ ในกรณีจำเป็นที่ไม่อาจดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลาดังกล่าวได้ ให้กรรมการตุลาการศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระปฏิบัติหน้าที่ต่อไป แต่ทั้งนี้ ต้องไม่เกินหกสิบวันนับแต่วันที่พ้นจากตำแหน่ง

               มาตรา ๓๙/๑  ในกรณีที่ตำแหน่งกรรมการตุลาการศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิตามมาตรา ๓๕ วรรคหนึ่ง (๒) หรือ (๓) ว่างลงก่อนครบวาระ ให้ประธานศาลปกครองสูงสุดดำเนินการให้มีการเลือกซ่อมให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ตำแหน่งว่างลง เว้นแต่วาระการอยู่ในตำแหน่งของกรรมการผู้นั้นจะเหลือไม่ถึงเก้าสิบวัน จะไม่ดำเนินการเลือกซ่อมก็ได้
               ให้ผู้ได้รับเลือกซ่อมเป็นกรรมการตุลาการศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิตามวรรคหนึ่ง เข้ารับหน้าที่
เมื่อประธานศาลปกครองสูงสุดได้ประกาศรายชื่อผู้ได้รับเลือกซ่อมเป็นกรรมการตุลาการศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิ และให้เลขาธิการสำนักงานศาลปกครองดำเนินการประกาศรายชื่อผู้ได้รับเลือกซ่อมในราชกิจจานุเบกษา
              
กรรมการตุลาการศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้รับเลือกซ่อมให้อยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของผู้ซึ่งตนแทน

               มาตรา ๔๐๑๐  นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ กรรมการตุลาการศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิตามมาตรา ๓๕ วรรคหนึ่ง (๒) และ (๓) พ้นจากตำแหน่งเมื่อ
              
(๑) ตาย
              
(๒) ลาออกโดยทำเป็นหนังสือยื่นต่อประธานศาลปกครองสูงสุด
               (๓) พ้นจากตำแหน่งตุลาการในศาลปกครองสูงสุด หรือตุลาการในศาลปกครองชั้นต้น ในกรณีที่เป็น
กรรมการตุลาการศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิตามมาตรา ๓๕ วรรคหนึ่ง (๒)
              
(๔) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๓๕/๑ ในกรณีที่เป็นกรรมการตุลาการศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิตามมาตรา ๓๕ วรรคหนึ่ง (๓)
              
ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับการพ้นจากตำแหน่งของกรรมการตุลาการศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิตามวรรคหนึ่ง ให้ ก.ศป. เป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาด๑๑

               มาตรา ๔๐/๑๑๒  ให้ ก.ศป. โดยมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการตุลาการศาลปกครองทั้งหมด มีอำนาจออกระเบียบหรือประกาศตามพระราชบัญญัตินี้ เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินการเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของข้าราชการตุลาการศาลปกครองและการอื่น ๆ ที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของ ก.ศป.

               มาตรา ๔๑  การประชุมของ ก.ศป. ต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมดจึงจะเป็นองค์ประชุม
               ถ้าประธานศาลปกครองสูงสุดไม่มาประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้รอง
ประธานศาลปกครองสูงสุดปฏิบัติหน้าที่แทน ถ้าไม่มีรองประธานศาลปกครองสูงสุด หรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้ที่ประชุมเลือกกรมการตุลาการศาลปกครองคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม
              
ในกรณีที่ตำแหน่งกรรมการใน ก.ศป. ว่างลง ให้กรรมการที่เหลือปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ แต่ต้องมีกรรมการเหลือพอที่จะเป็นองค์ประชุม
              
การวินิจฉัยชี้ขาดให้ถือเสียงข้างมาก ถ้ามีคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานในที่ประชุม
ออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด
              
ให้ ก.ศป. มีอำนาจออกข้อบังคับว่าด้วยการประชุมและการลงมติ
              
ให้ ก.ศป. มีอำนาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อดำเนินการใด ๆ ได้ตามความเหมาะสม

               มาตรา ๔๑/๑๑๓  ในกรณีที่ไม่มีกรรมการตุลาการศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิตามมาตรา ๓๕ วรรคหนึ่ง (๒) (ก) หรือ (ข) หรือ (๓) หรือมีแต่ไม่ครบจำนวน ถ้ากรรมการตุลาการศาลปกครองจำนวนไม่น้อยกว่าหกคน เห็นว่าเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องให้ความเห็นชอบ ให้กรรมการตุลาการศาลปกครองเท่าที่มีอยู่เป็น ก.ศป. พิจารณาเรื่องเร่งด่วนนั้นได้


               มาตรา ๓๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๕๖๑
               มาตรา ๓๕/๑ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง (ฉบับที่ ๗) พ.ศ. ๒๕๕๗
               มาตรา ๓๕/๒ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๕๖๑
               มาตรา ๓๖ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง (ฉบับที่ ๗) พ.ศ. ๒๕๕๗
               มาตรา ๓๗ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๕๖๑
               มาตรา ๓๘ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๕๖๑
               มาตรา ๓๙ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง (ฉบับที่ ๗) พ.ศ. ๒๕๕๗
               มาตรา ๓๙ วรรคสอง แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๕๖๑
               มาตรา ๓๙/๑ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๕๖๑
               ๑๐ มาตรา ๔๐ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง (ฉบับที่ ๗) พ.ศ. ๒๕๕๗
               ๑๑ มาตรา ๔๐ วรรคสอง เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๕๖๑
               ๑๒ มาตรา ๔๐/๑ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๕๖๑
               ๑๓ มาตรา ๔๑/๑ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๕๖๑