หมวด ๓/๑
คณะกรรมการบริหารศาลปกครอง๑
-------------------------
มาตรา ๔๑/๒๒ ให้มีคณะกรรมการบริหารศาลปกครองคณะหนึ่งเรียกโดยย่อว่า “ก.บ.ศป.” ประกอบด้วย
(๑) ประธานศาลปกครองสูงสุด เป็นประธานกรรมการ
(๒) เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา และเลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน เป็นกรรมการ
(๓) กรรมการบริหารศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นตุลาการศาลปกครอง จำนวนแปดคน ดังนี้
(ก) ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด จำนวนสี่คน ซึ่งได้รับเลือกจากตุลาการในศาลปกครองสูงสุด
(ข) ตุลาการในศาลปกครองชั้นต้น จำนวนสี่คน ซึ่งได้รับเลือกจากตุลาการในศาลปกครองชั้นต้น
(๔) กรรมการบริหารศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นข้าราชการฝ่ายศาลปกครองในระดับไม่ต่ำกว่าตำแหน่งที่ ก.ศป. กำหนด จำนวนสองคน ซึ่งได้รับเลือกจากข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง ตามวิธีการที่ ก.ศป. ประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด
(๕) กรรมการบริหารศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิด้านการงบประมาณ ด้านการพัฒนาองค์กร และด้านการบริหารจัดการ ที่ไม่เป็นหรือไม่เคยเป็นข้าราชการศาลปกครอง ด้านละหนึ่งคน ซึ่งได้รับเลือกจากประธานกรรมการและกรรมการตาม (๒) (๓) และ (๔)
ให้เลขาธิการสำนักงานศาลปกครองเป็นกรรมการและเลขานุการ และให้รองเลขาธิการสำนักงานศาลปกครองที่เลขาธิการสำนักงานศาลปกครองมอบหมายเป็นผู้ช่วยเลขานุการ
มาตรา ๔๑/๓๓ กรรมการบริหารศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิตามมาตรา ๔๑/๒ วรรคหนึ่ง (๓) (๔) และ (๕) จะดำรงตำแหน่งกรรมการตุลาการศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิตามมาตรา ๓๕ วรรคหนึ่ง (๒) หรือ (๓) หรือกรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิตามมาตรา ๘๑ วรรคหนึ่ง (๓) (๔) หรือ (๕) ในเวลาเดียวกันมิได้
มาตรา ๔๑/๔๔ กรรมการบริหารศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิตามมาตรา ๔๑/๒ วรรคหนึ่ง (๕) ต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้
(๑) มีสัญชาติไทย
(๒) มีอายุไม่ต่ำกว่าสี่สิบปี
(๓) ไม่เป็นผู้อยู่ระหว่างถูกคำสั่งให้พักราชการหรือถูกสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน
(๔) ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย หรือไม่เคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต
(๕) ไม่เคยถูกไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกจากราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ
(๖) ไม่เคยต้องรับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
(๗) ไม่เป็นคนไร้ความสามารถ คนเสมือนไร้ความสามารถ หรือคนวิกลจริต หรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ
(๘) ไม่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ข้าราชการการเมือง สมาชิกสภาท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่น กรรมการพรรคการเมือง สมาชิกพรรคการเมือง หรือเจ้าหน้าที่ในพรรคการเมือง
มาตรา ๔๑/๕๕ ให้มีคณะกรรมการดำเนินการเลือกกรรมการบริหารศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิตามมาตรา ๔๑/๒ วรรคหนึ่ง (๓) ประกอบด้วย ตุลาการศาลปกครองซึ่งประธานศาลปกครองสูงสุดเป็นผู้คัดเลือก จำนวนสี่คน และเลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง เป็นกรรมการ มีหน้าที่ดำเนินการเกี่ยวกับการเลือก การตรวจนับคะแนน และการประกาศผลการเลือกดังกล่าว
ให้เลขาธิการสำนักงานศาลปกครองแต่งตั้งข้าราชการฝ่ายศาลปกครองเป็นเลขานุการและผู้ช่วยเลขานุการ
ให้นำความในมาตรา ๓๖ วรรคหนึ่ง วรรคสาม และวรรคสี่ มาใช้บังคับกับกรรมการบริหารศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิตามวรรคหนึ่งโดยอนุโลม
มาตรา ๔๑/๖๖ กรรมการบริหารศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิตามมาตรา ๔๑/๒ วรรคหนึ่ง (๓) (๔) หรือ (๕) ให้มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสองปี และอาจได้รับเลือกใหม่ได้ แต่จะดำรงตำแหน่งเกินสองวาระติดต่อกันมิได้
ก่อนกรรมการบริหารศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิจะครบวาระเป็นเวลาไม่น้อยกว่าหกสิบวัน ให้ดำเนินการเลือกกรรมการบริหารศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิใหม่ โดยต้องแล้วเสร็จก่อนที่กรรมการบริหารศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิชุดเดิมจะพ้นจากตำแหน่งตามวาระ ในกรณีจำเป็นที่ไม่อาจดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลาดังกล่าวได้ ให้กรรมการบริหารศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระปฏิบัติหน้าที่ต่อไป แต่ทั้งนี้ ต้องไม่เกินสามสิบวัน
ในกรณีที่ตำแหน่งกรรมการบริหารศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิว่างลงก่อนครบวาระ ให้ดำเนินการเพื่อให้มีการเลือกแทนตำแหน่งที่ว่างให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ตำแหน่งว่าง เว้นแต่วาระการดำรงตำแหน่งของกรรมการผู้นั้นจะเหลือไม่ถึงเก้าสิบวัน จะไม่ดำเนินการเลือกแทนตำแหน่งที่ว่างก็ได้
กรรมการบริหารศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้รับเลือกแทนตำแหน่งที่ว่าง ให้อยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของผู้ซึ่งตนแทน
มาตรา ๔๑/๗๗ นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ กรรมการบริหารศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิตามมาตรา ๔๑/๒ วรรคหนึ่ง (๓) (๔) และ (๕) พ้นจากตำแหน่ง เมื่อ
(๑) ตาย
(๒) ลาออกโดยทำเป็นหนังสือยื่นต่อประธานศาลปกครองสูงสุด
(๓) พ้นจากตำแหน่งตุลาการศาลปกครองตามมาตรา ๒๑ ในกรณีที่เป็นกรรมการบริหารศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิตามมาตรา ๔๑/๒ วรรคหนึ่ง (๓)
(๔) ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลปกครองสูงสุด ในกรณีที่เป็นกรรมการบริหารศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้รับเลือกจากตุลาการในศาลปกครองชั้นต้นตามมาตรา ๔๑/๒ วรรคหนึ่ง (๓) (ข)
(๕) ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งกรรมการตุลาการศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิตามมาตรา ๓๕ วรรคหนึ่ง ในกรณีที่เป็นกรรมการบริหารศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิตามมาตรา ๔๑/๒ วรรคหนึ่ง (๓) (๔) และ (๕)
(๖) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๔๑/๔ ในกรณีที่เป็นกรรมการบริหารศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิตามมาตรา ๔๑/๒ วรรคหนึ่ง (๕)
ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับการพ้นจากตำแหน่งของกรรมการบริหารศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิตามวรรคหนึ่ง ให้ ก.บ.ศป. เป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาด
มาตรา ๔๑/๘๘ ก.บ.ศป. มีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลการบริหารราชการศาลปกครองและสำนักงานศาลปกครอง ในส่วนที่ไม่อยู่ในอำนาจของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ก.ศป. หรือ ก.ขป. ให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ แบบแผน ประเพณีปฏิบัติของทางราชการ และนโยบายของประธานศาลปกครองสูงสุด โดยให้มีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(๑) ออกระเบียบ ประกาศ หรือหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการบริหารราชการศาลปกครองและสำนักงานศาลปกครอง
(๒) ออกประกาศแบ่งส่วนราชการภายในของสำนักงานศาลปกครอง และกำหนดอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการดังกล่าว
(๓) ให้ความเห็นในการเสนอร่างกฎหมายเกี่ยวกับศาลปกครอง
(๔) พิจารณาให้ความเห็นชอบในการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีเพื่อดำเนินการตามมาตรา ๙๑
(๕) พิจารณาให้ความเห็นชอบในการบริหารจัดการงบประมาณของศาลปกครอง
(๖) ออกระเบียบเกี่ยวกับการงบประมาณ การเงินและทรัพย์สิน รวมทั้งการพัสดุของสำนักงานศาลปกครอง
(๖/๑)๙ ออกระเบียบเกี่ยวกับการกําหนดเบี้ยประชุมสําหรับข้าราชการตุลาการศาลปกครอง ซึ่งเข้าร่วมการประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด
(๗) ออกระเบียบเกี่ยวกับการจ้างและการแต่งตั้งบุคคลซึ่งมีความรู้ความสามารถอันจะเป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ของศาลปกครอง รวมทั้งอัตราค่าตอบแทนการจ้างด้วย
(๘)๑๐ ออกระเบียบเกี่ยวกับการจัดสวัสดิการ การสงเคราะห์ เงินค่าตอบแทนพิเศษและสิทธิและประโยชน์อื่นของข้าราชการตุลาการศาลปกครอง ข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง และพนักงานราชการและลูกจ้างสำนักงานศาลปกครอง
(๙) กำหนดวันและเวลาทำงาน วันหยุดราชการ และการลาของข้าราชการศาลปกครอง รวมทั้งพนักงานราชการและลูกจ้างสำนักงานศาลปกครอง
(๑๐) กำหนดให้มีตรา สัญลักษณ์ หรือเครื่องหมายใดเพื่อใช้ในการบริหารราชการศาลปกครอง รวมทั้งกำหนดหลักเกณฑ์ และวิธีการในการทำและใช้ตรา สัญลักษณ์ หรือเครื่องหมายนั้นไว้ด้วย
(๑๑) ออกระเบียบเกี่ยวกับการแต่งตั้งกรรมการหรืออนุกรรมการของศาลปกครองหรือสำนักงานศาลปกครอง การกำหนดข้อห้ามบุคคลเป็นกรรมการหรืออนุกรรมการในเวลาเดียวกันเกินจำนวนที่กำหนด และการกำหนดอัตราเบี้ยประชุมหรือค่าตอบแทนให้ผู้ซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการ อนุกรรมการ เลขานุการ หรือผู้ช่วยเลขานุการ
(๑๒) กำกับดูแลการบริหารราชการศาลปกครองและสำนักงานศาลปกครองให้เป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายอื่น
(๑๓) ยับยั้งการดำเนินการที่ไม่เป็นไปตามระเบียบ ประกาศ หรือหลักเกณฑ์ที่ออกตามมาตรานี้
(๑๔) พิจารณาเรื่องอื่นใดตามที่ที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ก.ศป. หรือ ก.ขป. ร้องขอ
มาตรา ๔๑/๙๑๑ การประชุมของ ก.บ.ศป. ให้นำความในมาตรา ๔๑ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
๑ หมวด ๓/๑ คณะกรรมการบริหารศาลปกครอง มาตรา ๔๑/๒ ถึงมาตรา ๔๑/๙ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง (ฉบับที่ ๙) พ.ศ. ๒๕๖๐
๒ มาตรา ๔๑/๒ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง (ฉบับที่ ๙) พ.ศ. ๒๕๖๐
๓ มาตรา ๔๑/๓ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง (ฉบับที่ ๙) พ.ศ. ๒๕๖๐
๔ มาตรา ๔๑/๔ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง (ฉบับที่ ๙) พ.ศ. ๒๕๖๐
๕ มาตรา ๔๑/๕ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง (ฉบับที่ ๙) พ.ศ. ๒๕๖๐
๖ มาตรา ๔๑/๖ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง (ฉบับที่ ๙) พ.ศ. ๒๕๖๐
๗ มาตรา ๔๑/๗ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง (ฉบับที่ ๙) พ.ศ. ๒๕๖๐
๘ มาตรา ๔๑/๘ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง (ฉบับที่ ๙) พ.ศ. ๒๕๖๐
๙ มาตรา ๔๑/๘ (๖/๑) เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง (ฉบับที่ ๑๓) พ.ศ. ๒๕๖๔
๑๐ มาตรา ๔๑/๘ (๘) แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง (ฉบับที่ ๑๔) พ.ศ. ๒๕๖๔
๑๑ มาตรา ๔๑/๙ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง (ฉบับที่ ๙) พ.ศ. ๒๕๖๐