ส่วนที่ ๑
การขาดนัดยื่นคำให้การ
-------------------------
มาตรา ๑๙๗๑ เมื่อจำเลยได้รับหมายเรียกให้ยื่นคำให้การแล้ว จำเลยมิได้ยื่นคำให้การภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ตามกฎหมายหรือตามคำสั่งศาล ให้ถือว่าจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ
มาตรา ๑๙๘๒ ถ้าจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ ให้โจทก์มีคำขอต่อศาลภายในสิบห้าวันนับแต่ระยะเวลาที่กำหนดให้จำเลยยื่นคำให้การได้สิ้นสุดลง เพื่อให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดให้ตนเป็นฝ่ายชนะคดีโดยขาดนัด
ถ้าโจทก์ไม่ยื่นคำขอต่อศาลภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าวแล้ว ให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีนั้นเสียจากสารบบความ
ถ้าโจทก์ยื่นคำขอต่อศาลภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าวแล้ว ให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดคดีโดยขาดนัดไปตามมาตรา ๑๙๘ ทวิ แต่ถ้าศาลมีเหตุสงสัยว่าจำเลยจะไม่ทราบหมายเรียกให้ยื่นคำให้การ ก็ให้ศาลมีคำสั่งให้มีการส่งหมายเรียกใหม่ โดยวิธีส่งหมายธรรมดาหรือโดยวิธีอื่นแทนและจะกำหนดเงื่อนไขอย่างใดตามที่เห็นสมควรเพื่อให้จำเลยได้ทราบหมายเรียกนั้นก็ได้
มาตรา ๑๙๘ ทวิ๓ ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดให้โจทก์เป็นฝ่ายชนะคดีโดยจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การมิได้ เว้นแต่ศาลเห็นว่าคำฟ้องของโจทก์มีมูลและไม่ขัดต่อกฎหมาย ในการนี้ศาลจะยกขึ้นอ้างโดยลำพังซึ่งข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนก็ได้
เพื่อประโยชน์ในการพิพากษาหรือมีคำสั่งชี้ขาดคดีตามวรรคหนึ่ง ศาลอาจสืบพยานเกี่ยวกับข้ออ้างของโจทก์หรือพยานหลักฐานอื่นไปฝ่ายเดียวตามที่เห็นว่าจำเป็นก็ได้ แต่ในคดีเกี่ยวด้วยสิทธิแห่งสภาพบุคคล สิทธิในครอบครัวหรือคดีพิพาทเกี่ยวด้วยกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ ให้ศาลสืบพยานหลักฐานโจทก์ไปฝ่ายเดียว และศาลอาจเรียกพยานหลักฐานอื่นมาสืบได้เองตามที่เห็นว่าจำเป็น เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม
ในการกำหนดจำนวนเงินตามคำขอบังคับของโจทก์ ให้ศาลปฏิบัติดังนี้
(๑) ในกรณีที่โจทก์มีคำขอบังคับให้จำเลยชำระหนี้เป็นเงินจำนวนแน่นอนให้ศาลมีคำสั่งให้โจทก์ส่งพยานเอกสารตามที่ศาลเห็นว่าจำเป็นแทนการสืบพยาน
(๒) ในกรณีที่โจทก์มีคำขอบังคับให้จำเลยชำระหนี้เป็นเงินอันไม่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอน ให้ศาลสืบพยานหลักฐานโจทก์ไปฝ่ายเดียว และศาลอาจเรียกพยานหลักฐานอื่นมาสืบได้เองตามที่เห็นว่าจำเป็น
ถ้าจำเลยที่ขาดนัดยื่นคำให้การไม่มาศาลในวันสืบพยานตามมาตรานี้ มิให้ถือว่าจำเลยนั้นขาดนัดพิจารณา
ถ้าโจทก์ไม่นำพยานหลักฐานมาสืบตามความในมาตรานี้ภายในระยะเวลาที่ศาลกำหนด ให้ถือว่าคดีของโจทก์ไม่มีมูล และให้ศาลยกฟ้องของโจทก์
มาตรา ๑๙๘ ตรี๔ ในคดีที่จำเลยบางคนขาดนัดยื่นคำให้การ ให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดคดีโดยขาดนัดยื่นคำให้การระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ขาดนัดยื่นคำให้การนั้นไปก่อนและดำเนินการพิจารณาคดีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ยื่นคำให้การต่อไป แต่ถ้ามูลความแห่งคดีนั้นเป็นการชำระหนี้ซึ่งแบ่งแยกจากกันมิได้ ให้ศาลรอการพิพากษาหรือมีคำสั่งชี้ขาดคดีโดยขาดนัดยื่นคำให้การไว้ก่อน เมื่อศาลดำเนินการพิจารณาสำหรับจำเลยที่ยื่นคำให้การเสร็จสิ้นแล้ว ก็ให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดคดีไปตามรูปคดีสำหรับจำเลยทุกคน
ในกรณีที่จำเลยที่ขาดนัดยื่นคำให้การไม่มาศาลในวันสืบพยานของคู่ความอื่นมิให้ถือว่าจำเลยนั้นขาดนัดพิจารณา
มาตรา ๑๙๙๕ ถ้าจำเลยที่ขาดนัดยื่นคำให้การมาศาลก่อนศาลวินิจฉัยชี้ขาดคดี และแจ้งต่อศาลในโอกาสแรกว่าตนประสงค์จะต่อสู้คดี เมื่อศาลเห็นว่าการขาดนัดยื่นคำให้การนั้นมิได้เป็นไปโดยจงใจหรือมีเหตุอันสมควร ให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยยื่นคำให้การภายในกำหนดเวลาตามที่ศาลเห็นสมควรและดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่ตั้งแต่เวลาที่จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ
ในกรณีตามวรรคหนึ่ง ถ้าจำเลยที่ขาดนัดยื่นคำให้การมิได้แจ้งต่อศาลก็ดี หรือศาลเห็นว่าการขาดนัดยื่นคำให้การนั้นเป็นไปโดยจงใจหรือไม่มีเหตุอันสมควรก็ดี ให้ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป ในกรณีเช่นนี้ จำเลยอาจถามค้านพยานโจทก์ที่อยู่ระหว่างการสืบได้ แต่จะนำสืบพยานหลักฐานของตนไม่ได้
ในกรณีที่จำเลยมิได้ยื่นคำให้การภายในกำหนดเวลาตามวรรคหนึ่ง หรือศาลไม่อนุญาตให้จำเลยยื่นคำให้การตามวรรคสอง หรือศาลเคยมีคำสั่งให้พิจารณาคดีใหม่ ตามคำขอของจำเลยที่ขาดนัดยื่นคำให้การตามมาตรา ๑๙๙ ตรี มาก่อน จำเลยนั้นจะขอยื่นคำให้การตามมาตรานี้อีกหรือจะร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ไม่ได้
มาตรา ๑๙๙ ทวิ๖ เมื่อศาลพิพากษาให้จำเลยที่ขาดนัดยื่นคำให้การแพ้คดี ศาลอาจกำหนดการอย่างใด ตามที่เห็นสมควรเพื่อส่งคำบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งให้แก่จำเลยที่ขาดนัดยื่นคำให้การโดยวิธีส่งหมายธรรมดาหรือโดยวิธีอื่นแทน หรือศาลจะให้เลื่อนการบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งเช่นว่านั้นไปภายในระยะเวลาที่ศาลเห็นสมควรก็ได้
การบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งแก่จำเลยที่ขาดนัดยื่นคำให้การนั้นให้บังคับตามมาตรา ๒๗๓ มาตรา ๒๘๙ และมาตรา ๓๓๘๗
มาตรา ๑๙๙ ตรี๘ จำเลยซึ่งศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดให้แพ้คดีโดยขาดนัดยื่นคำให้การ ถ้ามิได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น จำเลยนั้นอาจมีคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ได้ เว้นแต่
(๑) ศาลเคยมีคำสั่งให้พิจารณาคดีนั้นใหม่มาครั้งหนึ่งแล้ว
(๒) คำขอให้พิจารณาคดีใหม่นั้นต้องห้ามตามกฎหมาย
มาตรา ๑๙๙ จัตวา๙ คำขอให้พิจารณาคดีใหม่นั้น ให้ยื่นต่อศาลภายในสิบห้าวันนับจากวันที่ได้ส่งคำบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งให้แก่จำเลยที่ขาดนัดยื่นคำให้การ แต่ถ้าศาลได้กำหนดการอย่างใด ๆ เพื่อส่งคำบังคับเช่นว่านี้โดยวิธีส่งหมายธรรมดาหรือโดยวิธีอื่นแทน จะต้องได้มีการปฏิบัติตามข้อกำหนดนั้นแล้ว ในกรณีที่จำเลยที่ขาดนัดยื่นคำให้การไม่สามารถยื่นคำขอภายในระยะเวลาที่กำหนดโดยพฤติการณ์นอกเหนือไม่อาจบังคับได้ จำเลยนั้นอาจยื่นคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ได้ภายในกำหนดสิบห้าวันนับแต่วันที่พฤติการณ์นั้นได้สิ้นสุดลง แต่กรณีจะเป็นอย่างไรก็ตาม ห้ามมิให้ยื่นคำขอเช่นว่านี้เมื่อพ้นกำหนดหกเดือนนับแต่วันที่ได้ยึดทรัพย์หรือได้มีการบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งโดยวิธีอื่น
คำขอตามวรรคหนึ่งให้กล่าวโดยชัดแจ้งซึ่งเหตุที่จำเลยได้ขาดนัดยื่นคำให้การและข้อคัดค้านคำตัดสินชี้ขาดของศาลที่แสดงให้เห็นว่าหากศาลได้พิจารณาคดีนั้นใหม่ตนอาจเป็นฝ่ายชนะ และในกรณีที่ยื่นคำขอล่าช้า ให้แสดงเหตุแห่งการที่ล่าช้านั้นด้วย
มาตรา ๑๙๙ เบญจ๑๐ เมื่อศาลได้รับคำขอให้พิจารณาคดีใหม่แล้ว หากเห็นสมควรศาลจะมีคำสั่งให้งดการบังคับคดีไว้ก่อนก็ได้ ในกรณีเช่นนี้ ให้ศาลแจ้งคำสั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทราบ
ในการพิจารณาคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ ถ้ามีเหตุควรเชื่อว่าการขาดนัดยื่นคำให้การนั้นมิได้เป็นไปโดยจงใจหรือมีเหตุอันสมควร และศาลเห็นว่าเหตุผลที่อ้างมาในคำขอนั้นผู้ขออาจมีทางชนะดีได้ ทั้งในกรณีที่ยื่นคำขอล่าช้านั้นผู้ขอได้ยื่นภายในระยะเวลาที่กำหนด ให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตตามคำขอ ในกรณีเช่นนี้ ถ้ามีการอุทธรณ์หรือฎีกาคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ให้คู่ความฝ่ายที่ขาดนัดยื่นคำให้การแพ้คดี ให้ศาลแจ้งคำสั่งดังกล่าวให้ศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกา แล้วแต่กรณี ทราบด้วย
เมื่อศาลได้มีคำสั่งอนุญาตตามคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ตามวรรคสอง คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลโดยจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและคำพิพากษาหรือคำสั่งอื่น ๆ ของศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาในคดีเดียวกันนั้น และวิธีการบังคับคดีที่ได้ดำเนินไปแล้ว ให้ถือว่าเป็นอันเพิกถอนไปในตัว และให้ศาลแจ้งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทราบ แต่ถ้าเป็นการพ้นวิสัยที่จะให้คู่ความกลับคืนสู่ฐานะเดิมดังเช่นก่อนบังคับคดีได้ หรือเมื่อศาลเห็นว่าไม่จำเป็นที่จะบังคับเช่นนั้น เพื่อประโยชน์แก่คู่ความหรือบุคคลภายนอก ให้ศาลมีอำนาจสั่งอย่างใด ๆ ตามที่เห็นสมควร แล้วให้ศาลพิจารณาคดีนั้นใหม่ตั้งแต่เวลาที่จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ โดยให้จำเลยยื่นคำให้การภายในกำหนดเวลาตามที่ศาลเห็นสมควร
คำสั่งศาลที่อนุญาตให้พิจารณาคดีใหม่ให้เป็นที่สุด แต่ในกรณีที่ศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตผู้ขออาจอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวได้ คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ให้เป็นที่สุด
ถ้าจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การโดยจงใจหรือไม่มีเหตุอันสมควรเป็นเหตุให้คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งต้องเสียค่าฤชาธรรมเนียมมากกว่าที่ควรจะต้องเสีย ค่าฤชาธรรมที่เพิ่มขึ้นนั้นให้ถือว่าเป็นค่าฤชาธรรมเนียมอันไม่จำเป็นตามความหมายแห่งมาตรา ๑๖๖
มาตรา ๑๙๙ ฉ๑๑ ในกรณีที่โจทก์มิได้ให้การแก้ฟ้องแย้งของจำเลยภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ ให้นำบทบัญญัติในส่วนที่ ๑ นี้มาใช้บังคับเพียงเท่าที่เกี่ยวกับฟ้องแย้งเช่นว่านั้นโดยอนุโลม
๑ มาตรา ๑๙๗ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๑๙) พ.ศ. ๒๕๔๓
๒ มาตรา ๑๙๘ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๑๙) พ.ศ. ๒๕๔๓
๓ มาตรา ๑๙๘ ทวิ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๑๙) พ.ศ. ๒๕๔๓
๔ มาตรา ๑๙๘ ตรี เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๑๙) พ.ศ. ๒๕๔๓
๕ มาตรา ๑๙๙ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๑๙) พ.ศ. ๒๕๔๓
๖ มาตรา ๑๙๙ ทวิ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๑๙) พ.ศ. ๒๕๔๓
๗ มาตรา ๑๙๙ ทวิ วรรคสอง แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๖๐
๘ มาตรา ๑๙๙ ตรี เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๑๙) พ.ศ. ๒๕๔๓
๙ มาตรา ๑๙๙ จัตวา เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๑๙) พ.ศ. ๒๕๔๓
๑๐ มาตรา ๑๙๙ เบญจ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๑๙) พ.ศ. ๒๕๔๓
๑๑ มาตรา ๑๙๙ ฉ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๑๙) พ.ศ. ๒๕๔๓