My Template

ส่วนที่ ๒ การขาดนัดพิจารณา (มาตรา ๒๐๐ - ๒๐๙)

 

ส่วนที่ ๒
การขาดนัดพิจารณา

-------------------------

               มาตรา ๒๐๐  ภายใต้บังคับมาตรา ๑๙๘ ทวิ และมาตรา ๑๙๘ ตรี ถ้าคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่มาศาลในวันสืบพยาน และไม่ได้รับอนุญาตจากศาลให้เลื่อนคดี ให้ถือว่าคู่ความฝ่ายนั้นขาดนัดพิจารณา
               ถ้าคู่ความฝ่ายใดไม่มาศาลในวันนัดอื่นที่มิใช่วันสืบพยาน ให้ถือว่าคู่ความฝ่ายนั้นสละสิทธิการดำเนินกระบวนพิจารณาของตนในนัดนั้น และทราบกระบวนพิจารณาที่ศาลได้ดำเนินไปในนัดนั้นด้วยแล้ว

               มาตรา ๒๐๑  ถ้าคู่ความทั้งสองฝ่ายขาดนัดพิจารณา ให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีนั้นเสียจากสารบบความ

               มาตรา ๒๐๒  ถ้าโจทก์ขาดนัดพิจารณา ให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีนั้นเสียจากสารบบความ เว้นแต่จำเลยจะได้แจ้งต่อศาลในวันสืบพยานขอให้ดำเนินการพิจารณาคดีต่อไป ก็ให้ศาลพิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีนั้นไปฝ่ายเดียว

               มาตรา ๒๐๓  ห้ามมิให้โจทก์อุทธรณ์คำสั่งจำหน่ายคดีตามมาตรา ๒๐๑ และมาตรา ๒๐๒  แต่ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยอายุความ คำสั่งเช่นว่านี้ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะเสนอคำฟ้องของตนใหม่

               มาตรา ๒๐๔  ถ้าจำเลยขาดนัดพิจารณา ให้ศาลพิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีนั้นไปฝ่ายเดียว

               มาตรา ๒๐๕  ในกรณีดังกล่าวมาในมาตรา ๒๐๒ และมาตรา ๒๐๔ ถ้ายังไม่เป็นที่พอใจของศาลว่าได้ส่งหมายกำหนดวันนัดสืบพยานไปให้คู่ความฝ่ายที่ขาดนัดทราบโดยชอบแล้ว ให้ศาลมีคำสั่งเลื่อนวันสืบพยานไป และกำหนดวิธีการอย่างใดตามที่เห็นสมควร เพื่อให้มีการส่งหมายกำหนดวันนัดสืบพยานใหม่แก่คู่ความฝ่ายที่ขาดนัดพิจารณาโดยวิธีส่งหมายธรรมดาหรือโดยวิธีอื่นแทน ถ้าได้กระทำดังเช่นว่ามาแล้ว คู่ความฝ่ายนั้นยังไม่มาศาลก่อนเริ่มสืบพยานในวันที่กำหนดไว้ในหมายนั้น ก็ให้ศาลดำเนินคดีนั้นไปดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๐๒ หรือมาตรา ๒๐๔ แล้วแต่กรณี

               มาตรา ๒๐๖  คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะร้องต่อศาลให้วินิจฉัยชี้ขาดคดีให้ตนเป็นฝ่ายชนะโดยอาศัยเหตุแต่เพียงว่าคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งขาดนัดพิจารณานั้นหาได้ไม่ ให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดคดีให้คู่ความที่มาศาลเป็นฝ่ายชนะต่อเมื่อศาลเห็นว่าข้ออ้างของคู่ความเช่นว่านี้มีมูลและไม่ขัดต่อกฎหมาย ในการนี้ ศาลจะยกขึ้นอ้างโดยลำพัง ซึ่งข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนก็ได้
               เพื่อประโยชน์ในการวินิจฉัยชี้ขาดคดีตามวรรคหนึ่ง ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๑๙๘ ทวิ วรรคสองและวรรคสาม มาใช้บังคับแก่คดีของคู่ความฝ่ายที่มาศาลโดยอนุโลม
               ในระหว่างการพิจารณาคดีฝ่ายเดียว ถ้าคู่ความฝ่ายที่ขาดนัดพิจารณามาศาลภายหลังที่เริ่มต้นสืบพยานไปบ้างแล้ว และแจ้งต่อศาลในโอกาสแรกว่าตนประสงค์จะดำเนินคดี เมื่อศาลเห็นว่าการขาดนัดพิจารณานั้นมิได้เป็นไปโดยจงใจหรือมีเหตุอันสมควรและศาลไม่เคยมีคำสั่งให้พิจารณาคดีใหม่ตามคำขอของคู่ความฝ่ายนั้นมาก่อนตามมาตรา ๑๙๙ ตรี ซึ่งให้นำมาใช้บังคับกับการขาดนัดพิจารณาตามมาตรา ๒๐๗ ด้วย ให้ศาลมีคำสั่งให้พิจารณาคดีนั้นใหม่ ในกรณีเช่นนี้ หากคู่ความนั้นขาดนัดพิจารณาอีก จะขอให้พิจารณาคดีใหม่ตามมาตรานี้ไม่ได้
               ในกรณีตามวรรคสาม ถ้าคู่ความฝ่ายที่ขาดนัดพิจารณามิได้แจ้งต่อศาลก็ดี หรือศาลเห็นว่าการขาดนัดพิจารณานั้นเป็นไปโดยจงใจหรือไม่มีเหตุอันสมควรก็ดี หรือคำขอให้พิจารณาคดีใหม่นั้นต้องห้ามตามกฎหมายก็ดี ให้ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป แต่
               (๑) ห้ามไม่ให้ศาลอนุญาตให้คู่ความที่ขาดนัดพิจารณานำพยานเข้าสืบถ้าคู่ความนั้นมาศาลเมื่อพ้นเวลาที่จะนำพยานของตนเข้าสืบแล้ว
               (๒) ถ้าคู่ความที่ขาดนัดพิจารณามาศาลเมื่อคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งได้นำพยานหลักฐานเข้าสืบไปแล้ว ห้ามไม่ให้ศาลยอมให้คู่ความที่ขาดนัดพิจารณาคัดค้านพยานหลักฐานเช่นว่านั้น โดยวิธีถามค้านพยานของคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งที่ได้สืบไปแล้วหรือโดยวิธีคัดค้านการระบุเอกสารหรือคัดค้านคำขอที่ให้ศาลไปทำการตรวจหรือให้ตั้งผู้เชี่ยวชาญของศาล แต่ถ้าคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งนำพยานหลักฐานเข้าสืบยังไม่บริบูรณ์ ให้ศาลอนุญาตให้คู่ความที่ขาดนัดพิจารณาหักล้างได้แต่เฉพาะพยานหลักฐานที่นำสืบภายหลังที่ตนมาศาล
               (๓) ในกรณีเช่นนี้ คู่ความที่ขาดนัดพิจารณาไม่มีสิทธิที่จะร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่

               มาตรา ๒๐๗  เมื่อศาลพิพากษาให้คู่ความฝ่ายที่ขาดนัดพิจารณาแพ้คดี ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๑๙๙ ทวิ มาใช้บังคับโดยอนุโลม และคู่ความฝ่ายนั้นอาจมีคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ได้ ทั้งนี้ ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๑๙๙ ตรี มาตรา ๑๙๙ จัตวา และมาตรา ๑๙๙ เบญจ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

               มาตรา ๒๐๘  (ยกเลิก)

               มาตรา ๒๐๙๑๐  (ยกเลิก)


               มาตรา ๒๐๐ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๑๙) พ.ศ. ๒๕๔๓
               มาตรา ๒๐๑ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๑๙) พ.ศ. ๒๕๔๓
                มาตรา ๒๐๒ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๑๙) พ.ศ. ๒๕๔๓
               มาตรา ๒๐๓ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๑๙) พ.ศ. ๒๕๔๓
               มาตรา ๒๐๔ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๑๙) พ.ศ. ๒๕๔๓
               มาตรา ๒๐๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๑๙) พ.ศ. ๒๕๔๓
               มาตรา ๒๐๖ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๑๙) พ.ศ. ๒๕๔๓
               มาตรา ๒๐๗ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๑๙) พ.ศ. ๒๕๔๓
               มาตรา ๒๐๘ ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๑๙) พ.ศ. ๒๕๔๓
               ๑๐ มาตรา ๒๐๙ ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๑๙) พ.ศ. ๒๕๔๓