หมวด ๗ อุทธรณ์ (ข้อ ๓๐ - ๓๗)

 

หมวด ๗
อุทธรณ์

-------------------------

               ข้อ ๓๐  ในกรณีที่มีการยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องเพื่อขออนุญาตอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามมาตรา ๔๘ ให้ศาลชั้นต้นมีอำนาจตรวจคำขอและอุทธรณ์ และมีคำสั่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๘ หากผู้ร้องไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง ให้ศาลชั้นต้นรีบส่งคำขอและอุทธรณ์ไปยังศาลอุทธรณ์เพื่อพิจารณาสั่งโดยเร็วต่อไป
               ในกรณีมีการขออนุญาตขยายระยะเวลาอุทธรณ์หรือระยะเวลายื่นคำขออนุญาต
อุทธรณ์ หากศาลชั้นต้นเห็นสมควรอนุญาตให้ขยาย ให้ศาลชั้นต้นสั่งตามที่เห็นสมควร หากจะไม่อนุญาตให้ศาลชั้นต้นดำเนินการตามวรรคหนึ่ง

               ข้อ ๓๑  เมื่อศาลชั้นต้นได้รับคำขอตามข้อ ๓๐ แล้วให้รีบส่งสำเนาคำขอพร้อมอุทธรณ์ให้คู่ความอีกฝ่ายทราบและส่งคำขอดังกล่าวพร้อมอุทธรณ์และสำนวนคดีไปยังศาลอุทธรณ์เพื่อพิจารณาสั่งโดยเร็ว โดยไม่จำต้องรอคำคัดค้านของคู่ความฝ่ายอื่น

               ข้อ ๓๒  การพิจารณาคำขอเพื่อขออนุญาตอุทธรณ์ตามข้อ ๓๑ ศาลอุทธรณ์มีดุลพินิจที่จะพิจารณาอนุญาตให้อุทธรณ์ได้เมื่อเห็นว่าเป็นกรณีที่จะกระทบกระเทือนต่อความยุติธรรมหรือประโยชน์ของผู้บริโภคเป็นส่วนรวม

               ข้อ ๓๓  เมื่อศาลอุทธรณ์เห็นสมควรอนุญาตให้อุทธรณ์ ให้มีคำสั่งรับอุทธรณ์ไว้พิจารณาและให้ศาลชั้นต้นอ่านคำสั่งดังกล่าวให้คู่ความฟัง
              
จำเลยอุทธรณ์อาจยื่นคำแก้อุทธรณ์ต่อศาลชั้นต้นได้ภายในกำหนดสิบห้าวันนับแต่วันฟังคำสั่งและภายในกำหนดเจ็ดวันนับแต่วันที่จำเลยอุทธรณ์ยื่นคำแก้อุทธรณ์ หรือนับแต่ระยะเวลาที่กำหนดไว้สำหรับการยื่นคำแก้อุทธรณ์ได้สิ้นสุดลง ให้ศาลชั้นต้นส่งคำแก้อุทธรณ์ไปยังศาลอุทธรณ์หรือแจ้งให้ทราบว่าไม่มีคำแก้อุทธรณ์ เมื่อศาลอุทธรณ์ได้รับคำแก้อุทธรณ์หรือแจ้งความเช่นว่าแล้วให้นำคดีลงสารบบความโดยพลัน
              
ในกรณีที่ศาลอุทธรณ์ไม่อนุญาตให้อุทธรณ์ ให้มีคำสั่งยกคำขอและสั่งไม่รับอุทธรณ์แล้วส่งสำนวนความคืนศาลชั้นต้นเพื่อแจ้งให้คู่ความทราบโดยเร็ว

               ข้อ ๓๔  กรณีที่ศาลอุทธรณ์พิจารณาเพื่อมีคำสั่งตามข้อ ๓๓ หากคดีมีการอุทธรณ์ปัญหาข้ออื่นนอกจากข้อที่ผู้ร้องได้ยื่นคำขออนุญาตอุทธรณ์รวมอยู่ด้วย ไม่ว่าศาลชั้นต้นจะได้มีคำสั่งรับอุทธรณ์เช่นว่านี้ไว้พิจารณาแล้วหรือไม่ก็ตาม ให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาสั่งด้วยว่าจะรับอุทธรณ์ข้ออื่นดังกล่าวไว้พิจารณาหรือไม่
              
กรณีที่ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้รับอุทธรณ์ปัญหาข้ออื่นตามวรรคหนึ่ง ให้นำความในข้อ ๓๓ วรรคหนึ่ง มาใช้บังคับโดยอนุโลมแก่อุทธรณ์ข้ออื่นที่ศาลอุทธรณ์สั่งรับไว้พิจารณาด้วย

               ข้อ ๓๕  คดีที่ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ไว้พิจารณา หากศาลอุทธรณ์เห็นว่าเป็นอุทธรณ์ที่ต้องห้ามตามมาตรา ๔๗ ให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาว่ามีเหตุสมควรอนุญาตให้อุทธรณ์หรือไม่ หากอนุญาตก็รับวินิจฉัยให้ หากไม่อนุญาตก็ให้ยกอุทธรณ์นั้นเสียโดยไม่ต้องวินิจฉัยในประเด็นแห่งอุทธรณ์

               ข้อ ๓๖  หากคู่ความประสงค์จะขอแถลงการณ์ด้วยวาจาต่อศาลอุทธรณ์ ให้ขอมาในตอนท้ายคำฟ้องอุทธรณ์หรือคำแก้อุทธรณ์ โดยระบุประเด็นและเหตุผลความจำเป็นของการแถลงการณ์ด้วยวาจานั้น
              
เมื่อศาลอุทธรณ์อนุญาตให้มีการแถลงการณ์ด้วยวาจา ให้กำหนดจำนวนระยะเวลาที่จะอนุญาตให้แต่ละฝ่ายแถลงการณ์ด้วยวาจากับแจ้งวันเวลานัดให้คู่ความทุกฝ่ายทราบ
               ในการแถลงการณ์ด้วยวาจา คู่ความไม่อาจเสนอพยานหลักฐานเพิ่มเติมประกอบคำ
แถลงการณ์ด้วยวาจาได้

               ข้อ ๓๗  ให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาคดีให้แล้วเสร็จโดยเร็ว หากพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่นำคดีลงสารบบความ ก็ให้บันทึกเหตุแห่งพฤติการณ์พิเศษที่ล่าช้าไว้ในสำนวน