หมวด ๘ ฎีกา (ข้อ ๓๘ - ๔๑)

 

หมวด ๘
ฎีกา

-------------------------

               ข้อ ๓๘  การขอให้ศาลฎีกาพิจารณาอนุญาตให้ฎีกาตามมาตรา ๕๑ ให้ทำเป็นคำร้องยื่นต่อศาลชั้นต้นโดยแสดงถึง
              
(๑) ปัญหาที่ขออนุญาตฎีกาโดยชัดแจ้งและกะทัดรัด
              
(๒) ความเกี่ยวพันกับประโยชน์สาธารณะหรือความสำคัญของปัญหาที่ทำให้ศาลฎีกาควรอนุญาตให้ฎีกา
              
ให้ศาลชั้นต้นตรวจคำร้องและฎีกาของผู้ร้อง โดยนำความในข้อ ๓๐ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

               ข้อ ๓๙  เมื่อศาลชั้นต้นได้รับคำร้องตามข้อ ๓๘ แล้ว ให้รีบส่งสำเนาคำร้องให้คู่ความอีกฝ่ายทราบและส่งคำร้องดังกล่าวพร้อมฎีกาและสำนวนความไปยังศาลฎีกาเพื่อพิจารณาสั่งโดยเร็วโดยไม่จำต้องรอคำคัดค้านของคู่ความฝ่ายอื่น

               ข้อ ๔๐  การพิจารณาคำร้องขอให้พิจารณาอนุญาตฎีกาตามข้อ ๓๘ ศาลฎีกามีดุลพินิจที่จะพิจารณาอนุญาตให้ฎีกา เมื่อเห็นว่าปัญหาตามฎีกานั้นเป็นปัญหาซึ่งเกี่ยวพันกับประโยชน์สาธารณะหรือเป็นปัญหาสำคัญอื่นที่ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัย
              
ปัญหาสำคัญตามวรรคหนึ่ง เช่น
              
(๑) เมื่อคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ขัดกับคำพิพากษาหรือคำสั่งอันถึงที่สุดของศาลอื่น
              
(๒) เมื่อคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยข้อกฎหมายที่สำคัญขัดกันหรือขัดกับแนวบรรทัดฐานของคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลฎีกา
              
(๓) คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยข้อกฎหมายที่สำคัญซึ่งยังไม่มีแนวคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลฎีกามาก่อน

               ข้อ ๔๑  เมื่อศาลฎีกาเห็นสมควรอนุญาตให้ฎีกา ให้มีคำสั่งรับฎีกาไว้พิจารณาและให้ศาลชั้นต้นอ่านคำสั่งดังกล่าวให้คู่ความฟัง
              
จำเลยฎีกาอาจยื่นคำแก้ฎีกาต่อศาลชั้นต้นได้ภายในกำหนดสิบห้าวันนับแต่วันฟังคำสั่งและภายในกำหนดเจ็ดวันนับแต่วันที่จำเลยฎีกายื่นคำแก้ฎีกา หรือนับแต่ระยะเวลาที่กำหนดไว้สำหรับการยื่นคำแก้ฎีกาได้สิ้นสุดลง ให้ศาลชั้นต้นส่งคำแก้ฎีกาไปยังศาลฎีกาหรือแจ้งให้ทราบว่าไม่มีคำแก้ฎีกา เมื่อศาลฎีกาได้รับคำแก้ฎีกาหรือแจ้งความเช่นว่าแล้ว ให้นำคดีลงสารบบความโดยพลัน
              
ในกรณีที่ศาลฎีกาไม่อนุญาตให้ฎีกา ให้มีคำสั่งยกคำร้องและสั่งไม่รับฎีกาแล้วส่งสำนวนความคืนศาลชั้นต้นเพื่อแจ้งให้คู่ความทราบโดยเร็ว