ส่วนที่ ๑
ว่าด้วยจัดวางการทั่วไป
-------------------------
มาตรา ๘๑ รถไฟหลวงนั้นเป็นสมบัติของแผ่นดินอยู่ในความบังคับบัญชาของกรมรถไฟ ขึ้นอยู่ในกระทรวงเศรษฐการ มีอธิบดีเป็นหัวหน้าบัญชากิจการอยู่ภายใต้ความบังคับบัญชาและรับผิดชอบของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐการ
มาตรา ๙๒ ให้มีคณะกรรมการรถไฟขึ้นคณะหนึ่งประกอบด้วย
(๑) กรรมการโดยตำแหน่ง ได้แก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐการเป็นประธาน อธิบดีกรมรถไฟ อธิบดีกรมโยธาเทศบาล อธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลข ผู้แทนกระทรวงกลาโหม ผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศ ผู้แทนกระทรวงการคลัง และผู้แทนกระทรวงมหาดไทย และ
(๒) กรรมการที่ได้รับแต่งตั้งเจ็ดนาย เลือกจากผู้มีความรู้ความชำนาญในกิจการซึ่งเกี่ยวกับการรถไฟ หรือเกี่ยวกับกฎหมายตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐจะได้ประกาศตั้งขึ้นโดยได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี
มาตรา ๑๐๓ ให้คณะกรรมการรถไฟมีหน้าที่ควบคุมรถไฟราษฎรตามอำนาจและหน้าที่ซึ่งมีบทกำหนดไว้ว่าเป็นอำนาจหน้าที่ของสภากรรมการรถไฟตามพระราชบัญญัติจัดวางการรถไฟและทางหลวง พุทธศักราช ๒๔๖๔
ในส่วนรถไฟหลวงให้คณะกรรมการนี้มีหน้าที่รับปรึกษา ในเมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐการเสนอในเรื่องต่อไปนี้
๑. โครงการและนโยบายของการรถไฟ
๒. การลงทุนใหม่
๓. งบประมาณประจำปี และ
๔. กิจรอย่างอื่นเกี่ยวด้วยการรถไฟ
คณะกรรมการรถไฟอาจร้องขอให้บุคคลภายนอกมาให้คำแนะนำและความเห็น และอาจเชิญเจ้าหน้าที่คนใด ๆ มาชี้แจงข้อความ หรืออาจตั้งอนุกรรมการขึ้นสอบสวนข้อความใด ๆ ได้
มาตรา ๑๑๔ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐการเป็นผู้สั่งให้เรียกประชุมคณะกรรมการรถไฟ
การประชุมของคณะกรรมการนี้ต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่าแปดนาย จึงเป็นองค์ประชุม
การลงมติให้ถือเอาคะแนนข้างมากของจำนวนกรรมการที่มาประชุม
มาตรา ๑๒ ผู้บัญชาการจะได้ตั้งอาณาบาลรถไฟ ซึ่งมีอำนาจและหน้าที่ดังต่อไปนี้
(๑) จัดการสืบสวนในเรื่องที่ผู้โดยสารก็ดี หรือบุคคลอื่น ๆ ก็ดี หรือพนักงานรถไฟก็ดี ได้กระทำผิดหรือกระทำการเสียหายให้เกิดขึ้นอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งเป็นการฝ่าฝืนขืนขัดต่อพระราชกำหนดกฎหมายและกฎข้อบังคับของรถไฟ แล้วให้จดหมายบันทึกเหตุการณ์นั้น ๆ ลงไว้ในสมุดบัญชีความ
(๒) รายงานเหตุการณ์ที่มีผู้กระทำผิดนั้นต่อกรมรถไฟแผ่นดินและแจ้งให้อัยการท้องที่ซึ่งมีอำนาจนั้นทราบ เมื่อเห็นว่าเป็นการจำเป็นที่จะต้องฟ้องร้องเป็นคดีอาญา
(๓) จับกุมผู้กระทำผิดซึ่งหน้า หรือที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าผู้นั้นได้กระทำผิดเป็นอาญาแผ่นดิน เมื่อเห็นว่าจำเป็น และให้ส่งตัวผู้ผิดนั้นไปยังอัยการ
(๔) รายงานเหตุการณ์เสียหายต่อกรมรถไฟแผ่นดิน และจัดการยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายแทนกรมรถไฟแผ่นดินต่อศาลซึ่งมีอำนาจที่จะรับพิจารณาพิพากษาคดีนั้น
มาตรา ๑๓ อาณาบาลรถไฟเป็นผู้รับเรื่องราวหรือคำร้องขอค่าเสียหายของบุคคลผู้ซึ่งร้องทุกข์ว่าได้รับความเสียหายอย่างใดอย่างหนึ่งอันเนื่องแต่การก่อสร้าง การบำรุง หรือลักษณะจัดการงานแห่งรถไฟ
มาตรา ๑๔ ในขณะที่อาณาบาลรถไฟไม่ได้อยู่ประจำการนั้น ให้นายสถานี พนักงานกำกับรถ หรือผู้แทนเมื่อกระทำการตามหน้าที่นั้น มีอำนาจและหน้าที่อย่างเดียวกันกับอาณาบาลรถไฟทุกประการ
มาตรา ๑๕ กรมรถไฟแผ่นดินมีอำนาจที่จะออกกฎข้อบังคับ และตั้งอัตราค่าระวางขึ้นไว้ได้ เมื่อเห็นว่าเป็นการจำเป็นในข้อต่อไปนี้ คือ
(๑) ว่าด้วยแบบและการสร้างรถ
(๒) ว่าด้วยวิธีจัดระเบียบการเดินรถและวางกำหนดอัตราให้รถวิ่งเร็วหรือช้าเพียงไร และให้เดินไปได้โดยสถานใด
(๓) ว่าด้วยอัตราค่าระวางซึ่งผู้โดยสารต้องเสีย
(๔) ว่าด้วยจำนวนผู้โดยสารในห้องรถห้องหนึ่ง ๆ ไม่ให้เกินกว่ากำหนดอย่างสูงตามที่จะได้ตั้งขึ้นไว้
(๕) ว่าด้วยการบรรทุกผู้โดยสารและจัดที่ให้ผู้โดยสารอยู่และว่าด้วยหัตถภาระของผู้โดยสารนั้น
(๖) ว่าด้วยรถขายอาหาร และห้องขายอาหาร
(๗) ว่าด้วยอัตราระวางบรรทุก ข้อสัญญาและข้อไขสัญญาที่กรมรถไฟแผ่นดินจะรับบรรทุก รับรักษาของ หรือรับฝากหัตถภาระ ครุภาระ ห่อวัตถุ และสินค้าไว้ในที่แห่งใดแห่งหนึ่งของรถไฟในนามของผู้เป็นเจ้าของ ผู้ส่งของ หรือผู้รับของนั้น
(๘) ว่าด้วยกำหนดเวลาที่รถไฟจะออกเดิน
(๙) ว่าด้วยการเดินรถ
(๑๐) ว่าด้วยเครื่องอาณัติสัญญาณและโคมไฟของรถไฟ
(๑๑) ว่าด้วยการสับเปลี่ยนรถ หรือจัดให้รถหลีกรางกัน
(๑๒) ว่าด้วยกุญแจและเหล็กเปิดปิดราง รางซึ่งผ่านกัน และทางรถไฟผ่านถนนเสมอระดับ
(๑๓) ว่าด้วยจัดการเพื่อระงับ หรือลดหย่อนภยันตรายอันพึงเกิดขึ้นแก่กิจการของรถไฟ และเกี่ยวกับประชาชนหรือพนักงานรถไฟ
(๑๔) ว่าด้วยความปราศภัย ความผาสุก และความเรียบร้อยของประชาชนในระหว่างเวลาเดินทาง อยู่ในรถหรือในที่ดินของรถไฟ แต่อัตราค่าระวางโดยสารและค่าบรรทุกอย่างสูงนั้น กรมรถไฟแผ่นดินและกระทรวงพาณิชย์ ต้องกำหนดโดยมีข้อตกลงกันก่อน
กฎข้อบังคับและอัตราค่าระวางดังกล่าวนี้ เมื่อผู้บัญชาการรถไฟแผ่นดินได้แจ้งความออกประกาศให้ใช้แล้ว ก็เป็นอันใช้ได้ทีเดียว
มาตรา ๑๖ กฎข้อบังคับและอัตราค่าระวางที่ว่าด้วยการเดินรถและลักษณะจัดการงานแห่งรถไฟนั้น ให้พิมพ์และปิดประจำไว้ให้ประจักษ์แจ้งที่สถานีรถไฟทุกแห่ง เมื่อได้ทำเช่นนี้แล้วท่านให้สันนิษฐานว่าข้อความในกฎข้อบังคับและอัตราค่าระวางนั้นเป็นอันทราบแก่ชนทั้งปวงผู้ซึ่งได้ใช้รถไฟนั้น
มาตรา ๑๗ รถไฟทหารบกนั้นสร้างและรักษาด้วยกำลังของทหารบก และใช้เงินในแผนกทหารบกด้วย
การบังคับบัญชาและกำกับตรวจตรารถเหล่านี้ ในเวลาสันติภาพให้อยู่ในอำนาจของผู้บัญชาการรถไฟแผ่นดิน
๑ มาตรา ๘ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจัดวางการรถไฟและทางหลวงแก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๗
๒ มาตรา ๙ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจัดวางการรถไฟและทางหลวงแก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๗
๓ มาตรา ๑๐ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจัดวางการรถไฟและทางหลวงแก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๗
๔ มาตรา ๑๑ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจัดวางการรถไฟและทางหลวงแก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๗